จากกรณีวันที่ 18 กุมภาพันธ์ รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ประเด็นการจัดการปัญหาค้ามนุษย์ในประเทศไทย ที่อยู่ Tier 2 จากการจัดอันดับโดยกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา
ในวันต่อมา (19 กุมภาพันธ์) พล.ต.ต. ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 (รอง ผบช.ภ.8) และอดีตหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา ปัจจุบันเป็นผู้ลี้ภัยอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย ให้สัมภาษณ์ผ่านระบบออนไลน์ มายังอาคารอนาคตใหม่ ที่ทำการพรรคก้าวไกล โดยยืนยันว่าสิ่งที่โรมอภิปรายเป็นเรื่องจริง และเล่าผลกระทบที่เกิดขึ้นในชีวิตหลังทำคดีดังกล่าว
ค่ำวันเดียวกัน แฟนเพจ The Reporters ถ่ายทอดสดการพูดคุยหัวข้อ ล้อมวงคุย ค้ามนุษย์ จากประสบการณ์ของ ฐปณีย์ โดยเป็นการพูดคุยระหว่าง ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งและผู้สื่อข่าว The Reporters กับผู้สื่อข่าวต่างรุ่น
ฐปณีย์กล่าวว่า เรื่องนี้กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งหลังเรื่องราวผ่านมาหลายปี เนื่องจากรังสิมันต์อภิปรายในสภา และ พล.ต.ต. ปวีณแถลงร่วมกับรังสิมันต์
เป็นคดีประวัติศาสตร์ อยากจะมาเล่าเบื้องหลังการทำข่าวคดีนี้ เบื้องหลังคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา ที่ไม่ได้พูดต่อสาธารณะมาก่อน
วันนั้นออกอากาศในข่าวตอนเย็นไปแล้ว แต่พอจะถึงรายการ ข่าว 3 มิติ ก็เกือบจะไม่ได้ออกอากาศ เพราะมีประเด็นผลกระทบหรือขัดแย้งกับนโยบายความมั่นคง หรือตีความได้ว่าจะทำให้รัฐบาลไทยดูแย่หรือไม่ ที่มีการผลักดันชาวโรฮิงญาออกไปทั้งๆ ที่เขาอยู่ในสภาพแบบนี้
มีการตีเจตนาว่าเราโจมตีรัฐบาลว่าไม่ให้การช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมหรือไม่ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะไปดูในข่าวได้เลย นำเสนอว่าไทยทำตามหลักมนุษยธรรมตามหลักเกณฑ์ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ที่ถูกนำไปตีความแบบนั้น
ช่วงก่อนที่จะออกอากาศข่าว มีการร้องขอมาว่าไม่ให้ออกข่าวนี้อีก ซึ่งต้องขอบคุณคุณกิตติ สิงหาปัด ที่อยู่เคียงข้างและเชื่อมั่นในตัวเรา รวมถึงผู้บริหารช่อง 3 เวลานั้นก็เชื่อมั่นในตัวเราให้ข่าวนี้ได้ออกอากาศใน ข่าว 3 มิติ
ข่าวที่ท่านได้ดูในเทป ข่าว 3 มิติ เกือบจะไม่ได้ออกอากาศ เพราะมีคำสั่งไม่ให้ออกข่าวนี้ ทางผู้ใหญ่ก็โทรมาบอกเราว่า มีการไม่ให้ออกข่าวนี้ จะว่าอย่างไร ซึ่งตอนนั้นได้ยืนยันไปกับทางผู้ใหญ่ว่า ขอให้เราได้ออกข่าวนี้ ถ้าช่อง 3 รายการ ข่าว 3 มิติ ได้ออกข่าวนี้ จะถือเป็นการทำบุญที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะไม่ใช่แค่ทำข่าว แต่กำลังช่วยเพื่อนมนุษย์ 400 กว่าชีวิตที่กำลังจะไปสู่ความตาย เขาอยู่กลางทะเล ขอให้เชื่อมั่นเรากำลังช่วยเหลือคน อย่ามองว่านี่แค่คือข่าว แต่เรากำลังช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อีก 400 กว่าชีวิต ถ้าเกิดอะไรขึ้นจะรับผิดชอบกับเรื่องนี้เอง
ต้องขอบคุณช่อง 3 ที่ให้ข่าวนี้ได้ออกอากาศ แล้วก็มีภาพที่ได้กลายเป็นภาพหลักฐานชิ้นสำคัญอยู่ในการฟ้องร้องคดีของ พล.ต.ต. ปวีณ ในการฟ้องผู้ต้องหาค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา 103 คน เป็นภาพหลักฐานสำคัญ
หลังจากนั้น ได้ให้ภาพข่าวเหล่านี้ไปกับเพื่อนสำนักข่าวต่างประเทศ CNN, BBC หรือสำนักข่าวที่ต้องการ เพราะเป็นหน้าที่สื่อระดับโลกแล้วที่จะช่วยรายงานเรื่องนี้ อย่างน้อยคนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องจะได้ช่วยเหลือพวกเขาทัน
เป็นเรื่องน่ายินดีที่อีกสองสัปดาห์ต่อมา คนกลุ่มนี้ไปถึงเกาะอาเจะฮ์ อินโดนีเซีย ตุรกีก็ยื่นมือช่วยเหลือ รวมถึง UNHCR UN องค์กรระดับโลกก็เห็นข่าว ให้ความช่วยเหลือ พวกเขาถึงเกาะอาเจะฮ์ อินโดนีเซียอย่างปลอดภัย
ความตั้งใจคืออยากให้เขามีชีวิตรอด จึงนำภาพคลิปมาโพสต์ใน Facebook ทวิตเตอร์ ช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเอง เพื่อให้สาธารณะได้เห็นและได้แชร์ภาพออกไป แต่กลับกลายเป็นเกิดกระแสโจมตีว่า พยายามไปหรือเปล่ากับการช่วยคนเหล่านี้ ไม่เอากลับไปบ้านเสียเองล่ะ ซึ่งตอนนั้นก็เสียใจ แต่อย่างน้อยได้ทำหน้าที่เราแล้วในเวลานั้นในการช่วยให้พวกเขาเดินทางไปถึงที่หมายอย่างปลอดภัย
ขอบคุณคุณกิตติที่สนับสนุนการทำงาน ตอนนั้นได้ไปขอคุณกิตติทำข่าวต่อจะตามเรือไปอาเจะฮ์ แต่คุณกิตติให้ตามไปรัฐยะไข่ เมียนมา ดูบ้านชาวโรฮิงญาว่าเป็นอย่างไร
หาทางไปเมียนมาอย่างถูกต้อง ทำหนังสือติดต่อกระทรวงข่าวสารของเมียนมา ขอไปทำข่าวรัฐยะไข่ ซึ่งจริงๆ เป็นเรื่องยาก เพราะเมียนมากับโรฮิงญามีปัญหาความขัดแย้งกันอยู่แล้ว การจะเข้าไปรัฐยะไข่ทำข่าวโรฮิงญายิ่งยากมาก แต่ต้องไปให้เห็นว่าคือใคร ทำไมต้องอพยพ
แม้มีใบอนุญาตจากรัฐบาลกลาง เนปยีดอ แต่ต้องขอใบอนุญาตที่รัฐยะไข่ด้วย เพื่อเข้าไปชายแดนระหว่างเมียนมากับบังกลาเทศ ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวโรฮิงญาต้องได้เอกสารอีกฉบับจากรัฐยะไข่
ในการล้อมวงคุยผ่าน Facebook Live มีหนึ่งในผู้สื่อข่าวที่ร่วมพูดคุย คือ ธนกร วงษ์ปัญญา ผู้สื่อข่าว THE STANDARD ได้ร่วมสนทนาและถามว่า ผลสะเทือนจากการทำข่าวที่อยากสะท้อนปัญหาสิทธิมนุษยชน เมื่อ 6-7 ปีที่แล้วถูกมองอย่างมีมายาคติเรื่องเกี่ยวกับชาติ มาถึงวันนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงแล้ว รู้สึกอย่างไร
ฐปณีย์กล่าวว่า ความเกลียดชังอาจจะเป็นเพราะความรู้เรื่องนี้อาจจะน้อยไป ตอนนั้นคิดว่าเมื่อไปทำข่าวแล้วนำเสนอออกไปอาจทำให้คนที่ไม่เข้าใจได้เข้าใจมากขึ้น จึงไปที่รัฐยะไข่ เป็นงานที่ยากที่สุดชิ้นหนึ่งในชีวิต สายตาตำรวจเมียนมาก็ว่องไวมาก ระหว่างไปทำข่าวถูกเรียกไปสอบสวนว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ซึ่งเรามีเอกสารถูกต้องจากทางการ สุดท้ายตำรวจให้ออกมาได้ ได้ไปถึงหมู่บ้านโรฮิงญาด้วยความยาก ไปพบแม่ของคนบนเรือ มีแม่ของคนที่ลูกเสียชีวิต และแม่ของคนที่ลูกยังมีชีวิตอยู่ เขาให้ดูรูปลูกชายเขา เราจึงบอกว่านี่เป็นภาพที่เราถ่ายเอง แม่เขาบอกเป็นห่วงลูกมากเพราะออกจากบ้านไปเกือบ 2 เดือนแล้ว ดีใจที่ลูกมีชีวิตอยู่
สุดท้ายลูกโทรมาบอกถึงเกาะอาเจะฮ์ เขาขอบคุณเราที่ทำให้รู้ว่าลูกยังไม่ตายและรอดชีวิต
ตอนนั้นทำให้หายเสียใจจากการถูกกล่าวหา และดีใจ มีกำลังใจ เพราะข่าวและภาพข่าวที่เราทำ ทำให้แม่คนหนึ่งรู้ว่าลูกเขารอดชีวิต หากข่าวนี้ไม่ได้มีคุณค่ากับใคร อย่างน้อยก็มีคุณค่ากับแม่คนหนึ่งที่เห็นลูกมีชีวิตอยู่
ไปเจอบ้านของหนึ่งในผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา และได้เสียงสัมภาษณ์ครอบครัวคนบนเรือซึ่งถือเป็นผู้เสียหายคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา มีหลายคนตายในประเทศไทย ได้ภาพหลักฐานที่นำมาใช้ระหว่างเป็นพยานคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา
อีกส่วนที่ดีใจคือ สารคดีโรฮิงญา ได้รับรางวัลแสงชัย สุนทรวัฒน์ เป็นสารคดียอดเยี่ยม ซึ่งเป็นเหมือนรางวัลพูลิตเซอร์ของนักข่าว
สำหรับความเข้าใจผิดในวันนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้คือคำตอบ วันที่สังคมเปิดรับที่จะเข้าใจ เห็นปัญหาร่วมกัน ทำให้ก้าวข้ามความกลัวมาได้ เจอมาหลายเหตุการณ์ ผ่านมาทุกครั้งในวันที่ยากที่สุดคือวันที่สังคมไม่เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่บางเรื่องอาจต้องใช้เวลา หรือเสียสละ เช่น พล.ต.ต. ปวีณ ลี้ภัยไป 6 ปีกว่า เจอสิ่งที่ยากกว่าเราด้วยซ้ำ
เมื่อ 7 ปีที่แล้วต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว มีรุ่นพี่ที่เข้าใจและสนับสนุนบ้าง แต่ดีใจที่ปัจจุบันคนเข้าใจ โดยเฉพาะนักข่าวรุ่นใหม่เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน และช่วยกันนำเสนอสิ่งเหล่านี้ วันนี้บอกได้เลยนอนตายตาหลับในการเป็นนักข่าว อยากให้สังคมเข้าใจว่าทำไมนักข่าวต้องทำเรื่องเหล่านี้
คลิกดูการเปิดใจ