การเลือกตั้งในวันที่ 5 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ นอกจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีแล้ว ชาวอเมริกันยังจะต้องออกไปใช้สิทธิเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาด้วย ซึ่งก็ถือว่ามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าตำแหน่งประธานาธิบดีในการกำหนดทิศทางและนโยบายของประเทศ
บทความนี้จะพาไปสำรวจสนามเลือกตั้ง สส. ซึ่งนอกจากจะเป็น 1 ใน 3 สถาบันสำหรับการผ่านร่างกฎหมายแล้ว ยังมีอำนาจในการผ่านงบประมาณแผ่นดินร่วมกับประธานาธิบดีอีกด้วย
โครงสร้างของ สส.
สหรัฐอเมริกาประกอบด้วย สส. ทั้งหมด 435 คน โดยแต่ละรัฐจะมีที่นั่งในสภาไม่เท่ากัน รัฐที่มีประชากรมากก็จะมีเก้าอี้ สส. จำนวนมาก (เช่น แคลิฟอร์เนียมีถึง 52 ที่นั่ง) รัฐที่มีประชากรน้อยก็จะมีเก้าอี้ สส. น้อย (เช่น อะแลสกาและเดลาแวร์ มี สส. แค่ 1 ที่นั่ง)
การจัดการเลือกตั้งเป็นไปในลักษณะเขตเดียวเบอร์เดียว และไม่มี สส. แบบบัญชีรายชื่อ การโหวตในสภาใช้เสียงเพียงกึ่งหนึ่ง (218 เสียง) เพื่อผ่านร่างกฎหมายและร่างงบประมาณ
ภูมิทัศน์ทางการเมืองของสภาล่าง
ตั้งแต่ยุค 90 เป็นต้นมา พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในสภาล่างมาเกือบตลอด ยกเว้นแค่ปี 2008-2012 ที่คะแนนนิยมของพรรครีพับลิกันถดถอยไปอย่างมากจากวิกฤตซับไพรม์ (หรือที่รู้จักในชื่อวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์) โดยที่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่โทษว่าวิกฤตในครั้งนั้นเกิดจากการบริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาดของรัฐบาลภายใต้การนำของ จอร์จ บุช ผู้ลูก ประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน ซึ่งสาเหตุที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากมาได้เกือบตลอด ทั้งๆ ที่ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาพวกเขาผลัดกันแพ้-ชนะกับพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งประธานาธิบดี เป็นเพราะโครงสร้างของเขตการเลือกตั้ง สส. นั้นเอื้อประโยชน์ให้กับพวกเขานั่นเอง
ความได้เปรียบของพรรครีพับลิกันเกิดจากธรรมชาติที่แตกต่างของฐานเสียงของ 2 พรรค กล่าวคือ ฐานเสียงของพรรคเดโมแครตคือคนผิวสี (ที่มองว่าพรรคเดโมแครตร่วมต่อสู้กับพวกเขามาตลอดในการเรียกร้องสิทธิพลเมืองให้กับชาวผิวสี และชอบนโยบายรัฐสวัสดิการที่เอื้ออำนวยต่อชาวอเมริกันที่มีรายได้น้อย) กับคนผิวขาวที่มีแนวคิดทางสังคมแบบเสรีนิยม ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มมักจะอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ และทำให้พรรคเดโมแครตชนะการเลือกตั้ง สส. ในเขตเมืองใหญ่อย่างถล่มทลาย (เช่น ได้เสียงโหวตถึง 70-80% ในเขตเมืองบางเขต)
ในขณะที่ฐานเสียงของพรรครีพับลิกันคือคนผิวขาวในชนบท โดยเฉพาะคนผิวขาวเคร่งศาสนาที่ชื่นชอบนโยบายทางสังคมของพรรครีพับลิกัน (เช่น การต่อต้านการทำแท้ง, การต่อต้านการสมรสของคนเพศเดียวกัน และการจำกัดสิทธิของคนข้ามเพศ) และคนผิวขาวในย่านชานเมืองที่มีฐานะดีที่มักนิยมชมชอบนโยบายภาษีต่ำ (ผ่านการตัดงบประมาณโครงการรัฐสวัสดิการ) ทำให้ผู้สมัครของพรรครีพับลิกันมักจะชนะในเขตชนบทและเขตชานเมือง ซึ่งมีจำนวนเก้าอี้มากกว่า (พูดง่ายๆ ว่า การกระจายตัวของฐานเสียงของพรรครีพับลิกันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าทั้งในเขตรอบเมืองและชนบท ในขณะที่ฐานเสียงของพรรคเดโมแครตกระจุกตัวกันอยู่ในเมืองไม่กี่เขต)
การมาถึงของ โดนัลด์ ทรัมป์
อย่างไรก็ดี ภายหลังจากการเลือกตั้งในปี 2016 ที่ โดนัลด์ ทรัมป์ พลิกล็อกเอาชนะ ฮิลลารี คลินตัน จนได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 ภูมิทัศน์ทางการเมืองของสภาล่างก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เมื่อพรรคเดโมแครตกลับมาครองเสียงส่วนมากในสภาล่างได้เป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งกลางเทอมในปี 2018 และยังรักษาเสียงข้างมากไว้ได้อีกครั้งในปี 2020 ซึ่งสาเหตุหลักที่พรรคเดโมแครตกลับมาครองที่นั่งส่วนใหญ่ได้ เป็นเพราะพวกเขาเอาชนะพรรครีพับลิกันได้ในหลายๆ เขตในย่านชานเมืองที่พรรครีพับลิกันเป็นเจ้าของเก้าอี้มาอย่างยาวนาน อย่างเช่นที่มินนิโซตา เขต 2 และ 3 ซึ่งเป็นย่านชานเมืองของเมืองเซนต์พอล-มินนิแอโปลิส, เวอร์จิเนีย เขต 7 และ 10 ซึ่งเป็นย่านชานเมืองของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี., โคโลราโด เขต 6 ซึ่งเป็นย่านชานเมืองของเมืองเดนเวอร์
สาเหตุที่พรรคเดโมแครตพลิกกลับเอามาชนะที่ย่านชานเมืองได้เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 3 ทศวรรษ เป็นเพราะปัญหาเรื่องคาแรกเตอร์ของทรัมป์ ที่เขามักให้สัมภาษณ์หรือทวีตในทำนองพูดจาโอ้อวด หรือบางครั้งก็ถึงขั้นเป็นการโกหก ชอบพูดจาดูถูกคนผิวดำและคนเชื้อสายฮิสแปนิก และมีปัญหาในเรื่องชู้สาว/สัมพันธ์นอกสมรส (คดีปลอมแปลงเอกสารที่ทรัมป์เพิ่งถูกตัดสินว่ามีความผิดก็มาจากการที่เขาพยายามปกปิดความสัมพันธ์นอกสมรสกับ สตอร์มี แดเนียลส์ ดาราหนังผู้ใหญ่) ซึ่งปัญหาด้านคาแรกเตอร์ของเขาอาจไม่มีผลอะไรมากกับฐานเสียงคนผิวขาวชนชั้นแรงงานในย่านชนบท แต่เป็นประเด็นที่ฐานเสียงของพรรครีพับลิกันในย่านชานเมืองไม่พอใจอย่างมาก เพราะคนกลุ่มนี้มักจะมีการศึกษาในระดับปริญญา และยังให้คุณค่ากับความเป็นสุภาพบุรุษและความสง่างามของประธานาธิบดี ทำให้พวกเขาเปลี่ยนใจหันมาเทคะแนนให้พรรคเดโมแครตแทน ถึงแม้ว่าอาจยังชอบนโยบายของพรรครีพับลิกันมากกว่า
จะเกิดอะไรขึ้นในปี 2024
พรรครีพับลิกันกลับมาครองที่นั่งข้างมากอย่างฉิวเฉียดในการเลือกตั้งกลางเทอมในปี 2022 อันเป็นผลมาจากการที่คะแนนนิยมของ โจ ไบเดน และพรรคเดโมแครต ตกต่ำลงจากปัญหาเงินเฟ้อและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้พวกเขาสามารถพลิกกลับมาชนะแชมป์เก่าจากพรรคเดโมแครตในเขตชนบทหลายเขตที่ สส. เก่าจากพรรคเดโมแครตมีคะแนนนิยมส่วนตัวสูง เช่น แอริโซนา เขต 2 และ 6, วิสคอนซิน เขต 13 และไอโอวา เขต 3 รวมถึงเขตชานเมืองบางเขต เช่น เวอร์จิเนีย เขต 2 และนิวยอร์ก เขต 3 และ 4
อย่างไรก็ตาม พวกเขาเอาชนะพรรคเดโมแครตอย่างฉิวเฉียดเท่านั้น โดยที่ตอนนี้พรรครีพับลิกันมีที่นั่งอยู่ทั้งสิ้น 221 ที่นั่ง และพรรคเดโมแครตมีอยู่ที่ 214 ที่นั่ง ซึ่งนั่นก็แปลว่าหากพรรคเดโมแครตล้ม สส. เก่าจากพรรครีพับลิกันได้เพียง 4 เขต พวกเขาก็จะกลับมาครองเสียงข้างมากแล้ว
เส้นทางที่ดูจะง่ายที่สุดสำหรับพรรคเดโมแครตคือการแย่งชิงที่นั่งในเขตชานเมืองที่ยังอยู่ในมือของพรรครีพับลิกันอย่างนิวยอร์ก เขต 4 และ 17 (ชานเมืองของมหานครนิวยอร์ก), เนแบรสกา เขต 2 (เมืองโอมาฮาและชานเมือง), ออริกอน เขต 5 (ชานเมืองพอร์ตแลนด์) เป็นต้น ซึ่งพรรคเดโมแครตก็มีความหวังว่าพวกเขาจะทำได้ เพราะการเลือกตั้งในรอบนี้เป็นการเลือกตั้งพร้อมการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งก็อาจทำให้คะแนนนิยมที่ตกต่ำของทรัมป์กับชาวอเมริกันในเขตชานเมือง ทำให้ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันพ่ายแพ้ไปกับเขาด้วย แต่ในทางตรงข้าม ด้วยคะแนนนิยมของทรัมป์ที่สูงมากในเขตชนบท การเลือกตั้งในครั้งนี้ก็อาจทำให้แชมป์เก่าของพรรคเดโมแครตในเขตชนบทที่ยังหลงเหลือ เช่น อะแลสกา เขต 1, เมน เขต 2 และวอชิงตัน เขต 5 สูญพันธุ์ไปก็ได้
เมื่อหักลบกลบหนี้กันแล้ว เรายังคงไม่สามารถมั่นใจได้ว่าพรรคเดโมแครตจะได้ที่นั่งเพิ่มอย่างน้อย 4 เขตหรือไม่ และนักวิเคราะห์ทางการเมืองส่วนใหญ่ยังมองว่าผลการเลือกตั้งในสภาล่างยังออกได้ทั้งสองหน้า ไม่มีใครได้เปรียบเหนือใครอย่างชัดเจน
ภาพ: Mandel Ngan / AFP