วันนี้ (25 ตุลาคม) ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. … เพื่อรักษาความมั่นคงทางการเงินและการพาณิชย์ เสริมสร้างความน่าเชื่อถือและยอมรับในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งเพื่อป้องกันความเสียหายแก่สาธารณชนหรือประชาชนที่ใช้บริการ
ร่างกฎหมายนี้กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Platform) ต้องแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจและการให้บริการแพลตฟอร์มให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมทราบก่อนการประกอบธุรกิจ
มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Platform) ให้บริการภายใต้มาตรฐานเดียวกัน บนพื้นฐานของความโปร่งใสและเป็นธรรม สำหรับผู้ใช้บริการแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นคนซื้อหรือคนขายสินค้าหรือบริการออนไลน์ จะได้รับทราบข้อมูลที่จำเป็น เช่น เงื่อนไขการให้บริการ ช่องทางการร้องเรียน ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้บริการแพลตฟอร์ม
ท้ายที่สุดหน่วยงานภาครัฐมีข้อมูลที่เพียงพอสำหรับใช้ในการดูแลความเสี่ยงในการให้บริการ เพื่อยกระดับการกำกับดูแลที่เหมาะสมกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจบริการนั้น รวมทั้งมีข้อมูลที่จะใช้ในการส่งเสริมสนับสนุนการประกอบธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลต่อไป
สาระสำคัญ ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. … กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Platform) ที่ต้องแจ้งให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ทราบก่อนการประกอบธุรกิจ อาทิ
– ‘บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล’ หมายถึง การให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในลักษณะที่เป็นสื่อกลางที่มีพื้นที่ให้ผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลและผู้บริโภคเชื่อมต่อกัน โดยการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์
– ร่างพระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับกับการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Platform) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการแก่ผู้บริโภคภายในประเทศ ไม่ว่าผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มจะอยู่ในราชอาณาจักรหรือนอกราชอาณาจักร
– สพธอ. มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มจัดทำแนวปฏิบัติที่ดีหรือมีกลไกในการกำกับดูแลตนเองที่เหมาะสม เช่น การระบุหรือพิสูจน์ทราบตัวตนของผู้ใช้บริการแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย
– สพธอ. จัดให้มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียนกลาง เพื่อให้ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มสามารถใช้เป็นช่องทางร้องเรียนปัญหาที่เกิดจากการให้บริการโดยแพลตฟอร์มขนาดเล็ก ทั้งนี้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Platform) มีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกานี้ภายใน 180 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา สำหรับผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มที่ประกอบธุรกิจก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ จะมีระยะเวลาเพิ่มเติมอีก 30 วันเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกานี้ รวมเป็นเวลาทั้งหมด 210 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ธนกร เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Platform) ซึ่งมีลักษณะเป็นสื่อกลางที่มีพื้นที่ให้ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มเชื่อมต่อกันทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์มากขึ้น โดยมีหลากหลายลักษณะประเภทธุรกิจ เช่น Online Marketplaces, Social Commerce, Food Delivery, Space Sharing, Ride/Car Sharing, Online Search Engines, App Store ซึ่งล้วนมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น จำเป็นต้องมีการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Platform) เพื่อให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรม ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือในการให้บริการ รวมทั้งคุ้มครองผู้ใช้บริการแพลตฟอร์ม ทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์ม ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนให้มีการจัดทำแนวปฏิบัติที่ดีหรือกลไกในการกำกับดูแลตนเองที่เหมาะสม เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงทางการเงินและพาณิชย์ เสริมสร้างความน่าเชื่อถือและยอมรับในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งป้องกันความเสียหายต่อสาธารณชนด้วย
ทั้งนี้ สพธอ. ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) จะเป็นผู้รับผิดชอบในการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบตามพระราชกฤษฎีกานี้