หากใครลองไล่เรียงสาขาทางการแสดงที่หนังเรื่อง The Favourite ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลตามสถาบันต่างๆ และชนะไปบ้างแล้วจำนวนหนึ่ง (ลูกโลกทองคำ, บาฟต้า) ก็คงจำแนกได้ไม่ยากว่า นักแสดงนำของหนังเรื่องนี้ได้แก่ โอลิเวีย โคลแมน ในบทแอนน์ สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ ส่วน เอ็มมา สโตน และเรเชล ไวสซ์ ซึ่งเล่นเป็นคนสนิทของพระองค์-อยู่ในสถานะของนักแสดงสมทบ
แต่ข้อเท็จจริงก็คือ เราไม่สามารถแบ่งแยกได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดเช่นนั้น ใครที่ได้ดูก็น่าจะเห็นพ้องว่า บทบาทและความโดดเด่น ตลอดจนระยะเวลาที่นักแสดงทั้งสามปรากฏตัวบนจอ-ไม่มากหรือน้อยไปกว่ากัน และพูดได้ไม่ต้องอ้ำอึ้งว่า ทั้งสามล้วนแล้วเป็นนักแสดงนำของเรื่อง หรืออย่างน้อย แบ่งปันความเป็น ‘เจ้าของเรื่อง’ ในสัดส่วนที่พอฟัดพอเหวี่ยงกัน
ว่าไปแล้ว การกำหนดสถานะของการเป็นนักแสดงนำและนักแสดงสมทบข้างต้นจึงดูเหมือนเป็นแท็กติกหรือกลยุทธ์ในการล่ารางวัลมากกว่าเป็นการระบุความโดดเด่นและสำคัญของบทบาทที่ได้รับอย่างจริงๆ จังๆ กระนั้นก็ตาม สิ่งที่ตามมาอย่างหักห้ามไม่ได้ก็คือ มันคลับคล้ายกับจะไปลดทอนโอกาส และความเป็นไปได้ของผู้ชมในการเลือกมองหนังจากแง่มุมอื่นๆ และโดยที่ไม่จำเป็นต้องยึดเอาตัวพระราชินีเป็นศูนย์กลางของเรื่องเสมอไป
ในภาพกว้างๆ หนังเรื่อง The Favourite ซึ่งเป็นผลงานกำกับของยอร์กอส ลานธิมอส (Dogtooth, The Lobster) พาผู้ชมย้อนกลับไปในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 เนื้อหาซึ่งอ้างอิงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ในลักษณะ ‘ตามอัธยาศัย’ บอกเล่าความสัมพันธ์แบบสามเส้าที่ความรักเป็นเพียงส่วนหนึ่งขององค์ประกอบ และจุดใหญ่ใจความได้แก่การแก่งแย่งช่วงชิงสถานะความเป็นคนโปรดของควีนแอนน์ ระหว่างซาราห์ เชอร์ชิล ดัชเชสแห่งมาร์ลโบโรห์ (เรเชล ไวสซ์) ผู้ซึ่งหากจะบรรยายสรุปอย่างย่นย่อ เธอเป็นเพื่อนเล่นของควีนมาตั้งแต่เริ่มต้น คอยเป็นธุระปะปังให้ในแทบทุกเรื่องตั้งแต่เสื้อผ้าหน้าผม จนถึงกิจบ้านการเมือง เหนืออื่นใด เป็นชู้รักบนเตียงนอน
โดยปริยาย การสาธยายความสนิทชิดเชื้อและอิทธิพลของซาราห์ที่มีต่อตัวควีนก็แทบไม่ใช่เรื่องจำเป็น กับอีกหนึ่งได้แก่ อบิเกล ฮิลล์ (เอ็มมา สโตน) ผู้ท้าชิง เธอเป็นญาติห่างๆ ของซาราห์ และผู้ดีตกอับที่ซมซานมาของานทำในฐานะหญิงรับใช้ จากที่หนังให้เห็น อบิเกลได้เรียนรู้ในระยะเวลาอันกระชั้นชิดว่า สังคมภายในราชสำนักเรียกเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจาก ‘หมากินหมา’ และรอยยิ้มบนใบหน้าของผู้คนมีความหมายในทางตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง กระนั้นก็ตาม ความทะเยอทะยาน ความมักใหญ่ใฝ่สูง รวมไปถึงความมุ่งหวังที่จะหวนคืนสู่ฐานันดรดั้งเดิมของหญิงสาวก็แรงกล้า และไม่ยอมให้อะไรมาขัดขวางหรือยับยั้ง
แต่เรื่องทั้งหมดคงไม่วายป่วงยุ่งเหยิงขนาดนี้หากควีนแอนน์ไม่เป็นอย่างที่เป็น ในทางกายภาพ เธอต้องทุกข์ทรมานด้วยโรคสารพัด และเดินเหินด้วยความยากลำบาก ต้องใช้ไม้ค้ำยันหรือนั่งรถเข็นเกือบตลอดเวลา แต่นั่นก็ยังเทียบเคียงไม่ได้กับภาวะทางอารมณ์ของเธอที่ทั้งแปรปรวนและลมเพลมพัด ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการสูญเสียลูกๆ ถึง 17 คน และคนเดียวที่รับมือกับความคุ้มดีคุ้มร้ายของควีนได้อย่างคล่องแคล่วก็คือซาราห์ ด้วยวิธีที่เรียกได้ว่าทั้งขู่ทั้งปลอบ และเห็นได้อย่างจะแจ้งว่า ควีนต้องพึ่งพาฝ่ายหลังทั้งในทางร่างกายและจิตใจ แต่ก็อย่างที่ผู้ชมคาดเดาได้ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนแล้วมาพร้อมกับวันหมดอายุ
โดยปริยาย หากพิจารณาการวางปมเรื่องจากมุมของควีน มันก็เป็นเมโลดราม่าว่าด้วยเรื่องของสาวใหญ่ผู้ซึ่งขาดแคลนความสุขอย่างรุนแรง เธอไม่แตกต่างจากคนที่กำลังจมน้ำ และต้องไขว่คว้าทุกสิ่งทุกอย่างที่ลอยมาเพื่อประคับประคองให้ตัวเองผ่านช่วงเวลาอันแสนทุกข์ทรมานไปวันๆ (เพราะจากที่หนังให้เห็น ทุกอย่างล้วนย้ำเตือนให้เจ้าตัวนึกถึงการจากไปของลูกๆ ตลอดเวลา) และเมื่อต้องเลือกระหว่างคนที่ไม่ปฏิบัติตาม ‘พระราชประสงค์’ ทุกครั้งที่ร้องขอ (อันได้แก่ซาราห์) กับคนที่เอื้อนเอ่ยแต่คำหวาน ตอบสนองทุกความปรารถนา (ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน อบิเกลนั่นเอง) ผู้ชมก็น่าจะล่วงรู้ได้โดยอัตโนมัติว่า ในท้ายที่สุดแล้ว พระราชินีผู้ซึ่งปราศจากความหนักแน่นมั่นคงในทางอารมณ์-จะนำพาตัวเองหันเหไปสู่ทางออกของชีวิตแบบใด
มองจากมุมของซาราห์ The Favourite ไม่ใช่หนังดราม่าเท่ากับหนังการเมือง และอิทธิพลของเธอในฐานะคนสนิทของพระราชินีก็นำพาให้เธอไปร่วมเล่นเกมต่อรองผลประโยชน์กับเหล่านักการเมืองในราชสำนักที่แบ่งออกเป็นสองฝักสองฝ่ายอย่างชนิดไม่ลดราวาศอกให้แก่กัน ข้อน่าสังเกต (ซึ่งโต้แย้งได้) ก็คือ ไม่ว่าการต่อสู้ขับเคี่ยวระหว่างซาราห์ ผู้ซึ่งเสนอให้เก็บภาษีอสังหาริมทรัพย์จากพวกคนรวยเป็นสองเท่าเพื่อนำไปทำสงคราม กับฝ่ายตรงข้าม อันได้แก่ โรเบิร์ต ฮาร์ลีย์ (นิโคลัส ฮอลต์) ผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งปฏิเสธแนวคิดดังกล่าวหัวชนฝา เนื่องจากหมอนี่เป็นตัวแทนของพวกเจ้าของที่ดิน-จะเป็นเรื่องของการประลองอำนาจส่วนบุคคลหรือไม่อย่างไร ลึกๆ แล้ว เราอดรู้สึกไม่ได้ว่า อย่างน้อย ซาราห์ก็ทำเพื่อประเทศชาติ ไม่เหมือนฮาร์ลีย์ ผู้ซึ่งเป็นแบบฉบับของนักการเมืองโสโครกที่พร้อมจะใช้เล่ห์เหลี่ยมและกลโกงตลอดเวลา
แต่ก็อีกนั่นแหละ สถานการณ์ของซาราห์ก็นับว่าอ่อนไหวเปราะบาง เพราะต้องเจอกับศึกสองด้าน ภัยคุกคามที่แท้จริงก็อยู่ใกล้ตัวมากๆ และกว่าที่เธอจะไหวตัวทัน ก็เสียรังวัดไปเยอะแล้ว
เส้นเรื่องในส่วนของอบิเกลชวนให้นึกถึงหนังคลาสสิกเรื่อง All About Eve เบื้องหน้าที่พวกเรามองเห็นตัวละครนี้ก็คือหญิงสาวที่ดูบริสุทธิ์ ไร้เดียงสาและผู้เป็นถูกกระทำ แต่โฉมหน้าที่แท้จริงกลับเป็นนักฉวยโอกาสตัวยง หรือบางที-อาจเรียกได้ว่านางงูพิษ เนื้อหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอบิเกลสามารถมองได้ว่าเป็นเรื่องการเมือง แต่เป็นการเมืองที่มีผลประโยชน์ของหญิงสาวเป็นที่ตั้งเพียงอย่างเดียว ผู้ชมได้ยินเจ้าตัวเอ่ยเสียงดังฟังชัดว่าเธอไม่ได้อยู่ข้างไหนของความขัดแย้งทางการเมืองเลยนอกจากข้างตัวเอง และดังที่กล่าวก่อนหน้า ไม่มีอะไรหยุดยั้งความละโมบของตัวละคร เธอทำได้ทุกอย่างจริงๆ ท้ังการแสดงออกอย่างมารยาสาไถย การเล่นละครตบตาที่แสนตื้นเขิน จนถึงการทำให้คนที่เป็นอุปสรรคขวากหนาม-บอบช้ำปางตาย
ความน่าทึ่งของ The Favourite ได้แก่การผสมผสานเส้นเรื่องทั้งสาม (และอื่นๆ) เอาไว้ด้วยกันอย่างหลอมรวม และพัฒนาเนื้อหาทั้งหมดนั้นไปในหนทางที่นอกจากไม่ต้องการความเห็นอกเห็นใจจากผู้ชม ยังมุ่งเยาะเย้ยถากถางตัวละคร สะท้อนพฤติกรรมที่น่าขบขันและชวนให้หัวเราะเยาะ อีกทั้งบทบาทในการวิพากษ์วิจารณ์ความฟอนเฟะของเหล่าขุนน้ำขุนนางในราชสำนักผู้ซึ่งไม่อินังขังขอบต่อความทุกข์ร้อนของชาวบ้านผู้ยากไร้ ตลอดจนสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังอยู่ในภาวะสงครามผ่านการละเล่นที่ช่างเหลวไหลไร้สาระ (แข่งวิ่งเป็ดและเกมปาส้ม) ก็น่าจะสร้างความรู้สึกขุ่นข้องให้กับผู้ชม และเป็นเรื่องช่วยไม่ได้หากใครจะนึกปะติดปะต่อได้ว่า สิ่งละอันพันละน้อยที่ได้รับการบอกเล่าไม่ได้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแต่เฉพาะในช่วงเวลาอันไกลโพ้น ทว่าส่งเสียงก้องสะท้อนมาจนถึงปัจจุบัน
อีกอย่างหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ แนวหนังโดยรวมของ The Favourite ที่มองอย่างผิวเผิน-ก็คงจะถูกจำแนกให้เป็นหนังประเภท Costume Drama หรือหนังย้อนยุคจำพวก Pride and Prejudice หรือ Wuthering Heights ที่บรรดาตัวละครแต่งองค์ทรงเครื่องด้วยชุดโบร่ำโบราณ เอื้อนเอ่ยถ้อยคำที่ไพเราะเพราะพริ้ง ข้อเท็จจริงก็คือ หนังของ ยอร์กอส ลานธิมอส เป็นทุกอย่างที่ตรงกันข้ามกับแนวทางดังกล่าว พูดอย่างย่นย่อ ลำพังเสื้อผ้าหน้าผมของบรรดาตัวละครไม่ได้มีบทบาทเพียงแค่ประกอบยุคสมัย ทว่ามุ่งถ่ายทอดความอุจาดและอัปลักษณ์ที่ซุกซ่อนอยู่ในห้วงคิดคำนึงอย่างชนิดที่ผู้ชมแทบไม่ต้องตีความ (ยังจะมีตัวละครในหนังย้อนยุคเรื่องไหนที่สวมวิกผมน่าเกลียดและชวนทุเรศทุรังเท่านี้) อีกทั้งภาษาตลอดจนคำผรุสวาทที่ใช้-ก็ทั้งกักขฬะและหยาบคาย ระคายหูคนดูอย่างหนักหน่วงรุนแรง แต่ก็นั่นแหละ มันกลับช่วยให้เราได้มองเห็นธาตุแท้หรือด้านที่แสงสว่างส่องไม่ถึงของตัวละคร
แต่ที่โดดเด่นจริงๆ ก็คืองานด้านเทคนิค อันได้แก่การใช้เลนส์มุมกว้างที่ให้ภาพบิดเบี้ยวและกว้างใหญ่เกินจริง และมันกลายเป็นไวยากรณ์ที่ผิดแผกแตกต่างไปจากหนังแนวนี้โดยสิ้นเชิง หรืองานลำดับภาพที่ไม่มีคำว่าพิรี้พิไรอยู่ในปทานุกรม หนังเล่าเรื่องทั้งเร็วและบางช่วงโฉบเฉี่ยวพอๆ กับรถไฟเหาะตีลังกา หรือดนตรีประกอบที่นอกจากไม่สร้างการมีส่วนร่วมให้กับผู้ชม ยังกัดหูหรือก่อกวนโสตประสาทอย่างเจตนา
The Favourite เป็นหนังที่มีแทบทุกอย่างที่ผู้ชมต้องการจากหนังที่วิเศษเลิศเลอ ทั้งความสนุกสนาน ตลกขบขัน การชิงไหวชิงพริบที่ทั้งเอร็ดอร่อยและเชือดเฉือน ดราม่าที่เข้มข้นและสะเทือนอารมณ์ แอ็กติ้งที่โน้มน้าวชักจูงและทรงพลัง กลวิธีการนำเสนออันเฉลียวฉลาดและแยบยล เหนืออื่นใด อุทาหรณ์ที่ชักชวนให้ครุ่นคิดถึงหลายสิ่งพร้อมๆ กัน ความรักที่แท้จริงหมายถึงการพะเน้าพะนอหรือการพูดในสิ่งที่ออกมาจากใจ (กันแน่) ความน่าเศร้าของการมองไม่เห็นความจริง การเป็นผู้แพ้ที่อาจจะไม่ใช่เรื่องเลวร้าย และบางคร้ัง ชัยชนะบนซากปรักหักพัง-ก็ช่างน่าสมเพชเวทนา
THE FAVOURITE (2018)
กำกับ-ยอร์กอส ลานธิมอส
ผู้แสดง-โอลิเวีย โคลแมน, เรเชล ไวสซ์, เอ็มมา สโตน, นิโคลัส ฮอลต์
ภาพ: Warner Bros
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์