×

The Birth of Korean Cool หนังสือที่กระทรวงวัฒนธรรมควรอ่านก่อนจะส่งออก Soft Power

11.11.2021
  • LOADING...
The Birth of Korean Cool

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • หนังสือชื่อ The Birth of Korean Cool ของ ยูนีฮง เป็นนักเขียนที่เกิดในอเมริกา ใช้ชีวิตช่วงมัธยมที่เกาหลีใต้ และย้ายออกมาเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ แล้วกลับไปศึกษาเรื่องเกาหลีใต้อีกครั้งเมื่อกลายเป็นผู้นำด้านวัฒนธรรมป๊อป ทำให้เธอมีทั้งมุมมองของคนในและคนนอก โดยเล่าถึงบรรยากาศช่วงยุค 80 ที่เกาหลีใต้เพิ่งเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยใหม่ๆ 
  • ประธานาธิบดีคิมแดจุงที่เข้ารับตำแหน่งในปี 1998 หลังวิกฤตต้มยำกุ้งเพียงหนึ่งปี เขามาพร้อมแนวความคิดที่ว่า “เรามาสร้างคลื่นวัฒนธรรมเกาหลี (ฮันรยู) กันเถิด” เมื่อหนังอย่าง Jurassic Park ทำเงินได้เท่ากับยอดขายรถยนต์ฮุนได 1.5 ล้านคัน (สองเท่าของยอดขายประจำปี) แล้วทำไมถึงไม่หันมาให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมบันเทิงบ้าง 
  • นอกจากการให้ทุนและพัฒนาคอนเทนต์แล้ว การทำให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติยังทำให้ทุกภาคส่วนตื่นตัวที่จะช่วยเหลือกันอย่างในปี 1992 ซีรีส์เรื่อง What is Love ตั้งใจจะไปตีตลาดฮ่องกง แต่ปัญหาก็คือในยุคนั้นซีรีส์เกาหลีไม่ได้อยู่ในสายตาของคนนอกประเทศเลย กงสุลประจำฮ่องกงก็เลยไประดมผลิตภัณฑ์เกาหลีใต้ให้มาซื้อโฆษณาช่วงเวลาที่ละครออกอากาศ เพื่อให้สถานีโทรทัศน์ได้เห็นว่ามีคนสนใจ สุดท้ายซีรีส์เรื่องนี้ก็ประสบความสำเร็จ 

“ประเทศปกครองโดยเผด็จการ รัฐบาลเอื้อนายทุน ความเหลื่อมล้ำสูงมาก นักเรียนแต่งตัวเหมือนกันหมด ครูลงโทษนักเรียนอย่างรุนแรง ต้นทุนวัฒนธรรมบันเทิงแทบไม่มี หนังและละครโปรดักชันคุณภาพต่ำ วนเวียนอยู่กับเรื่องน้ำเน่ายุงชุม คนไม่ดูหนังและดูถูกละครของประเทศตัวเอง” 

 

ผู้เขียนไม่ได้พูดถึงประเทศแถวนี้ แต่นี่คือเกาหลีใต้ก่อนยุค 90 แล้วเพราะอะไร ระยะเวลาเพียงไม่กี่ 10 ปี เกาหลีใต้จึงกลายเป็นผู้ส่งออกวัฒนธรรมป๊อปรายใหญ่ของโลก ทั้งๆ ที่ประเทศนี้ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ! 

 

ผู้เขียนสงสัยในข้อนี้มาตลอดจนได้พบคำตอบจากหนังสือชื่อ The Birth of Korean Cool ของ ยูนีฮง นักเขียนที่เกิดในอเมริกา ใช้ชีวิตช่วงมัธยมที่เกาหลีใต้ และย้ายออกมาเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ แล้วกลับไปศึกษาเรื่องเกาหลีใต้อีกครั้งเมื่อกลายเป็นผู้นำด้านวัฒนธรรมป๊อป ทำให้เธอมีทั้งมุมมองของคนในและคนนอก โดยเล่าถึงบรรยากาศช่วงยุค 80 ที่เกาหลีใต้เพิ่งเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยใหม่ๆ แต่ก็ยังทิ้งร่องรอยอำนาจนิยมเอาไว้ในระบบการเรียนการสอน คุณครูถูกเสมอ และมักลงโทษนักเรียนอย่างรุนแรง มีกฎและข้อห้ามแปลกๆ เช่น ห้ามเดินล้วงกระเป๋า ห้ามใช้สินค้าต่างประเทศ ฯลฯ อ่านดูแล้วนี่คือบรรยากาศที่ไม่เอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์เอาเสียเลย 

 

ซ้ำร้ายคือก่อนหน้านั้นเกาหลีใต้ตกอยู่ในกฎอัยการศึก 18 ปี (1962-1979) ผู้หญิงห้ามใส่กระโปรงสั้น ผู้ชายห้ามไว้ผมยาว ประชาชนห้ามฟังเพลงร็อกแอนด์โรล ต้นทุนด้านวัฒนธรรมบันเทิงแทบไม่มี การจะส่งออกวัฒนธรรมป๊อปดูเหมือนจะเป็น ‘ฝันที่ไม่กล้าฝัน ที่คนธรรมดาคนหนึ่งไม่กล้าฝัน แต่เขาก็ให้มา…’ เขาคนนั้นก็คือประธานาธิบดีคิมแดจุงที่เข้ารับตำแหน่งในปี 1998 หลังวิกฤตต้มยำกุ้งเพียงหนึ่งปี เขามาพร้อมแนวความคิดที่ว่า “เรามาสร้างคลื่นวัฒนธรรมเกาหลี (ฮันรยู) กันเถิด”

 

The Birth of Korean Cool

 

เกาหลีใต้ถีบตัวเองจากประเทศยากจน มีรายได้ต่อหัวเท่ากับประเทศในแอฟริกา ด้วยการเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ แต่ฝันก็ต้องสลายเพราะวิกฤตการเงินเอเชียในปี 1997 ดังนั้นจะใช้วิธีหารายได้แบบเก่าไม่ได้อีกแล้ว พอหันไปเห็นหนัง Box Office แค่เรื่องเดียวอย่าง Jurassic Park ทำเงินได้เท่ากับยอดขายรถยนต์ฮุนได 1.5 ล้านคัน (สองเท่าของยอดขายประจำปี) แล้วทำไมถึงไม่หันมาให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมบันเทิงบ้าง ทั้งๆ ที่ก็แทบจะไม่ต้องสร้างสาธารณูปโภคใหม่ๆ เหมือนอุตสาหกรรมอื่น ว่าแล้วสิ่งแรกที่ทำก็คือการยกเลิกระบบเซ็นเซอร์เพื่อเอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์ ลดภาษี ในส่วนของรายการโทรทัศน์ก็ออกกฎให้สถานีโทรทัศน์ซื้อรายการจากค่ายอิสระ 2% ต่อปี (ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น 20%) เพื่อเนื้อหาที่หลากหลายขึ้น แถมยังหย่อนเงินเข้าไปอุดหนุนอุตสาหกรรมบันเทิงทั้งระบบอีก 50 ล้านดอลลาร์ เมื่อประสบความสำเร็จเอกชนก็อยากเข้ามาลงทุน จนตอนนี้เกาหลีใต้มีกองทุนอุดหนุนวัฒนธรรมป๊อป (ไม่นับรวมวัฒนธรรมร่วมสมัยอื่นๆ อย่างโอเปรา บัลเลต์ ภาพวาดและงานศิลปะ) ถึงราวๆ 1,000 ล้านดอลลาร์  

 

The Birth of Korean Cool

 

สิ่งหนึ่งที่ชนชาติเกาหลีมีแต่ชนชาติอื่นไม่มีก็คือ ‘ฮาน’ ถ้าแปลอย่างใกล้เคียงที่สุดก็คือ ความแค้นที่ชำระไม่ได้ มันเกิดขึ้นเพราะถูกกระทำย่ำยีจากชนชาติต่างๆ แทบจะตลอดประวัติศาสตร์ของเขา ‘ฮาน’ จึงเหมือนแรงผลัดดันให้เกาหลีก้าวไปข้างหน้า เพราะการล้างแค้นที่ดีที่สุดก็คือการมีชีวิตที่ดีกว่าคนที่เคยรังแกเรา อีกทั้ง ‘ฮาน’ ยังมีผลต่อเนื้อหาในหนัง ซีรีส์ หรือเพลงต่างๆ อย่างที่เราได้เห็นกันในหนังล้างแค้นถึงเลือดถึงเนื้อ หรือโศกเศร้าบาดลึกในซีรีส์ส่งออกยุคแรกๆ หรือแม้แต่ตัวละครเด็กกำพร้าที่มักจะได้เห็นบ่อยๆ ในซีรีส์ ก็ล้วนแล้วมาจากบาดแผลในสงครามต่างๆ ของเกาหลีทั้งสิ้น และความเมโลดราม่าสะใจนี่เองดันมาถูกจริตคนในประเทศในแถบอาเซียน และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ จนกลายเป็นกลยุทธ์แบบป่าล้อมเมือง ซึ่งเกาหลีใต้ก็เข้าใจตลาดนี้ดี เพราะตัวเองก็เคยเป็นประเทศยากจนมาก่อน

 

The Birth of Korean Cool

 

ไม่หยุดอยู่แค่นั้น เกาหลีใต้ยังมุ่งพัฒนาเพื่อให้คอนเทนต์ถูกใจกลุ่มคนมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างการสร้างตัวละครสถาปนิกความจำเสื่อม คังจุนซัง จากเรื่อง Winter Sonata ที่มีทั้งความเข้มแข็ง ฉลาด และน่าเวทนา อีกทั้งยังมีมุมละมุนๆ ที่ดันไปโดนใจแม่บ้านญี่ปุ่นเพราะคุณสมบัติเหล่านี้หาไม่ได้ในผู้ชายชาติเดียวกัน จนเกิดกระแสเบยองจุนฟีเวอร์ (นักแสดงผู้รับบท คังจุนซัง ในเรื่อง) ผลักดันให้ธุรกิจระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีในปี 2003 และ 2004 ให้มียอดขายสูงถึง 2,300 ล้านดอลลาร์ 

 

The Birth of Korean Cool

 

การท่องเที่ยวจากญี่ปุ่นไปเกาหลีเพิ่มขึ้น 40% ในครึ่งแรกของปี 2004 ความสำเร็จนี้กลายเป็นต้นแบบการสร้าง ‘โอปป้า’ ในฝันจากซีรีส์เกาหลียุคต่อๆ มา นอกจากการให้ทุนและพัฒนาคอนเทนต์แล้ว การทำให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติยังทำให้ทุกภาคส่วนตื่นตัวที่จะช่วยเหลือกันอย่างในปี 1992 ซีรีส์เรื่อง What is Love ตั้งใจจะไปตีตลาดฮ่องกง ซึ่งหมายถึงจะตีตลาดมลฑลกวางตุ้งได้ด้วย แต่ปัญหาก็คือในยุคนั้นซีรีส์เกาหลีไม่ได้อยู่ในสายตาของคนนอกประเทศเลย กงสุลประจำฮ่องกงก็เลยไประดมผลิตภัณฑ์เกาหลีใต้ให้มาซื้อโฆษณาช่วงเวลาที่ละครออกอากาศ เพื่อให้สถานีโทรทัศน์ได้เห็นว่ามีคนสนใจ สุดท้ายซีรีส์เรื่องนี้ก็ประสบความสำเร็จ และสถานีโทรทัศน์ CCTV ของจีนก็ซื้อไปออกอากาศด้วย

 

The Birth of Korean Cool

 

หรืออย่างอดีตผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีในฝรั่งเศสต้องการจะบอกให้โลกรู้ว่าฮันรยูบุกยุโรปแล้ว เลยคิดจัดคอนเสิร์ตของค่าย SM Entertainment ในฝรั่งเศส ปรากฏว่าบัตรขายหมดในเวลาแค่ 15 นาที เขาจึงอยากเพิ่มรอบ แต่ไม่เพิ่มเปล่าต้องได้พื้นที่สื่อด้วย ก็เลยติดต่อ Korean Connection องค์กรของชาวฝรั่งเศสที่ชื่นชอบวัฒนธรรมเกาหลีตั้งม็อบย่อมๆ ร้องเพลงและเต้นในสไตล์ K-Pop เพื่อให้สื่อได้เผยแพร่ภาพนี้ออกไป 

 

The Birth of Korean Cool

 

ส่วนในวันที่ศิลปินมาถึงก็มีคนนับพันไปรอรับที่สนามบิน เรื่องนี้ทำให้สื่อชื่อดังของฝรั่งเศสยังต้องนำไปลงข่าวพาดหัวว่า “กระแสเกาหลีพิชิตยุโรปได้แล้ว”

ขณะที่ปัจจุบันกระทรวงวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ก็ไม่ได้หมกมุ่นอยู่กับเรื่องสูตรหมักกิมจิที่ถูกต้อง หรือการสมชุดฮันบกให้ถูกหลักประเพณีนิยม แต่กำลังวิจัยและพัฒนาโฮโลแกรมเพื่อให้ศิลปิน K-Pop สามารถแสดงคอนเสิร์ตได้ทั่วโลก แม้จะไม่ได้ไปอยู่ในที่นั้นๆ เลยก็ตาม เหล่านี้คือตัวอย่างของการร่วมมือและความล้ำสมัยที่ผลักดันกระแสวัฒนธรรมป๊อปเกาหลีให้ประสบความสำเร็จ

 

เมื่อย้อนกลับมาดูเมืองไทย ผู้เขียนดีใจที่ระยะหลังมีการเคลื่อนไหวอยากพัฒนา Soft Power ไทยให้ส่งออกได้บ้าง เพียงแต่ตอนนี้ยังขาดวิสัยทัศน์และความเข้าใจ ว่าการส่งออกวัฒนธรรมอาจไม่ใช่การบอกออกไปทื่อๆ ยัดเยียดให้เขาเห็นดีเห็นงามกับสิ่งที่เรามี แต่สอดแทรกเข้าไปในเนื้อหาอย่างกลมกลืนและกลมกล่อม รวมทั้งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนด้วย และบทความนี้ไม่ได้เกิดจากการเทิดทูนวัฒนธรรมเกาหลี แต่เกิดจากความเชื่อว่าคนไทยมีศักยภาพมากพอจะทำได้ อีกทั้งเมื่อดูที่จุดเริ่มต้นของเกาหลีใต้ก็ไม่ต่างจากสภาพสังคมของเมืองไทยสักเท่าไร ก็ได้แต่หวังว่าในไม่ช้าเราจะหาเส้นทางของเราเจอ และจะก้าวไปด้วยกัน   

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising