×

ถนนท้าวอู่ทอง ประวัติศาสตร์บนแนวสันทรายโบราณจากราชบุรี-เพชรบุรี

05.11.2021
  • LOADING...
ถนนท้าวอู่ทอง

HIGHLIGHTS

6 mins. read
  • ถ้าออกจากกรุงเทพฯ ตรงที่ถนนเพชรเกษมตัดกับถนนพระราม 2 (ถนนธนบุรี-ปากท่อ) ตรงแยกวังมะนาว ขึ้นไปทางเหนือถึงเมืองราชบุรี และลงไปทางใต้ถึงเมืองเพชรบุรี ถนนทั้งเส้นนี้ผู้คนในสมัยก่อนจะเรียกกันว่า ‘ถนนท้าวอู่ทอง’ ความทรงจำเกี่ยวกับถนนเส้นนี้ยังคงปรากฏเป็นชื่อถนนเส้นหนึ่งในตัวเมืองราชบุรีที่มีชื่อเดียวกันนี้
  • ตำนาน ‘ถนนท้าวอู่ทอง’ เป็นตำนานของถนนโบราณที่ผู้คนในอดีตใช้กันมาตั้งแต่สมัยทวารวดีหรือก่อนหน้านั้น เพื่อเดินทางติดต่อกันระหว่างเมืองราชบุรีถึงเพชรบุรี มีร่องรอยหลักฐานมากมายถึงจะกระจัดกระจาย แต่งานประวัติศาสตร์โบราณคดีก็คือการต่อจิ๊กซอว์ดีๆ เพื่อให้เห็นภาพในอดีต   

ถนนเพชรเกษมช่วงราชบุรี-เพชรบุรี เป็นแนวสันทรายโบราณหลายพันปีที่แล้ว เพราะเป็นแนวชายฝั่งทะเลเดิม ผู้คนในอดีตจึงใช้แนวสันทรายนี้สัญจรไปมาทำให้พบชุมชนและโบราณสถานมากมายหลายยุคสมัย น่าเสียดายที่ความรู้พวกนี้ไม่ได้เผยแพร่มากนัก เพราะไม่ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น 

 

เมื่อไม่กี่วันก่อนผมเพิ่งไปถ้ำเขาย้อยมา ได้พบรูปเคารพของพระเจ้าอู่ทองในถ้ำ เป็นของทำใหม่ ถึงอย่างนั้นก็สะท้อนความทรงจำและเรื่องเล่าของท้องถิ่นที่มีต่อพระเจ้าอู่ทอง และทำให้นึกถึงตำนาน ‘ถนนท้าวอู่ทอง’ ซึ่งเป็นถนนโบราณที่ผู้คนในอดีตใช้กันมาตั้งแต่สมัยทวารวดีหรือก่อนหน้านั้น เพื่อเดินทางติดต่อกันระหว่างเมืองราชบุรีถึงเพชรบุรี มีร่องรอยหลักฐานมากมายถึงจะกระจัดกระจาย แต่งานประวัติศาสตร์โบราณคดีก็คือการต่อจิ๊กซอว์ดีๆ เพื่อให้เห็นภาพในอดีตนั่นเอง   

 

แผนที่แสดงตำแหน่งวัดเก่าและโบราณสถานสมัยทวารวดี-อยุธยา (อ้างอิงจาก วลัยลักษณ์ ทรงศิริ 2564)

 

ถนนท้าวอู่ทองบนสันทรายโบราณ

ถ้าออกจากกรุงเทพฯ ตรงที่ถนนเพชรเกษมตัดกับถนนพระราม 2 (ถนนธนบุรี-ปากท่อ) ตรงแยกวังมะนาวนี้ ขึ้นไปทางเหนือถึงเมืองราชบุรี และลงไปทางใต้ถึงเมืองเพชรบุรี ถนนทั้งเส้นนี้ผู้คนในสมัยก่อนจะเรียกกันว่า ‘ถนนท้าวอู่ทอง’ ความทรงจำเกี่ยวกับถนนเส้นนี้ยังคงปรากฏเป็นชื่อถนนเส้นหนึ่งในตัวเมืองราชบุรีที่มีชื่อเดียวกันนี้

 

ปัญหาที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จักและสังเกตไม่เห็นถนนท้าวอู่ทองนี้ส่วนหนึ่งมาจากถนนสมัยใหม่สร้างทับไปหลายส่วน และมีการตัดถนนสมัยใหม่ห่างจากแนวถนนโบราณ สมัยเมื่อยังเรียนปริญญาตรีที่คณะโบราณคดีได้เคยสำรวจเส้นทางนี้อยู่บางส่วนในพื้นที่แถบเขาย้อย ในความทรงจำ อ.ชาติชาย ร่มสนธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาโบราณ เคยชี้ให้เห็นว่าถนนใกล้กับวัดหนองปรง-หนองจิก ใกล้กับเขาย้อย ยังคงเห็นแนวสันทรายโบราณนี้อยู่บ้าง 

 

โบราณสถานสมัยทวารวดีที่วัดโขลงสุวรรณคีรี เมืองคูบัว ราชบุรี

 

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ นักวิชาการด้านโบราณคดีแห่งสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ระบุว่า ถนนนี้เป็นแนวสันทรายโบราณ ยาวต่อเนื่องจากเมืองราชบุรี ผ่านเมืองคูบัว ไปสิ้นสุดยังเมืองเพชรบุรีที่บริเวณหน้าวัดเขาบันไดอิฐ ตลอดเส้นทางนี้มีการสำรวจพบวัดเก่า โบราณวัตถุสถานตั้งแต่สมัยทวารวดีจนถึงสมัยอยุธยาหลายแห่ง 

 

สันทรายนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ดร.มนตรี ชูวงษ์ ภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ชายฝั่งทะเลของไทยมีแนวชายฝั่งทะเลอยู่ 2 ประเภทหลัก โดยแบ่งตามลักษณะปรากฏของตะกอนและชนิดของธรณีสัณฐาน เรียกชื่อตามชนิดของตัวการหรือปัจจัยทางสมุทรศาสตร์ ในกรณีของแนวสันทรายโบราณที่เป็นถนนท้าวอู่ทองนี้จัดเป็นชายฝั่งที่ได้รับอิทธิพลจากคลื่นลมทะเล (Wave-Dominated Coast) ทำให้เกิดการสะสมตัวของตะกอนขนาดทรายหยาบ กลายเป็นแนวสันดอนทราย หรือแนวสันทราย ซึ่งในประเทศไทยพบในเขตภาคใต้และภาคตะวันตก 

 

เท่าที่ผมอ่านจากบทความและดูภาพประกอบในบทความของ ดร.มนตรี เข้าใจว่าแนวสันทรายโบราณนี้ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นเมื่อ 7,000 ปีที่แล้ว และเมื่อระดับน้ำทะเลลดต่ำลงประกอบกับเกิดการงอกของแนวชายฝั่งทะเลเมื่อสัก 4,000 ปีมาแล้ว หรือหลังลงมาเล็กน้อย คงทำให้แนวสันทรายนี้มีสภาพกลายเป็นถนนในที่สุด 

 

ตำนานถนนท้าวอู่ทอง 

ชาวบ้านแถบเมืองอู่ทองมีนิทานพื้นบ้านเล่ากันว่า เมื่อถึงคืนแรม 14-15 ค่ำ จะได้ยินเสียงกลอง เสียงฆ้อง บ้างเห็นขบวนแห่อันประกอบด้วยช้าง ม้า และผู้คนจำนวนมากตามคันดินสองฟากฝั่งลำน้ำจระเข้สามพัน ชาวบ้านเชื่อกันว่านั่นคือขบวนแห่ของท้าวอู่ทองที่เสด็จตรวจตราความเรียบร้อยของเมือง จึงเป็นเหตุให้คนเรียกคันดินพวกนี้ว่า ‘ถนนท้าวอู่ทอง’ 

 

ถนนท้าวอู่ทองเมื่อตัดผ่านที่ตรงไหนก็มักจะทิ้งร่องรอยความเชื่อเอาไว้ เช่นที่ถ้ำเขาย้อยมีอนุสาวรีย์หรือรูปเคารพของพระเจ้าอู่ทองสร้างเอาไว้ด้วย คิดว่าคงสร้างเมื่อไม่กี่ปีมานี้ เพราะจำได้ว่าตอนเด็กๆ สมัยที่ยังไม่พัฒนา เต็มไปด้วยกลิ่นค้างคาว ยังไม่พบรูปเคารพของพระเจ้าอู่ทองนี้อยู่ ถึงจะสร้างใหม่ สอบถามคุณยายที่จำหน่ายธูปเทียนในถ้ำไม่ได้ความมาก บอกเพียงว่าพระเจ้าอู่ทองเคยพักที่ถ้ำแห่งนี้ แต่ก็สะท้อนว่าผู้คนแถบเขาย้อยยังมีความทรงจำต่อพระเจ้าอู่ทองอยู่ และเขาย้อยคงเป็นหนึ่งในจุดแวะพักของคนเดินทางสมัยนั้น เพราะเป็นภูเขาที่สังเกตง่าย (เป็นแลนด์มาร์ก) 

 

 

นอกจากนี้แล้วภายในถ้ำเขาย้อยยังพบพระพุทธรูปแบบอู่ทองหลายองค์มีทั้งแบบยุคกลางและยุคปลาย พระพุทธรูปแบบอู่ทองเป็นชื่อที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะตั้งขึ้นเพื่อใช้เรียกกลุ่มพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นก่อนกรุงศรีอยุธยาถึงราวรัชสมัยเจ้าสามพระยา (พ.ศ. 1967-1991) ลักษณะของพระแบบยุคกลาง (ปกติเรียกกันรุ่น 2) จะมีหน้าค่อนข้างเหลี่ยม เพราะได้รับอิทธิพลจากศิลปะเขมร อายุตกราว พ.ศ. 1800-1900 พบเพียง 1 องค์เท่านั้น ในขณะที่พระแบบยุคปลายจะมีหน้าเปลี่ยนไปโดยมีใบหน้าเรียวยาว ซึ่งสะท้อนอิทธิพลสุโขทัย พบ 6 องค์ ทั้งหมดนี้นอกจากจะสะท้อนความแตกต่างของสกุลช่างแล้ว แต่คงเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มประชากรจากเขมรเป็นไทยอีกด้วย 

 

พระพุทธรูปแบบอู่ทอง ซ้ายเป็นแบบยุคกลางที่ได้รับอิทธิพลเขมร ขวาเป็นแบบยุคปลายที่ได้รับอิทธิพลสุโขทัย

 

ท้าวอู่ทองเกี่ยวข้องกับเมืองเพชรบุรีเป็นอย่างยิ่ง ใน จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ (สมัยพระนารายณ์) และ ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช เล่าตรงกันว่า ราว พ.ศ. 1731 พระพนมทะเลศรีมเหสวัสดิทราธิราช เสด็จมาจากเมืองนครไทย (เขตพิษณุโลก) แล้วมาสร้างเมืองพริบพลี (คือเพชรบุรี) จากนั้นจึงได้สืบราชสันตติวงศ์ต่อมาอีก 4 ชั่วกษัตริย์ จนถึงกษัตริย์ที่มีพระนามว่า ‘รามาธิบดี’ ผู้ก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งรามาธิบดีนี้ก็คือ พระเจ้าอู่ทอง นั่นเอง 

 

ถ้ำเขาย้อย ปัจจุบันกำลังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่ง

 

พระพนมทะเลศรีมเหสวัสดิฯ มีอำนาจมาก เพราะคุมการผลิตเกลือที่เมืองเพชรบุรี ซึ่งปัจจุบันก็ยังถือว่าพื้นที่ตั้งแต่เพชรบุรี-สมุทรสาครยังเป็นแหล่งผลิตเกลือสมุทรสำคัญของประเทศ อุตสาหกรรมการผลิตเกลือทะเลนี้สืบทอดมายังรุ่นหลานของพระองค์ ในตำนานทางนครศรีธรรมราชเล่าว่า ในเวลานั้น ท้าวอู่ทองยกกองทัพไปตีเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อพญาศรีธรรมโศกราชยอมแพ้เป็นไมตรีด้วย ท้าวอู่ทองจึงตรัสถามว่าเมืองนครขาดแคลนสิ่งใด พญาศรีธรรมโศกราชทรงตอบกลับไปว่าขาดแคลนเกลือ ประชาชนของพระองค์ไม่รู้วิธีทำเกลือ 

 

ทำไมการครอบครองเกลือถึงทำให้มีอำนาจ ในสมัยนี้เกลือสมุทรราคาถูก เห็นได้ทั่วไปตามถนนสองข้างทางจากสมุทรสงครามไปเพชรบุรี ทั้งนี้เพราะการส่งเสริมการผลิตเกลือสินเธาว์ระดับอุตสาหกรรมเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่ถ้าย้อนกลับไปกว่า 100 ปี เกลือกระสอบหนึ่งมีค่ามาก ในหมู่บ้านแถบอีสานใต้หรือทางภาคเหนือที่ผมเคยไปสัมภาษณ์ คนแถบนั้นเล่าว่า เกลือ 2-3 กระสอบ สามารถแลกวัวได้ตัวหนึ่งเลยทีเดียว ดังนั้นเกลือจึงนำความมั่งคั่งและความร่ำรวยมาให้พระเจ้าอู่ทอง เมืองเพชรบุรีจึงปรากฏหลักฐานสมัยก่อนอยุธยา-อยุธยามากมาย  

 

เที่ยวไปบนถนนท้าวอู่ทอง 

ตามแนวถนนท้าวอู่ทองมีแหล่งโบราณคดีหรือโบราณสถานตั้งกระจัดกระจายเกือบตลอดทั้งเส้นทาง บางจุดสังเกตง่าย บางแห่งสังเกตยาก ถ้าจะไล่เรียงกันตามยุคสมัยแล้วสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 สมัยหลักๆ คือ สมัยทวารวดี สมัยอิทธิพลเขมร และสมัยก่อนอยุธยา-อยุธยา  

 

สมัยทวารวดี เป็นยุคที่เกิดชุมชนและบ้านเมืองขนาดใหญ่หลายแห่งตามเส้นทางถนนท้าวอู่ทอง ทางเหนือมีเมืองคูบัว ซึ่งเป็นเมืองขนาดใหญ่ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 800 x 2,000 เมตร พบโบราณสถานสร้างเนื่องในศาสนาพุทธมหายานและเถรวาทที่ได้รับการขุดแต่งแล้ว 23 แห่ง (ที่ยังไม่ได้ขุดแต่งอีกกว่า 20 แห่ง) ดังนั้นเดิมทีจึงเป็นเมืองท่าการค้าหลังแนวชายฝั่งที่สำคัญที่สุดบนลุ่มน้ำแม่กลอง 

 

ถัดลงมาทางทิศใต้ ชุมชนระดับเมืองอีกแห่งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองเพชรบุรีคือ บ้านลาด ที่นี่พบโบราณสถานทวารวดีราว 10 แห่ง เช่น โคกดินแดง ทั้งหมดยังไม่ได้รับการขุดค้นและบูรณะ แต่ยังไม่สะดวกกับการท่องเที่ยวมากนัก เพราะบางแห่งตั้งอยู่ในที่เอกชน โบราณวัตถุบางส่วนถูกเก็บไว้ที่วัด เช่น โกลนพระพุทธรูปแบบทวารวดีที่วัดป่าแป้น สาเหตุที่ชุมชนทวารวดีตั้งกระจุกตัวตรงนี้หนาแน่น เพราะอยู่บนถนนท้าวอู่ทอง และไม่ห่างจากแม่น้ำเพชรบุรี อนาคตพื้นนี้ควรเร่งพัฒนา เพราะมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว

 

กองอิฐสมัยทวารวดีพบที่โบราณสถานโคกดินแดง บ้านลาด เพชรบุรี

 

หลังจากข้ามแม่น้ำเพชรบุรีแล้ว ผศ.แสนประเสริฐ ปานเนียม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี (ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้) ได้เล่าว่า แถบเขาทโมนและราชภัฏเพชรบุรีพบเศษอิฐและภาชนะดินเผาที่เก่าไปถึงยุคทวารวดีเช่นกัน และเชื่อมต่อกับเส้นทางเลียบชายฝั่งทะเลเพื่อลงไปยังชะอำ ก่อนถึงชะอำมีจุดแวะพักที่วัดถ้ำเขาน้อย ซึ่งมีถ้ำแห่งหนึ่งที่มีภาพปูนปั้นของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ระบายสีสวยงาม น่าไปชมอย่างมาก 

 

โบราณสถานทุ่งเศรษฐี เบื้องหลังเป็นเขานางพันธุรัต ซึ่งเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของคนเดินเรือสมัยก่อน

 

เมื่อเดินทางลงไปทางใต้อีกจะพบโบราณสถานแห่งหนึ่ง คนท้องถิ่นเรียกว่า ‘โคกเศรษฐี’ (ทุ่งเศรษฐี) ที่นี่มีตำนานท้องถิ่นเล่าว่า มีเศรษฐีคนหนึ่งขนสมบัติบรรทุกใส่เกวียนผ่านมาทางนี้ แต่ปรากฏว่าเกวียนหัก ชาวบ้านรู้ว่าในเกวียนมีสมบัติจึงแสร้งเอาไม้สบู่ (ไม้เนื้ออ่อน) มาให้ซ่อมเกวียน เศรษฐีรู้ทันจึงเอาสมบัติฝังไว้ใต้เจดีย์ เจดีย์องค์นี้มีชื่อว่า ‘เจดีย์ทุ่งเศรษฐี’ มีขนาดใหญ่มาก ถ้าใครไปเที่ยวชะอำควรแวะเป็นอย่างยิ่ง

 

ตำนานนิทานเรื่องนี้มีโครงเรื่องคล้ายกับเรื่องท้าวอู่ทองอีกหลายๆ ท้องที่ เช่นที่วัดมหิงษาราม เมืองปทุมธานี เล่าว่า นานมาแล้วท้าวอู่ทองนำขบวนเกวียนบรรทุกสินค้าเงินทองมาจากวัดท่าเกวียน ปากเกร็ด จากนั้นลัดเลาะมาถึงวัดมหิงษาราม แต่ปรากฏว่า เกวียนชำรุด ต้องหาเครื่องมือมาซ่อม จึงออกปากยืมเครื่องมือจากชาวบ้าน ออกปากจะให้เงินทอง แต่ไม่มีใครช่วยเหลือ ท้าวอู่ทองจึงพิโรธมาก ออกปากว่าคนพวกนี้โง่เหมือนควาย วัดแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า วัดมหิงษาราม พระองค์จึงแอบฝังทรัพย์สมบัติ และสาปแช่งไม่ให้ผู้ใดได้สมบัติไปตลอดกาล 

 

สมัยอิทธิพลเขมร เป็นช่วงเวลาที่นักวิชาการถกเถียงกันว่าพื้นที่เขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาปกครองโดยกษัตริย์เขมรโดยตรงหรือได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรม จึงเกิดการสร้างปราสาทขึ้นมา แต่ไม่พบจารึกทำให้พูดได้ไม่ชัด ทำให้บางคนเรียกสมัยศิลปะร่วมแบบเขมร บางคนเรียกสมัยลพบุรี เพราะถือว่าเมืองลพบุรีเป็นศูนย์กลางที่ควบคุมเมืองในลุ่มเจ้าพระยา ที่สำคัญคืออยู่ในประเทศไทย นักวิชาการสมัยก่อนกลัวว่าถ้าบอกว่าเป็นสมัยเขมรจะถูกฝรั่งเศสใช้เป็นข้ออ้างยึดครองประเทศไทย (สยาม) เป็นเหมือนการเลี่ยงบาลีในแง่ของคำเรียกชื่อยุคสมัย 

 

วัดกำแพงแลง เมืองเพชรบุรี

 

ปราสาทแบบเขมรในยุคนี้สร้างด้วยศิลาแลงพบ 2 แห่ง คือ วัดกำแพงแลง เมืองเพชรบุรี และวัดมหาธาตุ ราชบุรี ในเชิงของรูปแบบศิลปะแล้วจัดเป็นศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะบายน ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724-1762/63) ปกครองกัมพูชาที่เมืองนครธม สาเหตุที่พระองค์ขยายอำนาจมายังพื้นที่ภาคตะวันตกนี้ก็เพื่อใช้เป็นเส้นทางการค้าข้ามไปยังพม่าและอันดามัน เพราะเพชรบุรีนี้สามารถเดินทางติดต่อไปยังมะริดได้โดยง่าย ซึ่งนิยมใช้กันมากในสมัยอยุธยา เมืองนี้จึงมีชื่อปรากฏในจารึกที่ปราสาทพระขรรค์ว่า ‘ศรีชัยวัชรปุระ’

 

ซุ้มพระพุทธรูปประดับสันกำแพง สะท้อนอิทธิพลของศิลปะเขมรแบบบายนที่วัดมหาธาตุ ราชบุรี

 

เวลาคนสมัยก่อน (กระทั่งสมัยนี้) เดินทางระหว่างเมืองจำเป็นต้องมีจุดแวะพัก ถ้าในสมัยทวารวดี จุดแวะพักจะอยู่แถบเขาย้อยตรงบ้านหนองปรง บ้านหนองจิก และเขาพระ เดิมทีคงมีชุมชนรุ่นทวารวดี เพราะหลายวัดพบโกลนพระพุทธรูป (โกลน หมายถึง ชิ้นส่วนของแท่นหินบดยา) และเศษภาชนะดินเผาอยู่บ้าง อีกทั้งยังพบแหล่งอุตสาหกรรมผลิตพระพุทธรูปในเขตนี้อีกด้วย ส่วนในสมัยอิทธิพลเขมรอาจอยู่บริเวณปากท่อ โดยพบหลักฐานที่วัดเขาถ้ำพระ ซึ่งภายในถ้ำพบพระพุทธรูปไม้หลายองค์ที่สะท้อนอิทธิพลของเขมรในสมัยนครวัด เรื่อยมาจนถึงสมัยอยุธยา

 

พระพุทธรูปอิทธิพลเขมรสมัยนครวัด หลังบายน และอยุธยาที่วัดถ้ำเขาพระ

 

สมัยก่อนอยุธยา-อยุธยา ก่อนหน้าเวลาที่พระเจ้าอู่ทองจะสถาปนากรุงศรีอยุธยา เพชรบุรีมีสถานะเป็นนครรัฐอิสระ ดังเห็นได้จากจดหมายเหตุจีนบันทึกว่า ‘กัมรเตง’ แห่งเมือง ‘ปี๋ฉาปู้หรี่’ ส่งทูตไปจีนเมื่อ พ.ศ. 1837 ซึ่งโดยธรรมเนียมของจีนแล้วจะยอมรับทูตที่มาจากเมืองที่มีอำนาจอธิปไตยของตนเองเท่านั้น ส่วนเมืองราชบุรีอาจขึ้นกับเมืองกาญจนบุรี ดังเห็นได้จากตำนานพญากง-พญาพาน 

 

เมื่อพระเจ้าอู่ทองสถาปนากรุงศรีอยุธยา เปลี่ยนพระนามเป็นสมเด็จพระรามาธิบดี ทำให้เมืองต่างๆ ในเครือข่ายกลายมาเป็นเมืองบริวาร เส้นทางถนนท้าวอู่ทองนี้ยังคงมีความสำคัญ พระพุทธรูปแบบอู่ทองพบหลายแห่งทั้งในถ้ำและวัด ในเขตเมืองราชบุรีที่สำคัญคือ วัดมหาธาตุ ราชบุรี ถัดลงมาคือวัดเขาน้อยเทียมสวรรค์ วัดถ้ำเขาพระ วัดเขาอีโก้ง วัดถ้ำเขาย้อย วัดเขาบันไดอิฐ ถ้ำเขาหลวง และวัดมหาธาตุ เพชรบุรี ที่เพชรบุรีนี้มีวัดสมัยอยุธยาที่สมบูรณ์อยู่มาก จึงทำให้บางท่านถือว่าเพชรบุรีคืออยุธยาที่ยังมีชีวิต

 

ซ้าย ปรางค์ประธานวัดมหาธาตุ เพชรบุรี ขวา ปรางค์ประธานวัดมหาธาตุ ราชบุรี การสร้างปรางค์บรรจุมหาธาตุนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของจักรวาลและการเป็นเมืองสำคัญ

 

ทั้งหมดนี้เป็นประวัติศาสตร์โบราณคดีท้องถิ่นที่หากนำไปจัดการให้ดีก็จะเปิดแหล่งเรียนรู้ เส้นทางท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยกระจายรายได้ให้กับท้องถิ่นและชุมชนได้อีกมหาศาล แต่เรื่องนี้จะสำเร็จได้นั้น ส่วนหนึ่งแล้วต้องเกิดขึ้นจากกระบวนการส่งเสริมประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของภาครัฐที่ทำได้ทั้งผ่านระบบการศึกษาและท่องเที่ยว 

 

ความจริงแล้ว กระแสความสนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกำลังค่อยๆ ก่อตัว โดยผลสำรวจของกระทรวงศึกษาธิการเมื่อไม่นานมานี้พบว่า นักเรียนต้องการเรียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกันมากขึ้น เพราะประวัติศาสตร์ชาติมีเนื้อหาคับแคบ จำกัดตัวเองอยู่กับประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ และชนชั้นนำ 

 

เช่นเดียวกับนโยบายการท่องเที่ยวเมืองรองของ ททท. ที่ผ่านมาก็นับเป็นเรื่องดี แต่ต้องส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง และไม่ควรจำกัดเฉพาะแค่ขอบเขตของเมืองเท่านั้น แต่ควรลงถึงระดับหมู่บ้าน และสร้างเส้นทางการท่องเที่ยวทางเลือก เพื่อไม่ให้เกิดการกระจุกตัวของรายได้อย่างที่เคยเป็นมา ซึ่งวิธีนี้จะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวในภาพรวมได้เร็วขึ้น 

 

อ้างอิง:

  • นิติ แสงวัฒน์. ทุ่งเศรษฐี โบราณสถานทวารวดีชายฝั่งทะเลเพชรบุรี. กรุงเทพฯ: สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี กรมศิลปากร, 2543. 
  • พิพัฒน์ กระแจะจันทร์. “การขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านหนองจิก: แหล่งผลิตหัตถกรรมประเภทหินสมัยทวารวดี,” วารสารเมืองโบราณ. ปีที่ 27 ฉบับที่ 1, 2544. 
  • มนตรี ชูวงษ์ และคณะ. “การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลสมัยโฮโลซีนตอนปลายในประเทศไทย,” ใน เอกสารประกอบการประชุมสัมมนาเรื่องความก้าวหน้าในการศึกษาโบราณคดีและเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดี. วันที่ 24-25 กรกฎาคม 2546. Available at: http://www.eatgru.sc.chula.ac.th/Thai/research/pdf/paper/51.pdf 
  • วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. ทวารวดีที่เพชรบุรีและก่อนกรุงศรีอยุธยา. 2564. Available at: https://suanleklek.wordpress.com/2021/01/01/dvaravati-and-before-ayudhaya/
  • สมศักดิ์ รัตนกุล. โบราณคดีเมืองคูบัว. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2535.
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising