×

เส้นแบ่งของ Based on True Story และความเสียใจของผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ ที่ทำให้ The Cave นางนอน ได้รับความสนใจขึ้นอีกครั้ง

26.11.2019
  • LOADING...
The Cave นางนอน

“หากใครชมแล้วก็ขอให้เข้าใจว่ามันคือภาพยนตร์ ไม่ใช่สารคดี จริงๆ แล้วควรจะใช้คำว่า บทภาพยนตร์ คนจะได้เข้าใจ เพราะหากเราบอกว่าเรื่องนี้สร้างจากเรื่องจริง แต่หลายเรื่องมันไม่จริง แม้แต่ตัวละครหลายตัวก็ไม่สามารถบอกได้ว่าคือใคร” ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร 

 

กลายเป็นประเด็นร้อนแรงที่ชวนให้ขบคิด วิพากษ์วิจารณ์ และโหมกระแส ภาพยนตร์เรื่อง The Cave นางนอน ให้อยู่ในสปอตไลต์อีกครั้ง เมื่อ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ผู้อำนวยการสถานการณ์ในปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยถ้ำหลวง แสดงความคิดเห็นในลักษณะที่ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีสิ่งที่ถูกแต่งเติมเสริมอรรถรสมากกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง จากงานเปิดตัวภาพยนตร์ที่จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา 

 

(สำหรับคนที่ยังไม่ได้ชม The Cave นางนอน มาก่อน สามารถทำความเข้าใจภาพรวมของภาพยนตร์ได้ที่ The Cave นางนอน ภาพสวย มีพลัง เล่าเรื่องไว เซอร์ไพรส์ และเสียดสีระบบราชการแบบ ‘ไทย’ เป็นระยะ)

 

โดยเฉพาะระบบการทำงานของฝั่งข้าราชการไทยหลายๆ ฉาก ที่ต้องมีขั้นตอนและ ‘บัตรผ่าน’ ทำให้มีผู้หวังดีและมีความสามารถหลายคน ที่ลงพื้นที่พร้อมจะให้การช่วยเหลือ แต่ไม่สามารถเข้าไปปฏิบัติการได้ทันท่วงที ที่ทำให้ผู้ว่าฯ ณรงศักดิ์ในฐานะทีมปฏิบัติงานรู้สึกไม่สบายใจเท่าไรนัก เพราะกลายเป็นมุกตลกล้อเลียน และเสียดสีระบบข้าราชไทยที่สื่อสารออกไปให้คนทั้งโลกรู้ เพราะบางเรื่องผู้กำกับอาจจะนำมาจากสิ่งที่มีคนมาเล่าให้ฟัง และไม่ได้เช็กข้อมูลเสียก่อน (อ่านข่าวเหตุการณ์ทั้งหมดได้ตามบทความอ้างอิงด้านล่าง) 

 

ทอม วอลเลอร์ ผู้กำกับ The Cave นางนอน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในช่วงเวลาสั้นๆ ช่วงเริ่มงาน ก่อนที่ผู้ว่าฯ ณรงศักดิ์จะเดินจากโรงภาพยนตร์ในขณะที่เริ่มฉายไปได้แค่ไม่กี่นาที

 

รวมทั้งการโพสต์ความรู้สึกที่ยังไม่ทันได้พูดอย่างตรงไปตรงมาบนเฟซบุ๊กเพจ Tom Waller (ทอม วอลเลอร์) โดยมีข้อความส่วนหนึ่งที่ทำให้การวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงขึ้นไปอีกว่า

 

“ผมไม่อยากให้ท่านตัดสินว่าภาพยนตร์ผมไม่ตรงความจริงเพียงเพราะท่านรับชมจากตัวอย่างภาพยนตร์ หรือคำรีวิว ที่บอกว่าสร้างมาล้อเลียนข้าราชการ ถ้าท่านชมภาพยนตร์จบแล้วต่อว่าหนังผม อันนั้นผมยอมรับได้ ท่านบอกภาพยนตร์ไม่ตรงความจริง 

 

“ใช่ครับ มีซีนหนึ่งที่ไม่ตรงจริง เจ้าหน้าที่อุทยานไม่ได้เป็นคนไล่อาจารย์อดิสรณ์ให้ไปเก่งที่นครปฐม แต่เป็นคำพูดของคนที่ไม่มีโอกาสได้ดูเพราะนั่งอยู่แค่ 3 นาทีครับ”

 

โดยเฉพาะย่อหน้าสุดท้าย ที่หลายคนตีความว่า ทอม วอลเลอร์ แอบเฉลยข้อสงสัยบางอย่าง ว่าใครเป็นคนพูดประโยคนั้นออกมาอยู่ก็ได้ 

 

นอกจากประเด็นถกเถียงว่าใครผิดหรือถูกที่กำลังร้อนแรง THE STANDARD POP คิดว่ามีความน่าสนใจหลายอย่างที่เกิดขึ้นจากกรณีนี้ที่ควรพูดถึง โดยเฉพาะเรื่องของคำว่า ‘ภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริง’ (Based on True Story) นั้นควรมีเส้นแบ่งในการเล่าเรื่องอยู่ตรงไหน 

 

เพราะในมุมหนึ่งก็พอเข้าใจความรู้สึกของผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ในฐานะหัวหน้าทีมปฏิบัติงานที่ตั้งใจทำภารกิจนี้ร่วมกับทีมงานนับหมื่นชีวิต เมื่อต้องรับรู้ว่ามีเรื่องราวบางอย่างที่ถูกนำเสนอในเชิงเสียดสี ที่จะกลายเป็นภาพบันทึกเอาไว้ในโลกภาพยนตร์อีกนาน 

 

แต่ผู้กำกับ ทอม วอลเลอร์ ก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งมานำเสนอ เพื่อ ‘สะท้อน’ เรื่องราวหรือปัญหาบางอย่างที่คิดว่าน่าสนใจ และคนทั่วไปควรรับรู้ แน่นอนว่าเมื่อจั่วหัวไว้ว่า ‘สร้างจากเรื่องจริง’ แล้วย่อมมีบางอย่างที่ถูกเสริมแต่งเข้าไป และตัวเขาเองก็ไม่เคยบอกว่า The Cave นางนอน คือ ‘สารคดี’ 

 

เหมือนที่ภาพยนตร์แนวนี้หลายเรื่องทำ และสุดท้ายก็ไม่พ้นคำถามเรื่องความจริง ความเหมาะสม ที่ผู้ชม และผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เป็นผู้ตัดสินใจตามแต่ความเชื่อ ความรู้สึก และประสบการณ์ของแต่ละคน ที่ผู้กำกับและทีมงานสร้างต้องยอมรับไว้พิจารณา

 

อีกจุดหนึ่งคือตามคำบอกเล่าของทอม วอลเลอร์ ที่ว่าผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ ได้ดู The Cave นางนอน เพียงแค่ 3 นาที ก็เป็นเรื่องที่ควรตั้งคำถามเหมือนกันว่า ระยะเวลาเพียงเท่านั้น เป็นธรรมมากพอหรือเปล่า ที่จะตัดสินว่ารู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์เรื่องนี้ 

 

และหากเป็นเช่นนั้นจริง การที่ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์รับรู้เรื่องราวในภาพยนตร์จากตัวอย่าง คำบอกเล่า หรือบทวิจารณ์ภาพยนตร์ จะต่างอะไรไปกับสิ่งที่พูดเอาไว้ว่า ผู้กำกับนำสิ่งที่มีคนเล่าให้ฟัง มาสร้าง The Cave นางนอน โดยไม่ได้เช็กข้อมูล 

 

เพราะถ้าดูในภาพรวมทั้งหมด เรายังคิดว่า The Cave นางนอน เป็นภาพยนตร์ที่ถูกสร้างและนำเสนอเรื่องราวทั้งหมดออกมาด้วยความ ‘ปรารถนาดี’ มากกว่ามุ่งร้าย ถ้ามีโอกาสได้รับชมทั้งเรื่อง จะได้เห็นช่วงเวลายากลำบากของข้าราชการไทยในทีมวางแผน ที่ต้องแบกรับความกดดัน รับผิดชอบทุกๆ ชีวิต และพยายามประสานกับทีมงานจากต่างประเทศอย่างน่าชื่นชมที่สุดแล้ว 

 

ส่วนช่วงมุกตลกที่เป็นปัญหาเท่านั้น ที่ถ้าได้ดูในโรงภาพยนตร์ก็จะรู้สึกได้ทันทีว่า ปฏิกิริยาโดยรวมของคนส่วนใหญ่ ที่แม้จะเต็มไปด้วยความขบขัน แต่ก็เป็นเสียงหัวเราะที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวด เพราะทุกคนรับรู้ร่วมกันได้ว่า สิ่งนี้คือปัญหาที่อยู่คู่กับเรามานานมากแล้วจริงๆ 

 

เป็นไปได้ไหมว่า นอกจากการชื่นชมทีมงานที่ร่วมปฏิบัติภารกิจด้วยความสามัคคี การ ‘ยอมรับ’ ความจริงที่ว่าเรากำลังประสบปัญหานั้นอยู่ เพื่อเริ่มต้นแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจัง น่าจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนมากกว่าพยายามปกปิด และซุกเอาไว้ใต้พรมต่อไป เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

 

ยืนยันอีกครั้งว่าเราไม่เคยสงสัยในความตั้งใจ ปรารถนาดีของผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ และทีมงานทุกคน เพียงแค่รู้สึกว่าการแสดงความคิดเห็นแบบนี้ อาจได้ผลลัพธ์ในแง่ร้าย และลุกลามมากกว่าที่ผู้พูดตั้งใจ 

 

เพราะจากเดิมที่กระแสของ The Cave นางนอน ค่อยๆ ลดลงตามกาลเวลา (และด้วยพลังของเจ้าหญิงเอลซ่าที่รุนแรงเหลือเกิน) มีคนแชร์โพสต์ของทอม วอลเลอร์ ไปมากกว่า 3,000 ครั้ง (อัปเดต ณ เวลา 14.30 น.) พร้อมกับคอมเมนต์ และข้อความจำนวนมากที่พูดทำนองว่า ‘เริ่มอยากดูเรื่องนี้ขึ้นมาแล้ว’

 

ถ้าหน้าที่อย่างหนึ่งของภาพยนตร์ คืองานศิลปะที่บันทึกเรื่องราว นำเสนอและสะท้อนมุมมองที่แตกต่าง ชวนวิเคราะห์ และสร้างการถกเถียง ให้คนดูนำไปคิดต่อยอดก่อนตัดสินใจ The Cave นางนอน ก็นับว่าทำหน้าที่ของตัวเองได้สำเร็จในระดับหนึ่ง 

 

แต่ถ้าใครอยากเข้าไปรับรู้ด้วยตัวเองว่าเรื่องราวทั้งหมดเป็นอย่างไร อาจจะต้องรีบสักหน่อย เพราะถ้าประเด็น ‘ล้อเลียน’ กลายเป็นกระแสที่ส่งเสียงดังมากขึ้นเรื่อยๆ 

 

เราอาจจะถูก ‘ระบบ’ บางอย่าง ลดเวลาการเข้าไปหาคำตอบในภาพยนตร์เรื่องนี้พร้อมกันให้น้อยลงกว่าที่ควรจะเป็นก็ได้ 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising