×

The Economist เผยบทสัมภาษณ์พิธา ก่อนศาลตัดสินคดียุบพรรคก้าวไกล

03.08.2024
  • LOADING...

เว็บไซต์สำนักข่าว The Economist เผยแพร่บทความสัมภาษณ์ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยชี้ให้เห็นความเคลื่อนไหวในการสกัดกั้นพรรคก้าวไกล นับตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ตลอดจนการยื่นคำร้องยุบพรรคก้าวไกลที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะมีคำวินิจฉัยในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ซึ่งพิธามองว่า หากพรรคก้าวไกลถูกยุบ อาจถึงขั้นส่งผลให้ประเทศไทยกลับสู่ความวุ่นวายอีกครั้ง

 

ช่วงต้นของบทสัมภาษณ์ พิธาฉายภาพของพรรคก้าวไกลหลังชนะการเลือกตั้ง ซึ่งส่งผลให้เกิดความปีติยินดีไปทั่วประเทศ โดยคนไทยหลายคนรวมถึงผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศเกิดความเชื่อมั่นว่าไทยกำลังจะได้ฟื้นฟูความก้าวหน้า และในที่สุดเจตจำนงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้รับชัยชนะ ซึ่งข้อตกลงหลังการเลือกตั้งในกลุ่มพรรคฝ่ายค้าน ดูเหมือนจะปูทางให้เขาได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปผ่านการโหวตในสภา

 

อย่างไรก็ตาม พิธาชี้ว่า ความยินดีดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเร็วเกินไป หลังฝ่ายอนุรักษนิยมจับมือกันอย่างรวดเร็ว เพื่อขัดขวางการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคก้าวไกล ขณะที่ สว. ซึ่งได้รับแต่งตั้งมา ก็ใช้อำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีโดยไม่สนใจ สส. เสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้ง

 

ขณะที่พิธากล่าวย้อนถึงสิ่งที่พรรคก้าวไกลและตัวเขาต้องเผชิญ ทั้งกรณีถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จากคดีหุ้น ITV เมื่อปีที่แล้ว และการถูกพรรคเพื่อไทยฉีกสัญญาไปจับมือกับพรรคการเมืองในขั้วอดีตรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ เพื่อจัดตั้งรัฐบาล

 

“ความพ่ายแพ้ครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อพรรคเพื่อไทย อดีตพันธมิตรของเราและผู้ชนะอันดับสองในการเลือกตั้ง ผิดสัญญากับเรา สิ่งที่น่าตกตะลึงคือพรรคเพื่อไทยไปเข้าข้างเดียวกับหลายพรรคที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ เพื่อที่จะเป็นผู้นำรัฐบาล และทำให้พรรคก้าวไกลกลายเป็นฝ่ายค้าน”

 

ประชาธิปไตยไทยเสื่อมถอย?

 

สำหรับการพิจารณาคดียุบพรรคก้าวไกลนั้น พิธากล่าวว่า เป็นสิ่งที่ส่งผลให้สถานะระบอบประชาธิปไตยของไทยเสื่อมถอยลง 

 

เขาชี้ว่า หากมีการตัดสินยุบพรรค ไม่เพียงแต่จะทำให้พรรคก้าวไกลถูกขับออกไปจากการเมืองเท่านั้น แต่ยังทำให้ตัวเขาถูกขับออกจากแวดวงการเมืองอย่างน้อยหนึ่งทศวรรษด้วย

 

พิธามองว่า ความวุ่นวายทางการเมืองของไทยรอบนี้ เป็นสิ่งที่ช่วยอธิบายว่าทำไมประเทศไทยจึงตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว ในการจัดอันดับดัชนีประชาธิปไตยในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ EIU ประจำปี 2023 ซึ่งไทยร่วงจากอันดับที่ 55 ลงมาอยู่ที่ 63 และอยู่ในกลุ่มประเทศที่อันดับตกต่ำที่สุด 10 ประเทศจากทั้งหมด 167 ประเทศที่จัดอันดับ

 

นอกจากนี้ พิธายังกล่าวถึงการก่อรัฐประหารที่ไทยเผชิญถึง 20 ครั้งในช่วงศตวรรษที่ 20 โดยประสบความสำเร็จถึง 12 ครั้ง ซึ่งผลที่ตามมากระทบต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของประเทศ ตลอดจนความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และชี้ว่าการเข้ายึดอำนาจของกองทัพในรูปแบบเก่านั้นอาจเป็นเครื่องมือที่ล้าสมัยไปแล้ว

 

ผลลัพธ์ จุดเปลี่ยนประชาธิปไตยไทย

 

พิธากล่าวว่า ในขณะที่ความเสี่ยงของการแทรกแซงโดยกองทัพยังมีอยู่เสมอ แต่แนวทางในการปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นนำได้เปลี่ยนไป 

 

ปัจจุบันอาวุธหลักที่เรียกว่า ‘การรัฐประหารโดยตุลาการ’ หรือ ‘นิติสงคราม’ (Lawfare) กำลังกลายมาเป็นเอกลักษณ์ของการเมืองไทยในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

 

ขณะที่การตัดสินคดียุบพรรคที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม พิธากล่าวว่า จุดสูงสุดของการเคลื่อนไหวรูปแบบนี้ก็คือการ ‘ยุบพรรคก้าวไกล’

 

โดยเขาชี้ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวหาว่าข้อเสนอของพรรคก้าวไกลในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นความพยายามที่จะล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

ขณะที่พิธามองว่า “การตัดสินของศาลที่กำลังจะเกิดขึ้น ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของระบอบประชาธิปไตยของไทย และผลลัพธ์ที่ได้อาจกำหนดขอบเขตใหม่ของวาทกรรมทางการเมืองที่ได้รับอนุญาตในไทย ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างต่อวิถีประชาธิปไตยและเศรษฐกิจของเรา” 

 

พิธายังชี้ว่า การตัดสินยุบพรรคก้าวไกลนั้น อาจทำให้ประเทศไทยกลับไปสู่ความวุ่นวายอีกครั้ง 

 

“ในทางการเมืองจะทำให้ประชาชนหลายล้านคนสูญเสียสิทธิ และเกิดความขุ่นเคืองต่อชนชั้นปกครอง ในทางเศรษฐกิจจะทำให้ผู้ลงทุนท้อถอย และเกิดความสงสัยเกี่ยวกับความสามารถของประเทศในการหลีกหนีจากกับดักรายได้ปานกลาง”

 

อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่า ผู้นำพรรคก้าวไกลรวมถึงตัวเขาไม่ส่งเสริมการประท้วงบนท้องถนนที่อาจนำไปสู่ความโกลาหลหรือเป็นอันตรายต่อชีวิต 

 

“ความไม่สงบบนท้องถนนในกรุงเทพฯ จะเป็นข้ออ้างสำหรับการก่อรัฐประหารอีกครั้ง ซึ่งจะยิ่งทำให้ประชาธิปไตยถอยหลังลงไปอีก” 

 

ขณะที่เขาเรียกร้องให้ประชาชนยังมีศรัทธาในการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และไม่ว่าตัวเขาจะมีส่วนร่วมในทางการเมืองอย่างเป็นทางการหรือไม่ การเคลื่อนไหวครั้งต่อไปของพรรคจะยังคงมีส่วนร่วมในทางการเมืองและการเลือกตั้งอย่างเต็มที่

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X