×

International IDEA มอง คดียุบพรรคก้าวไกลเป็นบททดสอบประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม ก่อนศาลรัฐธรรมนูญชี้ชะตาพรุ่งนี้

06.08.2024
  • LOADING...

สถาบันระหว่างประเทศเพื่อประชาธิปไตยและความช่วยเหลือในการเลือกตั้ง (International IDEA) ออกแถลงการณ์แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับคดียุบพรรคก้าวไกล ชี้เป็นบททดสอบประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ชะตาในวันพรุ่งนี้ (7 สิงหาคม) โดยมีใจความว่า

 

ศาลรัฐธรรมนูญไทยเตรียมอ่านคำวินิจฉัยเกี่ยวกับคดียุบพรรคก้าวไกลที่หลายฝ่ายเฝ้ารอจับตาในวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ซึ่งอาจมีผลให้พรรคก้าวไกลต้องถูกยุบพรรค ขณะที่สมาชิกคณะกรรมการบริหารของพรรคอาจถูกแบนไม่ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งไปอีกเป็นเวลานาน การตัดสินใจดังกล่าวเสี่ยงบั่นทอนหลักการประชาธิปไตย และทำให้การพัฒนาด้านประชาธิปไตยของไทยต้องเสื่อมถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

มองย้อนกลับไปถึงคำวินิจฉัยที่ออกมาเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า ความพยายามของพรรคก้าวไกลในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือที่เรียกว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แสดงให้เห็นถึงเจตนาที่จะล้มล้างการปกครองฯ อย่างไรก็ดี พรรคก้าวไกลออกมาปกป้องการกระทำของตน โดยชี้แจงว่า เจตนารมณ์ของพรรคมิได้บ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัย ซึ่งรวมถึงการลดบทลงโทษร้ายแรงที่กำหนดไว้ในกฎหมายนี้ สิ่งนี้เป็นไปตามนโยบายของพรรคและสอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและกลุ่มผู้สนับสนุนที่มีมายาวนาน

 

ในระบอบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภา ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่สมาชิกรัฐสภาจะสามารถเสนอและอภิปรายเกี่ยวกับการปฏิรูปกฎหมายได้โดยไม่ต้องเกรงกลัวถึงผลกระทบที่จะตามมา การยุบพรรคและการสั่งแบนสมาชิกคณะกรรมการบริหารของพรรค ถือเป็นการลงโทษที่ไม่สมสัดส่วนสำหรับการกระทำดังกล่าว

 

ตลอดประวัติศาสตร์การเมืองที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญของไทยเคยสั่งยุบพรรคการเมืองหลายพรรคด้วยเหตุผลว่า พรรคเหล่านั้นละเมิดกฎหมายการเลือกตั้งเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม คดีที่พรรคก้าวไกลเผชิญอยู่ถือเป็นการตอกย้ำถึงปัญหาเชิงระบบในกรอบการเมืองของไทย ซึ่งผู้มีอำนาจมักจะใช้กฎหมายและระเบียบบังคับต่างๆ มาเป็นอาวุธเพื่อปราบปรามเสียงของกลุ่มปฏิรูปหรือฝ่ายค้าน

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งเกิดขึ้นหลังการรัฐประหารในปี 2557 ยังคงเอื้อให้เกิดการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการกำจัดปฏิปักษ์ทางการเมือง และจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปให้เป็นประชาธิปไตยอย่างเร่งด่วน ดังที่ผู้นำทางวิชาการหลายคน ตลอดจนองค์กรภาคประชาสังคม และพรรคการเมืองไทยหลายพรรคที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ เรียกร้องการปฏิรูปดังกล่าวนั้นต้องรวมถึงการปรับปรุงศาลรัฐธรรมนูญ และการเสริมสร้างบทบาทของสถาบันอิสระ เพื่อป้องกันการใช้อำนาจโดยมิชอบและการบังคับใช้กฎหมายโดยพลการ

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising