วันนี้ (22 เมษายน) ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส. กรุงเทพมหานคร (กทม.) เขตบางซื่อ-ดุสิต พรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มในพื้นที่ กทม. เฉลี่ยวันละ 300 คน เฉพาะที่ได้รับรายงานตามระบบ กรุงเทพมหานครจึงยังคงเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด (สีแดง) และเกิดปัญหาในเชิงบริหารจัดการและปฏิบัติการในขณะนี้คือ พี่น้องประชาชนที่เข้าเกณฑ์ว่ามีความเสี่ยงและเป็นกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มชุมชนแออัด ไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับการกักตัวภายในบ้านที่มีสมาชิกครอบครัวอยู่กันอย่างแออัด
ซึ่งจากการลงพื้นที่ได้รับทราบปัญหาและประสานกับเครือข่ายด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (RoLD) เครือข่ายมูลนิธิผู้นำรุ่นใหม่ (Future Leaders Foundation) และกลุ่มเยาวชนอาสาในพื้นที่บางซื่อ-ดุสิต (Bangsue-Dusit Next GEN) เพื่อร่วมกันศึกษาโมเดลต้นแบบศูนย์ที่พักอาศัยเพื่อการกักแยก ปทุมธานีโมเดล และ โมเดล Local Quarantine ระดับอำเภอในจังหวัดปัตตานี ซึ่งได้ใช้โรงเรียนเป็นศูนย์กักแยก เพื่อนำเสนอการจัดตั้งศูนย์กักแยกประจำเขต ซึ่งเป็นที่พักอาศัยเพื่อการกักแยกสำหรับกลุ่มเปราะบางใน กทม. อย่างทั่วถึงทั้ง 50 เขต
“การตั้งโรงพยาบาลสนามให้ทันกับจำนวนผู้ติดเชื้อมีความจำเป็นเร่งด่วน ส่วนการตั้งศูนย์กักแยกในแต่ละเขต ก็จำเป็นในการช่วยลดการแพร่ระบาดสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงแต่ไม่สามารถแยกตัวเองได้ เนื่องจากสภาพที่อยู่อาศัยในชุมชนไม่เอื้ออำนวย พื้นที่ในแต่ละเขตมีวัดขนาดใหญ่ มีโรงเรียนที่ปิดการเรียนการสอน และมีสถานที่ของภาคเอกชนที่สามารถจัดตั้งเป็นศูนย์กักแยกไว้คอยสังเกตอาการและลดการแพร่เชื้อสู่คนรอบข้าง สำหรับพี่น้องในชุมชนแออัดที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและต้องมีการกักตัวจากผู้อื่น” ธณิกานต์ กล่าว
ธณิกานต์ระบุด้วยว่า โมเดลศูนย์กักแยก เป็นการดูแลตั้งแต่ต้นทาง หยุดการระบาดตั้งแต่ต้นน้ำ เป็นกลไกในการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง พี่น้องในชุมชนแออัด ตลอดจนกลุ่มคนไร้บ้าน ซึ่งเข้าเกณฑ์ว่ามีความเสี่ยงแต่ด้อยโอกาส ให้มีทางเลือกในการกักตัว เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อให้คนใกล้ชิดและครอบครัว อีกทั้งช่วยลดภาระและลดการปะปนของกลุ่มเกณฑ์เฝ้าระวังในโรงพยาบาล
“ในส่วนของพื้นที่เขตบางซื่อ-ดุสิต กำลังอยู่ระหว่างการประสานขอความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ขอใช้สถานที่ ขอแรงจากเครือข่ายแพทย์และจิตอาสาที่สามารถร่วมบริจาคอาหาร” ธณิกานต์ กล่าว
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า