×

‘กทม. คือโอกาส แต่ยังขาดการหารายได้จากสินทรัพย์ 2 แสนล้านบาท’ มองนโยบายผู้ว่าฯ ผ่าน ธานี ชัยวัฒน์

04.05.2022
  • LOADING...
ธานี ชัยวัฒน์

HIGHLIGHTS

  • ประชากรแฝง: นโยบายในการจัดการและดูแลประชากรแฝงที่เข้ามาประกอบอาชีพในกรุงเทพฯ​ ตั้งแต่วณิพกจนถึงชุมชนพื้นที่ริมทางรถไฟ เป็นอีกหนึ่งในหัวข้อที่น่าสนใจที่ ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ยังไม่ค่อยให้ความชัดเจนมากนัก
  • อีกนโยบายที่ ผศ.ดร.ธานี มองว่ายังไม่ค่อยมีการพูดถึงคือ นโยบายเกี่ยวกับการหารายได้ เพราะงบ กทม. มีประมาณแสนล้าน ถ้าหักค่าใช้จ่าย ค่าบุคลากร งบผูกพันต่างๆ จะเหลืออยู่ประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท ปกติมีสินทรัพย์ 2 แสนล้านบาท ที่ผ่านมาเป็นต้นทุนในการบริหารจัดการ 
  • โจทย์การมีนโยบายใช้สินทรัพย์ 2 แสนล้านบาทให้เกิดรายได้ยังเห็นน้อย ซึ่งเป็นความท้าทายในอนาคต ส่วนใหญ่จะเป็นนโยบายจัดสวัสดิการ สร้างและกำกับดูแลเป็นหลัก

รายการ THE STANDARD NOW เผยแพร่ทาง Facebook และ YouTube ของ THE STANDARD ร่วมกับศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center: UddC) และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เกาะติดการแข่งขันชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ในมุมใหม่ กับ THE STANDARD NOW: BKK ELECTION Policy Critic พลิกนโยบายแคนดิเดต ในซีรีส์ 4 ตอนพิเศษ ทุกวันศุกร์ ดำเนินรายการโดย อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์

 

คลิกชมรายการ https://thestandard.co/bkk-election-now-x-uddc/

 

 

สำหรับวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา เป็นตอนแรก พบกับการนำเสนอ 3 นโยบายจาก 3 ผู้เชี่ยวชาญ ในหัวข้อ ‘3 นโยบายนอกสายตาผู้สมัคร’ ประกอบด้วย 

 

เมืองซื้อกิน: นโยบายว่าด้วยเรื่องการขายบริการทางเพศ ทำอย่างไรถึงจะจัดระเบียบและสร้างสวัสดิการให้กับผู้ประกอบอาชีพได้ โดย รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ประชากรแฝง: นโยบายในการจัดการและดูแลประชากรแฝงที่เข้ามาประกอบอาชีพในกรุงเทพฯ​ ตั้งแต่วณิพกจนถึงชุมชนพื้นที่ริมทางรถไฟ โดย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

พื้นที่แสดงออกทางการเมือง: ควรจัดการพื้นที่ชุมนุมแสดงออกทางการเมืองอย่างไร ในเมื่อการชุมนุมกลายเป็น New Normal โดย รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

  • ตัวเลือกเยอะ นโยบายรูปธรรมชัดเจน 

 

ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนเองเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ไม่ได้ เพราะบ้านอยู่สมุทรปราการ แต่ก็รู้สึกตื่นเต้นกับการเลือกตั้งครั้งนี้ นอกจากตัวเลือกเยอะแล้วก็มีไฮไลต์สำคัญคือ มีการนำเสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรมค่อนข้างชัดเจน เทียบกับการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ 

 

สมัยก่อนความเป็นพรรคชี้นำการตัดสินใจ โดยที่อาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผู้สมัครมีนโยบายอะไรบ้าง และไม่ได้ออกแบบนโยบายที่เห็นเป็นรูปธรรม ขณะที่ครั้งนี้ตัวเลือกเยอะและมีนโยบายที่เป็นรูปธรรมค่อนข้างชัดเจน   

     

  • ขาดนโยบายทำสินทรัพย์ 2 แสนล้าน ให้มีรายได้ 

 

ผศ.ดร.ธานีกล่าวถึงประเด็นนโยบายว่า นโยบายที่ยังไม่ค่อยมีการพูดถึงคือนโยบายเกี่ยวกับการหารายได้ เพราะงบประมาณ กทม. มีประมาณแสนล้านบาท ถ้าหักค่าใช้จ่าย ค่าบุคลากร งบผูกพันต่างๆ จะเหลืออยู่ประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท ปกติมีสินทรัพย์ 2 แสนล้านบาท ที่ผ่านมาเป็นต้นทุนในการบริหารจัดการ โจทย์การมีนโยบายใช้สินทรัพย์ 2 แสนล้านบาทให้เกิดรายได้ยังเห็นน้อย ซึ่งเป็นความท้าทายในอนาคต ส่วนใหญ่จะเป็นนโยบายจัดสวัสดิการ สร้างและกำกับดูแลเป็นหลัก

 

สำหรับประเด็นการค้าบริการทางเพศ ผศ.ดร.ธานีกล่าวว่า เป็นโจทย์ท้าทาย ถ้ามองในแง่การให้การสนับสนุนหรือช่วยเหลือ ผู้ว่าฯ คงทำได้ในลักษณะระยะสั้น เช่น การดูแลในพื้นที่สาธารณะ หรือการอำนวยความสะดวกต่างๆ แต่ว่าในระยะยาว การจัดระบบ การปรับมายด์เซ็ตของคนในสังคม เป็นโจทย์ใหญ่ เพราะเราไปผูกกับศีลธรรม ขณะที่ความจริงแล้วเป็นเรื่องการจัดการทางกฎหมาย ทาง Social Order กระบวนการทางสังคม นี่น่าจะเป็นโจทย์ท้าทายที่ใหญ่กว่าผู้ว่าฯ กทม. แต่ในเบื้องต้นระดับย่อย ผู้ว่าฯ กทม. ก็มีหน้าที่อำนวยความสะดวกดูแลทุกข์-สุข ดูความเป็นอยู่ของประชาชนที่อยู่ กทม.    

  • กรุงเทพฯ คือ โอกาส คนเข้ามาด้วยเป้าหมายเศรษฐกิจ 

 

ผศ.ดร.ธานีกล่าวว่า ใน กทม. มีประชากรแฝง 3 ล้านคน ทั้งประเทศ 8 ล้านคน ในขณะที่ก่อนโควิดใน กทม. มี 3.5 ล้านคนขึ้นไป ถือว่าลดลงพอสมควร เพราะคนกลับต่างจังหวัด โควิดกระทบเศรษฐกิจ เพราะเป้าหมายของประชากรแฝงใน กทม. คือการหารายได้ ต้องยอมรับว่าการพัฒนาของประเทศไทยไม่ได้สมดุล

 

กทม. เป็นโอกาส ซึ่งมีข้อถกเถียงว่าเป็นโอกาสจริงๆ หรือเปล่า แต่ในมุมมองของคนที่อยู่พื้นที่อื่นๆ เห็น กทม. เป็นโอกาส จึงมาด้วยเป้าหมายเศรษฐกิจเป็นหลัก 

 

ผู้ดำเนินรายการถามถึงความเหลื่อมล้ำ 

 

ผศ.ดร.ธานีกล่าวว่า คนจนเมืองกับประชากรแฝง คน 2 กลุ่มนี้มีความทับซ้อนกันพอสมควร คนจนเมืองจำนวนหนึ่งมีทะเบียนบ้านอยู่ใน กทม. มีสิทธิเลือกตั้งเป็นลูกค้าผู้ว่าฯ กทม. นโยบายที่เกี่ยวข้องคนกลุ่มนี้คือ ที่อยู่อาศัย การเดินทาง สวัสดิการ เป็น 3 นโยบายหลักๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนจนเมือง

 

กลุ่มที่ปนอยู่กับคนจนเมืองมีประชากรแฝงประมาณ 3.5 ล้านคนใน กทม. คนกลุ่มนี้ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน ในทางการเมืองเขาไม่ใช่ลูกค้าของผู้ว่าฯ กทม. เพราะว่าเขาไม่มีสิทธิลงคะแนนให้ผู้ว่าฯ กทม. แต่เขาเป็นกลุ่มคนที่สร้างเศรษฐกิจให้ กทม. ทีนี้โจทย์จะเริ่มซับซ้อน พอเห็นแบบนี้ไม่ได้แปลว่าเราจะไล่เขาออกไป หรือห้ามเขาเข้ามา เพราะเขาเข้ามาสร้างเศรษฐกิจใน กทม. แต่เขาไม่มีสิทธิเลือกผู้ว่าฯ เศรษฐกิจใน กทม. ก็ไม่เข้ากระเป๋า กทม. ทั้งหมด เพราะภาษีจำนวนหนึ่งไปอยู่กับรัฐบาลกลาง ภาษีจำนวนหนึ่งอยู่ใน กทม. ฉะนั้นจึงมีความซับซ้อน 

 

ประชากรแฝงมี 2 ประเภท 

 

  1. แฝงกลางคืน นอนใน กทม. จำนวน 2.5 ล้านคน
  2. แฝงกลางวัน เช่น ตนเองบ้านอยู่สมุทรปราการ เข้ามาทำงานใน กทม. มีคนเข้ามาทำงาน 5 แสนคน เข้ามาเรียนมาเรียนประมาณ 1 แสนคน

 

ประเด็นคือ ความเหลื่อมล้ำระหว่างเมือง คนละโจทย์กับคนจนเมือง ความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองก็คือ ทำไมนักเรียนจำนวนมากต้องมาเรียนใน กทม. ก็เพราะการศึกษากระจุกตัวใน กทม. 

 

ทำไมคนทำงานจำนวนมากต้องมาทำงานใน กทม. ก็เพราะความเจริญอยู่ใน กทม. เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นคนจนเมืองและประชากรแฝง ถ้าจะเชื่อมโยงประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ มันเป็นความเหลื่อมล้ำ 2 เรื่องที่ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน แต่เป็นความเหลื่อมล้ำเหมือนกัน 

 

การจัดบริการสาธารณะภายใต้ความเหลื่อมล้ำเป็นโจทย์ยาก มีผู้สมัครพูดถึงการมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายให้บริการสาธารณะแมสขึ้น อีกอันคือนโยบายสร้างงานสร้างเศรษฐกิจที่ทำให้ทุกคนมีงานทำ แปลว่ายกระดับให้ความเหลื่อมล้ำลดลง

 

คนจนเมืองใน กทม. ทำงานหลักๆ 5 เรื่อง ทำงานที่บ้าน, มอเตอร์ไซค์รับจ้าง, ลูกจ้างทำงานบ้าน, หาบเร่แผงลอย, ขายของตลาดสด 

 

โจทย์ยากของผู้ว่าฯ กทม. คือประชากรแฝงที่ไม่มีทะเบียนบ้านอยู่ใน กทม. แต่เข้ามาหางานทำ เข้ามาอยู่ใน กทม. คนเหล่านี้ไม่ได้เป็นลูกค้าโดยตรงของแคนดิเดตผู้ว่าฯ ประเด็นของเขาคือความเหลื่อมล้ำระหว่างจังหวัด ไม่ใช่ความเหลื่อมล้ำใน กทม. 

 

เพราะฉะนั้นถ้า กทม. ได้ผู้ว่าฯ พัฒนาดีเท่าไร ยิ่งดูดประชากรแฝงจากทั้งประเทศเข้ามามากขึ้นไปอีก แปลว่าเก็บภาษีคน กทม. ถ้าไม่มีการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางเลย กำลังเก็บภาษีผู้อยู่อาศัยใน กทม. อุดหนุนคนทั้งประเทศ ซึ่งในเชิงจริยธรรมไม่ผิดอยู่แล้ว เพราะว่าจริงๆ ทุกคนมีสิทธิได้รับการอุดหนุน แต่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยเหมือนไม่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าปัญหาใน กทม. ทำให้การบริหารจัดการงบประมาณยาก เพราะ กทม. เหลืองบปี 2565 สองหมื่นกว่าล้านบาท

 

คำถามคือ จะทำอะไรได้แค่ไหน บริหารทรัพย์สิน 2 แสนล้านบาท จะมีรายได้แค่ไหน ยิ่งผู้ว่าฯ เก่งเท่าไร ยิ่งดึงดูดประชากรแฝงเข้ามามากขึ้น จะจัดการอย่างไร

 

กทม. กลายเป็นที่แบกรับประชากรทั้งประเทศจำนวนหนึ่งที่เข้ามาอยู่ นโยบายใหญ่มี 2 เรื่อง

 

  1. โจทย์ใหญ่เรื่องการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลกลาง ในระยะสั้นแปลว่า กระบวนการอุดหนุนทางด้านภาษีเก็บไปจากการพัฒนาเศรษฐกิจใน กทม. ที่เข้าสู่รัฐบาลกลางแล้วไปกระจาย ส่วนหนึ่งอาจต้องกลับมาดูประชากรแฝงใน กทม. ด้วย หรือการกระจายความเจริญในพื้นที่

 

  1. มีผู้สมัครพูดถึงแต่ยังไม่เห็นเป็นจุดเน้น คือมอง กทม. เป็นเมืองเศรษฐกิจที่ทันสมัยได้ไหม แปลว่าใช้ระบบดิจิทัลหรือระบบออนไลน์สร้างเศรษฐกิจใน กทม. สร้างมูลค่าเพิ่มใน กทม. โดยที่คนผลิตไม่ต้องอยู่ใน กทม. 

 

ศูนย์กลางการเงิน ศูนย์กลางการบริหารจัดการต่างๆ อยู่ใน กทม. ที่เหลือก็ผลิตจากที่อื่น ทำให้ กทม. แออัดน้อยลงและพัฒนาทั้งประเทศไทย โจทย์นี้เริ่มต้นจากผู้ว่าฯ ได้ แต่สำเร็จหรือไม่อยู่ที่รัฐบาลกลาง คล้ายๆ สิงคโปร์ สร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศ โดยใช้ประโยชน์จากการผลิตของประเทศในอาเซียน

 

ผศ.ดร.ธานีกล่าวถึงจุดเน้นนโยบายของแคนดิเดตผู้ว่าฯ แต่ละคน ซึ่งมีทั้งผู้สมัครที่มีและไม่มีฐานข้อมูลทะเบียนบ้านว่า แคนดิเดตผู้ว่าฯ ที่มาจากพรรคการเมืองที่มีฐานเสียงเดิม เขารู้ว่าใครเป็นผู้มีทะเบียนบ้านอยู่ใน กทม. เพราะฉะนั้นเขาจะรู้ว่าต้องเข้าหาคนกลุ่มไหน ผู้นำชุมชนแบบไหน หรือในกลุ่มชุมชนแบบไหน เราจะเห็นนโยบายเน้นเรื่องอื่นมากกว่าการสร้างรายได้ของผู้มีรายได้น้อย เช่น โครงสร้างพื้นฐานใหญ่ๆ 

 

ส่วนแคนดิเดตผู้ว่าฯ ที่ไม่มีฐานจากพรรคการเมือง ไม่รู้ว่าใครมีทะเบียนบ้านใน กทม. หรือไม่ แคนดิเดตกลุ่มนี้จะชูนโยบายเศรษฐกิจสำหรับฐานราก เพราะจะได้กลุ่มทั้งหมดไม่ว่าจะอยู่หรือไม่อยู่ใน กทม. ซึ่งเป็นโจทย์การแข่งขันที่รุนแรง เพราะการมีนโยบายเศรษฐกิจสำหรับฐานราก ไม่ว่าจะเป็นคนมีทะเบียนบ้านใน กทม. หรือไม่ก็ตาม แข่งขันกับความสัมพันธ์ส่วนบุคคลกับผู้นำชุมชน หรือความสัมพันธ์กับ ส.ก. ของเขต ที่คนจะตัดสินใจเลือกจากนโยบายแบบนี้ หรือเลือกจากความสัมพันธ์เดิมกับผลประโยชน์ที่ตัวเองเคยได้     

      

ผศ.ดร.ธานีกล่าวถึงพื้นที่การชุมนุมว่า เราควรจะชุมนุมที่ไหนก็ได้ตราบใดที่ไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งคีย์หลักอยู่ที่คำว่า ผิดกฎหมาย เพราะโดยปกติกระบวนการทั่วไป ถ้าประชาชนมีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย กฎหมายนั้นจะเป็นข้อตกลงร่วมของสังคม ทำให้คนเคารพ เราจะชุมนุมตรงไหนก็ได้ที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่ปัญหาคือ ในสังคมที่คนไม่ได้มีส่วนร่วมออกกฎหมาย และกฎหมายออกโดยผู้มีอำนาจ กฎหมายกลายเป็นเครื่องมือที่ไปกำกับให้คนไม่สามารถชุมนุมได้ หรือชุมนุมได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ แล้วก็ไปใช้ข้ออ้างทางกฎหมายในการไล่จับ กำชับไม่ให้ชุมนุม เพราะฉะนั้นนี่เป็นโจทย์ใหญ่ แต่ในเบื้องต้นโดยหลักภาพรวมคือ ควรจะชุมนุมได้ตราบใดที่ไม่ผิดกฎหมาย 

 

นำมาสู่ประเด็นที่ 2 ที่เกี่ยวพันกับการมีส่วนร่วมในการออกแบบงบประมาณทั้งหลาย จริงๆ ถ้าเราสามารถมี E-Voting หรือการมีส่วนร่วมต่างๆ ในการออกกฎอะไรบางอย่างที่เป็นของ กทม. ซึ่งระบบดิจิทัลจะเข้ามา แล้วก็ให้ฟังเสียงประชาชน หรือให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการโหวต นอกเหนือไปจากเรื่องงบประมาณ คิดว่าก็น่าจะเป็นโจทย์ที่น่าสนใจ เพราะการมีส่วนร่วมไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องงบประมาณก็ได้ เรื่องกฎก็ได้ ถึงจะไม่เอาตามผลโหวต แต่อย่างน้อยจะได้เห็นว่าเสียงของคน กทม. อยากได้แบบไหนมาก-น้อยกว่ากัน                

 

ส่วนนโยบายที่อยากให้ผู้ว่าฯ กทม. ทำเป็นเรื่องแรก มองเรื่องเศรษฐกิจ นโยบายเกี่ยวกับการหารายได้ของ กทม. เอง ไม่ว่าจะเรื่องภาษี หรือเรื่องที่อยู่ในอำนาจ กทม. สำคัญมาก เวลาที่เราจะดูแล กทม. ให้ดี รายได้เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งอันนี้ยังเห็นน้อย รวมทั้งเรื่องการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ในภาครัฐ ที่จะมีผลต่อการดูแลประชากรแฝงใน กทม.  

 

 

ภาพ: Faculty of Economics, Chulalongkorn University, Thailand

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising