×

The Chair (2021) เก้าอี้อลวน แคมปัสอลเวง

11.09.2021
  • LOADING...
The Chair_

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • The Chair เป็นซีรีส์เบาสมองที่ผสมผสานอารมณ์ขันหลากหลายรูปแบบไว้ด้วยกัน ทั้งตลกท่าทาง (Sight Gags) ตลกคำพูด (Wisecrack) ตลกที่เล่นกับสถานการณ์พิลึกพิลั่น (​Farce) ตลกที่ใช้ประโยชน์จากความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน (Comedy of Errors) ตลกในแบบเยาะเย้ยถากถาง (Satire) ไปจนถึงตลกที่ยั่วล้ออยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร (Romantic Comedy) ทั้งหลายทั้งปวง ผู้สร้างยังต้องสอดแทรกแง่มุมทางด้านดราม่าเข้ามา และมันก็ต้องสู้รบปรบมือกับความทีเล่นทีจริงของเนื้อหาอยู่พอสมควร

 

  • The Chair เป็นซีรีส์ชวนหัวที่ไม่ได้มุ่งขายแต่ความหรรษาครื้นเครง หากยังวิพากษ์วิจารณ์หลายสิ่งหลายอย่างพร้อมๆ กัน ระบบการศึกษาสมัยใหม่ (ซึ่งไม่ได้ผิดแผกแตกต่างไปจากของบ้านเราเท่าไรนัก) ความเหลื่อมล้ำในเรื่องเพศ สีผิวและเชื้อชาติ ไปจนถึงความถูกต้องชอบธรรมของสิ่งที่เรียกว่า Cancel Culture หรือวัฒนธรรมทัวร์ลง

The Chair

 

ไม่ว่าคนดูจะไหวตัวทันหรือไม่อย่างไร ซีรีส์ความยาว 6 ตอนจบ (ตอนละครึ่งชั่วโมง) เรื่อง The Chair ซึ่งสตรีมทางช่อง Netflix ช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เริ่มต้นด้วยฉากอารัมภบทที่ไม่เพียงแค่กำหนดมู้ดและโทนในการนำเสนอ อันได้แก่การเป็นซีรีส์เบาสมองที่เรียกเสียงหัวเราะได้อย่างไม่ทันตั้งตัว ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นช่วงเกือบๆ สองนาทีแรกก็ยังกลายเป็นเสมือนอุปมาอุปไมยถึงสถานการณ์ที่ตัวเอกของเรื่องกำลังพบเจอในภายภาคหน้าอย่างแยบยล

 

บรรยายสรุปอย่างย่นย่อ นี่เป็นวันแรกของการเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาภาษาอังกฤษของโปรเฟสเซอร์คิมจียุน (แซนดร้า โอ) ทั้งในฐานะผู้หญิงคนแรกและคนผิวสีคนแรกของมหาวิทยาลัยสมมติที่ชื่อเพมโบรก ซึ่งดูขรึมขลังในความเก่าแก่และน่าจะมีประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปเป็นร้อยปี บรรยากาศยามเช้าของมหาวิทยาลัยให้ความรู้สึกสดชื่นแจ่มใส เสียงเพลงสวดสรรเสริญพระเจ้า Gloria ของมหาคีตกวี อันโตนิโอ วิวัลดี ที่บรรเลงตลอดช่วงเวลาเหล่านี้ก็ดูเหมือนร่วมเฉลิมฉลองชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของเธอ ส่วนหนึ่งเพราะนี่เป็นภาควิชาที่ผู้ชายผิวขาวซึ่งเป็นประชากรมากกว่าครึ่งค่อนของอาจารย์ทั้งหมดผูกขาดตำแหน่งผู้บริหารมายาวนาน

 

หรือว่ากันตามจริงแล้ว สีหน้าของโปรเฟสเซอร์คิมก็ไม่ได้ปิดบังความภูมิอกภูมิใจเท่าใดนัก โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่เธออ่านป้ายชื่อตัวเองหน้าห้องที่ระบุตำแหน่งทรงเกียรติที่เพิ่งได้รับสดๆ ร้อนๆ

 

แต่ก็นั่นแหละ ยังไม่ทันที่สาวใหญ่จะได้ดื่มด่ำความสำเร็จอันหอนหวาน ซึ่งสันนิษฐานได้ไม่ยากว่านี่เป็นหนึ่งในหลักไมล์แห่งความก้าวหน้าในงานอาชีพที่สำคัญ มีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้น (ซึ่งผู้ชมควรจะได้ไปค้นพบด้วยตัวเอง) และมันก็เป็นอย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้น ลางบอกเหตุถึงสรรพความยุ่งเหยิงที่ถูกซุกไว้ใต้พรม

 

The Chair

 

อย่างหนึ่งที่ควรบอกกล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับรูปโฉมภายนอกของ The Chair ก็คือ มันเป็นซีรีส์เบาสมองที่ผสมผสานอารมณ์ขันหลากหลายรูปแบบไว้ด้วยกัน ทั้งตลกท่าทาง (Sight Gags) ตลกคำพูด (Wisecrack) ตลกที่เล่นกับสถานการณ์พิลึกพิลั่น (​Farce) ตลกที่ใช้ประโยชน์จากความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน (Comedy Of Errors) ตลกในแบบเยาะเย้ยถากถาง (Satire) ไปจนถึงตลกที่ยั่วล้ออยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร (Romantic Comedy) และว่าไปแล้ว ความที่มันมุ่งไปทุกทิศทางพร้อมๆ กันก็ทำให้ความหนักแน่นและเข้มข้นของเนื้อหาที่บอกเล่าเจือจางไปบ้าง ทั้งหลายทั้งปวง ผู้สร้างยังต้องสอดแทรกแง่มุมทางด้านดราม่าเข้ามา และมันก็ต้องสู้รบปรบมือกับความทีเล่นทีจริงของเนื้อหาอยู่พอสมควร

 

แต่จนแล้วจนรอด คงต้องให้เครดิตผู้สร้างอันได้แก่ อแมนดา พีท และ แอนนี จูเลีย วายแมน ในฐานะโปรดิวเซอร์ ในแง่ที่พวกเธอสามารถรักษาสมดุลระหว่างเรื่องล้อเล่นกับเนื้อหาที่ขึงขังจริงจังได้อย่างพอเหมาะพอควร อันส่งผลในท้ายที่สุดแล้ว นี่เป็นซีรีส์ชวนหัวที่ไม่ได้มุ่งขายแต่ความหรรษาครื้นเครง หากยังวิพากษ์วิจารณ์หลายสิ่งหลายอย่างพร้อมๆ กัน ระบบการศึกษาสมัยใหม่ (ซึ่งไม่ได้ผิดแผกแตกต่างไปจากของบ้านเราเท่าไรนัก) ความเหลื่อมล้ำในเรื่องเพศ สีผิวและเชื้อชาติ ไปจนถึงความถูกต้องชอบธรรมของสิ่งที่เรียกว่า Cancel Culture หรือวัฒนธรรมทัวร์ลง

 

ในแง่ของปมขัดแย้งหลักของเรื่อง ประเด็นหนึ่งที่ผู้ชมสรุปได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือการเข้ารับตำแหน่งใหม่ของจียุนเรียกเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากทุกขลาภ (หรือเจ้าตัวเรียกมันว่าระเบิดเวลา) ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะภาควิชาภาษาอังกฤษไม่ได้เป็นสาขาที่ได้รับความนิยมอีกต่อไป ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ว่าไปแล้ว มันเป็นหนึ่งในสาขาที่มักจะถูกตั้งคำถามว่าเรียนไปทำไม (เหมือนกับสาขาปรัชญา) โคลงฉันท์กาพย์กลอนไปจนถึงวรรณกรรมชั้นสูงของนักประพันธ์นามอุโฆษที่ล้วนลาโลกไปแล้วแสนนาน เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับวิถีของคนหนุ่มสาวในช่วงศตวรรษที่ 21 ที่สื่อสารกันด้วยเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ติ๊กต๊อก และอื่นๆ อย่างไร

 

The Chair

The Chair

 

โดยปริยาย จำนวนนักศึกษาของภาควิชาที่ลดลงอย่างต่อเนื่องส่งผลต่อการอยู่รอดของคณะและภาควิชา และนั่นคือตอนที่ พอล ลาร์สัน (เดวิด มอร์ส) คณบดียื่นใบรายชื่อของโปรเฟสเซอร์อาวุโสผู้ซึ่งกินเงินเดือนสูงในสัดส่วนที่ไม่เหมาะสมกับจำนวนนักศึกษาที่ลงทะเบียนในคลาสของพวกเขาเหล่านั้นให้กับจียุนเพื่อเข้าโครงการปลดเกษียณ เพราะมหาวิทยาลัยไม่ใช่องค์กรสาธารณกุศล และจำเป็นต้องอยู่รอดในแง่การลงทุน ซึ่งถ้าพูดอย่างแฟร์ๆ อาจารย์แก่ๆ บางคนก็ดูหมดสภาพและควรกลับบ้านไปเลี้ยงหลานจริงๆ หรือบางคนก็หลงละเมอเพ้อพกในความยิ่งใหญ่แต่ครั้งเก่าก่อนของตัวเอง และยังคง ‘โบกมืออย่างหยิ่งทระนงให้กับขบวนพาเหรดที่เคลื่อนผ่านไปแล้วแสนนาน’

 

หนึ่งในฉากที่เจ็บแสบสุดๆ อยู่ในอีพีแรก นักศึกษาหญิงคนหนึ่งวิ่งทะเล่อทะล่าเข้ามาในคลาสที่เกือบจะไม่มีคนเรียนของโปรเฟสเซอร์เอลเลียต เรนต์ซ (บ็อบ บาลาบัน) ซึ่งเป็นชายสูงวัยผิวขาว พร้อมกับร้องถามว่านี่คือวิชา ‘เซ็กซ์กับนวนิยาย’ ใช่หรือไม่ และผลุนผลันออกไปอย่างรีบร้อนทันทีที่ได้รับคำตอบว่านี่คือวิชา ‘วิวัฒนาการวรรณคดีอเมริกันจากปี 1850-1918’ และเมื่อภาพตัดไปที่คลาสดังกล่าวซึ่งสอนเวลาเดียวกัน ปรากฏว่าคนเรียนเต็มความจุของห้อง และผู้บรรยายก็ได้แก่ ยาซ แม็กเคย์ (นานา เมนซาห์) อาจารย์หญิงผิวดำและอายุของเธอก็ไม่ได้มากไปกว่านักศึกษาเท่าใดนัก

 

จริงๆ แล้วก็แทบไม่ต้องถามว่าวิชาไหนน่าเรียนกว่ากัน แต่แก่นสารจริงๆ อยู่ตรงที่ตัวซีรีส์แสดงให้เห็นว่า โปรเฟสเซอร์เรนต์ซเป็นแบบฉบับอาจารย์รุ่นจูราสสิกที่นอกจากไม่ยอมปรับตัวตามยุคสมัย อัตตาของเขาก็ยังพอกพูนมากขึ้นตามอายุที่ล่วงเลยจนกระทั่งบดบังทัศนวิสัยในการมองเห็นความเป็นจริง ส่วนที่แย่ก็เป็นอย่างที่จียุนเอ่ยไว้ เขายังคงมีอิทธิพลในการชี้เป็นชี้ตายอนาคตของอาจารย์ดาวรุ่งอย่างยาซ แม็กเคย์ ผู้ซึ่งยังไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์ประจำด้วยซ้ำ

 

The Chair

 

แต่นั่นก็ยังเทียบกับเรื่องน่าปวดหัวที่ใหญ่โตกว่านั้นไม่ได้ และมันเกี่ยวข้องกับบิล (เจย์ ดูพลาส) อาจารย์นักเขียนชื่อดังผู้ซึ่งชีวิตสำมะเลเทเมาของเขา เป็นผลพวงจากการสูญเสียภรรยาช่วงปีก่อนหน้า นำพาให้เจ้าตัวทำอะไรห่ามๆ ระหว่างสอน อันได้แก่การยกมือแสดงความเคารพแบบนาซี และก็เป็นอย่างที่ผู้ชมคาดเดาได้ นักเรียนถ่ายภาพดังกล่าวไว้ได้และกลายเป็นคลิปไวรัลฉาวโฉ่ในสื่อออนไลน์ กระทั่งบานปลายกลายเป็นการประท้วงที่หัวหน้าภาคไม่เพียงแค่ต้องรับผิดชอบ แต่คณบดียังต้องลงมาล้วงลูก และที่แน่ๆ คณบดีไม่ได้อยู่ฟากเดียวกับบิล เพราะวาระแอบแฝงของเขาก็คือการรักษาภาพลักษณ์และผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งเกี่ยวพันโดยตรงต่อจำนวนนักศึกษาที่ลงทะเบียน

 

และถ้าหากสิ่งที่สาธยายมายังดูซับซ้อนไม่พอ เรื่องราวในซีรีส์ยังบอกอีกด้วยว่าระหว่างบิลกับจียุนก็ไม่ได้มีสถานะเป็นหัวหน้ากับลูกน้องในภาควิชาเดียวกัน และความสัมพันธ์ที่แนบแน่นมากขึ้นก็ส่งผลให้การต้องแยกแยะระหว่างเรื่องส่วนตัวกับหน้าที่ความรับผิดชอบของจียุนเป็นเรื่องยุ่งยากมากขึ้น

 

หรือกล่าวอย่างรวบยอด ซีรีส์เรื่อง The Chair ใช้ ‘เก้าอี้ตัวใหม่’ ของจียุนเป็นเสมือนข้ออ้างในการพาผู้ชมไปสำรวจสิ่งที่เรียกว่าเป็นองคาพยพทางการศึกษา ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามันพ้องพานกับโลกความเป็นจริง ไล่เรียงตามที่ได้กล่าวไปแล้ว อันได้แก่สถานการณ์ล่าสุดของระบบมหาวิทยาลัยที่การเมืองภายในเล่นบทบาทสำคัญ จนสุดท้ายเป้าหมายสำคัญเบี่ยงเบนไปสู่เรื่องผลประกอบการและรายได้มากกว่าการสนับสนุนความเป็นเลิศทางการศึกษา ไปจนถึงระบอบชายเป็นใหญ่ที่จนแล้วจนรอด ยังคงกุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่บนหอคอยงาช้าง และเอาเข้าจริงๆ แล้ว ความพยายามของจียุนในการประคับประคองสถานการณ์ที่ทรุดโทรมลงไปเรื่อยๆ ก็กลับกลายเป็นอย่างที่ ยาซ แม็กเคย์ กล่าวสรุปในประโยคคำพูดเดียวที่เจ้าตัวได้ยินได้ฟังแล้วถึงกับสะอึก ทว่าปฏิเสธไม่ได้ว่ามันแฝงไว้ด้วยความจริง ยาซบอกว่าจียุนทำตัวเหมือนเป็นหนี้บุญคุณเบื้องบนที่มอบตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้มาให้

 

The Chair

 

ใครที่ติดตามผลงานของ แซนดร้า โอ มาอย่างต่อเนื่อง (Sideways, Grey’s Anatomy, Killing Eve) ก็คงจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเธอเป็นนักแสดงที่ไม่เพียงแค่มีทักษะคล่องแคล่ว ทว่าการปรากฏตัวของเธอยังสะกดสายตาผู้ชมจริงๆ ไม่ว่าจะด้วยน้ำเสียง และโดยเฉพาะอย่างย่ิงอากัปกิริยาเล็กๆ น้อยๆ ที่เติมสัมผัสพิเศษให้กับตัวละคร และก็ไม่มีข้อสงสัยว่าบทโปรเฟสเซอร์คิมจียุนนับเป็นอีกหนึ่งบทบาทการแสดงที่น่าจดจำ หรือจริงๆ แล้วมันเกี่ยวโยงกับความสำเร็จของซีรีส์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนที่น่าแปลกก็ตรงที่ก่อนหน้านี้ แซนดร้า โอ ไม่ค่อยได้เล่นบทตลกจริงๆ จังๆ ทั้งๆ ที่เธอดูเป็นธรรมชาติมากๆ อีกทั้งการสลับสับเปลี่ยนไปเล่นบทดราม่าก็ช่างราบรื่นเหมือนเพียงแค่พลิกฝ่ามือ

 

อย่างไรก็ตาม อีกคนที่ออกมาตอนไหนก็เรียกเสียงฮาตอนนั้นก็คือ ฮอลแลนด์ เทย์เลอร์ ในบทโปรเฟสเซอร์โจน อาจารย์หญิงสูงวัยผู้ซึ่งไม่ว่าเธอจะอยู่มานานแค่ไหน คณะก็ปฏิบัติกับเธอเหมือนเป็นเลขาฯ ของภาค นั่นรวมถึงการถือวิสาสะย้ายออฟฟิศของเธอไปห้องใต้ถุนของโรงยิมที่เสียงอึกทึกครึกโครมและไม่มีสัญญาณไวไฟ ขณะที่สงครามอีกด้านที่อาจารย์ป้าต้องรบราก็คือการเสาะหาคนโพสต์ความเห็นเศษขยะเกี่ยวกับสิ่งที่เธอสอน (อันได้แก่วรรณกรรมคลาสสิก The Canterbury Tales ของ เจฟฟรีย์ ชอเซอร์) ทำนองว่าเพื่อสอบถามซึ่งๆ หน้าว่า “มึงเป็นเหี้-อะไรกับสิ่งที่กูสอนนักหนา”

 

The Chair

 

 

โดยปริยาย ความน่าสนุกและเอร็ดอร่อยอีกส่วนของซีรีส์ The Chair มาจากคาแรกเตอร์ที่จัดจ้านกร้านโลกแบบนี้ และพวกเขาไม่ได้มีหน้าที่ทำนุบำรุงกรอบศีลธรรมอันดีงาม ข้อสำคัญ ผู้สร้างไม่ต้องห่วงกังวลว่าจะมีองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐฟ้องร้องดำเนินคดีทางกฎหมายข้อหาทำลายภาพลักษณ์ของวิชาชีพเหมือนกับเหตุการณ์ที่เพิ่งจะเกิดในบางประเทศ ซึ่งประจานความบ้องตื้นของคนในระบบราชการที่มีอำนาจ ผูกขาดความถูกต้อง แต่กลับอ่อนด้อยในแง่ของไหวพริบ สติปัญญา และรสนิยม

 

หรือสรุปแบบโค้งหักศอกก็คงต้องบอกว่า The Chair เป็นซีรีส์ที่น่าเชื่อว่าจะทำให้ผู้ชมได้หัวเราะจนเกือบตกเก้าอี้

 

The Chair (2021)

ผู้สร้าง-อแมนดา พีท, แอนนี จูเลีย วายแมน       

ผู้แสดง-แซนดร้า โอ, เจย์ ดูพลาส, บ็อบ บาลาบัน, นานา เมนซาห์, ฮอลแลนด์ เทย์เลอร์

 

The Chair

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising