×

ส่องอนาคต ‘GULF’ หลังลุยลงทุนพลังงาน-สื่อสาร โบรกมองเป็นก้าวใหญ่สู่ความเป็น Infrastructure Provider

25.01.2022
  • LOADING...
GULF

ภายใน 2 สัปดาห์ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF ประกาศความคืบหน้าทางธุรกิจมาแล้ว 3 รายการ ตั้งแต่การเซ็น MOU ร่วมกับ Binance เพื่อศึกษาธุรกิจให้บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ตามมาด้วยการประกาศร่วมทุนรัฐวิสาหกิจจีน สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ Pak Lay กำลังผลิต 770 เมกะวัตต์ ใน สปป.ลาว พร้อมเซ็น MOU เตรียมขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. แล้ว ซึ่งคาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเดือนมกราคม 2575 และการเข้าซื้อโรงไฟฟ้าขยะชุมชน จังหวัดเชียงใหม่ กำลังผลิตไม่ต่ำกว่า 9.5 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างแล้วเสร็จใน 3 ปี โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ. แล้วเช่นกัน 

 

และเมื่อย้อนดูปี 2564 ที่ผ่ามา จะพบว่า GULF มีการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องพลังงานอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังได้ข้ามสายธุรกิจไปเข้าลงทุนใน INTUCH ซึ่งเป็น Holding Company สายโทรคมนาคมรายใหญ่ของประเทศอีกด้วย 

 

THE STANDARD WEALTH จึงได้สอบถามมุมมองของนักวิเคราะห์ที่มีต่อพัฒนาการทางธุรกิจที่สำคัญของ GULF ในช่วงนี้

 

FSSIA มองเป็นก้าวใหญ่สู่ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน 

สุวัฒน์ สินสาฎก กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน เอฟเอสเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ FSSIA กล่าวว่า การก้าวเข้าสู่โรงไฟฟ้าพลังงานขยะเป็นอีกก้าวสำคัญของ GULF ที่จะทำให้กำไรเพิ่มขึ้นในระยะกลาง ขณะที่การลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำจะเป็นการต่อยอดกำไรในระยะยาว 

 

ทั้งนี้ หากประเมินในภาพรวมของ GULF โดยอ้างอิงจากการประกาศข่าวการลงทุนต่างๆ มองว่า GULF กำลังก้าวเข้าสู่การเป็น Infrastructure Provider ด้วยการใช้ความแข็งแกร่งทางธุรกิจเดิมคือธุรกิจพลังงาน และธุรกิจใหม่คือธุรกิจด้านโทรคมนาคม ผสานเข้าด้วยกัน ซึ่งจะทำให้ในอนาคต GULF สามารถขยายฐานธุรกิจได้อย่างกว้างขวาง

 

“มองว่าที่ GULF กำลังทำอยู่ เกิดจากมุมองว่าที่ว่า ธุรกิจในโลกใหม่ทั้งโลกหลังโควิดและโลกหลังจากผ่านยุคเทคโนโลยีดิสรัปชัน ล้วนต้องการโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานงานไฟฟ้าและด้านโทรคมนาคมทั้งสิ้น ซึ่ง GULF มีทั้ง 2 โครงสร้างพื้นฐานนี้อยู่ในมือ ทำให้สามารถต่อยอดธุรกิจและสร้างการเติบโตได้อีกมากมาย จะสังเกตได้ว่าธุรกิจในโลกเก่า เช่น น้ำมัน ถ่านหิน และค้าปลีกนั้น GULF ไม่เข้าไปแตะเลย” สุวัฒน์กล่าว

 

ขณะที่การศึกษาธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลกับ Binance นั้น มองว่า GULF ไม่ได้ต้องการส่วนแบ่งรายได้ค่าธรรมเนียมเท่านั้น แต่การเป็นหนึ่งในเจ้าของแพลตฟอร์มดิจิทัลน่าจะทำให้ GULF สร้างผลิตภัณฑ์การลงทุนที่เป็น Digital Asset ได้หลากหลายมากขึ้น 

 

ทั้งนี้ FSSIA ยังคงราคาเป้าหมายหุ้น GULF ที่ราคา 56 บาท 

 

หยวนต้ามองรุก ‘โรงไฟฟ้าขยะ’ เป็นก้าวสำคัญ

ด้าน ธีร์ธนัตถ์ จินดารัตน์ นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า การเข้าไปลงทุนในโรงไฟฟ้าขยะชุมชนที่ จังหวัดเชียงใหม่ นับเป็นก้าวสำคัญของ GULF และจะทำให้เกิด Know-How ด้านนี้ด้วย เนื่องจาก GULF ไม่เคยมีในพอร์ตในธุรกิจนี้มาก่อน นอกจากนี้ธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะยังเป็นธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุนที่ดีจากรัฐบาลในระยะยาวอีกด้วย 

 

นอกจากนี้ GULF ยังมีโครงการร่วมทุนกับ Sinohydro (Hong Kong) Holding Ltd. หรือ SHK ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Power Construction Corporation of China Ltd. (POWERCHINA) หนึ่งในรัฐวิสาหกิจแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ Pak Lay กำลังผลิต 770 เมกะวัตต์ใน สปป.ลาว 

 

“สำหรับโปรเจกต์โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ประเมินว่าจะสร้างกำไร 4.5-5 พันล้านบาทต่อปี เงินลงทุนประมาณ 2.5-3 ล้านดอลลาร์ต่อเมกะวัตต์ หรือเท่ากับ 6 หมื่นล้านบาทโดยประมาณ โดย GULF ระบุเบื้องต้นว่าน่าจะถือหุ้น 35% ซึ่งตามไทม์ไลน์ที่ต้องเริ่มขายไฟในเดือนมกราคม 2575 เท่ากับว่า GULF ต้องเริ่มก่อสร้างในปี 2567 และน่าจะต้องการเงินลงทุนราว 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมการลงทุนอื่นๆ ทั้งกับ BINANCE และดีล M&A จึงมองว่าในปีนี้ GULF น่าจะต้องมีการ Liquidate Asset ให้เป็นเงินทุน เช่น ทำ Infrastructure Fund” 

 

ทั้งนี้ บล.หยวนต้ามีมุมมองเป็นบวกต่อการเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าขยะและโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ และได้เพิ่มราคาเป้าหมายอีก 5 บาทต่อหุ้น จากราคาเป้าหมายเดิมที่ 48.50 บาท 

 

“ตอนที่ประกาศดีลกับ BINANCE เรายังมองเป็นกลาง แต่โปรเจคด้านพลังงานไฟฟ้าเรามองว่าจะเพิ่มมูลค่าให้กับ GULF ได้มากกว่า และเชื่อว่าจะทำให้ผลประกอบการของ GULF ถูกปรับประมาณการขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ” ธีร์ธนัตถ์กล่าว 

 

‘GULF’ คงงบลงทุน 10 ปี 7-8 หมื่นล้าบาท

ยุพาพิน วังวิวัฒน์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่าบริษัทยังคงงบลงทุนระยะยาว 10 ปี ไว้ที่ระดับ 7-8 หมื่นล้านบาทตามเดิม ส่วนใหญ่ใช้ลงทุนพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้สอดรับเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็นไม่ต่ำกว่า 30% ในปี 2573 โดยงบลงทุนจำนวนนี้จะไม่นับรวมการทำดีล M&A 

 

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ Pak Lay มีต้นทุนโครงการอยู่ที่ 2.5-3 ล้านดอลลาร์ต่อเมกะวัตต์ โดยตามแผนงาน บริษัทจะดำเนินการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อพัฒนาโครงการ และเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าในปี 2567 โดย GULF จะถือหุ้นในสัดส่วน 35% รัฐวิสาหกิจจีนถือไม่ต่ำกว่า 51% และรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ถือหุ้นส่วนที่เหลือ แหล่งเงินลงทุนจะมาจากการทำ Project Finance แบ่งเป็นส่วนหนี้ 70% และส่วนทุน 30% ซึ่ง GULF มีเงินทุนเพียงพอต่อการลงทุนครั้งนี้ 

 

ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ Pak Lay มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ปี 2575 สามารถรับรู้รายได้ทันที

 

เคาะโมเดลธุรกิจกับ Binance ใน 3 เดือน

ยุพาพินกล่าวเพิ่มว่า ขณะยังอยู่ระหว่างศึกษาธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หลังจากที่เซ็น MOU กับ Binance เมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา เบื้องต้นคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเรื่องรูปแบบธุรกิจภายใน 3 เดือน 

 

“สาเหตุที่ศึกษาธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เพราะเรามองว่าโลกในอนาคตจะมุ่งไปสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทได้มีการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกับดิจิทัลไปอย่างหลากหลาย เช่น การลงทุนใน INTUCH ทำให้ได้มีพอร์ตของ Infrastructure ด้าน Telco และเราก็ต่อยอดไปสู่การทำ Data Center และ Cloud Computing ส่วน Digital Asset ที่กำลังศึกษาอยู่นี้ก็เพราะเรามองว่าจะเป็น Financial Infrastructure ในอนาคต” ยุพาพินกล่าว 

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 มกราคม บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัท กัลฟ์ รีนิวเอเบิล เอ็นเนอร์จี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้ลงนามสัญญาซื้อขายหุ้นกับนักธุรกิจท้องถิ่น เพื่อเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 99.99% ของบริษัท ออล เวสท์ ทู เอ็นเนอร์จี จำกัด (ALL WTE) ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 99.99% ในบริษัท เชียงใหม่ เวสท์ ทู เอ็นเนอร์จี จำกัด (CM WTE) ซึ่งได้สิทธิจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ (อบจ.เชียงใหม่) ในการบริหารจัดการระบบจัดการขยะมูลฝอยโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน CM WTE ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ตั้งอยู่ที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มีกาลังการผลิตติดตั้งไม่ต่ำกว่า 9.5 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับปริมาณขยะไม่ต่ำกว่า 650 ตันต่อวัน

 

โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวว มีรายได้จาก 2 ส่วน คือรายได้จากบริการกำจัดขยะด้วยวิธีการคัดแยกและฝังกลบอย่างถูกสุขลักษณะ และรายได้จากการขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยโครงการมีแผนที่จะเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าหลังจากได้ลงนามซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ. คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 ปีในการก่อสร้าง

 

การเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนดังกล่าว ถือเป็นการขยายธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียนของบริษัท และเป็นโครงการที่ช่วยลดปัญหาการจัดหาบ่อฝังกลบขยะเพิ่มเติมในจังหวัดเชียงใหม่ อีกทั้งเป็นการตอบสนองนโยบายของภาครัฐที่มุ่งสู่พลังงานสะอาด

 

ในวันเดียวกัน GULF แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัทและ Sinohydro (Hong Kong) Holding Ltd. (SHK) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Power Construction Corporation of China Ltd. (POWERCHINA) ซึ่งมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ร่วมกันลงนามบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Pak Lay กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เรื่องความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว และเป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยปี 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1)

 

GULF และ SHK มีแผนที่จะดำเนินการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อพัฒนาโครงการ ซึ่งตั้งอยู่บนแม่น้ำโขง เมืองปากลาย แขวงไซยะบุรี สปป.ลาว มีกำลังผลิตติดตั้ง 770 เมกะวัตต์ และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ในวันที่ 1 มกราคม 2575 โดย กฟผ. จะเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการในอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 2.6989 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งบริษัทร่วมทุนจะดำเนินการเจรจารายละเอียดเงื่อนไข และลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าร่วมกับ กฟผ. ต่อไป

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising