วันนี้ (3 มกราคม) เวลา 07.38 น. โลกโคจรเข้าสู่จุด Perihelion หรือจุดใกล้สุดของวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ในรอบปี 2024 ด้วยระยะห่างประมาณ 147,100,632 กิโลเมตร ระหว่างแกนกลางของโลกและดวงอาทิตย์
เนื่องจากโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรีเฉกเช่นวัตถุต่างๆ ในระบบสุริยะ ทำให้ในหนึ่งคาบการโคจรจะมีช่วงที่โลกเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ซึ่งมักเกิดในช่วงต้นเดือนมกราคมของทุกปี และจะเดินทางไปถึงจุดไกลดวงอาทิตย์ที่สุดในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมของทุกปี
สำหรับช่วงเวลาที่โลกอยู่ไกลดวงอาทิตย์สุดในปี 2024 คือวันที่ 5 กรกฎาคม เวลา 12.06 น. โดยดาวเคราะห์สีครามดวงนี้จะอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ไปประมาณ 152,099,968 กิโลเมตร นับเป็นจุด Aphelion ของวงโคจรในปีนี้ ก่อนจะค่อยๆ เข้าไปเฉียดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 4 มกราคม 2025 อีกครั้ง
แม้จะเป็นวันที่โลกอยู่ใกล้ดาวฤกษ์เพียงหนึ่งเดียวของระบบสุริยะที่สุด แต่ระยะห่างใกล้-ไกลดวงอาทิตย์ไม่ได้มีผลต่อการเกิดฤดูกาลบนโลก โดยโลกถึงจุดใกล้ดวงอาทิตย์สุด หรือ Perihelion เพียง 2 สัปดาห์หลังจากวันเหมายัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทางซีกโลกเหนือเข้าสู่ฤดูหนาว และอยู่ในจุด Aphelion เพียง 2 สัปดาห์หลังจากวันครีษมายัน ช่วงเวลาที่ซีกโลกเหนือเข้าสู่ฤดูร้อน
ทั้งนี้ ฤดูกาลบนโลกนั้นเกิดจากแกนโลกที่เอียงทำมุม 23.5 องศา ทำให้พื้นที่บริเวณต่างๆ บนโลกได้รับแสงอาทิตย์ไม่เท่ากัน กลายเป็นฤดูกาลที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงของปี
ภาพ: NASA
อ้างอิง: