ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเห็นพ้องกันเรื่องลดภาษีนิติบุคคลและสร้างความชัดเจนด้านกฎหมายเพื่อการค้าในยุคดิจิทัล ขณะที่สตาร์ทอัพมองว่าภาครัฐต้องทำกฎหมายด้านภาษีให้ชัดเจนเพื่อทำให้ธุรกิจใหม่เติบโต
The Economist จัดงานเสวนาหัวข้อ ‘Taxing Times: ความสำคัญของภาษีต่อเศรษฐกิจยุจดิจิทัล การลงทุนขององค์กรและภูมิศาสตร์การเมือง’ โดยประเด็นสำคัญ คือ ประเทศไทยมีอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตต่อประชากรสูงถึง 51.5% มีผู้ใช้โซเชียลมีเดีย 46 ล้านบัญชี ซึ่งถือว่าสูงติดอันดับโลก แต่นโยบายด้านภาษีของไทยค่อนข้างสลับซับซ้อนและอาจเป็นอุปสรรคกับการดำเนินธุรกิจ
เมื่อพิจารณาอัตราภาษีนิติบุคคล แม้ประเทศไทยจะประกาศลดเป็น 20% ตั้งแต่ปลายปี 2558 ที่ผ่านมา แต่เมื่อเทียบกับยุโรปซึ่งเก็บ 25% หรือกระทั่งไอร์แลนด์ที่เก็บ 12.5% ถือว่าอัตราของประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของประเทศข้างต้น โดยเห็นว่าถ้าปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคลลง จะช่วยให้ภาคเอกชนแข่งขันได้มากขึ้น ในต้นทุนที่ดีขึ้น และท้ายที่สุดจะเพิ่มมูลค่าทางการค้า และสุดท้ายรายได้จากการเก็บภาษีโดยรวมจะเพิ่มขึ้นในที่สุด
สำหรับการลงทุนด้านดิจิทัลนั้น The Economist มองว่า ประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพ หากแต่ปัจจุบันธุรกิจอีคอมเมิร์ซยังไม่แข็งแรง ขณะที่ภาคธุรกิจยังต้องพึ่งพาการลงทุนและร่วมทุนจากต่างประเทศเป็นสำคัญ ท่ามกลางความกังวลเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองและนโยบายรัฐ ซึ่งนโยบายด้านภาษีของประเทศไทยถือว่าไม่ชัดเจน
ดร. พณชิต กิตติปัญญางาม ที่ปรึกษาสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ ตั้งประเด็นที่น่าสนใจว่า ปัจจุบันสตาร์ทอัพไทยยังได้รับแรงจูงใจด้านภาษีค่อนข้างน้อย ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพบางส่วนทำข้อตกลงกับนักลงทุนหรือวีซี เพื่อให้ได้ประโยชน์ด้านการลงทุนและภาษี ขณะที่ผู้ที่ดำเนินการตามกรอบของกฎหมายอย่างตรงไปตรงมากลับกลายเป็นคนดีที่ต้องลำบากและแข่งขันยากกว่า
ขณะที่การเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นจากภาครัฐนั้นทำได้ยาก ไม่เหมือนบางประเทศที่มีฐานข้อมูลสำคัญให้ผู้ประกอบการเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนี้สถานะของการเป็น ‘บริษัท’ ยังคลุมเครือ โดยหากพิจารณาธุรกิจดิจิทัลที่มีเซิร์ฟเวอร์อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น ก็อาจทำให้เกิดการหลบเลี่ยงภาษีได้โดยง่าย เพราะสตาร์ทอัพก็จะไปใช้เซิร์ฟเวอร์จากต่างประเทศมาทำธุรกิจในไทยแทน และปัจจุบันฐานข้อมูลเป็น Cloud Base ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดเดิมที่มีอยู่โดยสิ้นเชิง ซึ่งมีผลกับการเรียกเก็บภาษีขายที่ทุกวันนี้ บรรดาผู้ประกอบการธุรกิจดิจิทัลมองว่าไม่ชัดเจน และถึงเวลาต้องปรับปรุงกฎหมายเสียใหม่