×

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ความหวังดี หรือ เครื่องมือสืบทอดอำนาจ?

28.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นการวางกรอบครอบคลุมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560-2579 ดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป้าหมายคือ อีก 20 ปีข้างหน้า ไทยต้องหลุดพ้นจากประเทศติดกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีย้ำว่า “เรื่องนี้ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ”
  • เสียงวิจารณ์ต่อ ‘ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี’ ดังอื้ออึงไปทั่วทั้งจากนักวิชาการ และภาคประชาชน ซึ่งสรุปโดยรวมทุกคนเห็นไปในทางเดียวกันว่า การกำหนดยุทธศาสตร์โดยคนรุ่นนี้ให้กับคนรุ่นหลังไปกว่า 20 ปีจะถูกต้องเหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงในปัจจุบันหรือไม่
  • การประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา พร้อมตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านความมั่นคง 2. ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3. ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ 4. ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 5. ด้านการสร้างความเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 6. ด้านการปรับสมดุลการพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ พร้อมกำหนดกรอบเวลาในการทำงาน

     การประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติครั้งแรกเริ่มขึ้นแล้วเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 26 ก.ย. 2560 ปรากฏเป็นข่าวเล็กๆ ในกรอบข่าวการเมืองและเศรษฐกิจ โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. นั่งหัวโต๊ะ

     “อย่าไปมองว่าตรงนี้จะเป็นเรื่องของการสืบทอดอำนาจ ผมบอกกับคณะกรรมการฯ ไปแล้วว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการสืบทอดอำนาจของผม การสืบทอดอำนาจคืออะไร ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะผมไม่เคยสืบทอดอำนาจ จึงไม่รู้ ผมโตมาในกองทัพ ก็ไม่ได้สืบทอดอำนาจจากผม ก็ตั้งคนใหม่ขึ้นมาเขาก็ทำงานไป ทำไมต้องมาสืบทอดอำนาจ เขารู้หน้าที่อยู่แล้ว รัฐบาลข้างหน้าก็ต้องรู้หน้าที่ของตัวเองว่าต้องบริหารราชการแผ่นดินอย่างไรให้มีธรรมาภิบาล ให้ประเทศมีอนาคต ที่ผ่านมาไม่มีใครรู้อนาคต และไม่มีใครบอกก่อนว่าเขาจะทำอะไร

     พล.อ. ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวตอนหนึ่งถึงการประชุมดังกล่าว และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นายกฯ ย้ำว่า ยุทธศาสตร์ชาติไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ

 

(การประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 1/2560 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล 29 กันยายน 2560)

 

ยุทธศาสตร์ชาติ กับ สืบทอดอำนาจ คสช. เกี่ยวกันอย่างไร?

     แนวคิดกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเริ่มปรากฏขึ้นตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ที่มี ‘บวรศักดิ์ อุวรรณโณ’ เป็นประธาน ก่อนที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นจะไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2558 เป็นที่มาของประโยคดังจากปาก ดร. บวรศักดิ์ “เขาอยากอยู่ยาว” สั่นสะเทือน คสช.

     สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ ที่ถูกนักวิชาการและสื่อมวลชนวิจารณ์อย่างหนักในตอนนั้น คือการกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง หรือ คปป. ซึ่งถูกวิจารณ์อย่างหนักว่านี่คือการจงใจสืบทอดอำนาจของ คสช. อย่างไม่เนียน เพราะ คปป. มีโครงสร้างจากข้าราชการและกองทัพเด่นชัดมาก แถมมีสถานะเป็นเหมือนซูเปอร์รัฐบาล หรือ รัฐซ้อนรัฐ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ให้อำนาจพิเศษไว้มากมาย ในสถานการณ์ปกติก็สามารถกำหนดแนวทางการปฏิรูปและจัดสรรงบประมาณได้ แต่หากสถานการณ์ไม่ปกติ ยังให้อำนาจช่วง 5 ปีแรกหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญว่า หากเกิดปัญหาความขัดแย้งในประเทศโดยไม่สามารถควบคุมได้ คณะกรรมการชุดนี้สามารถมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสาม เพื่อใช้มาตรการที่จำเป็นในการจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าวได้

     แต่ในที่สุด คปป. ก็ไม่เกิดขึ้น เพราะสภาปฏิรูปฯ ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ ต้องตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ โรดแมปการเลือกตั้งขยายออกไปจนล่าสุดก็ยังไม่เห็นความชัดเจนนัก

     คสช. ใช้เวลาเทียวไล้เทียวขื่ออยู่สักพักกว่าจะได้ ‘มีชัย ฤชุพันธุ์’ มารับตำแหน่งประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. โดยสื่อมวลชนอาวุโสและผู้สันทัดกรณีพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “นี่แหละของจริง”

 

จาก คปป. ถึง คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ

     การมานั่งหัวโต๊ะร่างรัฐธรรมนูญของ ‘มีชัย ฤชุพันธุ์’ มีผลอย่างมากในการทำให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์กลับมาใหม่แต่กระแสต้านลดลงอย่างมาก

     ช่วงแรกของการทำหน้าที่ประธาน กรธ. มีชัยตอบรับให้สัมภาษณ์พิเศษกับสื่อมวลชนเกือบทุกสำนักทั้งสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ อีกทั้งยังให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมอยู่เป็นประจำ ต่างจากบวรศักดิ์ที่ค่อนข้างเข้าถึงยาก

     ขณะที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติปรากฏขึ้นอีกครั้งในมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย

     ความแตกต่างจาก คปป. คือ รัฐธรรมนูญไม่ได้ลงรายละเอียดอำนาจของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติไว้ใหญ่โต เพียงแต่บอกไว้ในมาตรา 275 ว่า ให้รัฐต้องจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติตามมาตรา 65

 

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมาจากไหน?

     สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งแต่งตั้งโดย คสช. ได้เสนอให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ โดยมีเสียงวิจารณ์ว่าเนื้อหาสาระคล้ายกับสิ่งที่ สปช. เคยเสนอ

     ในที่สุด พระราชบัญญัติการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 ก็ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2560

     สำหรับโครงสร้างของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการโดยตำแหน่งส่วนใหญ่มีที่มาจากกองทัพ ภาคราชการและตัวแทนกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ขณะที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิก็มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐบาล คสช.

 

เปิดตัว 28 อรหันต์ ชี้ อนาคตอีก 20 ปี ไม่ทำตามผิดติดคุก

     ถ้าจะสรุปอย่างง่ายเพื่อความเข้าใจ คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ (ชุดใหญ่) ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย พระราชบัญญัติการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 มีโครงสร้างประกอบด้วยกรรมการ 4 กลุ่ม ได้แก่

  • กลุ่มข้าราชการการเมือง ประกอบด้วย (1) นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน (2) ประธานสภาผู้แทนราษฎร (3) ประธานวุฒิสภา และ (4) รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย
  • กลุ่มข้าราชการประจำ แต่ที่น่าสังเกตคือส่วนใหญ่เป็นฝ่ายความมั่นคง ประกอบด้วย (1) ปลัดกระทรวงกลาโหม (2) ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (3) ผู้บัญชาการทหารบก (4) ผู้บัญชาการทหารเรือ (5) ผู้บัญชาการทหารอากาศ (6) เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และ (7) ประธานกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  • ตัวแทนองค์กรด้านเศรษฐกิจ ประกอบด้วย (1) ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ (2) ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (3) ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (4) ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ (5) ประธานสมาคมธนาคารไทย
  • ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกิน 17 คน ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี

 

     ทั้งนี้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ (ชุดใหญ่) ที่แต่งตั้งโดยรัฐบาล คสช. มีทั้งสิ้น 28 คน แบ่งเป็นกลุ่มข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำ และตัวแทนองค์กรด้านเศรษฐกิจ ซึ่งคนพวกนี้จะเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 17 คน

     ขณะที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการแต่งตั้งจาก ครม. ของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จำนวน 12 คน (โควตาไม่เกิน 17 คน) ซึ่งมีเสียงวิจารณ์ว่าประกอบไปด้วยกลุ่มทุนใหญ่และคนหน้าซ้ำ อาทิ กานต์ ตระกูลฮุน ประธานกรรมการเอไอเอส  อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปูนซีเมนต์ไทย, ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ, บัณฑูร ล่ำซำ ธนาคารกสิกรไทย ส่วนคนหน้าซ้ำ อาทิ เทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตประธาน สปช., วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ, สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ และ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว. กระทรวงมหาดไทย อดีต ผบ.ทบ. รุ่นพี่ พล.อ. ประยุทธ์

     (ดู ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ)

     โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 28 ท่านนี้ เรียกง่ายๆ ว่า กรรมการชุดใหญ่ เพราะสามารถแต่งตั้งคณะกรรมการฯ จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ หรือ กรรมการชุดเล็ก ซึ่งจะมีชุดเดียวหรือหลายชุดก็ได้ เพื่อให้จัดทำให้เสร็จภายใน 120 วัน

     ซึ่งการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา พร้อมตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ (ชุดเล็ก) 6 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านความมั่นคง 2. ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3. ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ 4. ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 5. ด้านการสร้างความเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 6. ด้านการปรับสมดุลการพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ พร้อมกำหนดกรอบเวลาในการทำงาน

     ให้เวลาจัดทำร่างฯ 120 วัน จากนั้นจะส่งให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ (ชุดใหญ่) 28 อรหันต์พิจารณาเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และส่งไปให้ สนช. พิจารณา

 

เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พาไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้ว

     ตามเอกสารร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี วางกรอบครอบคลุมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560-2579 ดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป้าหมายคืออีก 20 ปีข้างหน้า หรือ พ.ศ. 2579 ไทยต้องหลุดพ้นจากประเทศติดกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว ยกระดับรายได้ต่อหัวประชากรเป็น 15,000 เหรียญสหรัฐต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 6,000 เหรียญสหรัฐต่อปี เปลี่ยนผ่านจากการใช้แรงงานราคาถูก และซื้อเทคโนโลยีไปสู่ประเทศที่ผลิตสินค้านวัตกรรม และเป็นผู้ขายเทคโนโลยีแทน

     ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี วางกรอบการดำเนินงาน 4 ระยะ ระยะละ 5 ปี ซึ่งหมายความว่าเปิดโอกาสให้มีการพิจารณาปรับปรุงแผนได้ในทุก 5 ปี

     นอกจากนี้ในร่างยุทธศาสตร์ชาติ ยังระบุปัจจัยเสี่ยงที่ไทยต้องเจอในระหว่าง 20 ปี ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงระบุแผนพัฒนาศักยภาพของประเทศในด้านต่างๆ อย่างกว้างๆ

     ขณะที่สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรีให้ข้อมูลว่า ในต่างประเทศที่พัฒนาได้สำเร็จก็มีกรอบยุทธศาสตร์ชาติเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกรอบที่มีเป้าหมายชัดเจน และวางเป้าระยะยาวไว้อยู่ที่ 10 ปี เช่น ไต้หวัน กำหนดวิสัยทัศน์ชาติ 10 ปี (2551-2561) เป้าหมายคือเพิ่มดัชนีความสุขของประเทศ และสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

     เช่นเดียวกับสิงคโปร์วางยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศ 10 ปี (2553-2563) เป้าหมายเพิ่มศักยภาพของประเทศเพื่อให้สามารถเติบโตเอาชนะดัชนีเศรษฐกิจโลกที่ค่อนข้างซบเซา

     ทั้งนี้จากงานวิจัยของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) ล่าสุดเรื่อง ‘ประเมินภาพในอนาคตของเศรษฐกิจไทยในปี 2035 หรือปี พ.ศ. 2578’ ระบุว่า หากประเทศไทยสามารถประสบความสำเร็จในการยกระดับการพัฒนาประเทศโดยสามารถยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตได้ตามที่รัฐบาลวางเป้าหมายไว้ว่าจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวเฉลี่ย 4.69% โดยมีจีดีพีภาคเกษตรขยายตัวเฉลี่ย 4.74% และจีดีพีภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเฉลี่ย 6.02%

 

เสียงวิจารณ์ ยุทธศาสตร์ชาติ ดังอื้ออึง

     วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เคยให้สัมภาษณ์ว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติชุดปัจจุบันจะติดตามหรือมอนิเตอร์ไปด้วยเป็นเวลา 5 ปีว่า ใครไม่ปฏิบัติตามจะได้ฟ้องหรือรายงานมา หากฝ่าฝืน ทำผิด หรือขัดแย้ง เรื่องจะไปถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศาลรัฐธรรมนูญ ถึงขั้นติดคุกและต้องถอดถอนกัน

     เสียงวิจารณ์ต่อ ‘ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี’ ดังอื้ออึงไปทั่วทั้งจากนักวิชาการ และภาคประชาชน ซึ่งสรุปโดยรวมทุกคนเห็นไปในทางเดียวกันว่า การกำหนดยุทธศาสตร์โดยคนรุ่นนี้ให้กับคนรุ่นหลังไปกว่า 20 ปีจะถูกต้องเหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงในปัจจุบันหรือไม่

     เสียงไถ่ถามเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ ว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นความหวังดีอย่างบริสุทธิ์ใจจากผู้ใหญ่ เป็นความฝันของคนแก่ที่อยากเห็นประเทศไทยในอนาคต หรือเป็นเพียงเครื่องมือสืบทอดอำนาจ คอยควบคุมจำกัดบทบาทของรัฐบาลในอนาคต

     พล.อ. ประยุทธ์ จึงพูดซ้ำย้ำเตือนทุกครั้งเมื่อพูดถึงยุทธศาสตร์ชาติว่า ‘ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ’ ส่วนวันเลือกตั้งที่แน่นอนมีเมื่อไร และท่านจะกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งหรือไม่ ท่านมักตอบเสียงดังว่า “ไม่รู้ !”

 

ภาพประกอบ: Karin Foxx

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X