ค่า เงินบาท วันนี้ (11 ตุลาคม) เปิดตลาดทยอยปรับตัวลดลงและกลับมาอ่อนค่าทะลุระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์อีกครั้ง ตามแนวโน้มการแข็งค่าของเงินดอลลาร์หลังตลาดการเงินยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางปัจจัยกดดัน เช่น ความกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่เพิ่มสูงขึ้นก่อนตลาดรับรู้รายงานเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้, ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนักจนเข้าสู่ภาวะถดถอย รวมถึงสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และมาตรการจำกัดการเติบโตอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของจีนโดยสหรัฐฯ ทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างเดินหน้าเทขายสินทรัพย์เสี่ยง โดยล่าสุดเมื่อเวลา 09.00 น. ค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 38.07 บาทต่อดอลลาร์
พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เงินดอลลาร์ในวันนี้ยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 113 จุด ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินที่ยังหนุนความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย รวมถึงแรงหนุนจากแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ Fed
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์เป็นที่เรียบร้อย ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 16 ปี
- วิเคราะห์ 5 สัญญาณ บ่งชี้ เงินเฟ้อ โลกใกล้ถึงจุดพีค
- 10 อันดับ สกุลเงินเอเชีย ที่อ่อนค่าสูงสุดนับจากต้นปี 2565
อย่างไรก็ดี แม้ว่าตลาดจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ทว่าการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ในจังหวะที่ตลาดกังวลการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนธันวาคม) ปรับตัวลงต่อเนื่องสู่ใกล้โซนแนวรับแถว 1,670 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งคาดว่าการย่อตัวลงของราคาทองคำดังกล่าวทำให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้ามาซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว และโฟลวธุรกรรมดังกล่าวก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง
สำหรับวันนี้ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโดย IMF หรือ World Economic Outlook (WEO) ซึ่งคาดว่า IMF อาจปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจลงมากขึ้น และอาจชี้ว่าเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจฝั่งประเทศพัฒนาแล้ว อาจเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) จากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางและแรงกดดันต่อค่าครองชีพในภาวะเงินเฟ้อสูง ซึ่งมุมมองเชิงลบดังกล่าวของ IMF อาจกดดันบรรยากาศการลงทุนในตลาดการเงินได้ (Recession Fears) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ Fed เพื่อประเมินมุมมองของ Fed ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และโอกาสที่ Fed จะเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง
“จากปัจจัยข้างต้นจึงประเมินว่าโมเมนตัมเงินบาทกลับมาอยู่ในทิศทางอ่อนค่ามากขึ้นอีกครั้ง และมีโอกาสที่เงินบาทกลับไปอ่อนค่าใกล้ระดับ 38.50 บาทต่อดอลลาร์อีกครั้งได้ไม่ยาก หากตลาดยังปิดรับความเสี่ยง และเงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่าขึ้น” พูนกล่าว
นอกจากนี้ ปัจจัยที่กลับมากดดันเงินบาทนอกเหนือจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ คือ ฟันด์โฟลวนักลงทุนต่างชาติที่ยังคงเป็นฝั่งขายสุทธิสินทรัพย์ไทย ทำให้โอกาสที่เงินบาทจะกลับมาแข็งค่าได้ในช่วงระยะสั้นนี้เป็นสิ่งที่ยากพอสมควร ทว่าแนวโน้มการย่อตัวลงของราคาทองคำ หากไม่ปรับตัวลดลงรุนแรงต่อและหลุดโซนแนวรับ ก็มีโอกาสที่ราคาทองคำอาจย่อตัวลงชั่วคราว ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้น หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มทยอยมาซื้อทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยบ้าง เพื่อรับมือความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย ทำให้หากราคาทองคำกลับมารีบาวด์ขึ้นชัดเจนก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้ (Correlation ระหว่างเงินบาทกับราคาทองคำสูงถึง 78%)