×

หนังสือนำเที่ยวอียิปต์เล่มแรกของสยาม และภาพถ่ายอียิปต์ชุดแรกในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์

30.12.2020
  • LOADING...
หนังสือนำเที่ยวอียิปต์เล่มแรก

HIGHLIGHTS

8 mins. read
  • ช่วงครึ่งหลังคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชนชั้นกลางได้ขยายตัวขึ้นอย่างสูงจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘เวลาไม่ทำงาน’ (Non-working Time) ขึ้นซึ่งชนชั้นกลางและคนมีเงินต้องการพักผ่อนจากการทำงานหนัก ทำให้คนอยากไปเที่ยวพักผ่อน และเกิดธุรกิจท่องเที่ยวขึ้นอย่างจริงจัง
  • อียิปต์เมื่อร้อยกว่าปีก่อนนั้นเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ชาวยุโรปสนใจในฐานะเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมมานานแล้ว จึงทำให้ปรากฏตึกรามบ้านช่องแบบยุโรป ซึ่งน่าสนใจและน่าชมพอๆ กับโบราณสถานในอารยธรรมอียิปต์เอง เพราะมันได้สะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของโลกจากยุคเก่าสู่ยุคใหม่ ในขณะเดียวกันก็ทำให้เห็นถึงภาวะที่ชาวตะวันตกกำลังโหยหาความเป็นตะวันออก (Orientalism) ซึ่งเป็นทั้งรสนิยมและความรู้สึกของการเสพว่าตนเองนั้นเหนือกว่าตะวันออก 
  • ชนชั้นนำสยามเองก็รับความรู้และวิธีคิดอย่างนั้นมาเช่นกัน ทำให้รัชกาลที่ 6 ได้เปรียบเทียบความรุ่งเรืองของสุโขทัยเป็นดั่งอารยธรรมอียิปต์ที่สาบสูญ แต่ถูกฟื้นฟูด้วยมือของชาวยุโรป การค้นคว้าเมืองโบราณในสยามในยุครัชกาลที่ 5-6 นั้นจึงเป็นไปภายใต้แนวคิดแบบยุโรปนั่นเอง 

ปี 2021 แกรนด์มิวเซียมของอียิปต์จะเปิดอย่างเป็นทางการ (ถ้าไม่เลื่อนอีก) แต่ก็ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสได้ไปเที่ยวกันหรือเปล่าถ้าโควิด-19 ยังระบาดอยู่แบบนี้ และวัคซีนยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ หรือในท้ายที่สุดเราอาจต้องปรับมุมมองและหาทางป้องกันอยู่ร่วมกับมันไป ไม่อย่างนั้นก็คงไม่ได้เดินทางไปไหนกันสักที และธุรกิจท่องเที่ยวก็คงจะพังพินาศกันหมด 

 

ย้อนกลับไปเมื่อราวหนึ่งร้อยปีก่อน อียิปต์ได้กลายเป็นหมุดหมายของการท่องเที่ยวของผู้ดีมีเงินในยุโรป เพราะถือเป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิดอารยธรรมของโลก เป้าหมายของการท่องเที่ยวนี้ก็ไม่ได้แตกต่างไปจาก Grand Tour ในยุคก่อนหน้านี้ที่มองว่าการท่องเที่ยวเป็นวิธีการอย่างหนึ่งในการแสวงหาความรู้และพัฒนาจิตใจ แต่ที่เพิ่มเติมเข้ามาด้วยในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 คือการท่องเที่ยวถือเป็นวิธีการพักผ่อนหย่อนใจและรักษาสุขภาพแบบหนึ่ง

 

ในห้วงเวลาที่การท่องเที่ยวไปยังอียิปต์กำลังได้รับความนิยมนั้น ปรากฏว่ามีคนไทย 2 กลุ่มที่เคยเดินทางไปเที่ยวในอียิปต์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ซึ่งพระองค์แรกได้พระราชนิพนธ์หนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า เมืองอิยิปต์ (สะกดด้วย อิ ไม่ใช่ อี แบบปัจจุบัน) ซึ่งถือเป็นหนังสือกึ่งนำเที่ยวแนวประวัติศาสตร์โบราณคดีว่าด้วยอารยธรรมอียิปต์เล่มแรกของไทย ในขณะที่หลังจากพระองค์ได้ทรงถ่ายภาพอียิปต์ไว้เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันเก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ซึ่งผมได้นำมาลงเป็นภาพประกอบ เพราะยังไม่มีโอกาสได้ค้นบันทึกของพระองค์อย่างจริงจัง หวังใจว่าจะมีคนสานต่อในอนาคต 

 

แผ่จักรวรรดิ สร้างเส้นทางการท่องเที่ยว

สมัยก่อนหน้าที่จะมีเปิดเส้นทางท่องเที่ยวไปอียิปต์และเขตตะวันออกกลางนั้น เส้นทางที่ชาวตะวันตกนิยมไปกันคือประเทศที่ถือเป็นแหล่งกำเนิดของอารยธรรมตะวันตก อันได้แก่ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี และกรีซ เส้นทางนี้ถูกเรียกว่าเป็น ‘Grand Tour’ (การท่องเที่ยวครั้งใหญ่) ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17-18

 

อย่างไรก็ดี ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่ออำนาจของจักรวรรดินิยมอังกฤษได้แผ่ขยายปีกไปทั่วโลก ทำให้การเดินทางไปเที่ยวทำได้สะดวกขึ้น เพราะมีเรือกลไฟ รถไฟ และอื่นๆ อีกทั้งยังมีความปลอดภัยมากขึ้นอีกด้วย ประกอบกับในช่วงครึ่งหลังคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชนชั้นกลางได้ขยายตัวขึ้นอย่างสูง อันเป็นผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘เวลาไม่ทำงาน’ (Non-working Time) ซึ่งชนชั้นกลางและคนมีเงินต้องการพักผ่อนจากการทำงานหนัก ทั้งหมดนี้เองที่ทำให้คนอยากไปเที่ยวพักผ่อนและเกิดธุรกิจท่องเที่ยวขึ้นอย่างจริงจัง 

 

โทมัส คุก (Thomas Cook 1808-1892) ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจการท่องเที่ยวยุคใหม่ (Modern Tourism) ของอังกฤษ ธุรกิจของคุกก่อนที่จะขยายไปสู่การจัดเส้นทางการท่องเที่ยวอียิปต์นั้นเริ่มต้นขึ้นในปี 1841 เมื่อเขาได้จัดกรุ๊ปของคนงานจากเมืองเลสเตอร์ไปเที่ยวยังเมืองลิเวอร์พูล ซึ่งทำให้เขาเห็นช่องทางของการทำธุรกิจ เพราะว่าการโดยสารรถไฟและไปพักที่โรงแรมเป็นกลุ่มนั้นสามารถทำให้ราคาถูกลงได้ แต่สิ่งหนึ่งด้วยที่ทำให้ธุรกิจเขาสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วคือแทบจะทุกทริปเขาจะเดินทางไปด้วยเพื่อสอบถามความพึงพอใจของลูกค้าและนำมาปรับปรุงอยู่เสมอ

 

ในปี 1855 เขาได้เริ่มต้นจัดการทัวร์ไปยุโรป ได้แก่ ฮอลแลนด์, เบลเยียม, ฝรั่งเศส (ปารีส) และเยอรมนี ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ต่อมาในปี 1868 เขาได้ไปสำรวจเพื่อสร้างเส้นทางท่องเที่ยวในตะวันออกกลาง ตุรกี อียิปต์ และปาเลสไตน์/ซีเรีย ซึ่งหลังจากนั้น 1 ปีเขาก็ได้เปิดเส้นทางการท่องเที่ยวในประเทศกลุ่มนี้ขึ้นมา ต่อมาในปลายทศวรรษที่ 1860 นี้เองที่ทำให้ชื่อของคุกขึ้นแท่นในฐานะผู้ที่บุกเบิกอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสมัยใหม่ 

 

อย่างไรก็ตาม เส้นทางการท่องเที่ยวในอียิปต์นั้นไม่ง่ายเหมือนในยุโรป ในบันทึกของคุกปี 1869 ซึ่งเป็นแกรนด์ทัวร์ครั้งแรกในอียิปต์และซีเรีย ได้รำพึงว่าการจัดเส้นทางการท่องเที่ยวในอียิปต์นั้นลำบากและเต็มไปด้วยความยุ่งยาก นับตั้งแต่เรื่องของภาษา การหาล่ามที่แปลได้อย่างถูกต้อง เงินที่ใช้กันในอียิปต์มีหลายชนิด ทำให้ลูกค้าต้องงงเวลาซื้อสินค้า อีกทั้งยังมีอุปสรรคจากข้าราชการของอียิปต์ที่ชอบสินบน 

 

หนังสือนำเที่ยวอียิปต์เล่มแรก

โปสเตอร์โฆษณาเส้นทางนำเที่ยวอียิปต์-ปาเลสไตน์
ของบริษัท Cook & Son

 

ทว่าเหมือนโชคช่วย คุกได้รับการช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกจากอุปราชอียิปต์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีอิทธิพลและมีความคิดแบบพ่อค้า อีกทั้งเป็นเจ้าของกิจการรถไฟอีกด้วย ส่งผลทำให้ธุรกิจของคุกนั้นสะดวกมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นทำให้เขาสามารถพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวจากลอนดอนเชื่อมต่อเข้ากับเมืองอเล็กซานเดรียได้ด้วยราคาที่ไม่แพง ใช้เวลาเดินทางน้อยลงถึง 7 วันจากปกติที่เคยทำกันมา และยังมีความสะดวก ปลอดภัย ไม่ยุ่งยากจากปัญหาของข้าราชการในท้องที่อีกด้วย

 

หลังจากทริปนี้ ในปี 1870 อุปราชแห่งอียิปต์ได้ยื่นข้อเสนออำนวยความสะดวกในเส้นทางเส้นทางกรุงไคโรและอัสวานให้กับบริษัทของคุกที่ตอนนี้ได้ใช้ชื่อว่า Cook & Son ซึ่งส่งผลให้ในไม่ช้า ในปี 1872 คุกได้เปิดออฟฟิศแห่งแรกในเขตตะวันออกกลางที่โรงแรมเชฟเฟิร์ดที่กรุงไคโร ธุรกิจนี้เป็นที่พอใจของอุปราชแห่งอียิปต์อย่างมาก เพราะทำให้เขาได้รับส่วนแบ่งเป็นเงินปีละหลายหมื่นปอนด์ 

 

หนังสือนำเที่ยวอียิปต์เล่มแรก

วิหารลักซอร์ สร้างขึ้นเมื่อ 1,400 ปีก่อนคริสต์ศักราช
ถ่ายภาพโดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เมื่อปี 1913

 

คุกนั้นเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอียิปต์เป็นอย่างดี โดยในช่วงปี 1869-1882 เมื่ออังกฤษเข้าไปปกครองอียิปต์ชั่วคราว ยิ่งทำให้ธุรกิจของคุกเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยคุกพยายามวางบทบาทตัวเองไม่เข้าไปยุ่งกับการเมือง แต่เข้าไปเพื่อทำธุรกิจแห่งสันติภาพ และยังพยายามวางตัวให้ห่างจากความขัดแย้งในท้องถิ่นเองด้วย 

 

ในระหว่างนี้คุกยังได้ลงทุนเปิดรีสอร์ตริมแม่น้ำไนล์ขึ้นอีกด้วย ซึ่งถือเป็นที่พักแบบใหม่ รีสอร์ตนี้แตกต่างจากโรงแรม เพราะเน้นวิวของที่พักอันสวยงาม มักตั้งอยู่บนภูเขาหรือใกล้กับแม่น้ำ บางแห่งมีน้ำพุและสถานที่พักผ่อน ต่างจากโรงแรมที่มีเพียงห้องพักเท่านั้น ทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวในอียิปต์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีคนจากอังกฤษและยุโรปเดินทางไปท่องเที่ยวมากมาย

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยปัญหาทางด้านการเงินของอียิปต์และอีกหลายปัจจัย ดังนั้นในปี 1876 อังกฤษได้เข้าควบคุมกิจการรถไฟและท่าเรือของเมืองอเล็กซานเดรียถึง 40% ต่อมาในปี 1878 เซอร์ ริเวอร์ส วิลสัน ได้เป็นรัฐมนตรีการคลังของอียิปต์เพื่อแก้ไขปัญหาทางการเงินของอียิปต์ แต่ก็ไม่สามารถประคองไปได้ อียิปต์ตกอยู่ในสภาพล้มละลายทางการเงิน เอกชนที่ปล่อยกู้กลัวว่าจะไม่ได้เงินคืน อีกทั้งมีการต่อต้านอิทธิพลของตะวันตกจากนักชาตินิยมที่มีมากขึ้น ประกอบกับผลประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้จากเส้นทางคลองสุเอซ สุดท้ายแล้วทำให้เกิดสงครามระหว่างอังกฤษกับอียิปต์จนนำไปสู่การยึดครองอียิปต์ในฐานะอาณานิคมในปี 1882 หลังจากนี้เป็นต้นไป การท่องเที่ยวและงานโบราณคดีในอียิปต์นั้นจะเติบโตขึ้นอีกหลายเท่า มีบริษัทนำเที่ยวและเดินเรืออีกหลายเจ้า เช่น เสมิรามิส (Semiramis) ของออสเตรียที่ปัจจุบันยังดำเนินธุรกิจอยู่ บริษัทเมสสาชรีมาริตีมของฝรั่งเศส แต่ก็เป็นไปพร้อมๆ กับการลักลอบนำโบราณวัตถุออกจากอียิปต์เป็นจำนวนมากด้วย 

 

หนังสือนำเที่ยวอียิปต์เล่มแรกของไทย

เมื่อปี 1907 รัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศสยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงนิพนธ์หนังสือเรื่อง ‘เมืองอียิปต์’ เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงได้ไปเที่ยวเมื่อปี 1901 หรือภายหลังจากที่อังกฤษได้ปกครองอียิปต์ในฐานะประเทศอาณานิคมแล้ว ความมุ่งหวังที่ทรงนิพนธ์หนังสือเล่มนี้ขึ้นมานั้นปรากฏชัดในคำนำ ความว่า “ก่อนที่จะไปดูที่แห่งใดซึ่งเป็นของโบราณ มีข้อจำเป็นอยู่อย่างหนึ่งที่จะต้องทราบตำนานฤๅพงศาวดารเป็นต้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับที่นั้นๆ จึ่งจะทำให้น่าดูมากขึ้น เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจึ่งมาทำให้นึกขึ้นว่าผู้ที่จะอ่านเรื่องเมืองอิยิปต์ก็ควรจะต้องได้มีความรู้ล่วงหน้าเป็นทุนไว้บ้างเช่นนั้นเหมือนกัน” (น.ก)

 

 

หนังสือนำเที่ยวอียิปต์เล่มแรก

หนังสือเรื่อง ‘เมืองอิยิปต์’
บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

เนื้อหาส่วนใหญ่ในเล่มพระองค์ทรงคัดแปลมาจากหนังสือเรื่อง แม่น้ำไนล์ (The Nile: Notes for Travellers in Egypt) ของ ดอกเตอร์ อี. เอ. วอลลิส บัดส์ ภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์สถานกรุงลอนดอน ดังนั้นจึงเป็นหนังสือนำเที่ยวที่ดีเล่มหนึ่งในยุคนั้น และเมื่อไปถึงที่อียิปต์ พระองค์ได้ฟังคำอธิบายต่างๆ จาก เอมิล บรุกซ์ นักโบราณคดีชาวเยอรมัน และภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์บูแลคที่กรุงไคโร ทั้งหมดนี้จึงทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นคู่มือนำเที่ยวที่ดีสุดของไทยในยุคนั้น ไม่ทราบว่าหนังสือนี้ได้ตีพิมพ์ในสมัยของรัชกาลที่ 6 หรือไม่ แต่เท่าที่พบ หนังสือเรื่อง เมืองอิยิปต์ นี้ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2472 และถ้าใครสนใจ ปัจจุบันได้เปิดให้ดาวน์โหลดอ่านได้จากห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครับ 

 

หนังสือนำเที่ยวอียิปต์เล่มแรก

หนังสือ The Nile: Notes for Travellers in Egypt
ของ อี. เอ. วอลลิส บัดส์ เมื่อปี 1890

 

พระองค์ได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ตอนหลัก ตอนแรกเป็นพงศาวดารย่อ ตอนที่สองว่าด้วยเมืองอิยิปต์, ชาวอิยิปต์โบราณ, ชาวอิยิปต์ปรัตยุตบันกาล, หนังสืออิยิปต์โบราณ, ศาสนาและความนิยมของชาวอิยิปต์, เรื่องราวของเทพยดาที่นับถือของชาวอิยิปต์, และตอนที่สามเป็นประสบการณ์จากการท่องเที่ยวของพระองค์เอง แบ่งออกเป็น 4 บทคือ บทที่ 1 ไปถึงอิยิปต์-เที่ยวเมืองอะเล็กซานเดรีย, บทที่ 2 ถึงเมืองไกโร-ดูเมืองเผินๆ, บทที่ 3 ตลาดเมืองไกโร, บทที่ 4 วัดและที่ฝังศพ ณ ไกโร ซึ่งบทหลังนี้น่าสนใจ เพราะบอกเล่าประสบการณ์ท่องเที่ยวโดยตรงของพระองค์เอง 

 

หนังสือนำเที่ยวอียิปต์เล่มแรก

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ในวิหารเดนเดรา
(แต่หอจดหมายเหตุแห่งชาติระบุว่าเป็นวิหารรามาเซส)

 

พระองค์ไม่ได้ทรงใช้เรือของบริษัทของคุก แต่ใช้บริษัทเดินเรือของออสเตรียชื่อ ‘เสมิรามิส’ ของบริษัทออสเตรียนลอยด์ เป็นเรือขนาดเล็กนั่งสบาย เมื่อไปถึงเมืองท่าอเล็กซานเดรีย นายพลตรียุสซุฟเซียปาชา องครักษ์ของเคดิฟ (อุปราช) ของอียิปต์ มาให้การต้อนรับ พร้อมด้วยมิสเตอร์กูลด์ กงสุลอังกฤษ ซึ่งเคยเป็นทูตในกรุงเทพฯ มาก่อนมารับเสด็จด้วย และพาขึ้นรถที่เจ้าเมืองจัดมาเพื่อรับไปโรงแรมนิวเคดิเวียล ในหนังสือพระองค์ได้บันทึกว่าได้ไปชมเมือง พิพิธภัณฑ์ และสุสานในเมืองอเล็กซานเดรียหลายแห่ง และได้กล่าวถึงเสา ‘โอเบลิสก์’ (เสาหินยอดรวบแหลม) ต้นหนึ่งที่ มูฮัมหมัดอาลี ปาชา แห่งเมืองอียิปต์ได้ยกให้กับอังกฤษเมื่อปี 1877 ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ริมแม่น้ำเทมส์ ในเขตเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน ซึ่งผมก็เคยไปเห็นเสาต้นนี้มาเหมือนกัน จากนั้นพระองค์ก็นั่งรถไฟตอนเที่ยง ใช้เวลา 3 ชั่วโมงจึงถึงยังกรุงไคโร

 

เมื่อไปถึงกรุงไคโร ได้มีบูตร์สฆาลิปาชา เสนาบดีว่าการต่างประเทศของอียิปต์ พร้อมคณะมาคอยต้อนรับ จากนั้นก็ไปพักยังโรงแรมซาวอย ซึ่งถือเป็นโรงแรมหรูระดับห้าดาวริมแม่น้ำไนล์ ความจริงแล้วเคดิฟได้ชวนให้พระองค์ไปอยู่ในวังอับดีน แต่ได้ทรงปฏิเสธ ทั้งนี้เพื่อความเป็นส่วนพระองค์ และไปท่องเที่ยวได้โดยสะดวก 

 

หนังสือนำเที่ยวอียิปต์เล่มแรก

ภาพของโรงแรมซาวอยเมื่อร้อยกว่าปีก่อนที่รัชกาลที่ 6 เคยทรงประทับ
(ภาพ: http://grandhotelsegypt.com/?tag=savoy-hotel)

 

พระองค์ทรงอธิบายว่าชื่อเมืองไคโรเป็นภาษาอาหรับมาจากคำว่า ‘กาหิระ’ แปลว่ามีชัย โดยได้ชื่อตามดาวอังคาร ในบันทึกของพระองค์นั้นทำให้เราเห็นสภาพของกรุงไคโรเมื่อร้อยกว่าปีก่อนว่าในเวลานั้นไคโรเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา มีพลเมือง 6 แสนคน ตึกรามบ้านช่องแบบยุโรปสวยงาม ผู้คน รถม้า อูฐ และช้างสัญจรกันอย่างเนืองแน่น ที่เมืองนี้เจริญขึ้นมาได้เพราะชาวยุโรปไว้ใช้ท่องเที่ยวกันในฤดูหนาว ทำให้บางโซนแทบจะคิดว่าอยู่ในกรุงปารีสกันเลยทีเดียว ซึ่งในความเห็นของพระองค์นั้นทรงมองว่า “คนโดยมากที่พูดอวดว่าได้เคยไปเที่ยวประเทศอิยิปต์แล้วไม่ได้เคยไปเกินไกโรไปเลยก็มี มัวไปหลงเพลิดเพลินเสียที่ไกโรนี้เอง ที่จริงถ้าจะไปเที่ยวกันเช่นนั้นแล้ว ไม่เห็นว่าจำเป็นจะต้องไปถึงไกโรให้เปลืองเงินเลย จะไปเที่ยวที่ไหนๆ ก็ได้” (น.84) 

 

สถานที่อีกแห่งที่พระองค์ทรงสนพระทัยมากคือตลาดเมืองไคโร ตั้งอยู่บนถนนมุสกี ซึ่งพระองค์ได้ทอดพระเนตรตลาด บ้านเรือน ถนนหนทาง แต่ที่ชอบมากคือ “ได้เห็นคนต่างๆ น่าดูมาก ในหมู่คนเดิรมีพวกที่เป็นชั้นพลเรือน เป็นแขกตุรกีบ้าง อาหรับบ้าง เฟลลาห์ (คือคนพื้นเมืองอียิปต์) บ้าง ยิวบ้าง” ซึ่งความแตกต่างจากคนเหล่านี้สามารถสังเกตได้จากเครื่องแต่งกายที่แตกต่างกัน 

 

หนังสือนำเที่ยวอียิปต์เล่มแรก

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน (ซ้ายมือสุด)
ท่ามกลางชนเผ่า เข้าใจว่าเป็นพวกนูเบียนในอียิปต์ที่ทางข้าหลวงของอังกฤษ
นำมาแสดงให้ชม

 

 

หนังสือนำเที่ยวอียิปต์เล่มแรก

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน
ประทับบนลา น่าจะถ่ายหน้าวิหารรามาเซสที่ 2
(แต่หอจดหมายเหตุแห่งชาติระบุว่าเป็นวิหารเดนเคราห์)

 

ในตลาดนี้มีห้างแห่งหนึ่งชื่อว่า ‘ห้างหะตูน’ ขายของเก่าด้วย ซึ่งพระองค์ได้ทรงเตือนว่า “แต่การที่จะซื้อของโบราณต้องระวังมาก เพราะอาจถูกหลอกได้ง่ายนัก มีผู้ทำปลอมกันมาก ตามห้างในแถบเมืองที่ฝรั่งอยู่ก็มีของโบราณปลอมเช่นนี้ขายเป็นอันมาก” นอกจากนี้ยังมีเครื่องเรือทำเลียนแบบของอาหรับเก่าและใหม่ โคมไฟเลียนแบบอย่างแขก ของที่ทำเลียนแบบญี่ปุ่นอีกด้วย พระองค์ทรงแนะนำว่าถ้าอยากได้ของดีราคาถูกให้เดินเข้าไปในตรอกลึกๆ แต่ก็ต้องทนกับกลิ่นเหม็น และต้องระวังจะถูกปอกลอกป่นปี้” (น.89-90) พระองค์ยังทรงเล่าเทคนิคการต่อราคาที่สนุกมาก ซึ่งอยากแนะนำให้ไปลองอ่านกันครับ ถึงจะดูต้องระมัดระวังอะไรไปหมด แต่พระองค์ก็ทรงบอกว่า “ถ้าจะพูดทั่วไปแล้วรู้สึกว่าการไปเที่ยวตลาดไกโรเป็นของไม่ควรเว้นอย่างหนึ่ง” (น.92) 

 

หนังสือนำเที่ยวอียิปต์เล่มแรก

ตลาดกลางกรุงไคโร ภาพถ่ายเมื่อปี 1900
(ภาพ: https://www.pinterest.co.uk/pin/460563499373335495/)

 

ต่อจากนั้นพระองค์ทรงได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับวัดและที่ฝังศพในกรุงไคโร เช่น มัสยิดของสุลต่านหัสซัน ที่หินที่ใช้ก่อสร้างได้รื้อมาจากพีระมิดแห่งกีซา และป้อมกลางเมืองที่สร้างโดยสุลต่านซลาฮัดดีน ซึ่งถือแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของอียิปต์ในปัจจุบัน น่าเสียดายที่พระองค์ทรงนิพนธ์เรื่อง เมืองอิยิปต์ นี้ไม่จบ เข้าใจว่าคงมีบันทึกของพระองค์อยู่อีก แต่ยังไม่ได้นำมาเรียบเรียง และที่จริงแล้วก็ควรเอาช่วงต้นของหนังสือที่เป็นการอธิบายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โบราณคดีอียิปต์มาไว้ในช่วงท้ายแทนก็จะทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือนำเที่ยวที่มีเสน่ห์ทีเดียว

 

ในหนังสือ เมืองอิยิปต์ มีภาพของสถานที่สำคัญต่างๆ ในอียิปต์ยุคนั้นอยู่ไม่มาก แต่เชื่อว่าจะภาพถ่ายเก่าในสมัยที่รัชกาลที่ 6 เสด็จไปเที่ยวต้องเก็บอยู่ที่ไหนสักแห่ง อย่างไรก็ตาม ภาพการท่องเที่ยวอียิปต์ที่ทรงคุณค่ามากและเก่าที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 6 นั้นมีอยู่ชุดหนึ่ง ซึ่งเป็นภาพที่ถ่ายโดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เมื่อปี 1913-14 โดยพระองค์เสด็จไปเที่ยวยังอียิปต์และยุโรปเพื่อรักษาพระองค์และทอดพระเนตรการทหารช่างของยุโรป ภาพชุดนี้ปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติของไทย ผมจึงขอนำบางส่วนมาให้ชมในบทความนี้แทรกไปด้วยครับ ภาพพวกนี้มีทั้งภาพของโบราณสถานในอียิปต์ โรงแรม บ้านเรือน ผู้คน และภาพนู้ด ซึ่งภาพนู้ดนี้เป็นภาพที่พระองค์ได้ถ่ายไว้ในหลายสถานที่ด้วยกัน ซึ่งน่าสนใจอย่างมาก 

 

หนังสือนำเที่ยวอียิปต์เล่มแรก

ภาพนู้ดของผู้หญิงชาวอาหรับในอียิปต์
ถ่ายภาพโดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน

 

อียิปต์เมื่อร้อยกว่าปีก่อนนั้นได้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ชาวยุโรปสนใจในฐานะเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมมานานแล้ว จึงทำให้ปรากฏตึกรามบ้านช่องแบบยุโรป ซึ่งน่าสนใจและน่าชมพอๆ กับโบราณสถานในอารยธรรมอียิปต์เอง เพราะมันได้สะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของโลกจากยุคเก่าสู่ยุคใหม่ ในขณะเดียวกันก็ทำให้เห็นถึงภาวะที่ชาวตะวันตกกำลังโหยหาความเป็นตะวันออก (Orientalism) ซึ่งเป็นทั้งรสนิยมและความรู้สึกของการเสพว่าตนเองนั้นเหนือกว่าตะวันออก ชนชั้นนำสยามเองก็รับความรู้และวิธีคิดอย่างนั้นมาเช่นกัน ทำให้รัชกาลที่ 6 ได้เปรียบเทียบความรุ่งเรืองของสุโขทัยเป็นดั่งอารยธรรมอียิปต์ที่สาบสูญ (Vella 2019: 214) แต่ถูกฟื้นฟูด้วยมือของชาวยุโรป การค้นคว้าเมืองโบราณในสยามในยุครัชกาลที่ 5-6 นั้นจึงเป็นไปภายใต้แนวคิดแบบยุโรปนั่นเอง 

 

สุดท้ายนี้ หวังว่าโรคระบาดโควิด-19 จะผ่านพ้นไปโดยไว และทุกคนสามารถไปเที่ยวที่ต่างๆ ได้สมใจปรารถนาครับ

 

คำอธิบายภาพเปิด: ภาพสฟิงซ์และมหาพีระมิดจากหนังสือ เมืองอิยิปต์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 (เข้าใจว่าภาพนี้อาจเป็นภาพเมื่อราวปี 1927)

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • Hunter, F. Robert. “Tourism and Empire: The Thomas Cook & Son Enterprise on the Nile, 1868-1914,” Middle Eastern Studies. Vol. 40, No. 5 (Sep., 2004), pp. 28-54. 
  • Vella, Walter F. Chaiyo! King Vajiravudh and the Development of Thai Nationalism. Honolulu: The University Press of Hawaii. Available at: https://scholarspace.manoa.hawaii.edu/bitstream/10125/62864/9780824880309.pdf
  • พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. เมืองอิยิปต์. พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์. สืบค้นได้จาก http://bit.ly/38M790a
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising