ก่อนหน้านี้ นโยบายต่างๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอาจจะยังไม่ได้ออกมาให้เห็นเด่นชัดสำหรับประเทศไทย แต่เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ได้กำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า
โดยเป้าหมายใหม่ของบอร์ดอีวีแบ่งเป็น การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสะสมในปี 2568 ที่ 1.05 ล้านคัน แบ่งเป็น รถยนต์นั่งและรถปิกอัพ 4 แสนคัน รถจักรยานยนต์ 6.2 แสนคัน รถบรรทุก 3.1 หมื่นคัน
ส่วนในปี 2578 จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสะสม 18.41 ล้านคัน แบ่งเป็น รถยนต์นั่งและรถปิกอัพ 8.62 ล้านคัน รถจักรยานยนต์ 9.33 ล้านคัน รถบัสและรถบรรทุก 4.58 แสนคัน
สำหรับเป้าหมายการใช้รถไฟฟ้าสะสม บอร์ดอีวีตั้งไว้ว่า ในปี 2568 อยู่ที่ 1.05 ล้านคัน แบ่งเป็น รถยนต์นั่งและรถปิกอัพ 4.02 แสนคัน รถจักรยานยนต์ 6.22 แสนคัน รถบัสและรถบรรทุก 3.1 หมื่นคัน
ส่วนในปี 2578 ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะมีการใช้รถไฟฟ้าสะสม 15.58 ล้านคัน แบ่งเป็น รถยนต์นั่งและรถปิกอัพ 6.4 ล้านคัน รถจักรยานยนต์ 8.75 ล้านคัน รถบัสและรถบรรทุก 4.3 แสนคัน
“ส่วนตัวมองว่าเป้าหมายดังกล่าวทำได้ไม่ยากนัก นโยบายที่ออกมาช่วยให้อุตสาหกรรมเห็นภาพชัดเจน และทำให้เอกชนกล้าลงทุน อะไรที่ยังไม่เกิดเราก็อาจจะนึกภาพไม่ออก แต่หากมันเกิดขึ้นแล้ว ก็มักจะเร็วกว่าที่คิดไว้เสมอ อย่างที่เราเคยเห็นเกี่ยวกับสมาร์ทโฟน หรือฟู้ดเดลิเวอรี” อมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ให้ความเห็นเกี่ยวกับเป้าหมายดังกล่าว
อมร กล่าวต่อว่า ในภาพใหญ่กระแสของการลดการปล่อยคาร์บอนกำลังเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง หากแต่ละประเทศไม่ปรับตัวก็จะกระทบต่อการค้าขายระหว่างประเทศ ก่อนหน้านี้เราอาจจะลังเลว่าจะเดินไปในทิศทางใด แต่เมื่อโลกกำลังเดินไปในทิศทางนี้ หากเราไม่ปรับตัวก็จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมทั้งหมด
“เราหมุนโลกกลับไปไม่ได้แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าเราจะปรับตัวให้เข้ากับกระแสของโลกได้อย่างไร ซึ่งเรื่องของอีวีก็เป็นหนึ่งในนั้น และก็คงจะเชื่อมไปถึงนโยบายลดการปล่อยคาร์บอนในส่วนอื่นๆ เช่น โรงไฟฟ้า หรือโรงงานอุตสาหกรรม”
สำหรับนโยบายเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า เชื่อว่าจะมีออกมาเพิ่มเติมหลังจากนี้ และเมื่อมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมก็จะขยายตัวขึ้น ทั้งในส่วนของแบตเตอรี่ ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะโรงงานประกอบ ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ หรือส่วนของสถานีชาร์จแบตเตอรี่ ก็อาจจะเห็นดีมานด์ของธุรกิจสายไฟแรงสูง หรือมอเตอร์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น รวมถึงธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของยานยนต์ไฟฟ้า ขยายตัวตามมากในอนาคต
“อีกไม่นานเราจะเห็นคนทั่วไปเข้าถึงรถยนต์ไฟฟ้าได้มากขึ้น หลังจากที่ตลาดขยายใหญ่ขึ้น อย่างที่เราเห็นมาแล้วว่าราคาของรถยนต์ไฟฟ้าลดลงมาเร็วมาก เมื่อถึงจุดนั้นผู้บริโภคจะเริ่มเปรียบเทียบเองและยอมรับมากขึ้น ด้วยเรื่องของความทันสมัย ค่าใช้จ่ายพลังงาน และการดูแลที่ถูกลง”
สำหรับ EA ตัดสินใจลงทุนทั้งในส่วนของการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าต่างๆ ทั้ง รถยนต์ เรือยนต์ ขณะเดียวกันได้ลงทุนสร้างโรงงานประกอบแบตเตอรี่ ซึ่งส่วนหนึ่งเพื่อใช้กับยานยนต์ไฟฟ้าของบริษัท
หลังจากที่ภาครัฐมีนโยบายออกมาชัดเจน จะช่วยให้ตลาดของยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวเร็วขึ้น ซึ่งธุรกิจแบตเตอรี่จะได้อานิสงส์ด้วยเช่นกัน
“นโยบายดังกล่าวอาจทำให้บริษัทขยายโรงงานได้เร็วขึ้น จากเฟสแรกที่ตั้งไว้ 1,000 MWh ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ผู้ประกอบการต่างๆ จะเริ่มปรับตัวมาสู่ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น และบริษัทก็มีศักยภาพจะดึงผู้ประกอบการเหล่านั้นเข้ามาเป็นลูกค้า นอกจากแค่ผลิตให้กับยานยนต์ไฟฟ้าของบริษัทเท่านั้น”
ในช่วงแรกเชื่อว่าธุรกิจแบตเตอรี่อาจจะยังไม่ได้สร้างกำไรอย่างมีนัยสำคัญมากนัก แต่ในระยะยาวแบตเตอรี่จะเป็นส่วนสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อตลาดขยายใหญ่ขึ้น เพราะต้นทุนของรถยต์ไฟฟ้าประมาณ 50% มาจากแบตเตอรี่ ด้วยต้นทุนคงที่สูง เมื่อเกิด Economy of Scale ธุรกิจแบตเตอรี่จะให้มาร์จิ้นที่ค่อนข้างสูงมาก
ทั้งนี้ ราคาหุ้นของ EA ล่าสุด ปรับตัวขึ้น +4.26% จากวันก่อนหน้า ปิดที่ 61.25 บาท โดยก่อนหน้านี้ ราคาหุ้น EA เคยพุ่งขึ้นไปสูงสุดที่ 71.75 บาท เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์