×

ธนาธร ค้านแผนฟื้นฟูการบินไทยดึงกลับเป็นรัฐวิสาหกิจ ประชาชนเป็นผู้แบก แต่กลุ่มทุนได้ประโยชน์

โดย THE STANDARD TEAM
20.05.2021
  • LOADING...
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

วันนี้ (20 พฤษภาคม) ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้โพสต์ข้อความลงเพจเฟซบุ๊ก Thanathorn Juangroongruangkit – ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถึงกรณีแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยที่เจ้าหนี้เห็นชอบล่าสุดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา

 

ธนาธรโพสต์ข้อความระบุว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพราะแผนฟื้นฟูกิจการฉบับนี้จะทำให้การบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้ง และหากเกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคต ภาษีประชาชนจะต้องถูกนำไปอุ้มการบินไทยอีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ธนาธรระบุต่อไปว่า การที่รัฐบาลตัดสินใจให้แผนฟื้นฟูนี้ผ่าน ทั้งๆ ที่ไม่สมเหตุสมผลทางธุรกิจ ไม่มีการปรับโครงสร้างงบการเงินอย่างมีนัยสำคัญ เป็นเพราะ พล.อ. ประยุทธ์ รู้สึกไม่มั่นคงกับสถานะทางการเมืองของตนเอง จึงไม่อยากเผชิญหน้าใครเพื่อผลักดันแนวทางที่ควรจะเป็น เพราะอาจจะเสียพันธมิตรและเสียคะแนนนิยมทางการเมือง

 

“ไม่มีที่ไหนเขาทำกัน ที่บริษัทขนาดใหญ่จะผ่านกระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยยังคงมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินถึงประมาณ 1.2 แสนล้านบาท เหตุผลสำคัญที่เจ้าหนี้และผู้เกี่ยวข้องสนับสนุนแผนฟื้นฟูนี้คือความเชื่อที่ว่า หาก ‘การบินไทย’ เกิดปัญหาอีกในอนาคต รัฐบาลจะเข้ามาอุ้มการบินไทยต่อไปเรื่อยๆ ความคิดเช่นนี้จะไม่ทำให้เกิดการพัฒนาหรือนวัตกรรมขึ้นในการบินไทย การบินไทยจะยังเป็นเด็กที่ไม่รู้จักโต ไม่สามารถยืนได้ด้วยตัวเองในการแข่งขันระดับโลก รอคอยการช่วยเหลือจากรัฐตลอดเวลา” ธนาธรระบุ

 

ธนาธรยังระบุอีกว่า แผนฟื้นฟูฉบับนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า การบินไทยที่ปรับโครงสร้างการบริหาร เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายแล้ว จะสามารถทำกำไรก่อนภาษีได้เฉลี่ยปีละ 1.8 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่ปี 2566-2578 ติดกันเป็นเวลา 13 ปี ซึ่งจะทำให้บริษัทล้างยอดขาดทุนสะสมได้หมด

 

แต่ภาวะวิกฤตอาจเกิดขึ้นได้เสมอ และเพียงมีวิกฤตใดก็ตามอีกสักครั้งในช่วง 13 ปีนี้ การบินไทยอาจต้องเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการอีกรอบ และรอบหน้าอาจต้องใช้เงินภาษีประชาชนอุ้มการบินไทยมากกว่านี้

 

และอย่าลืมว่า การคาดการณ์ว่าการบินไทยจะกำไรติดต่อกัน 13 ปี ปีละเกือบ 2 หมื่นล้านบาท ทันทีที่พ้นวิกฤตโควิด-19 ก็ออกจะมองโลกในแง่ดีเกินจริงไปมาก เพราะในช่วงปี 2558-2562 ซึ่งยังไม่มีโควิด-19 การบินไทยยังขาดทุนไปแล้ว 4.1 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 8.2 พันล้านบาท

 

การแก้ปัญหาเช่นนี้ กลุ่มที่ได้รับประโยชน์กลุ่มสำคัญคือกลุ่มทุนธนาคารที่ใกล้ชิดกับคณะรัฐประหาร และเคยร่วมอยู่ในโครงการทุนประชารัฐ ส่วนคนที่เสียประโยชน์มากที่สุดคือประชาชน ที่ต้องนำเงินไปค้ำประกันเงินกู้ให้กับการบินไทย

 

ที่สำคัญกว่านั้น การดึงการบินไทยกลับเป็นรัฐวิสาหกิจอาจส่งผลกระทบกับเสรีภาพการเดินทางของประชาชน การเปิดน่านฟ้าเสรีในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้ค่าตั๋วเครื่องบินถูกลง ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการเดินทางมากขึ้น ประชาชนสามารถเดินทางค้าขายติดต่อธุรกิจได้อย่างว่องไวมากขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น มีทางเลือกมากขึ้น และค่าใช้จ่ายน้อยลง

 

“การผลักดันให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจการบิน การเปิดน่านฟ้าเสรีจึงสำคัญกว่าการปกป้องการบินไทย สถานการณ์เดินมาไกลมากแล้ว ความเห็นของผมในวันนี้คงเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ แต่หากผมเป็นนายกรัฐมนตรี ผมจะอธิบายให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าใจว่า การยอมรับการเจ็บปวดในระยะสั้น แก้ปัญหาอย่างตรงไปตรงมา เพื่อผลประโยชน์ของบริษัทและของประชาชนในระยะยาว ย่อมดีกว่าการเลี่ยงเผชิญหน้ากับปัญหาเช่นนี้” ธนาธรระบุในท้ายที่สุด

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising