ก่อนอื่นต้องปรบมือให้ความกล้าหาญของทีมผู้สร้างซีรีส์เรื่อง สาธุ ทาง Netflix ที่นำเรื่องพุทธแบบไทยออกมาตีแผ่ให้เห็นจนเกือบ 360 องศา ที่น่าแปลกใจคือสตรีมออกมาได้ถึง 3-4 วัน โดย (ยัง) ไม่มีเหล่ากำแพงบุญออกมาโวยวายใดๆ เลย ซึ่งหากดูในรายละเอียดซีรีส์เรื่องนี้ เหมือนเอาเรื่องจริงที่เราได้เห็นในข่าวอยู่ทุกวันมาเรียงร้อยเข้าด้วยกันให้กลมกล่อมไปกับสถานการณ์ที่เหล่าวัยรุ่นสร้างตัวต้องเจอเมื่อริเข้าสู่วงการพุทธพาณิชย์
นับตั้งแต่ทีเซอร์เรื่อง สาธุ ออกมา หลายคนก็คงคาดเดาว่านี่คือเรื่องราวของเหล่า ‘เด็กเปรต’ หาช่องทางรวยผ่านพุทธศาสนา ทว่าเมื่อดูเนื้อหาเต็มๆ เหล่าเพื่อนซี้ทั้งสาม ประกอบด้วย วิน (เจมส์-ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ), เดียร์ (แอลลี่-อชิรญา นิติพน) และ เกม (พีช-พชร จิราธิวัฒน์) ไม่ใช่แก๊งต้มตุ๋น แต่เป็นไกด์ที่พาคนดูเข้าไปเห็นกลไกทางธุรกิจที่ใช้ความเชื่อเป็นตัวขับเคลื่อน
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- เจมส์ ธีรดนย์, พีช พชร และ แอลลี่ อชิรญา ฟอร์มทีมทำธุรกิจในซีรีส์ท้าทายความเชื่อ สาธุ
- สาธุ (2567) ซีรีส์กะเทาะวงการผ้าเหลืองว่าด้วยคนรุ่นใหม่ที่ค้นพบวิธีปั๊มเงินจากศรัทธาและความงมงายของผู้คน
เมื่อธุรกิจเกมของทั้งสามคนมีปัญหา ทำให้ ‘วิน’ มองเห็นหนทางใช้หนี้ด้วยการเข้าไปรีแบรนดิ้งวัดภุมรามผ่านทางน้าแต๋ง (ติ๊ก-ชาญณรงค์ ขันทีท้าว) มัคนายกที่หากินกับวัดอยู่ก่อนแล้ว แต่พวกเขาก้าวไปอีกขั้นด้วยการเอาหลักการทำ Business Model เข้าไปใส่ ประเด็นก็คือเมื่อใช้ศัพท์แสงธุรกิจสมัยใหม่เข้าไปใส่องค์ประกอบต่างๆ ในวัด ก็ไม่ต่างจากองค์กรที่สามารถทำกำไรได้จริง ขึ้นอยู่กับคนจะกล้ามองวัดเป็นองค์กรธุรกิจหรือเปล่า
แต่ถึงอย่างนั้นก็เหมือนธุรกิจอื่นทั่วไปที่ไม่ได้ประสบความสำเร็จตั้งแต่เริ่มต้น คนดูจึงได้เห็นสารพัดกลยุทธ์ที่ทำให้วัดเล็กๆ กลายเป็นวัดดัง ซึ่งก็เป็นโมเดลที่เราได้เห็นในแทบทุกวัดของเมืองไทย อย่างที่วินบอกไว้ว่า “วัดมีกิจกรรมเยอะไปหมด ครอบคลุมตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ ตาย” กลายเป็นที่มาให้เกิดกิจกรรมต่างๆ เช่น การทำตลาดนัด การประกวดร้องเพลง หรือการสร้างวัตถุมงคล ฯลฯ แต่ไม่เคยตั้งคำถามว่าสิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาตรงไหน อย่างไรก็ตาม ซีรีส์ก็สามารถหาเหตุผลมาหักล้างจนกลายเป็นเส้นบางๆ ทับซ้อนกันระหว่างความดี ความเลว ความเหมาะสม ความไม่เหมาะสมได้ตลอดทั้งเรื่อง
ปัญหาและอุปสรรคยังนำพาตัวละครหลากสีสันเข้ามาในเรื่อง และช่วยถ่วงน้ำหนักให้เส้นบางที่ว่าดูสลับซับซ้อนเข้าไปอีก เช่น เมื่อซีรีส์เหมือนพาเข้าสู่กลโกง ผลประโยชน์ และด้านมืดของศาสนา ก็พาให้คนดูได้ไปพบกับพระดล (ปั๊ป-พัฒน์ชัย ภักดีสู่สุข) พระป่าที่เหมือนจะเข้าใจในแก่นแท้ของพุทธศาสนา ซึ่งต้องยอมรับว่าฉากเปิดตัวเหมือนเอาน้ำเย็นๆ มารดที่หัวคนดูด้วยพระธรรมคำสอน จนคิดได้ว่าศาสนาไม่เคยเสื่อม แต่คนต่างหากที่เสื่อม หรือพระเอกชัย (เพชร-เผ่าเพชร เจริญสุข) พระนักจัดการที่ทำให้ทั้งตัวละครทั้งสามรวมทั้งคนดูหวาดระแวงได้ตลอดเวลา
สิ่งหนึ่งที่ชอบมากๆ ของสาธุ คือการเฉลี่ยน้ำหนักให้ทุกตัวละครมีมิติและขับเคลื่อนเนื้อหาไปพร้อมๆ กัน ทั้งวินที่หันหลังให้กับศาสนา เพราะเห็นแม่ทุ่มเทให้ศาสนาแต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไร จนทำให้เขามองศาสนาเป็นแค่เกมธุรกิจหรือเกมที่ยอมทำทุกอย่างเพื่อความสำเร็จเพื่อลบปมในใจที่เกิดจากครอบครัว และเดียร์ เด็กสาวผู้เปลี่ยวเหงา ขาดความอบอุ่นจากพ่อ จนเคยชินที่จะเรียกร้องความรักจากคนเย็นชา ขณะเดียวกันก็ดึงดูดผู้ชายอบอุ่นให้รู้สึกอยากดูแลปกป้อง
ส่วนตัวละครที่สามารถสื่อสารความเป็นพุทธศาสนาได้อย่างดีก็คือพระดล ที่สะท้อนให้เห็นว่าพระก็คือคนธรรมดาคนหนึ่งที่เข้าหาพระพุทธศาสนา มีหน้าที่ศึกษาธรรมะและเผยแพร่พระธรรมคำสอน ในมุมหนึ่งพระก็คือ ‘นักศึกษา’ ไม่ใช่คนที่ห่มผ้าเหลืองแล้วกลายเป็นผู้วิเศษรู้แจ้งเห็นธรรม จึงยังต้องเอาชนะกิเลสตัณหาอยู่ดี อย่างในเรื่องเรียกได้ว่าพระดลเจนจัดในทางธรรม แต่กับทางโลกแล้วก็เป็นแค่ผู้ใหญ่ไร้เดียงสา และมองโลกสวยงามจนถูกทิ้งกลางทางกลายเป็นคนดีไม่มีที่อยู่
อีกประเด็นที่น่าสนใจของตัวละครนี้คือการชี้ให้เห็นว่าบางครั้งศาสนาก็เป็นทางรอดของคนไม่มีที่ไป แบบที่พระดลต้องบวชตั้งแต่เด็กเพราะครอบครัวยากจน และอยู่กับพุทธศาสนา คิดว่านี่คือตัวตน จนมีบางอย่างมาสั่นคลอนความเชื่อนั้น
สิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างเซอร์ไพรส์คือฝีมือการแสดงของปั๊บ โปเตโต้ ที่ทำให้ตัวละครพระดลมีชีวิตขึ้นมาได้ ถ่ายทอดออกมาทั้งสีหน้า แววตา น้ำเสียง และท่าทาง ทั้งที่อ่อนพรรษาด้านการแสดงกว่านักแสดงส่วนใหญ่ในเรื่อง ขณะที่สามนักแสดงหลักก็จัดว่าทำได้ดี ทั้งพีชที่จะเรียกว่าเป็นบทใกล้ตัวก็ไม่เชิง โดยที่ออกแบบคาแรกเตอร์ของเกมตามแบบฉบับลูกคนรวยที่ดูซีเรียสเรื่องเงินน้อยกว่าคนอื่นๆ ส่วนแอลลี่สอบผ่านฉลุย จนทำให้เราลืมคาแรกเตอร์นอกจอของเธอไปได้เลย ในขณะที่เจมส์ เราสัมผัสได้ถึงความตั้งใจ ซึ่งในบางจังหวะมันดูมากไปจนล้นๆ บอกไม่ถูก
ความดีงามอีกอย่างคือการสอดแทรกคาแรกเตอร์พระหลากรูปแบบที่ได้เห็นในข่าวปัจจุบัน ทั้งพระ LGBTQIA+ พระในโลกโซเชียล และพระกับยาเสพติด ให้เข้าไปอยู่ในเรื่อง แถมยังเนียนเป็นเนื้อเดียวกันโดยไม่รู้สึกถูกยัดเยียด เหมือนๆ กับดนตรีประกอบที่มาแบบถูกที่ถูกเวลา อีกส่วนที่ชอบมากคือการวกกลับว่าสิ่งที่ปรุงแต่งเป็นแค่เปลือก ก็ไม่ได้จีรังยั่งยืน อย่างเช่นฉากตลาดนัด และกิจกรรมของวัดไร้ผู้คน เมื่อความเป็น ‘พระ’ ไม่ใช่ ‘พระ’ อีกต่อไป
ถ้าไม่นับความล้ำเส้นบางอย่างของกลุ่มกัลยาณมิจ ก็เรียกว่าสิ่งที่สามคนนี้ทำไม่ได้ต่างกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จนเกิดอาการ ‘ว่าไม่ได้’ หากใครคิดว่าซีรีส์เรื่องนี้ทำลายศาสนา บ่อยครั้งที่เรามักคิดว่าต้องสร้างกุศโลบายให้คนเข้าถึงศาสนา ขณะเดียวกันกุศโลบายก็เป็นช่องทางให้คนมาเอาผลประโยชน์จากศาสนาได้เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม วงล้อแห่งกรรมก็ทำหน้าที่ของมัน ซึ่งก็จะได้เห็นบทสรุปในช่วงท้ายของเรื่อง
สาธุถือเป็นซีรีส์ที่ดีและดูสนุก มีประเด็นท้าทายศีลธรรมให้คนดูฉุกคิดตลอดทั้งเรื่อง เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่าคนทำซีรีส์ไทย ถ้าตั้งใจทุกอย่างก็ออกมาดี และหวังว่าจะได้เห็นคุณภาพแบบนี้ต่อไปในซีซัน 2