×

โลกการบินอาลัย ‘ความฝัน’ พังทลาย โซเชียลแชร์ภาพซาก Antonov-225 Mriya เครื่องบินใหญ่ที่สุดในโลกของยูเครนที่ถูกรัสเซียทำลาย

โดย THE STANDARD TEAM
05.03.2022
  • LOADING...
Mriya

การรุกรานของรัสเซียสร้างความเสียหายให้กับยูเครนอย่างรุนแรง หนึ่งในนั้นคือ Antonov-225 Mriya (ที่แปลว่า ความฝัน) เครื่องบินขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมากที่สุดในโลกที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียต 

 

สื่อโซเชียลเผยภาพ ‘Mriya’ ที่ได้รับความเสียหายเกือบทั้งลำ ไม่ว่าจะเป็นส่วนหัว ปีก และเครื่องยนต์

 

แต่การทำลายครั้งนี้ แม้ยูเครนมองเชิงสัญลักษณ์ว่ารัสเซียพยายาม ‘ดับฝัน’ แต่พวกเขาบอกว่ารัสเซียไม่อาจทำลาย ‘ความหวัง’​ ของยูเครนได้ 

 

ดมิโทร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน กล่าวผ่านทางทวิตเตอร์ว่า 

 

“รัสเซียอาจทำลาย ‘Mriya’ ของเรา แต่พวกเขาจะไม่สามารถทำลายความฝันของเราในการเป็นรัฐยุโรปที่เข้มแข็ง เสรี และเป็นประชาธิปไตย พวกเราจะชนะ!” 

 

ก่อนหน้านี้กองทัพรัสเซียได้บุกเข้ายึดสนามบินในกอสโตเมล ที่ซึ่งเครื่องบิน AN-225 อยู่ระหว่างการซ่อมบำรุง โดยในช่วงเวลาของการโจมตีนั้น เครื่องบินถูกถอดเครื่องยนต์ออกตัวหนึ่งเพื่อซ่อมแซม ยูโครโบรอนพรอม รัฐวิสาหกิจของยูเครน ซึ่งบริหารบริษัทอันโตนอฟ เปิดเผยในแถลงการณ์

 

AN-225 Mriya มีความยาว 84 เมตร และมีระยะระหว่างปลายปีกสองข้าง 88.4 เมตร ซึ่งนับว่ากว้างที่สุดในโลก ด้วยเครื่องยนต์ Ivchenko Progress Lotarev D-18T จำนวน 6 เครื่อง ทำให้ Mriya บินได้ที่ความเร็ว 800 กม./ชม. นอกจากนี้ AN-225 Mriya ยังเป็นเจ้าของสถิติการบรรทุกสินค้าชิ้นเดียวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและน้ำหนักมากที่สุดในโลก (189,979.9 กก.) อีกด้วย

 

หนึ่งในคู่แข่งของ AN-225 Mriya คือ C-17 ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความได้เปรียบในแง่ของความเร็ว ความยืดหยุ่น เพราะใช้รันเวย์ขนาดเล็กกว่า แต่ Mriya มีเพียงลำเดียว ในขณะที่ C-17 Globemaster III ถูกสร้างขึ้นมากกว่า 279 ลำ

 

นอกจากนี้ AN-225 ยังมีบทบาทในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดอีกด้วย วิตาลีย์ โชสต์ รองผู้อำนวยการคนที่ 1 ของอันโตนอฟแอร์ไลน์ส กล่าวว่า “บริษัทของเราภูมิใจอย่างยิ่งที่มีโอกาสได้มีส่วนร่วมในการต่อสู้กับโรคระบาด”

 

AN-225 เป็นเครื่องบินที่หนักที่สุดในโลก และเป็นลำเดียวที่มีเครื่องยนต์เทอร์โบแฟน 6 เครื่อง เครื่องบินมีความเร็วเดินทางที่ 800 กม./ชม. และความสามารถในการรับน้ำหนักบรรทุก 250,000 กก.

 

แรกเริ่มเดิมทีเครื่องบินบรรทุกสินค้าลำนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อขนส่งชิ้นส่วนอุปกรณ์สำหรับโครงการกระสวยอวกาศของสหภาพโซเวียต

 

ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 สหภาพโซเวียตมีความมุ่งมั่นในการดำเนินโครงการอวกาศ แต่ต้องเผชิญกับอุปสรรคขณะสร้างกระสวยอวกาศ Buran และ Energia ซึ่งเป็นจรวดบรรทุกสัมภาระน้ำหนักมากขึ้นสู่อวกาศ

 

ทั้งนี้ ไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่จะขนส่งชิ้นส่วนอุปกรณ์ขนาดใหญ่ไปยัง Baikonur Cosmodrome ซึ่งอยู่ห่างจากสนามบินหลายพันไมล์

 

หลังจากใคร่ครวญแล้ว มอสโกจึงตัดสินใจสร้างเครื่องบิน โดยให้ Antonov Design Bureau ในยูเครน ซึ่งเวลานั้นเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต เป็นผู้ดำเนินการ

 

อันโตนอฟตั้งชื่อเครื่องบินลำนี้ว่า AN-225 เนื่องจากสามารถบรรทุกสินค้าภายในลำได้ 225 ตัน แม้ว่ากระสวยอวกาศ Buran จะมีน้ำหนักเพียง 100 ตัน และต่อมาถูกบรรทุกบนหลังเครื่องบินก็ตาม

 

อันโตนอฟใช้เวลาประมาณสี่ปีจึงสร้างเครื่องบินเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งนานกว่าที่วางแผนไว้ราวสองปี โดยมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 พฤศจิกายน 1988 และขึ้นบินครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 1988 พร้อมสร้างสถิติโลกประมาณ 110 รายการ 

 

ทั้งนี้ แม้ AN-225 ไม่ได้ลำเลียงกระสวยอวกาศ Buran ตามวัตถุประสงค์ในการสร้าง เนื่องจากการขาดเงินทุนและสถานการณ์ทางการเมืองในสหภาพโซเวียต ทำให้โครงการ Buran ถูกระงับ แต่ในปี 1989 กระสวยอวกาศ Buran ถูกบรรทุกบนหลัง AN-225 เพื่อร่วมโชว์ที่งาน Paris Air Show ในฝรั่งเศส นอกจากนี้ เมื่อรัสเซียประสบภัยพิบัติที่เชอร์โนบิล เครื่องบินลำเลียงขนาดใหญ่ที่สุดในโลกลำนี้ยังได้เดินทางไปสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก เพื่อนำความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกลับไปช่วยผู้ประสบภัยในประเทศ อย่างไรก็ตาม เครื่องบินประสบปัญหาทางเทคนิคที่ร้ายแรงและถูกห้ามทำการบินในเวลาต่อมา

 

ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ทาง Antonov Design Bureau ได้ชุบชีวิตเครื่องบิน AN-225 ขึ้นมาใหม่ และเปลี่ยนให้เป็นเครื่องบินสำหรับขนส่งสินค้าขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก จนกระทั่ง AN-225 ต้องมาถูกทำลายในปฏิบัติการทางทหารของรัสเซีย ซึ่งความเสียหายของ AN-225 ได้สร้างความผิดหวังเสียใจให้กับกลุ่มคนรักเครื่องบิน หรือผู้ที่สนใจแวดวงการบินเป็นอย่างมาก

 

อิลเลีย โปโนมาเรนโก หนึ่งในผู้ใช้ทวิตเตอร์ (@IAPonomarenko)​ แชร์ภาพเครื่องบิน AN-225 พร้อมข้อความว่า “ผมเกรงว่า Antonov AN-225 Mriya จะซ่อมไม่ได้แล้ว ราชาแห่งท้องฟ้าสิ้นแล้ว ขอบคุณสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของคุณ” 

 

 

 

ภาพ: Reuters, Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising