×

อาเซียนกับโมเดลความร่วมมือสู่สันติภาพที่โลกควรเรียนรู้

25.06.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • หากเราย้อนกลับไปมองช่วงเวลาที่อาเซียนเริ่มก่อตั้งในปี 1967 ตอนนั้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเป็นภูมิภาคที่เต็มไปด้วยปัญหา ทั้งความตึงเครียดทางชาติพันธุ์และสงครามความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนาน แต่ปรากฏว่าอีกกว่า 50 ปีให้หลัง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับพลิกฟื้นกลายเป็นภูมิภาคที่มีพลวัตและประสบความสำเร็จมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก 
  • ความก้าวหน้าและการพัฒนาอันประสบความสำเร็จของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงกว่า 50 ปีที่ผ่านมาควรถูกพิจารณาให้เป็นต้นแบบและเป็นแรงบันดาลใจให้ภูมิภาคอื่นๆ
  • ศาสตราจารย์กิชอร์ มาห์บูบานี ผู้เขียนหนังสือ The ASEAN Miracle: A Catalyst for Peace เรียกร้องให้สังคมโลกเล็งเห็นและยอมรับความมหัศจรรย์ของอาเซียน ถึงขนาดชี้ชวนว่าสหประชาชาติควรพิจารณามอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพให้อาเซียนเหมือนกับที่สหประชาชาติเคยมอบให้สหภาพยุโรปเมื่อปี 2012

3 สิงหาคม ปี 2018 สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเปิดตัวหนังสือแปลเรื่อง The ASEAN Miracle: A Catalyst for Peace หรือ มหัศจรรย์อาเซียนผู้สร้างสรรค์สันติภาพ  

 

ต้นฉบับของหนังสือเล่มนี้เขียนเป็นภาษาอังกฤษ โดยศาสตราจารย์กิชอร์ มาห์บูบานี (Kishore Mahbubani) แห่งสถาบันนโยบายสาธารณะลี กวน ยู (Lee Kuan Yew School of Public Policy) มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดย ผศ.ดร.ธีระ นุชเปี่ยม และประพิน นุชเปี่ยม 

 

เนื้อหาสาระที่สำคัญของหนังสือเล่มนี้ (จากคำอธิบายของมาห์บูบานีที่มาร่วมบรรยายในงานวันนั้น) คือความมหัศจรรย์ของอาเซียนที่ประสบความสำเร็จในการสร้างสันติภาพขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ตัวชี้วัดของความสำเร็จในการสร้างสันติภาพคือ หากเราย้อนกลับไปมองช่วงเวลาที่อาเซียนเริ่มก่อตั้งในปี 1967 ตอนนั้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเป็นภูมิภาคที่เต็มไปด้วยปัญหา ทั้งความตึงเครียดทางชาติพันธุ์และสงครามความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนาน สร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อผู้คนและสังคมของแต่ละประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซ้ำร้ายคือปัญหาคอร์รัปชันและความยากจนข้นแค้นที่แพร่กระจายออกไปถ้วนทั่ว ขณะที่สงครามเวียดนามก็ได้ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างของ 3 ประเทศอินโดจีน

 

แต่ปรากฏว่าอีกกว่า 50 ปีให้หลัง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับพลิกฟื้นกลายเป็นภูมิภาคที่มีพลวัตและประสบความสำเร็จมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เป็นไปได้อย่างไร

 

ปัจจัยหลักส่วนหนึ่งคงปฏิเสธได้ยากว่าเกิดจากการตั้งองค์กรระดับภูมิภาคที่ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ (Association of Southeast Asian Nations) หรืออาเซียน

 

ข้อเสนอของ กิชอร์ มาห์บูบานี ในหนังสือดังกล่าวเป็นเรื่องน่าสนใจ 

 

เขาบอกว่าความก้าวหน้าและการพัฒนาอันประสบความสำเร็จของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงกว่า 50 ปีที่ผ่านมาควรถูกพิจารณาให้เป็นต้นแบบและเป็นแรงบันดาลใจให้ภูมิภาคอื่นๆ (ที่ยังวุ่นวายอยู่กับปัญหาความรุนแรงหรือความขัดแย้ง) ให้เดินตามรอยอาเซียน

 

ไม่เฉพาะแค่นั้น กิชอร์ มาห์บูบานี ยังเรียกร้องให้สังคมโลกเล็งเห็นและยอมรับความมหัศจรรย์ของอาเซียน ถึงขนาดชี้ชวนว่าสหประชาชาติควรพิจารณามอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพให้อาเซียนเหมือนกับที่สหประชาชาติเคยมอบให้สหภาพยุโรปเมื่อปี 2012

 

สงครามความขัดแย้ง: เปรียบเทียบระหว่างอาเซียนกับตะวันออกกลางและโลกมุสลิม

ศาสตราจารย์กิชอร์ มาห์บูบานี ชวนให้ลองจินตนาการว่าหากตะวันออกกลางกำลังเป็นภูมิภาคที่สงบสันติ ไร้ซึ่งสงครามและความรุนแรง อิสราเอลกับปาเลสไตน์สามารถบรรลุข้อตกลงที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติในดินแดนที่ทั้งสองฝ่ายแย่งชิงขัดแย้งกันมาเป็นเวลามากกว่า 60 ปี แต่ให้จินตนาการอย่างไรก็ไม่เห็นทางที่เรื่องนี้จะเกิดเป็นความจริงขึ้นมา 

 

ทว่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นได้ 

 

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือความขัดแย้งดุเดือดระหว่างมาเลเซียกับสิงคโปร์ที่ครั้งหนึ่งแตกแยกออกจากกันในปี 1965 แต่ก็กลับมาคืนดีกันได้ จนทำให้สองชาติสามารถดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติจนมาถึงปัจจุบัน

 

ลองจินตนาการถึงอียิปต์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในตะวันออกกลางว่ากำลังเป็นดินแดนที่มีเสถียรภาพ ประชาธิปไตยกำลังเบ่งบาน แต่ยิ่งนึกถึงภาพที่ว่านี้ มันก็ยิ่งไม่เห็นภาพที่จะเกิดขึ้นเป็นจริงได้ในช่วงเวลาอันใกล้ 

 

แต่สิ่งเดียวกันนี้เกิดขึ้นในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก (มากกว่าอียิปต์ 2-3 เท่าตัว) เพราะอินโดนีเซียปัจจุบันได้ชื่อว่าเป็น ‘แสงประทีปแห่งประชาธิปไตย’ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

อันที่จริงอียิปต์กับอินโดนีเซียมีอะไรอีกหลายอย่างคล้ายกัน เช่น ทั้งสองประเทศต่างผ่านประสบการณ์ขมขื่นจากปัญหาการคอร์รัปชันที่แพร่หลายอยู่ในสังคมอย่างยากที่จะแก้ไข ทั้งสองประเทศต้องเผชิญกับการปกครองแบบเผด็จการอำนาจนิยมภายใต้ระบอบรัฐทหาร อินโดนีเซียมีระบอบซูฮาโตที่ปกครองประเทศยาวนานจากปี 1967-1998 ส่วนอียิปต์ก็มี ฮุสนี มูบารัค ที่อยู่ในอำนาจยาวนานเช่นกันจากปี 1981 และเพิ่งจะถูกโค่นล้มลงไปหลังอาหรับสปริงเมื่อปี 2011

 

แม้จะมีอะไรหลายอย่างคล้ายกัน แต่ปัจจุบันสถานการณ์ของทั้งสองประเทศกลับแตกต่าง เพราะขณะที่อียิปต์หลังอาหรับสปริงกลับยังเป็นประเทศที่ย่ำอยู่กับที่ มีเผด็จการทหารคนใหม่เข้ามาแทนที่ ฮุสนี มูบารัค แต่อินโดนีเซียกลับกลายเป็นประเทศที่ไปได้ไกล มีเสถียรภาพ และกลายเป็นประเทศประชาธิปไตยชั้นนำของโลกมุสลิม

 

คำถามคืออะไรที่ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างสองประเทศนี้ 

 

คำตอบของศาสตราจารย์กิชอร์ มาห์บูบานี นักวิชาการจากสถาบันนโยบายสาธารณะลี กวน ยู มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ คือคำว่า ‘อาเซียน’

 

หลายคนอาจแย้งว่าตะวันออกกลางเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยสงครามและความรุนแรงมาอย่างยาวนานจนยากที่จะแก้ไขในเร็ววันได้ ไม่เหมือนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่ค่อยเกิดสงครามระหว่างรัฐ ไม่มีมหาอำนาจเข้ามายุยงส่งเสริมให้ผู้คนทะเลาะกันจนถึงขั้นจับอาวุธขึ้นมาประหัตประหาร

 

จริงอยู่ว่าสถานการณ์โลกร่วมสมัย เรามักเห็นสงครามความรุนแรงเกิดขึ้นในตะวันออกกลาง ไล่ตั้งแต่สงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งแรกในปี 1948 ต่อมาก็เกิดสงครามระหว่างคู่ขัดแย้งเดิมนี้อีก 3 ครั้งคือสงครามสุเอซ ปี 1956 สงคราม 6 วัน ปี 1967 และสงครามยมคิปปูร์ ปี 1973 ตามมาด้วยสงครามกลางเมืองเลบานอนที่ยาวนานระหว่างปี 1975-2000 สงครามอิรัก-อิหร่านที่เกิดขึ้นระหว่างปี 1980-1988 สงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรกปี 1990 สงครามอ่าวครั้งที่ 2 โค่นล้มระบอบซัดดัมในปี 2003 สงครามอิสราเอล-เลบานอน ปี 2006 สงครามกาซา ปี 2008-2009 และอีกหลายสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นหลังอาหรับสปริง ไม่ว่าจะเป็นอิรัก ซีเรีย ลิเบีย และเยเมน

 

แต่หากพิจารณาให้ดี เราก็จะพบว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ผ่านช่วงเวลาแห่งสงครามนองเลือดมาไม่แพ้ตะวันออกกลาง หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำไป 

 

ว่ากันว่านับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ลูกระเบิดที่ถูกทิ้งลงในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีจำนวนมากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ขณะเดียวกันสงครามที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็กินเวลายาวนานต่อเนื่อง และเป็นสงครามที่หนักหนาสาหัสมากกว่าที่มันเกิดขึ้นในตะวันออกกลาง

 

ตัวอย่างที่สำคัญคือสงครามเวียดนามที่ดุเดือด ซึ่งลุกลามขยายตัวเข้าไปในลาวและกัมพูชา สงครามครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อฝรั่งเศสพ่ายสงครามให้แก่ขบวนการกู้ชาติเวียดมินห์ที่ ‘เดียนเบียนฟู’ ในปี 1954 จนกระทั่งกองทัพเวียดนามเหนือและกองกำลังเวียดกงยกพลเข้ายึดกรุงไซง่อน เมืองหลวงของเวียดนามใต้ได้ในเดือนเมษายน ปี 1975 สงครามเวียดนามจึงสิ้นสุดลง

 

มหาอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้องสร้างความเสียหายให้พื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่แพ้กับตอนนี้ที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง เพราะขณะนั้นสงครามเวียดนามก็คือสงครามตัวแทนในยุคสงครามเย็น เวียดนามเหนือได้รับการสนับสนุนจากจีน สหภาพโซเวียต และพันธมิตรคอมมิวนิสต์ ส่วนรัฐบาลเวียดนามใต้ก็ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ไม่เฉพาะแค่นั้น หลังสงคราม เวียดนามยังใช้ปฏิบัติการทหารรุกเข้าไปยังกัมพูชาในเดือนธันวาคม ปี 1978 ยังผลให้เกิดการต่อสู้ยาวนานเป็นสิบปีระหว่างจีนกับเวียดนาม

 

หากจะสรุปผลโดยใช้ข้อมูลเชิงสถิติอย่างง่ายๆ เปรียบเทียบความเสียหายระหว่างสงครามความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับตะวันออกกลาง ตัวเลขคงออกมาประมาณนี้ครับว่า จำนวนผู้เสียชีวิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จากปี 1949-2008 มีอยู่ประมาณ 1.87 ล้านคนเรื่อยไปจนถึง 7.35 ล้านคน ซึ่งมากกว่าตะวันออกกลางในช่วงเวลาเดียวกัน เพราะระหว่างช่วงเวลาที่ว่านั้น ในตะวันออกกลางมีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 5.3 แสนคนถึง 2.43 ล้านคน

 

ถ้ายังจำกันได้ ในตอนที่ประธานาธิบดีโอบามาแห่งสหรัฐฯ เดินทางเยือนลาวเมื่อปี 2016 เขาได้ขึ้นปราศรัยย้อนความทรงจำว่า 

 

“สหรัฐฯ ได้ทิ้งระเบิดมากกว่า 2 ล้านตันที่ลาว มากกว่าที่สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดในเยอรมนีและญี่ปุ่นรวมกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2” 

 

ด้วยเหตุนี้ลาวจึงได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ถูกถล่มด้วยระเบิดมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ลูกระเบิดถูกทิ้งลงมาจากฟากฟ้าเหมือนสายฝนที่เทกระหน่ำลงมาสู่พื้นดิน ทำให้คนตายเป็นจำนวนมาก เกิดความเสียหายไปถ้วนทั่ว ส่งผลกระทบมาจนถึงทุกวันนี้

 

มาถึงตรงนี้ผู้เขียนจึงพอเข้าใจแล้วว่าทำไมศาสตราจารย์กิชอร์ มาห์บูบานี จึงใช้ชื่อหนังสือของเขาว่า The ASEAN Miracle เพราะมหัศจรรย์อย่างหนึ่งที่อาเซียนได้มอบให้แก่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือภาวะความสงบสันติในดินแดนที่เคยเผชิญกับการนองเลือดและความตายมาอย่างแสนสาหัส คุณูปการอย่างนี้ทำให้ กิชอร์ มาห์บูบานี เสนอว่าอาเซียนควรได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ไม่ใช่ให้เฉพาะแต่สหภาพยุโรป

 

สังคมพหุวัฒนธรรม: โมเดลที่ชาติตะวันตกควรเรียนรู้จากอาเซียน

โลกยุคหลังสงครามเย็นเป็นโลกที่เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายหลายมิติ แต่ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือการเปลี่ยนแปลงเชิงทัศนคติของตะวันตกบางส่วนที่มองว่าภัยคุกคามใหม่ที่เข้ามาแทนที่ลัทธิคอมมิวนิสต์คือศาสนาอิสลามและโลกมุสลิม 

 

ทัศนคติเช่นนี้นำไปสู่ความรู้สึกหวาดระแวงและหวาดกลัวต่อโลกมุสลิมชนิดที่หยั่งรากลงลึกเข้าไปในปริมณฑลการเมืองของสังคมตะวันตกเลยทีเดียว

 

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนล่าสุดของสหรัฐฯ ได้ใช้ประโยชน์จากความหวาดกลัวที่พัฒนาขึ้นในสังคมตะวันตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อเพิ่มคะแนนนิยมให้ตนเองด้วยการประกาศปิดประตูสหรัฐฯ ไม่ให้พวกมุสลิมเดินทางเข้ามา แม้ทรัมป์จะถูกวิจารณ์อย่างหนักที่ป่าวประกาศนโยบายอย่างนี้ออกไปตอนหาเสียง แต่สุดท้ายเขาก็เป็นฝ่ายกุมชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

 

หลังจากที่เข้ามาดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ทรัมป์ได้ทำหลายอย่างที่สอดคล้องกับตอนหาเสียงเอาไว้ (โดยเฉพาะนโยบายที่มีต่อโลกมุสลิม) แม้จะทำได้ไม่เต็มรูปแบบ แต่สิ่งที่เขาได้เริ่มดำเนินการ (ในทางจิตวิทยา) ก็ทำให้สังคมอเมริกันหวาดกลัวศาสนาอิสลามและโลกมุสลิมอย่างเป็นรูปธรรม กระแสเกลียดกลัวอิสลามพุ่งสูงขึ้นพร้อมๆ กับความแตกแยกที่เกิดขึ้นในสังคม ส่งผลให้การทำงานและความร่วมมือระหว่างกันของคนในสังคมเกิดขึ้นได้ยาก

 

เมื่อกระแสโลกเป็นไปอย่างนี้ เกิดสภาวะของการปะทะระหว่างตะวันตกกับโลกมุสลิม หลายฝ่ายก็คงมองหาวิถีทางเชิงสร้างสรรค์ที่จะทำให้โลกเกิดความหวังและความร่วมมือระหว่างกัน 

 

ตัวแบบหนึ่งที่อาจสะท้อนภาพอย่างนั้นได้คือการรวมตัวของกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะอาเซียนคือการรวมตัวของกลุ่มประเทศที่มีความหลากหลายมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่ที่สำคัญคือมันเป็นการรวมตัวสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศที่นับถือศาสนาต่างกัน

 

เอาเฉพาะกลุ่มประเทศผู้เริ่มก่อตั้งอาเซียน เราก็จะเห็นองค์ประกอบอย่างที่ว่านี้ ไทยเป็นประเทศที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ส่วนอินโดนีเซียและมาเลเซียนั้นเป็นมุสลิม ขณะที่คนส่วนใหญ่ของฟิลิปปินส์นับถือศาสนาคริสต์ ด้วยเหตุนี้การรวมตัวของอาเซียนจึงสะท้อนถึงการทำงานและความร่วมมือกันของกลุ่มคนที่มีอารยธรรมแตกต่างหลากหลาย

 

บางคนอาจแย้งว่าการกำเนิดของกลุ่มไอเอส (Islamic State of Iraq and Syria) และการที่เยาวชนมุสลิมกว่า 30,000 คนทั่วโลกเข้าร่วมขบวนการไอเอสสะท้อนให้เห็นอันตรายและภัยคุกคามที่มาจากโลกมุสลิมได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่ประเด็นก็คือตกลงเราจะให้ความสำคัญกับคนแค่ 30,000 คน หรือเราควรให้ความสำคัญกับคนมากกว่า 1,600 ล้านคนที่รักสงบและพร้อมจะร่วมทำงานกับกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลาย

 

อินโดนีเซียประเทศเดียวก็มีประชากรมุสลิมคิดเป็นกว่า 8,000 เท่าของคนที่ไปร่วมกับไอเอสทั้งหมด อีกทั้งอินโดนีเซียยังเป็นประเทศที่สงบสันติ เป็นแบบอย่างของโลกมุสลิมในการพัฒนาประเทศตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งแตกต่างจากประเทศแกนกลางของโลกมุสลิมเองที่เกิดสงครามความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นลิเบีย ซีเรีย อิรัก หรือเยเมน

 

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีมุสลิมเป็นคนส่วนใหญ่ คิดตัวเลขกันคร่าวๆ จำนวนมุสลิมมีไม่ต่ำกว่า 300 ล้านคน หากว่าคนจำนวนนี้ (ซึ่งมีจำนวนพอๆ กับประชากรมุสลิมทั้งหมดในตะวันออกกลาง) สามารถที่จะอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านที่มีความแตกต่างอย่างสงบสันติ ร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจให้ผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ดีมีสุขได้ ภูมิภาคนี้ก็น่าจะเป็น ‘ตัวแบบ’ และเป็นสัญลักษณ์ของความหวังและความร่วมมือระหว่างกัน ไม่ใช่ชะตากรรมของการปะทะเผชิญหน้าหรือการปะทะกันระหว่างอารยธรรม

 

อีกตัวอย่างหนึ่งที่เป็นปรากฏการณ์น่าสนใจคือการไหลทะลักของผู้ลี้ภัยซีเรียเข้าไปในยุโรปนับตั้งแต่ปี 2015 แต่แทนที่เหตุการณ์นี้จะทำให้ยุโรปคิดได้ว่าตนเองมีความใกล้ชิดสัมพันธ์กับโลกมุสลิมขนาดไหน แทนที่กลุ่มประเทศยุโรปจะแสวงหาความร่วมมือกับโลกมุสลิมเพื่อแก้ปัญหานี้ สิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม 

 

ความรู้สึกที่พัฒนาขึ้นในยุโรปคือความกลัวที่จะมีผู้ก่อการร้ายลักลอบปลอมตัวเข้ามากับผู้ลี้ภัย วิธีคิดแบบนี้จึงนำไปสู่มาตรการสร้างกำแพงและตรวจเข้มตลอดแนวชายแดนของยุโรป เพื่อไม่ให้ผู้อพยพที่น่าสงสารเหล่านี้เข้ามาในประเทศของตนเองได้

 

ศาสตราจารย์กิชอร์ มาห์บูบานี ผู้เขียนหนังสือเรื่อง ASEAN Miracle จึงเสนอว่าทั้งประธานาธิบดีทรัมป์และชนชั้นนำยุโรปฝ่ายขวาจัดควรจัด Intellectual Pilgrimage มายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเรียนรู้วิธีที่จะทำให้โลกมีความหวังอย่างที่อาเซียนได้วางแนวทางเอาไว้ และเรียนรู้วิธีการที่ผู้คนหลากหลายอารยธรรมสามารถอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ

 

ไม่เฉพาะเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายเท่านั้น แต่ที่สำคัญคือการร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้เจริญก้าวหน้า อาเซียนจึงเป็นตัวแบบสำคัญของการอยู่ร่วมกันในโลกพหุวัฒนธรรมครับ

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X