×

26 ปีแห่งการจากไปของไดอานา กับความทรงจำที่ยังไม่เลือนหาย

31.08.2023
  • LOADING...
princess-diana-legacy

ย้อนกลับไปเมื่อเวลา 01.00 น. หรือเช้ามืดของวันที่ 31 สิงหาคม 1997 ณ ปราสาทบัลมอรัล สกอตแลนด์ ที่ซึ่งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และสมาชิกส่วนใหญ่ในราชวงศ์ประทับในช่วงฤดูร้อน มีเสียงโทรศัพท์ของเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังดังขึ้น โดยปลายสายคือสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ ณ กรุงปารีส ที่แจ้งข่าวร้ายว่า ไดอานา อดีตเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ขณะกำลังพยายามหนีการติดตามของช่างภาพปาปารัซซี

 

ภายหลังจากที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าชายชาร์ลส์ทรงทราบเรื่องแล้ว แต่ยังไม่ทันที่จะดำเนินการใดๆ โทรศัพท์จากสถานทูตฝรั่งเศสก็ดังขึ้นอีกครั้งในเวลาประมาณ 03.00 น. แจ้งว่าไดอานาเสียชีวิตแล้วที่โรงพยาบาล เป็นอันสิ้นสุดเรื่องราวของเจ้าหญิงผู้ได้รับความนิยมจากทั่วโลกในวัยเพียง 36 ปี

 

แม้ว่าเวลาจะผ่านไปถึง 26 ปีแล้วหลังการเสียชีวิตของไดอานา ชื่อของเธอยังได้รับการจดจำจากคนทั่วโลก ซึ่งบทบาทส่วนใหญ่ของเธออาจถูกมองว่าเป็นการสั่นคลอนสถาบันกษัตริย์อังกฤษ แต่แท้จริงแล้วไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเรื่องดังกล่าวมีผลต่อการพลิกโฉมสถาบันกษัตริย์อังกฤษเช่นกัน

 

เจ้าหญิงผู้ถูกเลือก

 

ในช่วงทศวรรษที่ 1970 เรื่องราวความรักของเจ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ ผู้เป็นรัชทายาทสืบราชบัลลังก์อังกฤษ เป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ ด้วยคู่สมรสของพระองค์ย่อมจะมีสถานะเป็นพระราชินีแห่งอังกฤษในอนาคต

 

เจ้าชายชาร์ลส์นั้นทรงผ่านคบหาดูใจกับหญิงสาวมาหลายคน ซึ่งยังไม่ปรากฏว่าจะทรงจริงจังกับใคร ทั้งนี้คาดกันว่าเหตุผลสำคัญมาจากการที่พระองค์ยังทรงรักและผูกพันอย่างยิ่งกับคามิลลา แชนด์ พระสหาย ซึ่งความรักดังกล่าวไม่อาจเป็นไปได้ ด้วยความแตกต่างทางฐานะของทั้งคู่ ประกอบกับมุมมองและทัศนคติของสังคมในขณะนั้น ที่มองว่าผู้ที่จะมาเป็นพระชายาและพระราชินีในอนาคตต้องมีคุณสมบัติเพียบพร้อมและคู่ควรกับเจ้าชาย

 

แม้ต่อมาคามิลลาจะสมรสกับแอนดรูว์ พาร์กเกอร์ โบลส์ ซึ่งหลายคนเชื่อว่าเป็นไปเพราะถูกกดดัน เพื่อให้เจ้าชายทรงเปลี่ยนพระทัยจากคามิลลา แต่สายสัมพันธ์ของทั้งคู่ยังคงอยู่ ซึ่งทำให้เกิดภาวะอิหลักอิเหลื่อในความสัมพันธ์ แม้ชาร์ลส์ต้องการให้คามิลลาหย่าขาดจากแอนดรูว์ แต่คามิลลาไม่อาจหย่าขาดได้ในเวลานั้น และแม้ว่าจะหย่าได้ แต่ชาร์ลส์จะสมรสกับหญิงที่หย่าขาดจากสามีได้อย่างไร เพราะมีข้อห้ามมิให้กษัตริย์สมรสกับหญิงหม้ายที่สามียังมีชีวิตอยู่ อันเป็นไปตามธรรมเนียมของคริสตจักรอังกฤษ ซึ่งเป็นเหตุให้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ต้องสละราชสมบัติ เมื่อทรงยืนยันว่าจะสมรสกับวอลลิส ซิมป์สัน หญิงหม้ายชาวอเมริกันในปี 1936 ทำให้เกิดเป็นภาวะที่ต่างสับสนและไม่อาจเป็นจริงได้ ชาร์ลส์จึงต้องยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น

 

ในปี 1980 ปรากฏข่าวว่าเจ้าชายชาร์ลส์กำลังคบหากับไดอานา สเปนเซอร์ หญิงสาววัย 19 ปี ผู้เป็นน้องสาวของเลดี้ซาราห์ สเปนเซอร์ ซึ่งเคยคบหากับเจ้าชายในปี 1977 อันเป็นปีที่ไดอานาได้พบกับเจ้าชายเป็นครั้งแรก อีกทั้งยังปรากฏภาพของไดอานาขณะไปเยือนปราสาทบัลมอรัล อันแสดงถึงการผ่านบททดสอบการใช้ชีวิตกับราชวงศ์อังกฤษ ดังเช่นที่ปรากฏในซีรีส์ The Crown ซีซัน 4 ตอนที่ 2 ‘The Balmoral Test’

 

ไดอานานั้นสืบเชื้อสายจากตระกูลสเปนเซอร์ที่ได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นตระกูลขุนนางเก่าแก่ของอังกฤษ โดยตระกูลของเธอสามารถนับย้อนไปได้ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 ซึ่งผู้มีชื่อเสียงจากตระกูลนี้คนหนึ่งคือ Duke of Marlborough, the Earldom of Spencer and Sunderland, and the Churchill barony ทำให้เธอยังมีศักดิ์เป็นญาติกับเซอร์ วินสตัน เชอร์ชิล อดีตนายกรัฐมนตรีผู้เป็นรัฐบุรุษของอังกฤษด้วย 

 

ด้วยภูมิหลังจากครอบครัวชนชั้นสูงและบุคลิกลักษณะอันโดดเด่นของไดอานา ประกอบกับการที่เจ้าชายชาร์ลส์มีอายุถึง 32 ปีแล้ว และกระแสสังคมที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ของเจ้าชายกับไดอานาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดแรงกดดันจากราชสำนักในการที่เขาต้องสมรส ดังนั้น ไดอานา สเปนเซอร์ จึงเป็นผู้ที่เจ้าชายทรงเลือกให้เป็นเจ้าหญิงของพระองค์ โดยทรงขอเธอแต่งงานในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1981

 

เจ้าหญิงในเทพนิยาย?

 

แม้ว่าการสมรสของเจ้าชายชาร์ลส์และไดอานา ณ มหาวิหารเซนต์พอล ในวันที่ 29 กรกฎาคม 1981 จะได้รับการขนานนามว่าเป็นดังการแต่งงานในเทพนิยาย (Fairytale Wedding) ซึ่งผู้คนทั่วอังกฤษและทั่วโลกต่างให้ความสนใจ แต่ก็ปรากฏเหตุการณ์หลายอย่างที่ดูเหมือนว่าชีวิตการสมรสของทั้งคู่จะไม่ราบรื่น ตั้งแต่การที่ไดอานาได้ยินเจ้าชายบอกคามิลลาทางโทรศัพท์ว่า “ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ฉันยังคงรักเธอเสมอ” (Whatever happens, I will always love you.) ซึ่งทำให้ไดอานาแทบใจสลาย หรือแม้แต่ก่อนพิธีสมรส ไดอานายังได้เจอกับสร้อยข้อมือที่ชาร์ลส์เตรียมไว้ให้คามิลลา ซึ่งสร้างความกังวลและเธอเองก็สับสนว่าควรจะสมรสกับชาร์ลส์หรือไม่ 

 

ภายหลังพิธีสมรสดังกล่าว ความสัมพันธ์ของเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ก็ไม่ราบรื่นและมีปัญหาระหองระแหงเรื่อยมา อันเนื่องมาจากการสมรสที่เกิดจากการกดดันของหลายฝ่าย ความแตกต่างของทั้งคู่ ไม่ว่าจะเป็นช่วงอายุซึ่งห่างกันถึง 12 ปี รวมถึงสังคม ความสนใจ และทัศนคติต่างๆ

 

หากชม The Crown ซีซัน 5 จะพบกับการเน้นย้ำในหลายตอนว่า ราชวงศ์หรือสถาบันกษัตริย์อังกฤษนั้นเปรียบได้กับ ‘ระบบ’ (System) ที่เข้มงวดอย่างมาก ทุกคนต้องยอมรับและทำตามธรรมเนียมหรือแบบแผนที่เป็นมา อันสะท้อนถึงจุดยืนของสถาบันกษัตริย์อังกฤษที่มีแนวคิดอนุรักษนิยม การรักษาความลับ และความเป็นส่วนตัว การธำรงสถานะที่เป็นแบบอย่าง และเป็นสถาบันที่รักษาความดีงามที่สืบทอดกันมาของสังคม 

 

ดังนั้นหากมองในมุมของไดอานา การเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของราชวงศ์ที่เก่าแก่และมีระบบระเบียบ รวมถึงแบบแผนพิธีการความศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว ย่อมเป็นความท้าทายของเธอในวัยเพียง 20 ปีที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต ทั้งนี้ ด้วยปมปัญหาในวัยเด็กที่ครอบครัวของเธอต้องแตกแยก และเรื่องราวของคามิลลาที่เข้ามาร่วมอยู่ในความสัมพันธ์ ล้วนแต่ทำให้ไดอานามีอารมณ์แปรปรวน ตกอยู่ในภาวะวิตกกังวล มีความเครียดรุนแรง และยังเป็นโรคบูลิเมีย (Bulimia) หรือการรับประทานอาหารปริมาณมากและอาเจียนออกมา รวมถึงยังปรากฏหลักฐานว่าเธอยังมีความคิดที่จะฆ่าตัวตายด้วย

 

สงครามแห่งเวลส์

 

ชีวิตสมรสที่ไม่ราบรื่นของทั้งคู่ นอกจากจะนำมาซึ่งความทุกข์ใจของแต่ละฝ่ายแล้ว ยังพัฒนาต่อมาเป็นความขัดแย้งและการปะทะกันผ่านสื่อมวลชนของทั้งคู่ ที่เรียกขานกันว่า สงครามแห่งเวลส์ (War of Wales) 

 

มุมมองของสังคมอังกฤษในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 นั้น ผู้คนเริ่มตั้งคำถามถึงความจำเป็นในการดำรงคงอยู่ของสถาบันกษัตริย์อังกฤษ พร้อมๆ กันกับบทบาทของสื่อมวลชนที่มีมากขึ้นควบคู่กับโลกแห่งเทคโนโลยีที่พัฒนาก้าวหน้า ทำให้การตลาดของสื่อมวลชนเติบโตขึ้น ทั้งในรูปแบบของหนังสือพิมพ์ หนังสือ หรือรายการโทรทัศน์ ดังนั้นการแสวงหาเนื้อหาหรือการเล่นประเด็นต่างๆ จึงมีความสำคัญ และประเด็นเกี่ยวกับเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

 

ไม่ว่าจะเป็นการตีพิมพ์หนังสือ ‘Diana: Her True Story-In Her Own Words’ โดยแอนดรูว์ มอร์ตัน ในปี 1992 ซึ่งแม้จะบอกว่าเป็นการสัมภาษณ์และเก็บข้อมูลจากคนใกล้ชิดของไดอานา แต่เชื่อว่าไดอานามีส่วนรู้เห็นในเรื่องดังกล่าว โดยมีเนื้อหาสำคัญคือการเปิดเผยเรื่องราวชีวิตของไดอานาที่ไม่ได้เป็นเทพนิยายแบบที่ทุกคนคิด ปัญหาทางจิตใจที่เธอต้องเผชิญ และกล่าวถึงความกดดันภายในระบบของราชวงศ์ หรือหนังสือ The Prince of Wales: A Biography โดยโจนาธาน ดิมเบิลบี ในปี 1994 ซึ่งชาร์ลส์ได้เล่าถึงปมปัญหาจากการเลี้ยงดูในวัยเด็ก และกล่าวถึงความสัมพันธ์ของไดอานากับชายอื่น ดังนั้นหนังสือทั้งสองเล่มนี้จึงส่งผลด้านลบต่อทั้งเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ รวมถึงสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และสถาบันกษัตริย์อังกฤษด้วย

 

ความขัดแย้งครั้งสำคัญระหว่างไดอานากับชาร์ลส์และราชวงศ์อังกฤษคือการให้สัมภาษณ์รายการ Panorama ทาง BBC ในตอนที่มีชื่อว่าAn interview with H.R.H. the Princess of Wales’ ในปี 1995 โดยมีผู้รับชมกว่า 20 ล้านคน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่สมาชิกราชวงศ์ที่ยังคงสถานะอยู่ได้ออกมาเล่าถึงชีวิตส่วนตัวในราชวงศ์ 

 

ไดอานาได้เล่าเรื่องราวชีวิตสมรส อาการป่วย และมุมมองต่อเรื่องต่างๆ ในราชวงศ์ โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับชาร์ลส์และคามิลลาที่ว่า “มีคนอยู่สามคนในความสัมพันธ์ของเราสองคน มันก็เลยจะอึดอัดอยู่บ้าง” (There were three of us in this marriage, so it was a bit crowded.) เธอยังกล่าวอีกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเธอเป็นเพราะเธอไม่ยอมแพ้และไม่ยอมอยู่เฉย ซึ่งเธอเลือกที่จะสู้จนวันสุดท้าย และหากเป็นไปได้ เธอเลือกจะเป็นราชินีในใจของผู้คน (a queen of people’s hearts) มากกว่า พร้อมกับยังทิ้งท้ายว่า เจ้าชายชาร์ลส์นั้นไม่เหมาะที่จะเป็นกษัตริย์ อันทำให้สถานการณ์ทุกอย่างเลวร้ายลง

 

ทั้งนี้ ปรากฏต่อมาในภายหลังว่าการให้สัมภาษณ์ดังกล่าวนั้น มาร์ติน บาเชียร์ ผู้สื่อข่าวของ BBC ได้ใช้กลลวงในการปลอมแปลงเอกสารและสร้างเรื่องเท็จเพื่อให้เข้าถึงและสัมภาษณ์ไดอานา ทำให้เกิดเรื่องราวเลวร้ายดังกล่าวขึ้น ซึ่ง BBC ได้ออกแถลงการณ์ขอโทษในปี 2021 ในขณะที่บาเชียร์ยังคงยืนยันว่า ถึงแม้ไม่มีการใช้กลลวงดังกล่าว เจ้าหญิงก็ประสงค์จะเปิดเผยถึงชีวิตอันยากลำบากของพระองค์ในราชวงศ์วินด์เซอร์อยู่ดี

 

การหย่าร้างกับความขัดแย้งที่สิ้นสุด?

 

แม้การประกาศแยกกันอยู่ในปี 1992 จะเป็นความพยายามที่จะประคับประคองความสัมพันธ์ของเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ให้คงอยู่ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะแนวคิดและการรักษาภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์อังกฤษ ตลอดจนความเชื่อทางศาสนาว่าการหย่าร้างเป็นสิ่งที่ไม่ดี รวมถึงการหย่าร้างจะส่งผลกระทบต่อสถานะของเจ้าหญิงไดอานาในฐานะคู่สมรสและมารดาของกษัตริย์อังกฤษในอนาคต 

 

อย่างไรก็ตาม เวลาที่ผ่านไปนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน หากได้ชมซีรีส์ The Crown ซีซัน 5 ตอนที่ 8 ‘Gunpowder’ และตอนที่ 9 ‘Couple 31’ เราจะเห็นถึงความคิดที่เปลี่ยนแปลงไปของประชาชนที่มีต่อสิ่งต่างๆ เทียบเคียงกับการเติบโตของสื่อมวลชนและเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงการตั้งคำถามถึงคุณค่าและการคงอยู่ของสถาบันกษัตริย์อังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นจริงของคู่สมรสที่มักเกิดการหย่าร้างขึ้นอยู่เสมอ 

 

สุดท้ายแล้วหลังการสัมภาษณ์ของไดอานากับทาง BBC ในเดือนพฤศจิกายน 1995 ได้นำมาซึ่งความแตกสลายที่ยากเกินแก้ไขของทั้งคู่ และทำให้สถานะของสถาบันกษัตริย์อังกฤษต้องสั่นคลอนจากการตั้งคำถามของสังคมถึงบทบาทและวิถีที่เป็นไปของสถาบันกษัตริย์อังกฤษ ทำให้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงตัดสินพระทัยว่า การหย่าขาดจากกันน่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการยุติความขัดแย้งและความทุกข์ทรมานตลอด 14 ปีแห่งการสมรสของทั้งคู่ รวมถึงยับยั้งผลกระทบร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นต่อสถาบันกษัตริย์อังกฤษ

 

การหย่าร้างของชาร์ลส์และไดอานามีผลในวันที่ 28 สิงหาคม 1996 หลังการเจรจาต่อรองเกี่ยวกับสิทธิต่างๆ ภายหลังการสมรส โดยทั้งคู่ยังมีสิทธิร่วมกันในการดูแลเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี พระโอรส อีกทั้งไดอานาจะได้รับเงินสนับสนุนรายปี ทั้งยังมีสิทธิพำนักที่พระราชวังเคนซิงตันและมีสำนักงานส่วนตัวที่พระราชวังเซนต์เจมส์ ส่วนอิสริยยศนั้น ไดอานายังคงสถานะเป็นเจ้าหญิงแห่งเวลส์ (Diana, Princess of Wales) และถือเป็นสมาชิกราชวงศ์อยู่ แต่จะไม่มีสิทธิใช้คำนำหน้าว่า Her Royal Highness (HRH) อันแสดงถึงสถานะราชวงศ์ชั้นสูง และการมีสิทธิเข้าร่วมพระราชพิธี รวมถึงสิทธิพิเศษอื่นๆ ในฐานะราชวงศ์

 

แม้ว่าจะหย่าขาดกันและต่างมีอิสระที่จะใช้ชีวิต แต่เรื่องราวของไดอานาหรือที่ผู้คนนิยมเรียกว่า ‘เลดี้ได’ (Lady Di) ก็ยังคงได้รับความนิยมจากสังคมอยู่อย่างต่อเนื่อง ทุกความเคลื่อนไหวของเธอจะได้รับความสนใจและจะปรากฏเป็นพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์อยู่เสมอ ซึ่งหลายครั้งถูกมองว่าเป็นการกระทบถึงสถาบันกษัตริย์อังกฤษ และแสดงให้เห็นถึงมติมหาชนที่สนับสนุนเธออยู่ 

 

อุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด

 

แต่เวลาแห่งชีวิตที่เป็นอิสระของไดอานานั้นช่างแสนสั้น เมื่อเธอเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่ไม่คาดคิดในวันที่ 31 สิงหาคม 1997 หรือเพียงปีเศษหลังจากการหย่าร้าง ซึ่งสร้างความตกใจและเศร้าโศกอย่างมากต่อผู้คนทั่วโลกในการจากไปของเจ้าหญิงผู้สร้างสีสันและมีบทบาทอย่างยิ่งคนหนึ่งแห่งยุคสมัย 

 

การเสียชีวิตของเธอยังนำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางต่อสถาบันกษัตริย์อังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกที่ล่าช้าของราชวงศ์ต่อการจากไปของไดอานา รวมถึงข้อครหาด้วยทฤษฎีสมคบคิดที่หลายคนเชื่อว่าราชวงศ์อังกฤษนั้นมีส่วนรู้เห็นต่อการเสียชีวิตของไดอานา เพราะไดอานาโดดเด่นและเป็นที่นิยมมากกว่า และสถาบันกษัตริย์อังกฤษถูกสั่นคลอนจากการให้สัมภาษณ์หรือการเป็นข่าวของไดอานา

 

เนื่องด้วยการยึดมั่นในธรรมเนียมปฏิบัติของสถาบันกษัตริย์อังกฤษที่เป็นมา รวมถึงสถานะของไดอานาที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทำให้ไม่มีการออกแถลงการณ์หรือไม่มีการลดธงครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัยที่พระราชวังบักกิงแฮม และสมาชิกส่วนใหญ่ของราชวงศ์ยังคงประทับที่ปราสาทบัลมอรัล สกอตแลนด์ ทำให้สถาบันกษัตริย์อังกฤษยิ่งถูกโจมตีและวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงความเฉยเมยหรือการไม่สนใจต่อความโศกเศร้าที่ผู้คนทั่วโลกต่างมีต่อเจ้าหญิงไดอานา ซึ่งสร้างความโกรธและไม่พอใจอย่างยิ่งต่อราชวงศ์อังกฤษ จนอาจกล่าวได้ว่าช่วงสัปดาห์แรกภายหลังการเสียชีวิตของไดอานา เป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายและตกต่ำที่สุดช่วงหนึ่งสำหรับสถาบันกษัตริย์อังกฤษในยุคสมัยใหม่ 

 

อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตอีกด้านหนึ่งถึงเหตุผลที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ยังไม่เสด็จพระราชดำเนินกลับลอนดอน คือ การจากไปของไดอานานั้นยังเป็นความสูญเสียอย่างร้ายแรงสำหรับเจ้าชายทั้งสองซึ่งมีอายุเพียง 15 ปี และ 12 ปีเช่นกัน การที่แม่ของพวกเขาจากไปอย่างกะทันหันย่อมกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึก ซึ่งเป็นหน้าที่ในฐานะสมเด็จย่าที่ต้องทรงดูแลให้หลานทั้งสองเข้มแข็งและผ่านพ้นช่วงเวลาที่เลวร้ายให้ได้

 

สุดท้ายแล้ว ท่ามกลางช่อดอกไม้จำนวนมหาศาลที่ผู้คนมากมายนำมาวางเพื่อไว้อาลัยต่อเจ้าหญิงผู้เป็นที่รักยิ่งหน้าพระราชวังบักกิงแฮม สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จพระราชดำเนินกลับมายังลอนดอน และทรงออกแถลงการณ์เสียพระทัยถึงการจากไปของเจ้าหญิงไดอานาในวันที่ 5 กันยายน ก่อนพิธีศพของไดอานาที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ เพื่อลดกระแสการต่อต้านราชวงศ์ที่เกิดขึ้น

 

แม้เวลาผ่านไปกว่า 20 ปีแล้ว การเสียชีวิตของไดอานายังคงถูกพูดถึงอีกครั้งหลังการออกหนังสือที่มีชื่อว่า ‘Spare’ ซึ่งว่าด้วยชีวิตการเป็นตัวสำรองของเจ้าชายแฮร์รี ดยุกแห่งซัสเซ็กซ์ โดยเรื่องราวเริ่มต้นตั้งแต่ที่เจ้าชายแฮร์รีทรงรู้ข่าวการจากไปอย่างกะทันหันของไดอานาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 1997 ซึ่งอุบัติเหตุพรากชีวิตแม่ของแฮร์รีในขณะที่เขามีอายุเพียง 12 ปีนั้น ยังคงเป็นรอยแผลที่กระทบต่อสภาพจิตใจของแฮร์รี หลายครั้งหลายตอนที่เขามักกล่าวว่าเขาเชื่อว่าแม่ยังไม่จากไป นอกจากนี้ เขายังได้ไปตามรอยเส้นทางในกรุงปารีสที่ไดอานาเสียชีวิตอีกด้วย 

 

จากสิ่งที่แฮร์รีเขียน การจากไปของไดอานาถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญและส่งผลกระทบต่อชีวิตของเขา หลายครั้งหลายหนตั้งแต่บทแรกถึงบทสุดท้าย เขามักกล่าวถึงแม่อยู่เสมอ และเปรียบเทียบชีวิตที่เขากับเมแกน ดัชเชสแห่งซัสเซ็กซ์ต้องพบเจอ ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนตัวจากสื่อมวลชน และความกลัวถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิตของพวกเขาว่าเป็นเหมือนเหตุการณ์ที่ไดอานาต้องเผชิญเมื่อ 30 ปีก่อน แม้ในความเป็นจริงแล้วไดอานานั้นผ่านสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่าพวกเขามากนัก

 

ผู้พลิกโฉมสถาบันกษัตริย์อังกฤษ

 

ช่วงเวลาตั้งแต่ที่ไดอานาก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในราชวงศ์วินด์เซอร์ จนถึงการจากไปอย่างกะทันหันของเธอ อาจถูกมองได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่สั่นคลอนสถานะของสถาบันกษัตริย์อังกฤษมากที่สุดช่วงหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นข่าวอื้อฉาวบนหน้าหนังสือพิมพ์ในแต่ละวัน ความเศร้าจากชีวิตสมรสที่ล้มเหลวของรัชทายาทอังกฤษ ความทุกข์และลำบากใจของราชวงศ์จากเรื่องที่เกิดขึ้น รวมถึงปัญหาความกดดันที่เจ้าชายทั้งสองของครอบครัวเวลส์ต้องเผชิญ และสุดท้ายได้นำมาสู่โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น 

 

ดังที่กล่าวมาแล้ว การดำรงสถานะของสถาบันกษัตริย์อังกฤษนั้นค่อนข้างยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีที่ผ่านมา ประกอบกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 นั้นทรงมีช่วงชีวิตที่ยืนยาวนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1920 ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้มุมมองหรือทัศนคติของพระองค์ต่อเรื่องต่างๆ นั้นโน้มเอียงไปในทางอนุรักษนิยม และบ่อยครั้งที่ไม่อาจก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคม

 

บทบาทของเจ้าหญิงไดอานาในการเข้าถึงจิตใจของผู้คนทั่วโลก ทั้งบุคลิกลักษณะและการวางตัวที่เป็นกันเอง ตลอดจนการอุทิศตนในกิจการสาธารณกุศลต่างๆ โดยเฉพาะภาพที่ไดอานาสัมผัสมือกับผู้ป่วยติดเชื้อ HIV โดยไม่ใส่ถุงมือนั้นทรงพลังอย่างมาก ซึ่งช่วยให้เกิดมุมมองใหม่ต่อผู้ป่วยดังกล่าว เป็นภาพที่ได้รับการจดจำ และปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นบทบาทที่ส่งผลให้ผู้คนเรียกร้องให้ราชวงศ์ต้องปฏิบัติด้วย

 

ดังที่ปรากฏอยู่เสมอใน The Crown ซีซัน 5 เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมตามช่วงเวลา ความคิดหรือมุมมองของคนยุคเก่าที่ต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย เช่นเดียวกันกับสถาบันกษัตริย์อังกฤษ การเข้ามาของไดอานาย่อมสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หลายเรื่องที่สถาบันกษัตริย์อังกฤษไม่เคยเจอและไม่เคยประสบ ไม่ว่าจะเป็นการให้สัมภาษณ์ หรือเรื่องราวต่างๆ ซึ่งสถาบันกษัตริย์อังกฤษไม่อาจต้านทานหรือยึดมั่นแต่เพียงอดีตที่ยิ่งใหญ่ หากทำได้แต่เพียงยอมรับและปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง

 

ดังนั้นแล้วคงไม่เกินไปนักที่จะกล่าวว่า ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์นั้นมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการพลิกโฉมหรือเปลี่ยนแปลงทัศนคติหรือมุมมองของราชวงศ์อังกฤษ และเป็นบทเรียนสำคัญให้สถาบันกษัตริย์อังกฤษได้เรียนรู้และปรับเปลี่ยนตัวเองให้อยู่รอดมาได้ดังเช่นปัจจุบัน

 

ภาพ: Tim Graham Photo Library via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising