×

The Crown ซีซัน 5 สถาบันฯ ในวันที่ฉันหมดรักเธอ

18.11.2022
  • LOADING...
The Crown

HIGHLIGHTS

7 mins. read
  • The Crown ฤดูกาลที่ 5 ซึ่งเปลี่ยนนักแสดงชุดใหม่ทั้งหมด ครอบคลุมกรอบเวลาราวๆ 6 ปีแรกของทศวรรษ 1990 และมันเล่าเรื่องของควีนเอลิซาเบธที่ 2 (Imelda Staunton) ในช่วงเวลาของความร่วงโรย หรือจริงๆ แล้ว อีพีแรกสุดที่ใช้ชื่อว่า ‘Queen Victoria Syndrome’ ทำหน้าที่เสมือนเป็นการปูพื้นและอัปเดตสถานะล่าสุดของควีน ทั้งในแง่ของร่างกาย จิตใจ เหนืออื่นใด คะแนนนิยมของปวงชนที่มีต่อพระองค์ ซึ่งว่าไปแล้ว ผลลัพธ์ของข้อหลังสุดไม่น่าปลาบปลื้มนัก

 

  • ความท้าทายใหญ่หลวงของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ในฐานะประมุขของประเทศที่ถูกยกให้เป็นแบบอย่างของการปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญต้องพบเจอก็คือ พระองค์จะประคับประคองให้รัฐนาวาแห่งนี้โต้คลื่นลมของการเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไร เพราะดูเหมือนว่าแต่ละเอพิโสดของซีซัน 5 เปรียบได้กับมรสุมลูกแล้วลูกเล่าที่ถาโถมเข้ามา ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามันสั่นคลอนทั้งความเป็นปึกแผ่นแน่นหนาของสถาบันฯ และบั่นทอนความเชื่อถือและศรัทธาของเหล่าพสกนิกร

บางที ประโยคหนึ่งจาก The Crown ซีซัน 2 เอพิโสดที่ 5 อาจจะใช้อธิบายภาพรวมและความเป็นไปของ The Crown ซีซันล่าสุดซึ่งสตรีมทางช่อง Netflix ได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

คนพูดได้แก่ Lord Altrincham ผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนักวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ตัวยง แต่จะว่าไปแล้ว ข้อเตือนสติของเขาก็เป็นเรื่องที่ถ้าหากคนรักเจ้าทุกหนแห่งในสากลโลกไม่ปิดกั้นตัวเองเกินไปก็สมควรรับฟัง เขาบอกว่าช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ระบอบกษัตริย์ (Monarchies) ซึ่งสืบทอดทางตระกูลและสายเลือด เป็นรูปแบบการปกครองของดินแดนส่วนใหญ่ และระบอบสาธารณรัฐ (Republic) ซึ่งโดยหลักการ การเข้าสู่อำนาจมาจากการเลือกตั้ง เป็นเพียงส่วนน้อย “แต่ทุกวันนี้ ระบอบสาธารณรัฐคือ ‘กฎและกติกา’ ของนานาประเทศ และระบอบกษัตริย์กลายเป็น ‘ข้อยกเว้น’…”

 

โดยปริยาย ความท้าทายใหญ่หลวงของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ในฐานะประมุขของประเทศที่ถูกยกให้เป็นแบบอย่างของการปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญต้องพบเจอก็คือ พระองค์จะประคับประคองให้รัฐนาวาแห่งนี้โต้คลื่นลมของการเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไร เพราะดูเหมือนว่าแต่ละเอพิโสดของซีซัน 5 เปรียบได้กับมรสุมลูกแล้วลูกเล่าที่ถาโถมเข้ามา ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามันสั่นคลอนทั้งความเป็นปึกแผ่นแน่นหนาของสถาบัน และบั่นทอนความเชื่อถือและศรัทธาของเหล่าพสกนิกร

 

The Crown

 

ตามเนื้อผ้า The Crown ฤดูกาลที่ 5 ซึ่งเปลี่ยนนักแสดงชุดใหม่ทั้งหมด ครอบคลุมกรอบเวลาราวๆ 6 ปีแรกของทศวรรษ 1990 และมันเล่าเรื่องของควีนเอลิซาเบธที่ 2 (Imelda Staunton) ในช่วงเวลาของความร่วงโรย หรือจริงๆ แล้ว อีพีแรกสุดที่ใช้ชื่อว่า Queen Victoria Syndrome ทำหน้าที่เสมือนเป็นการปูพื้นและอัปเดตสถานะล่าสุดของควีนทั้งในแง่ของร่างกาย จิตใจ และเหนืออื่นใด คะแนนนิยมของปวงชนที่มีต่อพระองค์ ซึ่งว่าไปแล้ว ผลลัพธ์ของข้อหลังสุดไม่น่าปลาบปลื้มนัก เมื่อหนังสือพิมพ์ Sunday Times ตีพิมพ์ผลสำรวจความป๊อปปูลาร์ของควีน และปรากฏว่าเกือบครึ่งมองเห็นว่าพระองค์ทั้งล้าหลัง ตกยุคสมัย ต่อไม่ติดกับช่วงเวลาปัจจุบัน หรูหราฟุ่มเฟือย หรือแม้กระทั่ง ‘แก่ (เกินไป)’ และพวกเขามองว่าถึงเวลาแล้วที่ควีนสมควรสละราชบัลลังก์ 

 

แน่นอนว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่ได้ถูกสมมติอย่างเลื่อนลอย เนื่องเพราะมันระบุทั้งแหล่งที่มา วันเดือนปีของการทำโพล แต่อย่างที่หลายคนน่าจะบอกได้ และเอาเข้าจริงๆ มันก็เป็นประเด็นขัดแย้งของซีรีส์มาตั้งแต่เริ่มแรก ก็คือเนื้อหาอีกหลายส่วนก่อให้เกิดคำถามทำนองว่า ผู้สร้างซึ่งในที่นี้ได้แก่ Peter Morgan ไปล่วงรู้หรือสืบเสาะเรื่องราวที่เกิดเบื้องหลังประตูที่ถูกลงกลอนได้อย่างไร เพราะจนแล้วจนรอด ไม่มีทางที่ใครจะยืนยันสิ่งละอันพันละน้อยเหล่านั้นได้ และความน่าเชื่อถือของมันไม่ได้มากหรือน้อยไปกว่าเรื่องเล่าในวงซุบซิบนินทาเจ้าซึ่งจริงบ้างมั่วบ้าง 

 

The Crown

 

หนึ่งในนั้นได้แก่ความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยระหว่างควีนผู้ซึ่งยึดมั่นในโบราณราชประเพณีกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ (Dominic West) ที่พยายามฉีกตัวเองในฐานะคนรุ่นใหม่ที่เชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลง และอีพีแรกให้เห็นว่า ชาร์ลส์มีท่าทีกระตือรือร้นกับไอเดียเรื่องควีนสละราชบัลลังก์ และถึงกับเชิญนาย John Major (Jonny Lee Miller) นายกรัฐมนตรี มาปรึกษาในทำนองโยนหินถามทาง ซึ่ง John Major ตัวจริงก็ออกมาปฏิเสธว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้น และสิ่งที่บอกเล่าเป็นเรื่องเหลวไหลทั้งเพ กระนั้นก็ตาม ข้อมูลอีกด้านก็ระบุทำนองว่านั่นไม่ได้แปลว่าชาร์ลส์ไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้

 

The Crown

 

อีกหนึ่งได้แก่ฉากเล็กๆ ในช่วงท้ายเอพิโสด 9 หรือหลังจากชาร์ลส์กับไดอานาหย่าร้างแล้ว ซึ่งคงต้องให้ผู้ชมไปสำรวจกันเอาเอง แต่ก็อีกนั่นแหละ สิ่งที่เกิดขึ้นมันฟังดูแทบไม่มีน้ำหนักของความเป็นไปได้ด้วยประการทั้งปวง

 

แง่มุมที่ชวนอภิปรายก็ย้อนกลับมาเรื่องเดิม เส้นแบ่งระหว่างข้อเท็จจริงกับเรื่องแต่งอยู่ตรงไหนกันแน่ อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ เพราะหลายเรื่องไปไกลเกินกว่าคำว่า Dramatization หรืออีกนัยหนึ่ง ไกลเกินกว่าการนำเรื่องจริงมาใส่สีตีไข่ให้เข้มข้น บางเรื่องหรือหลายเรื่องแทบจะเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ผู้สร้างฝันเฟื่องเอาเอง และพวกเขาควรแสดงความรับผิดชอบด้วยการขึ้นข้อความทำนองว่าเนื้อหาที่ถ่ายทอดเป็นเรื่องแต่งหรือ Fiction เหมือนที่หลายฝ่ายเรียกร้องหรือไม่ ซึ่งมองในมุมผู้สร้าง เป็นไปได้ว่าประโยคออกตัวแบบนั้นก็เท่ากับ ‘จำเลยยอมรับสารภาพในความผิดทุกข้อกล่าวหา’ และมันนำพาให้เมฆหมอกของความน่าเคลือบแคลงสงสัยซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของซีรีส์ตั้งแต่เริ่มต้น มลายหายไปในพริบตา

 

และพูดอย่างแฟร์ๆ ไม่ว่าสิ่งที่บอกเล่าจะมีข้อเท็จจริงสนับสนุนแน่นหนาหรือเลื่อนลอย อย่างน้อยมันก็มีเหตุและผลในเชิงความหมาย หรือรองรับด้วยจุดประสงค์ในเชิงแก่นสารสาระบางประการ และบางที นั่นอาจจะเอื้ออำนวยให้ผู้สร้างมองว่าพวกเขามีความชอบธรรม

 

The Crown

 

ว่าไปแล้ว เหตุและผลหรือจุดประสงค์อย่างหนึ่งก็เป็นดังที่ได้เกริ่นไปแล้ว ซีซัน 5 บอกเล่าเรื่องของควีนผู้ซึ่งยิ่งเวลาผ่านพ้นไป เธอก็ตกอยู่ในสภาพไม่แตกต่างจากเรือยอตช์พระที่นั่งที่ชื่อบริทาเนีย ซึ่งผู้สร้างใส่เนื้อหาส่วนนี้เข้ามาในลักษณะอุปมาอุปไมยอย่างจงใจ หรืออีกนัยหนึ่ง เธอกับเรือยอตช์ลำนี้เริ่มต้นพร้อมกัน และสุนทรพจน์ตอนหนึ่งของควีนในช่วงที่เธอยังเป็นดรุณีแรกรุ่น (Claire Foy) ซึ่งอยู่ในตอนต้นของอีพีแรก ตั้งความหวังว่าทั้งเธอกับเรือบริทาเนียจะสามารถฟันฝ่าทุกสภาพอากาศ และปฏิบัติภารกิจได้อย่างแนวแน่ สม่ำเสมอ และเชื่อถือได้ไม่เสื่อมคลาย

 

โดยปริยาย เหตุผลของการปลดประจำการเรือพระที่นั่งบริทาเนียในอีกสี่สิบกว่าปีถัดมา (อีพี 10) ก็แทบจะอธิบายได้ด้วยผลโพลข้างต้น มันล้าหลัง ตกยุคสมัย หรูหราฟุ่มเฟือยโดยไม่จำเป็น อีกทั้งยังเก่าแก่เกินไป (กว่าจะซ่อมแซม) และวิธีที่ซีรีส์เปิดและปิดซีซันด้วยเนื้อหาส่วนนี้ก็ช่วยให้เรามองเห็นว่าเจตนารมณ์ของผู้สร้างในภาพที่คมชัด

 

The Crown

 

กระนั้นก็ตาม ข้อที่ควรหมายเหตุก็คือ ควีนเอลิซาเบธที่ 2 เวอร์ชันของ Imelda Staunton ก็เป็นคนละคนกับของ Claire Foy ในบทควีนวัยสาว และของ Olivia Colman ในบทควีนวัยกลางคน อย่างหนึ่งที่แน่ๆ เธอไม่ได้ดูวางเฉยเหมือนสองคนแรก และผู้ชมรู้สึกและสัมผัสได้ถึงรังสีอำมหิตของ Professor Umbridge จากหนังชุด Harry Potter อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไล่เรียงตั้งแต่อีพีแรกที่เธอกดดันนายกรัฐมนตรี John Major ให้ยอมจ่ายค่าบำรุงรักษาเรือยอตช์ส่วนพระองค์ด้วยประโยคที่คนพูดด้วยตอบปฏิเสธไม่ได้ หรือในอีพี 3 ที่เธอไม่เพียงแค่เบี้ยวนัดหมายนาย Mohamed Al-Fayed ดื้อๆ ทั้งๆ ที่ฝ่ายหลังอุตส่าห์ ‘ทุ่มทุนสร้าง’ บูรณะคฤหาสน์ที่เก่าแก่และทรุดโทรมของคิงเอ็ดเวิร์ด ลุงของควีนผู้ล่วงลับ และเชื้อเชิญให้พระองค์เสด็จมารับมอบด้วยตัวเอง แต่สุดท้าย เธอกลับส่งตัวแทน แย่ไปกว่านั้น ควีนยังปฏิเสธที่จะนั่งเคียงข้างมหาเศรษฐีตะวันออกกลางผู้นี้ในฐานะองค์ประธานของงานโชว์ม้าประจำปี ทั้งๆ ที่เธอไปถึงหน้างานแล้ว มิหนำซ้ำ นี่ยังเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรงของเธอ และเป็นเรื่องช่วยไม่ได้หากใครจะแอบนึกว่าควีนเหยียดชนชั้นและเชื้อชาติ

 

หรือฉากที่ Queen เลคเชอร์ประวัติครอบครัวของเธอพร้อมกับใช้คำพูดเชือดเฉือน Penny (Natascha McElhone) ซึ่งเป็นคนสนิทต่างวัยของเจ้าชาย Philip (Jonathan Pryce) พระสวามีในตอนท้ายของอีพี 6 ซึ่งไม่ว่าจะด้วยความอิจฉาริษยาหรือด้วยความสงสัยว่าทั้งสองอาจจะมีอะไรเกินเลย ก็เน้นย้ำว่าพระองค์ไม่ใช่ Queen ผู้เก็บงำความรู้สึกเอาไว้เพียงคนเดียว 

 

The Crown

 

น่าสังเกตว่าซีรีส์ The Crown ค่อนข้างมองเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ในแง่มุมที่เห็นอกเห็นใจ หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้วาดบุคลิกนี้เป็นปีศาจร้าย ย้อนไปตั้งแต่ซีซันก่อนๆ ที่ผู้สร้างให้เห็นว่าเขาเติบโตท่ามกลางความกดดัน และในฐานะรัชทายาท เขาไม่ได้รับโอกาสให้ทำในสิ่งที่ปรารถนา นั่นรวมถึงการเลือกคู่ครอง แย่ไปกว่านั้น ฉากเล็กๆ ที่ดูเหมือนไม่สำคัญ อันได้แก่เหตุการณ์ที่ควีนเปิดกล่องของขวัญวันเกิดช่วงต้นอีพี 10 ทว่าสีหน้าผิดหวังของชาร์ลส์ที่เห็นควีนไม่ได้แสดงท่าทีกระตือรือร้นกับสิ่งที่เขามอบให้ เมื่อเปรียบกับของเจ้าชายแอนดรูว์ ลูกชายหัวแก้วหัวแหวน ก็บอกโดยอ้อมว่าควีนรักลูกไม่เท่ากัน

 

กล่าวสำหรับชีวิตแต่งงานที่พังพินาศ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ต้องร่วมรับผิดชอบแน่นอน แต่ประโยคของเจ้าชายฟิลิปช่วงท้ายอีพี 2 ผู้ซึ่งพยายามเตือนสติเจ้าหญิงแห่งเวลส์ให้คิดหน้าคิดหลังก่อนทำอะไรบุ่มบ่ามและทำให้คนอื่นเดือดร้อน ก็น่าจะทำให้ผู้ชมอนุมานได้ไม่ยากว่าผู้ร้ายตัวจริงคือใคร หรือสรุปสิ่งที่เจ้าชายฟิลิปพูดแบบบ้านๆ ก็คือ ไดอานาจะหาความสุขใส่ตัวกับใครหรือยังไงก็ได้ตราบเท่าที่เบื้องหน้าเธอแสดงออกว่าซื่อสัตย์ต่อสามีและจงรักภักดีต่อราชวงศ์ หรืออีกนัยหนึ่ง ‘สถาบันฯ’ ต้องมาก่อน และคล้ายๆ ว่าสิ่งที่ละไว้และไม่ได้พูดออกมาตรงๆ ก็คือ ชาร์ลส์เข้าใจกฎ กติกา มารยาทของเกมนี้อยู่ก่อนแล้ว ดังจะเห็นได้จากการที่ Camilla Parker Bowles (Olivia Williams) ซึ่งสถานะขณะนั้นคือชู้รัก หวนกลับมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตส่วนตัวของชาร์ลส์

 

The Crown

 

แต่ก็อย่างที่รับรู้รับทราบ เจ้าหญิงไดอานาตัวจริงก็ ‘เฟียร์ซ’ ในแบบฉบับของเธอ และอันที่จริง ผู้สร้างแทบไม่ต้องต่อเติมเสริมแต่งอะไรเลย เรื่องที่เรียงร้อยในซีซันนี้ก็ดูจัดจ้านและเผ็ดร้อนในตัวมันเองอยู่แล้ว ทั้งเหตุการณ์ที่เธอให้ข้อมูลน่าตกใจกับนักข่าวถึงชีวิตแต่งงานที่ทุกข์ระทม ซึ่งรวมถึงการพยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง หรือการสวมใส่ ‘ชุดแก้แค้น’ ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ กลายเป็นตำนานลือลั่นไปแล้ว หรือการให้สัมภาษณ์แบบตัวต่อตัวกับนักข่าว BBC (จอมเจ้าเล่ห์) ซึ่งไม่ใช่แค่การกวนน้ำให้ขุ่นเท่านั้น แต่ต้องเรียกว่าเป็นการก่อวินาศกรรมสถาบันฯ กระนั้นก็ตาม ฉากที่น่าสงสัยว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่ก็คืออีพี 10 ที่ผู้สร้างให้เห็นไดอานา (Elizabeth Debicki) ร่วมโหวต ‘โน’ ทางโทรศัพท์แบบรัวๆ ต่อคำถามทางโทรทัศน์ที่บอกว่า “คุณต้องการสถาบันกษัตริย์หรือไม่” และว่าไปแล้ว มันไม่ได้เป็นฉากที่น่าขันเพียงอย่างเดียว ทว่าตอกย้ำว่า สมุฏฐานของปัญหาทั้งหมดมีต้นสายปลายเหตุมาจากอะไร

 

รวมๆ แล้ว The Crown ฤดูกาลล่าสุดก็ยังคงดูสนุก และชวนติดตามด้วยเนื้อหาที่อย่างที่กล่าวข้างต้น หลายเรื่องมันเกือบจะเขียนบทด้วยตัวมันเอง (แม้ว่าสังคมจะรับรู้กันอยู่แล้ว) ทั้งความสัมพันธ์ลับระหว่างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์กับ Camilla Parker Bowles ซึ่งบทสนทนาทางโทรศัพท์อันล่อแหลมถูกเผยแพร่สู่สาธารณชน จนถึงประเด็นการหย่าร้างของชาร์ลส์และไดอานาที่จนแล้วจนรอดส่งผลต่อเสถียรภาพของสถาบันฯ หรือจริงๆ แล้วต้องให้เครดิต Peter Morgan ในแง่ที่เขาไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาฉวยประโยชน์จากความฉาวโฉ่อย่างเกินเลย และอย่างน้อย มุ่งสำรวจด้านที่เป็นมนุษย์มนาที่รู้สึกรู้สม รู้ร้อนรู้หนาว ผิดหวัง สมหวัง มีความเห็นแก่ตัว และมีข้อบกพร่อง 

 

หรือพูดอย่างรวบยอด The Crown ทั้ง 5 ฤดูกาลยังคงบอกเล่าเรื่องของเจ้าที่เอาเข้าจริงๆ แล้ว พวกเขาก็เป็นปุถุชนคนธรรมดาที่ว่ายวนอยู่ในกิเลสตัณหาเหมือนเราๆ ท่านๆ นั่นเอง

 

THE CROWN (2016-)

ผู้สร้าง: Peter Morgan

ผู้แสดง: Imelda Staunton, Jonathan Pryce, Dominic West, Elizabeth Debicki, Jonny Lee Miller, Olivia Williams

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising