×

นโยบายการเงินยุคใหม่ของญี่ปุ่น กำลังเป็นจุดสิ้นสุดของ Yen Carry Trade และส่งผลกระทบต่อหุ้นสหรัฐฯ

06.08.2024
  • LOADING...

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนในรอบ 15 ปี และเปิดเผยแผนในการชะลอการซื้อพันธบัตรจำนวนมหาศาลเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา สิ่งนี้ส่งผลให้ค่าเงินเยนพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว และเกิดความผันผวนอย่างมากในตลาดการเงิน จนนักลงทุนจำนวนมากไม่ทันตั้งตัวกับผลกระทบจากการแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วของค่าเงินเยนในครั้งนี้

 

BOJ ขึ้นดอกเบี้ยสูงสุดในรอบ 15 ปี

 

เมื่อวันพุธที่แล้ว (31 กรกฎาคม) BOJ สร้างความประหลาดใจให้แก่ตลาดด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 0.25% จากเดิมที่อยู่ในช่วง 0-0.1% ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และตัดสินใจลดการซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น

 

คาซุโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ แสดงท่าทีว่าจะดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด (Hawkish) ระหว่างการแถลงข่าวหลังการประชุมของธนาคารกลาง โดยกล่าวว่า หากเศรษฐกิจและราคาเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับที่เราคาดการณ์ไว้ BOJ จะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป

 

อุเอดะกล่าวเพิ่มเติมว่า อัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.50% ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดนับแต่ปี 2008 ไม่ใช่อุปสรรค นอกจากนี้ความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจกำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังจากที่รายงานการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Nonfarm Payrolls) ออกมาอ่อนแอ

 

รวมถึงคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายน ส่งผลให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์

 

สิ่งนี้สำคัญเป็นอย่างมากเพราะเงินเยนเป็นสกุลเงินที่ถูกซื้อขายแบบ Carry Trade ซึ่งนักเทรดทั่วโลกทำกำไรจากความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก มูลค่าการซื้อขายในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศทั่วโลกนั้นมหาศาล โดยแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 7.5 ล้านล้านดอลลาร์ต่อวัน ในเดือนเมษายน ปี 2022

 

จุดสิ้นสุดของ ‘Yen Carry Trade’

 

รัสเซลล์ เนเปียร์ ผู้ร่วมก่อตั้งของบริษัทวิจัยการลงทุน ERIC กล่าวในรายงานเศรษฐกิจมหภาคชื่อว่า ‘Solid Ground’ ฉบับล่าสุดว่า ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างโครงสร้างนโยบายการเงินในจีนและญี่ปุ่นกับราคาสินทรัพย์ของสหรัฐฯ จะสร้างความตกตะลึงให้กับนักลงทุนสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก

 

และในวันนี้ (5 สิงหาคม) ตลาดหุ้นทั่วโลกกำลังเผชิญกับแรงเทขายอย่างหนัก ท่ามกลางค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นประมาณ 8% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ นับตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และซื้อขายที่ 142.45 ต่อดอลลาร์ ในขณะนี้ถือเป็นการแข็งค่าขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนวันที่ 4 กรกฎาคม

 

การแข็งค่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของเงินเยนจุดชนวนให้เกิดการคาดเดากันว่า เหตุการณ์นี้อาจเป็นจุดสิ้นสุดของการซื้อขายแบบ Carry Trade หรือการที่นักลงทุนจะกู้ยืมเงินในสกุลเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ เช่น เงินเยน แล้วนำเงินที่ได้ไปลงทุนซ้ำในสกุลเงินที่มีอัตราผลตอบแทนสูงกว่า

 

ช่วงที่ผ่านมากองทุน Hedge Fund และนักเก็งกำไรต่างถือสัญญาที่เดิมพันว่าเงินเยนจะอ่อนค่า รวมกันมากกว่า 180,000 สัญญา คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ณ ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ตามข้อมูลของ CFTC แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สถานะเหล่านี้ลดลงเหลือประมาณ 6 พันล้านดอลลาร์

 

อย่างไรก็ตาม คริส เทอร์เนอร์ หัวหน้าฝ่ายตลาดทั่วโลกของ ING ระบุว่า นี่เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของตลาดการกู้ยืมในสกุลเงินเยน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ธนาคาร ผู้จัดการสินทรัพย์ และอื่นๆ ก็กู้ยืมเงินเยนอย่างจริงจังเช่นกัน การกู้ยืมเหล่านี้ได้แรงหนุนจากนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของญี่ปุ่น ซึ่งเพิ่งสิ้นสุดในเดือนเมษายน หลังจากที่ธนาคารกลางของประเทศฝั่งตะวันตกเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างจริงจังเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ

 

ตามข้อมูลของ BIS ธนาคารญี่ปุ่นให้กู้ยืมแก่ผู้กู้ต่างประเทศเป็นเงินเยนประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ ณ เดือนมีนาคม เพิ่มขึ้น 21% จากปี 2021 การเติบโตเมื่อเร็วๆ นี้ในการให้กู้ยืมเงินเยนข้ามพรมแดนส่วนใหญ่เกิดขึ้นในตลาดระหว่างธนาคาร ซึ่งธนาคารให้กู้ยืมซึ่งกันและกัน และแก่บริษัททางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร เช่น ผู้จัดการสินทรัพย์

 

นอกจากนี้ เทอร์เนอร์กล่าวว่า ปัญหาคือการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมีราคาแพงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนจำนวนมากไม่ได้ทำการป้องกันความเสี่ยงไว้ และขณะที่หลายคนกำลังเร่งปิดสถานะในช่วงที่เงินเยนกำลังแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดวงจรอุบาทว์ จากความต้องการซื้อเงินเยนที่มากขึ้น เพื่อปิดสถานะการเดิมพันการอ่อนค่าของเงินเยน

 

หุ้นสหรัฐฯ คือหนึ่งในผู้เคราะห์ร้าย

 

เนเปียร์กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันราคาหุ้นสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างเห็นได้ชัดจากการอ่อนค่าของเงินเยน

 

“ผลกระทบเชิงลบต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากนักลงทุนที่ลงทุนแบบ Carry Trade จะถูกบังคับให้ขายในช่วงเวลาเดียวกันกับที่สถาบันการเงินของญี่ปุ่นถูกบังคับให้ขายเพื่อซื้อ (พันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น) ตามคำสั่งของรัฐบาลญี่ปุ่น” เนเปียร์กล่าว

 

เนเปียร์สรุปว่าการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา และผลกระทบต่อราคาหุ้นสหรัฐฯ “เป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้าถึงความยากลำบากของหุ้นสหรัฐฯ เมื่อนักลงทุนต่างชาติเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการส่งเงินทุนกลับประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะกินเวลานานกว่าทศวรรษ”

 

หุ้นญี่ปุ่นร่วงต่ำสุดในรอบ 7 เดือน

 

เคลวิน เทย์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนประจำภูมิภาคของ UBS Global Wealth Management กล่าวว่า การเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นในขณะนี้เปรียบเสมือนการรับมีดที่ตกลงมา

 

ความคิดเห็นของเขาเกิดขึ้นในขณะที่ดัชนี Nikkei 225 และ Topix ร่วงลงมากกว่า 12% ซึ่งดัชนี Nikkei มีวันที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์ Black Monday ในปี 1987 ดัชนี Nikkei 225 ดิ่งลงเกือบ 20% ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุผลที่ทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่าเงินเยนของญี่ปุ่นที่อ่อนค่าลงอย่างมาก และเมื่อค่าเงินกลับตัว นักเก็งกำไรจึงรีบหนีออกจากตลาด การพุ่งขึ้นของค่าเงินเยนจากระดับต่ำสุดในรอบ 38 ปีที่ 162 เยนต่อดอลลาร์ในเดือนมิถุนายน มาอยู่ที่ระดับปัจจุบันเริ่มเกิดขึ้นในช่วงก่อนการประชุมนโยบายของ BOJ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X