×

สำรวจเศรษฐกิจกลุ่ม CLMV ยัง ‘ฟื้นตัว’ แตกต่างกันจากพิษโควิด-19

โดย THE STANDARD TEAM
03.11.2020
  • LOADING...

เศรษฐกิจกลุ่ม CLMV เริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 แต่ระดับการฟื้นตัวยังต่างกัน ผลจากการฟื้นตัวแบบช้าๆ ของเศรษฐกิจโลก และปัจจัยเฉพาะในรายประเทศ

 

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ระบุว่า เศรษฐกิจกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ส่งสัญญาณฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 ปี 2563 หลังเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึง มิถุนายน 2563 

 

แม้กัมพูชาและลาวสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้สำเร็จ แต่เมียนมาและเวียดนามกลับมาเผชิญการระบาดระลอกใหม่จากโรคโควิด-19 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 

 

โดยเวียดนามกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ในบางพื้นที่และสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้สำเร็จในเดือนสิงหาคม ขณะที่เมียนมายังคงได้รับผลกระทบอย่างมากจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายน

 

ทั้งนี้เศรษฐกิจ CLMV ยังคงฟื้นตัวช้าและไม่ทั่วถึง โดยระดับการฟื้นตัวที่แตกต่างกันมากขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการฟื้นตัวแบบช้าๆ และไม่ทั่วถึงของเศรษฐกิจโลก อัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้น ระดับการระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 และประสิทธิภาพของมาตรการรองรับ รวมทั้งปัจจัยเฉพาะในรายประเทศที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ โดยเศรษฐกิจเวียดนามกลับมาฟื้นตัวได้ดี ด้วยแรงหนุนจากการส่งออกที่แข็งแกร่ง

 

ขณะที่การระบาดของโรคโควิด-19 และการถูกเพิกถอนสิทธิพิเศษทางการค้า EBA บางส่วนจะยิ่งซ้ำเติมการชะลอตัวของอุปสงค์ต่างประเทศในกัมพูชา

 

ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจลาวยังเผชิญแรงกดดันจากข้อจำกัดในการทำนโยบายการคลัง (Fiscal Space) และความเสี่ยงที่สูงขึ้นในประเด็นการผิดชำระหนี้ สำหรับเมียนมา การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ที่กลับมาเข้มงวดขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจเมียนมามีแนวโน้มฟื้นตัวต่ำกว่าคาดการณ์ในปีงบประมาณ 2020/2021

 

กัมพูชา

อุปสงค์จากต่างประเทศที่ยังอ่อนแอ เป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกัมพูชา โดย EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจกัมพูชาจะหดตัว 3% ในปี 2020 และขยายตัวได้ค่อนข้างต่ำที่ราว 5% ในปี 2021 

 

แม้กัมพูชาจะผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ส่วนใหญ่แล้ว โดยมีการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไปได้ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีแนวโน้มซบเซา เนื่องจากมาตรการกักตัว ขณะที่การเพิกถอนสิทธิพิเศษทางการค้า EBA และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลลบต่อเนื่องถึงอุปสงค์ในภาคส่งออก รวมถึงรายได้ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน

 

เมียนมา 

การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ ที่กลับมาเข้มงวดจะส่งผลลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเมียนมา ธุรกิจที่ทยอยปิดตัวลงและการจำกัดการเดินทางส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อการจ้างงานและรายได้ ซึ่งกลายเป็นแรงกดดันต่อการผลิตและการส่งออก

 

ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จะยังคงซบเซาจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่มีอยู่สูง โดยเฉพาะช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน EIC จึงปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจเมียนมาลงเป็น 4% ในปีงบประมาณ 2020/2021

 

ลาว

ข้อจำกัดในด้านการทำนโยบายการคลังและความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นยังเป็นความท้าทายหลัก แม้รัฐบาลลาวจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ แต่มาตรการกระตุ้นทางการคลังจะเผชิญข้อจำกัดจากการขาดดุลการคลังอย่างต่อเนื่อง ลาวยังมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นจากปัญหาขาดแคลนทุนสำรองระหว่างประเทศและรายได้ภาครัฐที่อยู่ในระดับต่ำ

 

นอกจากนี้ลาวถูกปรับอันดับความน่าเชื่อถือลง โดย มูดีส์ ปรับลงเป็น Caa2 และ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ปรับลงเป็น CCC ซึ่งจะส่งผลให้ลาวมีต้นทุนการระดมทุนสูงขึ้น และยิ่งเป็นแรงกดดันให้เงินกีบอ่อนค่า 

 

โดย EIC ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจลาวปี 2020 เป็นหดตัว -0.5% และคาดการฟื้นตัวในปี 2021 ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำค่อนข้างสูง และจะขยายตัวได้เพียง 4.5%

 

เวียดนาม

แม้เผชิญการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 แต่เศรษฐกิจเวียดนามยังขยายตัวได้ดี จากการควบคุมการระบาดได้อย่างรวดเร็วและการส่งออกที่แข็งแกร่ง โดย EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจเวียดนามจะกลับมาขยายตัวราว 7% ในปี 2021 

 

นอกจากนี้เวียดนามจะได้ผลบวกจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นภายใต้ข้อตกลงทางการค้า EVFTA อุปสงค์โลกที่เพิ่มสูงขึ้นต่อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ รวมถึงแนวโน้มการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน 

 

อย่างไรก็ตาม เวียดนามยังคงเผชิญความเสี่ยงจากการที่สหรัฐฯ ขึ้นบัญชีเวียดนามเป็นประเทศผู้บิดเบือนค่าเงิน และการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

FYI
  • EBA หรือ Everything But Arms คือ สิทธิพิเศษทางการค้าสูงสุดจากประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าและยกเลิกการกำหนดโควตานำเข้าครอบคลุมสินค้าทุกประเภทยกเว้นอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมส่งออก
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X