วันนี้ (19 กันยายน) เวลา 21.51 น. ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อ 14 ปีที่แล้ว พร้อมแสดงความหวังสำหรับการต่อสู้ในการชุมนุมวันนี้ว่า
19 กันยายน 2549 ถึง 19 กันยายน 2563: ประสบการณ์ของผมกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
วันนี้เมื่อ 14 ปีที่แล้ว ผมกำลังเจรจาธุรกิจอยู่กับบริษัทคู่ค้า เมื่อมีสายโทรศัพท์จากประเทศไทยโทรเข้ามาว่าเกิดการทำรัฐประหารขึ้น
เมื่อผมกลับถึงประเทศไทยในสัปดาห์ต่อมา ผมได้เข้าร่วมแสดงจุดยืนทางการเมืองต่อต้านการทำรัฐประหารกับกลุ่ม ‘19 กันยา’ ตามแต่เวลาและโอกาสจะอำนวย
หลังจากนั้นผมก็พยายามมีส่วนร่วมทางการเมือง เพื่อผลักดันวาระประชาธิปไตยอย่างแข็งขันมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการร่วมรณรงค์ไม่รับรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 50 และ 60 ในกระบวนการประชามติ, การแสดงจุดยืนทางการเมืองไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อเปิดทางในเกิดการทำรัฐประหาร, การแสดงพลังในฐานะพลเมือง เข้าร่วมการเสวนาและการชุมนุมต่างๆ ของฝ่ายประชาธิปไตย (และได้รู้จักปิยบุตรครั้งแรกก็จากการเข้าฟังเสวนาของคณะนิติราษฎร์), ใช้คะแนนเสียงของตนเองลงคะแนนเลือกพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554, แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการบอยคอตการเลือกตั้งและการปิดคูหาการเลือกตั้ง
และนำมาสู่การรวมกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์คล้ายกันก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว
14 ปีผ่านมา ถึงแม้ว่าเรายังไม่สามารถสถาปนารัฐที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนได้ แต่วันนี้เรามีความหวังที่สุด
สายธารประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมเริ่มต้นอีกครั้ง
บทใหม่ของการต่อสู้กำลังถูกเขียนขึ้นด้วยมือของประชาชนและคนหนุ่มสาว
และครั้งนี้ ภายใต้บริบททางสังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป เราจะไม่แพ้
ทำความเข้าใจร่วมกันว่าวันนี้ไม่ใช่สงครามครั้งสุดท้าย แต่เราจะต้องต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กันอีกยาว หากถอยหมดแรงระหว่างทาง คนหนุ่มสาวที่กล้าหาญก้าวออกมานำการต่อสู้จะไม่มีใครปกป้อง
มีแต่การแสดงพลังอย่างแข็งขัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สนับสนุนปกป้องกันและกัน ท้าทายอำนาจอยุติธรรมไปด้วยกัน พร้อมจะลงทุนลงแรงด้วยกันยาวๆ เท่านั้นที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงได้
เริ่มจากการล้ม ‘ระบบประยุทธ์’ ด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับและรายมาตราไปพร้อมๆ กัน
ปฏิรูประบบราชการ ยุติรัฐราชการรวมศูนย์ จัดสมดุลให้อำนาจอิสระทางการบริหารและจัดงบประมาณแก่ท้องถิ่นมากขึ้น
ปฏิรูปกองทัพ ให้กองทัพเคารพในสิทธิมนุษยชน ปกป้องรักษาประชาธิปไตย และอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง
ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมรวมถึงองค์กรอิสระ เพื่อไม่ให้ความยุติธรรมถูกใช้มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง และสร้างการบังคับใช้กฎหมายสองมาตรฐานอีก
ปฏิรูประบบเศรษฐกิจ ยุติการผูกขาดของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่สร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมหาศาล กลุ่มทุนเหล่านี้สนับสนุนการทำรัฐบาลครั้งแล้วครั้งเล่า กลุ่มทุนเหล่านี้ไม่เคยสนับสนุนประชาธิปไตย และเป็นส่วนหนึ่งของระบอบอภิสิทธิ์ชนที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันกับผู้นำกองทัพ, ข้าราชการระดับสูง และชนชั้นนำจารีต มาตลอด
ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพื่อให้สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมืองและอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ อำนาจและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ต้องสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะทำให้สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่คู่สังคมประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน
จะทำทั้งหมดนี้ได้อาจต้องใช้เวลาอีกสิบปี ขอให้พวกเราประชาชนที่รักความเป็นธรรมยืนเคียงข้างกัน ต่อสู้ร่วมกัน จนกว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็นจริง
จนกว่าอำนาจสูงสุดจะเป็นของประชาชน
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล