×

อนาคตกฎหมาย ESG ที่ธุรกิจไทยต้องเตรียมพร้อม

16.10.2024
  • LOADING...

การดำเนินธุรกิจด้วยนโยบาย ESG หรือ Environment (สิ่งแวดล้อม) Social (สังคม) และ Governance (บรรษัทภิบาลหรือการกำกับดูแล) เป็นแนวคิดด้านการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน (Sustainability) ที่ได้รับความสนใจทั่วโลก เป็นสาระสำคัญซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจไทยที่จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามนโยบายหรือกฎหมายที่ออกมา เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนไปพร้อมกับประชาคมโลกได้

 

เพื่อให้เห็นแนวทางของกฎหมายไทยเกี่ยวกับ ESG ที่จะออกโดยหน่วยงานกำกับดูแลในไทยในอนาคต และเพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น จึงจะขอนำเสนอตัวอย่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ ESG ที่ได้เริ่มบังคับใช้ในต่างประเทศดังนี้

 

Environment ในด้านสิ่งแวดล้อมมีสาระสำคัญว่าองค์กรควรมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ ดังนั้นนอกจากการจัดการคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศของโลกแล้ว ยังมีประเด็นอื่นๆ ด้วย เช่น การจัดการสิ่งปนเปื้อนในดินและน้ำบาดาล การจัดการของเสียและการรีไซเคิล การใช้น้ำ และกลยุทธ์การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ:

 

  • การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ที่แต่ละประเทศต่างให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อไปถึงเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) รวมไปถึงการเลิกตัดไม้ทำลายป่าและฟื้นฟูธรรมชาติ การยุติการใช้พลังงานจากถ่านหินและเชื้อเพลิงพร้อมกับการใช้พลังงานทดแทน และการจัดตั้งตลาดคาร์บอน
  • สหภาพยุโรปมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นทวีปที่เป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศเป็นทวีปแรกของโลกภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) ซึ่งสอดคล้องกับข้อตกลงสีเขียวของยุโรป (European Green Deal) ซึ่งเป็นแผนการเพื่อบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
  • ประเทศไทยให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีส ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2559 และมีการเสนอ (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต ภาษีคาร์บอน การจัดตั้งกองทุน กลไกการเงิน การกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก และการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • โดยหัวข้อที่สำคัญและอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจคือการกำหนดให้องค์กรมีหน้าที่ตรวจวัดและจัดส่งรายงานปริมาณการปล่อยหรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจการ สถานประกอบการ โดยร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดโทษทางอาญาและโทษทางปกครองกรณีที่มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้ด้วย

 

Social ในด้านสังคมมีสาระสำคัญว่าองค์กรจะต้องให้ความสำคัญในมิติของสังคมกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานขององค์กร คู่ค้า ลูกค้า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมไปถึงชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานขององค์กร โดยนโยบายจะต้องครอบคลุมถึงประเด็นสิทธิมนุษยชน ความเป็นอยู่ที่ดี สุขภาพและความปลอดภัย ตลอดจนการจัดการห่วงโซ่อุปทานอีกด้วย:

 

  • ภาครัฐและผู้กำกับดูแลด้านกฎหมายในหลายประเทศต่างต้องการให้องค์กรปรับใช้นโยบาย ESG ในการประกอบธุรกิจและเป็นแนวทางปฏิบัติด้านแรงงานมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมและการมีส่วนร่วม (Diversity, Equity & Inclusion: DE&I) สิทธิมนุษยชน ความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน ซึ่งความเท่าเทียมในการจ่ายค่าจ้าง นโยบาย และแนวปฏิบัติ ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของกลยุทธ์ ESG ที่องค์กรควรให้ความสำคัญ
  • ประเด็นการจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวกับการใช้แรงงานทาสยุคใหม่ (Modern Slavery) เช่น การค้ามนุษย์ แรงงานบังคับ การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ซึ่งในประเทศอังกฤษและออสเตรเลียได้มีบทบัญญัติในเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน
  • สำหรับในประเทศไทย กฎหมายและข้อบังคับที่สอดคล้องกับมิติความสัมพันธ์ทางสังคมขององค์กรประกอบไปด้วยกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ความเท่าเทียมระหว่างเพศ ความปลอดภัยจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน แม้ประเทศไทยจะยังไม่ได้มีกฎหมายที่เกี่ยวกับแรงงานทาสยุคใหม่โดยตรง แต่การไม่จัดการความเสี่ยงในเรื่องนี้อาจส่งผลให้มีความผิดตามกฎหมายเนื่องจากการใช้แรงงานทาส แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ ถือเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาในประเทศไทย

 

Governance ในด้านบรรษัทภิบาลมีสาระสำคัญว่าองค์กรควรมุ่งเน้นถึงความรับผิดชอบ ความเป็นธรรม และความโปร่งใสในความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย และการจัดการและบริหารความสัมพันธ์ในเชิงการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น ข้อกำหนดการแข่งขันทางการค้า การต่อต้านการให้สินบนและคอร์รัปชัน การปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชี และการเป็นผู้เสียภาษีที่ดี:

 

  • ประเด็นที่กำลังเป็นที่จับตามองและเริ่มที่จะมีกฎหมายและกฎระเบียบที่ออกมาบังคับคือการฟอกเขียวธุรกิจ (Greenwashing) หรือการเปิดเผยข้อมูลหรือการปฏิบัติที่ไม่เป็นความจริง หรือเกินกว่าความจริง เพื่อสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมขององค์กร นอกจากจะมีโทษทางกฎหมายแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือขององค์กร
  • นอกจากนี้สหภาพยุโรปมีกฎหมายและข้อกำหนดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น EU Whistleblower Protection Directive (การปกป้องผู้แจ้งเบาะแส) EU Anti-Money Laundering Directive (การป้องกันการฟอกเงินและสนับสนุนทางการเงิน) และ Sustainable Finance Disclosure Regulation (การเปิดเผยของนักลงทุนเกี่ยวกับการพิจารณาด้าน ESG ในการตัดสินใจลงทุน) ทั้งนี้ เพื่อวัตถุประสงค์ด้านความโปร่งใส มีความรับผิดชอบ และมีจริยธรรมในการประกอบธุรกิจ
  • สำหรับในประเทศไทย ในแง่ข้อบังคับที่สอดคล้องกับมิติบรรษัทภิบาลและการกำกับดูแล การปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น กฎหมายว่าด้วยองค์กรธุรกิจ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ การป้องกันการทุจริตและคอร์รัปชัน กฎหมายการแข่งขันทางการค้า มาตรฐานการบัญชี กฎหมายภาษีอากร และการจัดการความเสี่ยงและตรวจสอบภายใน ถือเป็นสาระสำคัญเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนได้ การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎระเบียบดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงเรื่องการหยุดชะงักในการประกอบธุรกิจ หรืออาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตได้ ซึ่งประเทศไทยอยู่ในระยะแรกของการพัฒนากฎหมายและข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ESG โดยตรง ซึ่งเห็นได้จากตัวอย่างขององค์กรที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทยที่ยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลให้เป็นระดับโลก

 

แม้ว่าประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายด้าน ESG โดยตรง การเตรียมความพร้อมในด้าน ESG เป็นสิ่งสำคัญมากกว่าเป็นเพียงแค่กระแสชั่วคราว (Trend) ทุกองค์กรควรศึกษาและนำมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อยกระดับมาตรฐานการประกอบกิจการ เสริมสร้างโอกาสทางธุรกิจระหว่างประเทศ และเตรียมตัวสำหรับกฎหมาย ESG ในอนาคต

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising