วันนี้ (12 มิถุนายน) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการยื่นฟ้อง พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน กับพวก รวม 12 ราย ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, มาตรา 215 (3), พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และความผิดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม
กรณีกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองในนามกลุ่มเยาวชนปลดแอก จัดกิจกรรมชุมนุมทางการเมืองในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยใช้หัวข้อเรื่อง ‘ใครไม่ทนให้ไปกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย’
โดยศาลอาญาพิจารณาแล้ว การที่จำเลยทั้ง 12 เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุม ลงมาบนถนนราชดำเนินกลางในลักษณะเดินลงมาบนพื้นผิวจราจรเต็มพื้นที่ถนนราชดำเนินกลางบริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์ และติดตั้งเวทีบนถนนราชดำเนินกลางบริเวณขอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย และมีการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยจำเลยที่ 1-8 และ 10-11 ได้สลับกันขึ้นพูดปราศรัยบนเวที โดยไม่ได้คำนึงว่าจะเป็นการฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินและกฎหมายใดๆ
อันเป็นการแสดงให้ปรากฏต่อประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีการอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน แต่ลักษณะการกระทำยังไม่ส่อเจตนาว่าเป็นการทำถึงขนาดเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร
พิพากษาว่าจำเลยทั้ง 12 มีความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 19, 57 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 114 (1), 148 (1) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (3), 215 (1) การกระทำของจำเลยทั้ง 12 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดบนถนน อันเป็นการกีดขวางการจราจรและกีดขวางทางสาธารณะ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง มาตรา 19, 57
ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับจำเลยทั้ง 12 คนละ 1,000 บาท, ฐานมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป กระทำให้เกิดการวุ่นวายในบ้านเมือง กับฐานกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวมจำคุกจำเลยทั้ง 12 คนละ 2 เดือน และปรับคนละ 2,000 บาท
ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้ง 12 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
ยกฟ้องความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดฯ และฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เพราะช่วงเวลาเกิดเหตุเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อโควิด จึงสามารถจัดกิจกรรมการชุมนุมได้ เพียงแต่ข้อกำหนดฯ บังคับให้ผู้จัดการชุมนุมต้องมีมาตรการป้องกันโรคเท่านั้น และการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงเป็นหน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมเท่านั้น
พยานหลักฐานโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้ง 12 เป็นผู้จัดการชุมนุม จึงไม่มีความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดฯ และไม่มีความผิดฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนความผิดฐานทำร้ายร่างกายไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย
ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏชัดว่าจำเลยคนใดเป็นผู้กระแทกแผงเหล็กใส่ผู้เสียหาย จึงลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้ไม่ได้ ในส่วนของจำเลยที่ 9 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังว่าข้อความตามป้ายที่จำเลยที่ 9 ถ่ายภาพโพสต์ลงในเฟซบุ๊กยังไม่ถึงขนาดที่จะส่อเจตนาเพื่อก่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร จำเลยที่ 9 จึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
มีรายงานว่าสำหรับคดีนี้ จำเลยส่วนใหญ่เป็นแกนนำนักกิจกรรมทางการเมือง ประกอบด้วย พริษฐ์ ชิวารักษ์, ภาณุพงศ์ จาดนอก, อานนท์ นำภา, จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์, กรกช แสงเย็นพันธ์, สุวรรณา ตาลเหล็ก, บารมี ชัยรัตน์, เดชาธร บำรุงเมือง, ธานี สะสม, ธนายุทธ ณ อยุธยา, ทศพร สินสมบุญ และ เนตรนภา อำนาจส่งเสริม