×

ถาวรอ้าง ปิยบุตร-ธนาธร อยู่เบื้องหลังม็อบราษฎร เตรียมยกระดับความรุนแรงตามยุทธวิธีสงครามประชาชน

24.11.2020
  • LOADING...
ถาวร เสนเนียม

วันนี้ (24 พฤศจิกายน) ถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และ ส.ส. สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวอ้างถึงการเคลื่อนไหวชุมนุมของม็อบราษฎรว่าตนติดตามมาร่วม 1 ปีหรือมากกว่านั้น ยืนยันว่าม็อบมีเบื้องหลัง โดยใช้เด็กเป็นเครื่องมือนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เลี่ยงไปใช้คำว่าปฏิรูป

 

ทั้งนี้ เนื่องจากปรากฏความสอดคล้องกันระหว่างแนวความคิดของคนบงการซึ่งถูกนำไปปฏิบัติในการชุมนุม โดยหลักคิดดังกล่าวคือต้องการเปลี่ยนแปลงสถาบันฯ

 

ถาวรได้ยกกรณีที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เคยพูดที่มหาวิทยาลัยลอนดอนเรื่อง Thailand in a Deeper State of Crisis? เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2559 กล่าวหารัชกาลที่ 9 ว่ามีอำนาจอิทธิพลเหนือผู้พิพากษาอันเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง 

 

นอกจากความคิดเห็นของปิยบุตรแล้วยังมี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า ที่ร่วมกันสมคบคิด ปรากฏตามการให้สัมภาษณ์ในหนังสือ ‘Portrait ธนาธร’ พิมพ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 

 

ขณะที่ธนาธรกับปิยบุตรมาตั้งพรรคอนาคตใหม่ พุ่งเป้าสถาบันฯ แต่ลดโทนลงเพื่อลดแรงกดดันจากสังคม จนกระทั่งในที่สุดพรรคถูกยุบเพราะผู้บริหารพรรคทำผิดกฎหมาย  

 

อีกเหตุการณ์ที่เหยียบย่ำความรู้สึกของคนไทยคือเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562 เกิดแฟลชม็อบ ในช่วงบ่ายธนาธรไปพูดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่ามีสองทางเลือกในการแก้รัฐธรรมนูญคือยินยอมพร้อมใจกันทุกฝ่ายหรือแก้ด้วยเลือด และในวันนั้นมีผู้ร่วมชุมนุมชูป้ายอันมิบังควรซึ่งข้างหลังเป็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์ เป็นครั้งแรกที่แสดงการจาบจ้วงเชิงสัญลักษณ์ในที่สาธารณะอย่างเปิดเผย และมีอีกหลายครั้ง เช่น ปิยบุตรได้แสดงความคิดเห็นหรือโพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2563 “3 วันอันยิ่งใหญ่ของประชาชนในการลุกขึ้นสู้โค่นล้ม Charles X เปลี่ยนเป็นระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ (ปฏิวัติฝรั่งเศส ปี 1789)” อยากทราบว่าปิยบุตรมีวัตถุประสงค์อะไร 

 

ถวารกล่าวด้วยว่า เพียงระยะเวลา 8 เดือนเท่านั้นสามารถยกระดับการชุมนุมต่อต้านสถาบันฯ จากเชิงสัญลักษณ์และปกปิดมาเป็นการเสนอข้อเรียกร้องอย่างเปิดเผย ซึ่งธนาธรบอกว่าประตูบานแรกเปิดขึ้นแล้ว คือการยื่นข้อเสนอเพื่อปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 

 

รวมทั้งธนาธรพูดเองว่าจำเป็นต้องพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ หลังจากก่อนหน้านี้พูดอ้อมๆ มาตลอด และที่สามารถดำเนินการได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว เพราะมีการดำเนินการจัดตั้งเครือข่ายหล่อหลอมความคิดผ่านกระบวนการ Hate Speech ต่อต้านสถาบันฯ ในกลุ่มเด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ผ่านเทคโนโลยีโซเซียลมีเดียและการสนับสนุนของต่างชาติและบางประเทศมหาอำนาจอย่างมีประสิทธิภาพและรัฐบาลตามไม่ทัน โดยอ้างว่าปฏิรูปไม่ใช่การล้มล้าง แต่ในความเป็นจริงเป็นพฤติกรรมตรงกันข้าม คือสร้างความเกลียดชัง มุ่งอาฆาตมาดร้ายสถาบันฯ โดยปรากฏเป็นเหตุการณ์การบุกเข้าขัดขวางขบวนเสด็จของพระราชินีและพระองค์ทีในวันที่ 14 ตุลาคม 2563  

 

จนถึงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ม็อบไม่ได้มีการชุมนุม แต่มุ่งยกระดับโจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจหน้ารัฐสภาเพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้กำลัง ซึ่งเป็นไปตามยุทธวิธีสงครามประชาชน และได้ทำมาเป็นลำดับจากการโฆษณาชวนเชื่อ การโจมตีฝ่ายตรงข้าม การบังคับให้เลือกข้าง มาจนถึงยกระดับจากการชุมนุมประท้วงเป็นการก่อจลาจล โดยมุ่งหวังให้เกิดการก่อวินาศกรรมและสงครามกลางเมืองในที่สุด เกิดการเผชิญหน้าระหว่างผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่ายเพื่อนำไปสู่ความรุนแรง การนองเลือด ภาวะรัฐล้มเหลว ซึ่งสอดคล้องกับยุทธวิธีสงครามประชาชนที่กล่าวไปแล้วข้างต้น เห็นได้จากการลำดับเหตุการณ์ดังนี้ 

 

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ผู้ชุมนุมที่แยกราชประสงค์ได้โจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างรุนแรงและหยาบคาย โดยเฉพาะการโจมตีและสร้างข่าวเท็จใส่ร้ายสมเด็จพระพันปีหลวง จนนำไปสู่ความโกรธแค้นของประชาชนที่จงรักภักดีจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลต้องออกแถลงการณ์ประกาศบังคับใช้กฎหมายทุกหมวด ทุกมาตรากับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยเฉพาะกฎหมายมาตรา 112

  

เมื่อวันที่ 20-21 พฤศจิกายน 2563 ผู้ชุมนุมตอบโต้การบังคับใช้กฎหมาย มาตรา 112 โดยประกาศแผนการเข้าบุกล้อมเพื่อยึดสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563  

 

นอกจากนี้ผู้ก่อการเตรียมการยกระดับสถานการณ์ไปสู่ความรุนแรง โดยเปลี่ยนการ์ดม็อบจากการ์ดอาชีวะมาเป็นการ์ดรบพิเศษ พร้อมประกาศรับสมัครการ์ดอาสาใหม่เพื่อรับสถานการณ์ไปสู่ความรุนแรงให้ได้ตามยุทธการสงครามประชาชน

 

ช่วงท้าย ถาวรได้เสนอทางออกของประเทศเพื่อหยุดยั้งภาวะที่จะนำไปสู่สงครามกลางเมือง

 

  1. ผู้บงการทุกระดับชั้นที่ทำผิดกฎหมายต้องถูกดำเนินคดีตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม ส่วนผู้ชุมนุมที่ตกเป็นเหยื่อการโฆษณาชวนเชื่อควรได้รับการยกเว้น
  2. นักการเมืองและพรรคการเมืองใดที่ต้องการปฏิรูปสถาบันฯ ให้ประกาศตัวยอมรับให้ชัดเจนต่อสาธารณชน
  3. คัดค้านการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะอธิบายขยายความด้วยถ้อยคำความหมายแบบใดก็ตาม เพราะตนถือว่าเป็นการล้มล้าง
  4. คัดค้านการทำรัฐประหารอันจะนำไปสู่วงจรอุบาทว์ทางการเมืองซ้ำเดิม รวมถึงทำให้สถาบันฯ ตกเป็นเป้าโจมตีของผู้ชุมนุมและต่างชาติ
  5. ดำเนินการตรวจสอบทุจริตของรัฐบาล นักการเมือง และข้าราชการอย่างจริงจัง รวมถึงการปฏิรูปนักการเมือง พรรคการเมือง ปฏิรูปประเทศให้เกิดความปรองดอง ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง  

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising