×

‘จับตาสัญญาณอันตราย’ รัสเซีย-ยูเครน เตือนแผนระเบิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหญ่สุดในยุโรป

06.07.2023
  • LOADING...
แผนระเบิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

รัสเซียและยูเครนสร้างความหวาดหวั่นไปทั่วยุโรปในช่วงสัปดาห์นี้ หลังจากที่ต่างออกมาเตือนและกล่าวหาอีกฝ่ายว่ากำลังมีแผนกระทำการยั่วยุในระดับอันตรายด้วยการ ‘ก่อวินาศกรรม’ หรือ ‘วางระเบิด’ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย (Zaporizhzhia Nuclear Power Plant: ZNPP) อันเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ที่สุดของยุโรป ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำดนีโปร ใกล้เมืองเอเนอร์โฮดาร์ แคว้นซาปอริซเซีย ทางตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน

 

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของทหารรัสเซียตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว โดยที่ผ่านมาทั้งยูเครน IAEA และชาติตะวันตก ต่างหวั่นวิตกต่อการโจมตีและการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนในพื้นที่โรงไฟฟ้า ซึ่งที่ผ่านมา ดมิโทร คูเลบา (Dmytro Kuleba) รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน เคยเตือนว่าการระเบิดของ ZNPP อาจก่อให้เกิดหายนะที่ร้ายแรงกว่าภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ในปี 1986 ถึง 10 เท่า

 

การกล่าวหาของทั้ง 2 ฝ่ายเรื่องการก่อวินาศกรรม ZNPP ครั้งนี้ เป็นท่าทีที่น่ากังวลจนทั่วโลกต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากผลลัพธ์ของการเกิดระเบิดนั้นอาจจะกลายเป็นภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ และก่อผลกระทบที่ร้ายแรงจนยากจะจินตนาการ

 

และนี่คือรายละเอียดและสิ่งที่เราควรรู้เกี่ยวกับ ‘สัญญาณอันตราย’ ของสถานการณ์ในครั้งนี้

 

รัสเซียพูดอะไร?

 

วานนี้ (5 กรกฎาคม) ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลินของรัสเซีย ได้แถลงว่าสถานการณ์ที่ ZNPP นั้นกำลัง ‘ตึงเครียด’ และเตือน ‘ภัยคุกคามในการก่อวินาศกรรมจากเคียฟ’ ว่ามีสูงมาก ซึ่งจะเป็นการก่อวินาศกรรมที่ส่งผลกระทบร้ายแรง

 

“แน่นอนว่ามาตรการทั้งหมดถูกนำมาใช้เพื่อตอบโต้ภัยคุกคามนี้” เปสคอฟกล่าว

 

เขายังย้ำข้อกล่าวหาว่ายูเครนนั้นอยู่เบื้องหลังการระเบิดเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำคาคอฟกา (Kakhovka) จนทำให้เขื่อนแตกเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

 

ถ้อยแถลงของเปสคอฟมีขึ้น 1 วัน หลังจากที่ Rosatom หน่วยงานกำกับดูแลด้านนิวเคลียร์ของรัสเซียกล่าวหารัฐบาลเคียฟว่ากำลังวางแผนโจมตี ZNPP

 

“เราได้รับข้อมูลที่ผมได้รับอนุญาตให้ประกาศ ในวันที่ 5 กรกฎาคม ช่วงกลางคืน ในความมืดมิด กองทัพยูเครนจะพยายามโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย” เรนัต คาร์ชา (Renat Karchaa) ที่ปรึกษาของ Rosatom เปิดเผยในการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ของทางการรัสเซีย

 

ยูเครนพูดอะไร?

 

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (4 กรกฎาคม) โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ได้บอกกับประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ว่า “รัสเซียกำลังวางแผนยั่วยุที่เป็นอันตรายที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย” และชี้ว่ารัฐบาลเคียฟ “ตกลงที่จะควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ภายใต้การควบคุมสูงสุดร่วมกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA)”

 

ในคลิปวิดีโอแถลงช่วงเย็น เซเลนสกีเปิดเผยข้อมูลข่าวกรองที่อ้างว่ารัสเซียได้ติดตั้งสิ่งที่คล้ายกับ ‘วัตถุระเบิด’ ในโรงไฟฟ้า

 

“บางทีเพื่อจำลองการโจมตีโรงงาน บางทีพวกเขาอาจมีสถานการณ์อื่น แต่ไม่ว่าในกรณีใด โลกก็เห็น” ผู้นำยูเครนกล่าว พร้อมเสริมว่า “สารกัมมันตรังสีเป็นภัยคุกคามต่อทุกคนในโลก”

 

ก่อนหน้านี้กองทัพยูเครนได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการติดตั้งวัตถุระเบิดที่ ZNPP โดยระบุว่า “วัตถุภายนอกที่คล้ายกับอุปกรณ์วัตถุระเบิดถูกติดตั้งไว้บนหลังคาด้านนอกของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 3 และ 4”

 

“การระเบิดของพวกเขาไม่ควรสร้างความเสียหายต่อหน่วยพลังงาน แต่อาจสร้างภาพการระดมยิงจากฝ่ายยูเครน” กองทัพยูเครนระบุ และกล่าวหามอสโกว่าจะบิดเบือนหรือให้ข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้

 

สถานการณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซียเป็นยังไง?

 

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซียเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรปและเป็นหนึ่งใน 10 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

 

หลังจากที่ทหารรัสเซียเข้าควบคุมโรงไฟฟ้า เครื่องปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้าทั้ง 6 เครื่องได้ถูกปิดเพื่อความปลอดภัย และไม่มีการผลิตไฟฟ้าอีกต่อไป แต่ยังต้องการทั้งพลังงานและการหล่อเย็นด้วยน้ำ

 

ทั้งนี้ พาเวล พอดวิก (Pavel Podvig) นักวิจัยอาวุโสของสถาบันวิจัยเพื่อการลดอาวุธแห่งสหประชาชาติ (United Nations Institute for Disarmament Research) มองว่าการโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่อาจเกิดขึ้นนั้น “ไม่น่าจะส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายสารกัมมันตรังสีออกไปนอกโรงไฟฟ้า”

 

อังเดร โอซารอฟสกี (Andrei Ozharovsky) วิศวกร นักฟิสิกส์ และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับกากกัมมันตภาพรังสี กล่าวว่า “สัญญาณที่บ่งบอกว่ามีบางสิ่งที่น่ากลัวกำลังจะเกิดขึ้นที่โรงไฟฟ้า คือการที่หนึ่งในเครื่องปฏิกรณ์กำลังถูกเตรียมพร้อมสำหรับการใช้งานอย่างเต็มกำลัง”

 

ทางด้าน IAEA ได้แถลงวานนี้ว่าไม่พบสิ่งบ่งชี้ที่มองเห็นได้ของทุ่นระเบิดหรือวัตถุระเบิดที่ ZNPP แต่ได้ขอการเข้าถึงโรงไฟฟ้าจากฝ่ายรัสเซียเพื่อยืนยันเพิ่มเติม

 

“การเข้าถึงหลังคาของเครื่องปฏิกรณ์ที่ 3 และ 4 เป็นสิ่งจำเป็น เช่นเดียวกับการเข้าถึงโถงกังหันและบางส่วนของระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้า” ราฟาเอล กรอสซี (Rafael Grossi) ผู้อำนวยการใหญ่ของ IAEA กล่าว

 

ด้านสำนักข่าว TASS ของทางการรัสเซีย รายงานคำสัมภาษณ์ของกรอสซี ซึ่งยืนยันว่าช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของ IAEA ที่อยู่ใน ZNPP ได้ทำการตรวจสอบหลายจุดในโรงไฟฟ้า และไม่พบความผิดปกติเกี่ยวกับการวางระเบิดใดๆ โดยยังคงเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

 

ขณะที่เมื่อเดือนมิถุนายน IAEA ได้กำหนดหลักการพื้นฐาน 5 ประการสำหรับปกป้องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งเน้นย้ำว่า “ไม่ควรมีการโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และไม่ควรใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นคลังแสงหรือฐานสำหรับเก็บอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ รวมถึงอาวุธหนักอย่างจรวด ปืนกล ระบบปืนใหญ่ และรถถัง”

 

จะเกิดอะไรขึ้นหากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซียเกิดระเบิด

 

ผู้เชี่ยวชาญเผยว่าหากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใน ZNPP เกิดการระเบิด จะส่งผลให้เชื้อเพลิงที่ใช้รั่วไหลสู่อากาศและแพร่กระจายสารกัมมันตรังสี ซึ่งจะก่อให้เกิดพื้นที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ซึ่งคนที่อยู่ในพื้นที่มีโอกาสจะเป็นโรคมะเร็งสูงในอีก 40 ปีข้างหน้า แต่จะไม่สร้างการทำลายล้างแบบที่เห็นในกรณีเชอร์โนบิล

 

“เครื่องปฏิกรณ์ทั้ง 6 เครื่องที่ ZNPP นั้นไม่เหมือนเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของเชอร์โนบิลเลย และไม่สามารถเกิดอุบัติเหตุแบบเดียวกันได้” เชอริล โรเฟอร์ (Cheryl Rofer) ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์และอดีตนักวิจัยที่ Los Alamos National Laboratory เขียนเรื่องนี้ลงในเว็บบล็อก

 

“เชอร์โนบิลมีตัวกลั่นแกรไฟต์ และอาคารที่มีเครื่องปฏิกรณ์อยู่นั้นไม่ใช่คอนกรีตเสริมเหล็กอย่างหนาเหมือนเครื่องปฏิกรณ์ที่ ZNPP ขณะที่เครื่องปฏิกรณ์ที่ ZNPP มีเชื้อเพลิงออกไซด์แข็งที่ห่อหุ้มในโลหะ และอยู่ภายในภาชนะจัดเก็บที่เป็นเหล็กกล้าไร้สนิม ส่วนเชอร์โนบิลไม่มีภาชนะดังกล่าว” เธอกล่าวเสริม

 

ขณะที่ วิลเลียม อัลแบร์ก (William Alberque) ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์ เทคโนโลยี และการควบคุมอาวุธของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ ชี้ว่าขนาดของผลกระทบจากภัยพิบัติใดๆ ที่เกิดใน ZNPP จะใกล้เคียงกับที่เกิดในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เกาะทรีไมล์ (Three Mile Island) ในรัฐเพนซิลเวเนียของสหรัฐฯ เมื่อปี 1979 และน่าจะไม่รุนแรงเท่ากับกรณีของเชอร์โนบิล หรือแม้แต่ฟุกุชิมะ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X