การประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC 2022 ที่กำลังจะเปิดฉากระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายนนี้ ถือเป็นเวทีประชุมใหญ่ด้านเศรษฐกิจของภูมิภาค ที่ไทยและทั่วโลกตั้งความหวัง โดยเป็นการประชุมแบบพบหน้ากันครั้งแรก หลังจากที่เผชิญวิกฤตโควิด ขณะที่วาระการประชุมปีนี้ครอบคลุมไปด้วยความท้าทายทางเศรษฐกิจหลากหลายด้าน ทั้งโรคระบาด สงคราม ความไม่มั่นคงทางอาหาร และผลกระทบจากภาวะโลกรวน
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของการก่อตั้งกลุ่ม APEC (Asia-Pacific Economic Cooperation) หรือกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่เริ่มต้นขึ้นในปี 1989 และมีสมาชิกทั้งสิ้น 21 เขตเศรษฐกิจ รวมถึงไทย มีจุดมุ่งหมายหลักแต่เริ่มแรกคือ การส่งเสริมการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
แต่จนถึงตอนนี้เริ่มมีการตั้งข้อสังเกตว่า APEC กำลังออกห่างจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ และทำให้ถูกจับจ้องว่าความสำคัญและบทบาทของ APEC ในฐานะกลุ่มความร่วมมือระหว่างรัฐบาลที่พยายามผลักดันข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างชาติสมาชิกที่เรียกว่า FTAAP (Free Trade Area of the Asia-Pacific) กำลังถดถอย
ในขณะที่ข้อตกลงการค้าเสรีอื่นๆ กลับเริ่มมีบทบาทและความเป็นไปได้ที่มากกว่า อาทิ ข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) หรือที่เรียกย่อๆ ว่า ข้อตกลง CPTPP ซึ่งเป็นข้อตกลงทางการค้าที่ทำร่วมกับในประเทศแถบภาคพื้นแปซิฟิก เพื่อลดกำแพงทางการค้าระหว่างกัน และขยายการค้าของประเทศสมาชิก
สิ่งที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดคำถามใหญ่ถึงอนาคตและความจำเป็นที่จะต้องมีกลุ่ม APEC ต่อไปหรือไม่? โดย รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ได้ให้คำตอบในเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ
บทบาทการค้าเสรีที่ลดลง
ที่ผ่านมา APEC ได้กำหนดเป้าหมายในการดำเนินงานเพื่อเปิดเสรีการค้าการลงทุนในภูมิภาค หรือที่เรียกว่า เป้าหมายโบกอร์ (Bogor Goals) สำหรับสมาชิกที่พัฒนาแล้วภายในปี 2010 และสมาชิกที่กำลังพัฒนาภายในปี 2020
หลักการของ APEC คือ เป็นเวทีสำหรับการปรึกษาหรือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นทางเศรษฐกิจที่ประเทศสมาชิกสนใจ โดยยึดหลักฉันทามติความเท่าเทียม และผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก ซึ่งการดำเนินการใดๆ ต้องคำนึงถึงความแตกต่างของระบบเศรษฐกิจและสังคม และระดับการพัฒนาของประเทศสมาชิก
โดย APEC ได้กำหนด 3 เสาหลัก หรือแนวทางดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายโบกอร์ ใน 3 ด้าน ได้แก่
- การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน (Trade and Investment Liberalization)
- การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน (Trade and Investment Facilitation)
- ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ (Economic and Technical Cooperation: ECOTECH)
รศ.ดร.สมชาย มองบทบาทและความพยายามในการเดินหน้าข้อตกลงการค้าเสรีภายใน APEC ว่าล่าช้า เมื่อเทียบกับข้อตกลงการค้าเสรีอื่นๆ ที่ทำได้ง่ายกว่า เช่น AFTA หรือเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area) ที่มีสมาชิก 10 ประเทศ หรือการทำข้อตกลงการค้าเสรีระดับทวิภาคี เช่น จีนกับไทย จีนกับกัมพูชา หรือไทยกับญี่ปุ่นที่รู้จักในชื่อความตกลง JTEPA
อีกทั้งยังมีข้อตกลงการค้าเสรีแบบพหุภาคี ระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา เช่น ASEAN+1 หรือ ASEAN+6 และล่าสุดคือ RCEP หรือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งเป็นเขตการค้าเสรีใหญ่ที่สุดของโลก มีสมาชิก 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, จีน, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2022 โดยมีไทยเป็น 1 ใน 15 ประเทศที่ร่วมก่อตั้ง
APEC ยังจำเป็น
อย่างไรก็ตาม แม้ความสำคัญด้านการผลักดันข้อตกลงการค้าเสรีของ APEC จะดูไม่มากนัก แต่ รศ.ดร.สมชาย ชี้ว่า APEC ยังมีความสำคัญอยู่ โดย 2 ใน 3 เสาหลัก ทั้งเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน รวมถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการนั้น APEC ยังคงมีบทบาทและมีประโยชน์อยู่
นอกจากนี้ยังมีอีกเสาหลักพิเศษที่จำเป็นนอกเหนือจาก 3 เสาหลักข้างต้น ซึ่ง รศ.ดร.สมชาย เรียกว่า เสาหลัก 3+1 คือ APEC ยังเป็นเวทีสำหรับการหารือในประเด็นระดับโลกที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ อย่างวิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์, การก่อการร้าย, การต่อต้านการทุจริต, ประเด็นความมั่นคง รวมถึงประเด็นสิทธิสตรีและความเท่าเทียมทางเพศ และประเด็นที่กำลังเผชิญ ณ ปัจจุบันอย่างวิกฤตโควิด, สงครามยูเครน, ความไม่มั่นคงทางอาหาร หรือภาวะโลกรวน
ขณะที่ รศ.ดร.สมชาย ชี้ว่าความสำคัญของ APEC นั้นยังมีมากพอและไม่ได้ลดลง เมื่อดูจากการที่ผู้นำระดับโลก เช่น รองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส ของสหรัฐฯ เดินทางมาร่วมการประชุม
อีกประเด็นที่สะท้อนว่า APEC ยังเป็นเวทีที่มีความสำคัญ คือการเป็นพื้นที่เจรจานอกรอบระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งสามารถก่อให้เกิดความร่วมมือและข้อตกลงที่สำคัญได้
“APEC ประชุมที่เม็กซิโกในปี 2002 ที่โลสกาโบส (Los Cabos) การเจรจานอกรอบระหว่างสิงคโปร์ นิวซีแลนด์ และชิลี ทำให้เกิด TPP (ข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแปซิฟิก ซึ่งปัจจุบันกลายเป็น CPTPP)” รศ.ดร.สมชาย กล่าว
ขณะที่เขาชี้ว่า การเจรจานอกรอบระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียยังส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน ตลอดจนความร่วมมือทางการค้าและการลงทุน ซึ่งเป็นประโยชน์ที่แม้แต่ผู้นำชาติยุโรป อย่างเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ยังต้องเดินทางมาร่วมประชุม APEC เนื่องจากต้องการคงบทบาทและความสำคัญด้านการค้าในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
“เพราะฉะนั้น APEC ไม่ได้หมายความว่า (บทบาท) มันจะลดลง บทบาทในด้านการเปิดเสรีทางการค้านั้นน้อยลง เพราะว่ามันมี (ข้อตกลง) อย่างอื่น แต่มันยังมีบทบาทในเรื่องอื่นๆ”
บทบาทไทยในเวทีโลก หลังการเป็นเจ้าภาพ APEC
สำหรับบทบาทของไทยนั้น หลังเสร็จสิ้นการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำ APEC แน่นอนว่ารัฐบาลไทยตั้งความหวังที่จะสร้างบทบาทและการเป็นที่จดจำ รวมถึงแสวงหาผลประโยชน์จากความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนต่างๆ จากการประชุมรอบนี้
ที่ผ่านมาหลายประเทศพยายามที่จะสร้างบทบาทในระดับโลกท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น อินโดนีเซีย และตุรกี ที่เสนอตัวเป็นคนกลางในการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครน
แต่สำหรับไทยนั้น โอกาสที่จะใช้เวที APEC เพื่อขยายบทบาทของตนในเวทีโลก รศ.ดร.สมชาย มองว่า การเปลี่ยนแปลงในบทบาทของไทยจะไม่เกิดขึ้น เมื่อดูจากท่าทีและการวางตำแหน่งของไทยในช่วงที่ผ่านมา เช่น การงดออกเสียง กรณีการโหวตมติของ UN ประณามรัสเซียผนวกรวม 4 ดินแดนของยูเครน เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
“ของเราจัดได้ดีในปีนี้ก็โอเคแล้วครับ แต่การที่จะวางตำแหน่ง (ในเวทีโลก) ไม่ใช่ของง่ายเลย” รศ.ดร.สมชาย กล่าว
ภาพ: Rafael Henrique / SOPA Images / LightRocket via Getty Images
อ้างอิง:
- https://en.wikipedia.org/wiki/Asia-Pacific_Economic_Cooperation
- https://www.chula.ac.th/highlight/88490/
- https://dtn.go.th/th/negotiation/5cff75441ac9ee073b7bd60d?cate=5cff753c1ac9ee073b7bd1fb
- https://www.dtn.go.th/th/negotiation/5cff75431ac9ee073b7bd5bb?cate=5cff753c1ac9ee073b7bd1f8
- https://www.bbc.com/thai/59847341