×

สินสอด เศรษฐศาสตร์ การตลาด และต้นทุนของความรัก

25.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • สินสอดเป็นเรื่องที่มากกว่าคนสองคนที่รักกัน มีคู่รักจำนวนมากที่ต้องเลิกราเพราะปัญหานี้ รวมถึงดาราคนดังที่เป็นข่าวครึกโครม
  • นักเศรษฐศาสตร์มองว่าการเปลี่ยนไปหมั้นหมายกับคนที่ยินดีจ่ายสินสอดอย่างที่ต้องการอาจจะสมเหตุสมผล แต่ไม่สอดคล้องกับจารีต บางส่วนเห็นว่าไม่ควรมีการแทรกแซงความรักจากพ่อแม่ทั้งสองฝ่าย
  • นักการตลาดมองสินสอดไม่ใช่แค่ราคาขาย แต่เป็นคุณค่าที่อีกฝ่ายรับรู้ สินสอดมีต้นทุนมากกว่าตัวเงินที่เรามองเห็น

เมื่อค้นคำว่า ‘สินสอด’ ในเว็บไซต์ของราชบัณฑิตยสถาน จะให้ความหมายว่า เงินที่ฝ่ายชายให้แก่บิดามารดาหญิงที่จะแต่งงานเป็นค่านํ้านม ข้าวป้อน ซึ่งเป็นที่เข้าใจโดยทั่วไปในทางกฎหมายคือ ทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส สมัยโบราณคำนี้หมายถึงสินบนด้วยซ้ำ

 

ถ้ายึดตามตำราแบบนี้ก็คงพอเข้าใจได้ว่าสินสอดเป็นเงินที่ฝ่ายชายมอบให้พ่อแม่ฝ่ายหญิงก็เท่านั้น แต่ในโลกนอกตำรากลับพบว่ามันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น มีคู่รักหลายรายที่เลิกรากันไปเพราะเรื่องนี้ และการแต่งงานเป็นเรื่องที่มากกว่าคนสองคนเสมอ

 

มองอย่างตรงไปตรงมานี่คือเรื่องของราคาเสนอซื้อและราคาเสนอขายซึ่งอยู่บนพื้นฐานของต้นทุนทางอารมณ์ที่สลับซับซ้อน สำนักข่าว THE STANDARD จึงตั้งคำถามและลองมองเรื่องสินสอดในมุมของเศรษฐศาสตร์และการตลาด และพบว่าคำตอบไม่เหมือนกัน

 

เศรษฐศาสตร์ ความรัก และสินสอด

 

ทุกคนต่างเคยได้ยินเรื่องอุปสงค์ อุปทาน และหลักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์มาบ้าง สิ่งที่ถือเป็นหัวใจสำคัญประเด็นหนึ่งคือ จุดดุลยภาพ (Equilibrium Point) ซึ่งถ้าสรุปให้เข้าใจง่ายคือ จุดที่ความต้องการเสนอซื้อเท่ากับความต้องการเสนอขายที่ระดับราคาหนึ่งๆ เรื่องสินสอดก็หนีไม่พ้นหลักการนี้

 

เมื่อปี 2549 การศึกษาของ ภศุ ร่วมความคิด เรื่อง ‘ถ้าฉันจะแต่งงาน ควรจะได้รับ/จ่ายสินสอดเท่าไร’ ซึ่งมองเรื่องของสินสอดนี้ได้ดีในมุมของนักเศรษฐศาสตร์และถูกเผยแพร่ไปทั่ว สิ่งที่น่าสนใจจากการศึกษาคือ สินสอดเป็นราคาในทางเศรษฐศาสตร์ ไม่มีการซื้อขายผ่านตลาด ต้องผ่านกระบวนการเจรจาต่อรองสู่ราคาที่ทั้งสองฝ่ายพึงพอใจหรือราคาดุลยภาพ (Equilibrium Price)  

 

ผลการศึกษาของภศุพบว่า คุณลักษณะของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงที่มีผลต่อมูลค่าสินสอด ได้แก่ ระดับรายได้ ระดับการศึกษา การมีภาระรับผิดชอบต่อครอบครัว และการแต่งงานเป็นลำดับแรกของครอบครัว ขณะที่ทรัพย์สินมีผลน้อยมาก และภาระความรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายในการแต่งงานและอาชีพไม่มีผลต่อมูลค่าสินสอด

 

 

ค่อนข้างชัดเจนว่าหลานชายคนโตของตระกูล ลูกสาวคนแรกของบ้านที่จะแต่งงานมีโอกาสที่ตัวเลขสินสอดจะสูงกว่าสมาชิกรายถัดไปของครอบครัว และเมื่อระดับรายได้ของคู่บ่าวสาวเพิ่มขึ้นประมาณ 1 เท่าตัว กลับพบว่าฝ่ายชายยินดีจ่ายค่าสินสอดเพิ่ม 20% ขณะที่ฝ่ายหญิงจะเรียกสินสอดเพิ่ม 32% ซึ่งไม่ตรงกัน

 

ถ้าฐานะการงานของทั้งคู่ดีและคบกันนาน ฝ่ายชายยินดีที่จะจ่ายเงินค่าสินสอดเพิ่มขึ้น ขณะที่เรื่องนี้ไม่มีผลกับผู้หญิง นั่นคือถึงจะคบระยะสั้นๆ ก็เป็นไปได้ที่ฝ่ายหญิงจะเรียกค่าสินสอดในระดับสูงตามความพอใจของตน และถ้าฝ่ายเจ้าบ่าวเป็นคนกรุงเทพฯ เจ้าสาวมีแนวโน้มจะเรียกค่าสินสอดเพิ่มขึ้น แตกต่างจากฝ่ายชาย แม้ตนเป็นคนต่างจังหวัด เจ้าสาวเป็นคนกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้คิดที่จะจ่ายเงินค่าสินสอดเพิ่มแต่อย่างใด

 

ในมุมมองที่กว้างขึ้นอีก อมรศักดิ์ มาลา นักเศรษฐศาสตร์ผู้ร่วมก่อตั้งเพจ ‘รู้จริงเศรษฐกิจไทย’ เห็นว่า กรณีที่หลานคนแรกของตระกูลหรือครอบครัวแต่งงานแล้วมักจะเรียกสินสอดสูงนั้น เป็นเรื่องของอรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม (Marginal Utility) กรณีลูกสาวรายแรกๆ ที่แต่งงานนั้น คนในครอบครัวจะให้ความสำคัญมากกว่า เพราะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เกิดความคาดหวังสูง ดังนั้นสินสอดที่ฝ่ายชายเตรียมมาต้องมากพอเพื่อเป็นหน้าเป็นตาและสร้างความพึงพอใจกับงานมงคลของครอบครับในระดับที่สูงตามไปด้วย ขณะที่การแต่งงานของลูกสาวคนต่อๆ มาจะให้ความสำคัญน้อยลง ความคาดหวังต่อสินสอดจึงน้อยลงตามไปด้วย

 

และถ้ามองแบบตรงไปตรงมา หากฝ่ายชายไม่พอใจกับตัวเลขสินสอดที่ฝ่ายหญิงเรียก หรือฝ่ายหญิงมีผู้ชายคนอื่นเข้ามาเสนอสินสอดในระดับราคาที่ใกล้เคียงกับที่ฝ่ายหญิงอยากได้รับ ก็ถือเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะเปลี่ยนคู่หมั้น เพราะเป็นการเปลี่ยนไปสู่จุดดุลยภาพใหม่ที่ดีกว่า แต่อมรศักดิ์ย้ำว่าความคิดนี้อาจไม่สอดคล้องกับจารีตหรือธรรมเนียมปฏิบัติได้

 

ขณะที่ ดร.อัธกฤตย์ เทพมงคล อาจารย์คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ มองว่า สินสอดนั้นเหมือนกับภาษี โดยปกติเมื่อคู่รักคบกันจะประเมินต้นทุนกันและกันอยู่แล้วว่าถ้าแต่งงานใช้ชีวิตด้วยกันกับคนคนนี้จะต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นต้นทุนเท่าไร ซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิต และต้นทุนเหล่านั้นคุ้มค่ากับอรรถประโยชน์ที่จะได้รับกลับมาหรือไม่

 

ราคาสินสอดที่พ่อแม่ฝ่ายหญิงตั้งไว้เหมือนกับการเก็บภาษีที่เพิ่มต้นทุนให้กับคู่รักเสมือนภาษีนำเข้า ซึ่งมีจุดประสงค์คือเป็นการสกัดกั้นการบริโภคสินค้าดังกล่าวภายในประเทศ ถือเป็นการประเมินโดย ‘ผู้ที่ถือตนว่ารู้ดีกว่า’ ที่ไม่ใช่ตัวคู่บ่าวสาวเอง

 

สังคมที่มีการเรียกสินสอดจะทำให้การจับคู่แต่งงานลดลงกว่าสังคมที่ไม่มี และอาจเป็นอุปสรรคที่ทำให้คนรักกันไม่ได้แต่งงานด้วยกันได้ เพราะบางครอบครัวพ่อแม่ฝ่ายหญิงอาจตั้งใจเรียกค่าสินสอดสูงๆ ทั้งที่รู้ว่าฝ่ายชายไม่สามารถหามาให้ได้ เพราะต้องการกีดกันความรักและอยากให้ลูกสาวไปคบกันคนที่ตนเองคิดว่าดีกว่า และอาจเป็นประโยชน์สำหรับครอบครัวมีผลต่อการใช้ชีวิตของฝ่ายหญิงในระดับที่สูง เพื่อเป็นการคัดกรองคนที่เหมาะสมที่สุดให้กับคนที่พวกเขารัก

 

อย่างไรก็ตาม ดร.อัธกฤตย์ ไม่เห็นด้วยกับการแทรกแซงตลาด (Market Intervention) แบบที่รัฐบาลใช้ในการแก้ไขปัญหาสาธารณะผ่านนโยบายภาษีและการให้เงินสนับสนุนเพื่อประโยชน์สูงสุดของสังคม แต่ความรักนั้นเป็นเรื่องของปัจเจกชนจึงไม่ควรเข้าไปแทรกแซง และเชื่อว่าคนที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้วมีความคิดอ่านเป็นเหตุเป็นผล (Rational) รู้ว่าตนกำลังทำอะไร และจะเลือกสิ่งที่ดีให้กับตนเองอยู่แล้ว

 

นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ความรักและต้นทุนของมันผ่านทฤษฎีอย่างเป็นเหตุเป็นผลในมุมที่แตกต่างกัน แต่ความรักก็คือความรัก หลายครั้งอารมณ์ก็อยู่เหนือเหตุและจำเป็นที่สำนักข่าว THE STANDARD ต้องฟังมุมมองเรื่องนี้ผ่านสายตาของนักการตลาดด้วย

  

การตลาด ความรัก และกลยุทธ์การตั้งราคา

 

“มนุษย์เป็นเหยื่อของความกดดันทางสังคม เราให้สังคมกำหนดชีวิตของเรามากเกินไป”

 

ผศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร หัวหน้าภาควิชาการตลาด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นความจริงที่อยู่กับสังคมมนุษย์มาช้านาน โดยมองราคาสินค้าแท้จริงแล้วไม่ได้เป็นแค่ราคา (Price) อย่างที่เราเข้าใจกัน ราคาคือเงินที่ตัวผู้ขายจะได้รับ ในทางกลับกัน ราคาก็คือต้นทุนทั้งหมด (Total Cost) ที่คนซื้อต้องจ่าย

 

ต้นทุนนั้นมีทั้งส่วนที่เรามองเห็นและมองไม่เห็น ประเมินค่าได้ง่ายและประเมินค่าลำบาก ประกอบด้วยหลายส่วนทั้งต้นทุนทางการเงิน ต้นทุนด้านพลังงาน ต้นทุนด้านเวลา ต้นทุนด้านจิตใจ และต้นทุนด้านสังคม ผศ.ดร.วิเลิศยกตัวอย่างกระเป๋าแบรนด์เนมระดับตำนานทั้งหลายที่ยังมียอดขายถล่มทลาย ทั้งที่มีของลอกเลียนแบบจำนวนมาก แต่คนที่มีทางเลือกก็ยังเลือกซื้อของจริงเสมอ

 

“กระเป๋าใบละ 5 หมื่นบาท บางคนบอกว่าแพง บางคนกลับบอกว่าถูก ที่คนยอมจ่ายเพราะคนเรามีต้นทุนทางสังคมไม่เท่ากัน คนที่ต้นทุนทางสังคมสูงเขากลัวจะถูกครหาว่าใช้ของปลอม ซึ่งอาจจะมีต้นทุนทางสังคมที่สูงกว่านั้นมาก เขายอมจ่าย 5 หมื่นบาทแล้วจบ ไม่ต้องกังวล ขณะที่คนที่ต้นทุนทางสังคมต่ำกว่าอาจเลือกใช้ของปลอม เพราะไม่ต้องแคร์ใคร ไม่มีอะไรจะเสีย”

 

ต้นทุนทางจิตใจและต้นทุนทางสังคมคือคำตอบสำคัญที่มีต่อเรื่องสินสอด หากฝ่ายหญิงเป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียงก็จะมีต้นทุนที่สูงกว่าครอบครัวธรรมดา และอาจมีมาตรฐาน (Benchmark) ที่อ้างอิงกับคนดังที่แต่งงานไปก่อนหน้าที่มีข่าวเรียกสินสอด 100 ล้านบาท หรือมากกว่านั้น ทั้งที่ในความจริงหลายคู่ก็ใช้วิธีเปิดบัญชีร่วมกัน เป็นลักษณะสินสมรสมากกว่า หรือคืนเงินบางส่วนให้กับฝ่ายเจ้าบ่าวในภายหลัง เพียงเพื่อต้องการให้เป็นข่าวที่สังคมสนใจ ไม่มีใครไปติดตามจริงๆ ว่าเงินสินสอดที่มหาศาลนั้นไปอยู่ที่ไหนหลังงานสมรส

 

ดังนั้น ค่าสินสอดแท้จริงคือค่าเลี้ยงดูของพ่อแม่รวมกับค่าต้นทุนทางสังคม และศักดิ์ศรีของวงศ์ตระกูลนั่นเอง กลยุทธ์การตั้งราคาสินสอดจึงเป็นการตั้งราคาเพื่อสะท้อนคุณค่า (Value Based Pricing) ที่เกิดจากความรู้สึกทางอารมณ์ (Emotional) เป็นคุณค่าของแบรนด์ที่รับรู้ได้ (Perceived Value) ต่างหาก ต้องยอมรับว่าการมีสามีหรือภรรยาที่ดีถือเป็นความภาคภูมิใจ ได้รับการยอมรับทางสังคมหรือเอาไปอวดคนอื่นได้สำหรับคนที่มีต้นทุนทางสังคมนั่นเอง

 

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.วิเลิศ ฝากแนวคิดให้กับคู่รักที่กำลังดูใจกันว่า คุณค่าของสินสอดไม่ใช่แค่ตัวเงินที่จ่าย แต่เป็นคุณค่าทางจิตใจ เป็นเรื่องที่มากกว่าคนสองคน ความรู้สึกเหล่านี้วัดเป็นตัวเลขไม่ได้ เช่นเดียวกับคนที่ยอมควักเงินล้านซื้อกระเป๋าราคาแพงหรือซูเปอร์คาร์ ถ้าเห็นคุณค่าอย่างไรก็ยินดีที่จะจ่าย แต่คงต้องดูให้ดีว่าคู่รักที่คุณคบหา ‘รักที่ตัวคุณหรือว่ารักที่เงินของคุณกันแน่’ และแฟนก็เหมือนกับลูกค้า ตัวเราเองก็ต้องทำการตลาด เอาใจใส่ด้วย มิเช่นนั้นคุณค่าที่ฝ่ายตรงข้ามรับรู้ก็จะลดลงตามกาลเวลา และอาจไม่ยินดีจ่ายค่าสินสอดอย่างที่เราคาดหวังก็เป็นได้

 

เพราะใครๆ ก็ต้องการคุณค่าที่เราคู่ควรกันทั้งนั้น

 

ภาพประกอบ: Karin Foxx และ Pichamon Wannasan

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising