วันนี้ (20 พฤศจิกายน) สมาชิกรัฐสภาอาเซียนออกแถลงการณ์จากกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย แสดงความผิดหวังต่อคําตัดสินของศาลในวันนี้ ซึ่งเพิกถอนสถานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และเรียกร้องให้หยุดนํากฎหมายมาเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งสมาชิกพรรคฝ่ายค้านและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
ธนาธรถูกตัดสินว่ามีความผิดตามมาตรา 98 (3) ตามรัฐธรรมนูญ ในข้อหามีหุ้นสื่อฯ ขณะที่ลงสมัครเลือกตั้งในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พอในวันที่ 23 พฤษภาคม ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ธนาธรหยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกรัฐสภาระหว่างการพิจารณาคดี แต่ตอนนี้สถานะการเป็นสมาชิกรัฐสภาของเขาถูกเพิกถอน ธนาธรกล่าวว่าเขาขายหุ้นสื่อไปเมื่อเดือนมกราคม 2562
“การตัดสินในวันนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าถึงแม้จะมีการเลือกตั้งในปีนี้ ผู้มีอํานาจของไทยก็ยังไม่พร้อมจะมีประชาธิปไตยที่โปร่งใสและเป็นอิสระ” ชาร์ลส์ ซานติอาโก สมาชิกรัฐสภามาเลเซียและประธานกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR) กล่าว
“คดีนี้ควรได้รับการพิจารณาจากบริบทที่กว้างกว่าที่สมาชิกรัฐสภาฝ่ายค้านและพรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคอนาคตใหม่ ถูกเลือกปฏิบัติโดยสถาบันที่ว่ากันว่าเป็นอิสระ สัญญาณทุกอย่างบ่งชี้ว่านี่คือความพยายามของหลายฝ่ายในการปิดปากพรรคการเมืองที่สั่นคลอนสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากพรรคพยายามจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ”
พรรคอนาคตใหม่ชนะการเลือกตั้งมาเป็นลําดับที่ 3 ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา และได้ที่นั่ง 80 ที่ในรัฐสภา ในฐานะฝ่ายค้าน พรรคได้ตั้งคําถามอย่างสม่ำเสมอต่อบทบาทของทหารในการเมืองไทย ตั้งแต่นั้นมาผู้มีอํานาจก็ใช้กฎหมายกลั่นแกล้งพรรคและสมาชิกพรรค
ณ ปัจจุบันสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ถูกฟ้องกว่า 27 คดี ซึ่งรวมถึงคดีที่ฟ้อง พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค และปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการของพรรค คดีที่อยู่ระหว่างการฟ้องเหล่านี้รวมถึงคดีหมิ่นศาลตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และข้อหายุยงปลุกปั่น หนึ่งในคดีเหล่านี้อาจนําไปสู่การยุบพรรคได้
คดีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาก็เป็นเหตุมาจากคําร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากต่อการจัดการการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม องค์กรภาคประชาสังคมก็ตั้งคําถามกับความเป็นอิสระของศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน เพราะมีคําสั่ง คสช. ซึ่งขยายเวลาการดํารงตําแหน่งของผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเองก็ถูกมองว่าลําเอียงต่อทหารและพันธมิตรของทหาร ซึ่งรวมถึงข้อเท็จจริงที่เมื่อพรรคอนาคตใหม่ยื่นคําร้องต่อสมาชิกรัฐสภาคนอื่นๆ 41 คน ซึ่งต่างมีหุ้นในสื่อฯ แต่กลับไม่มีสมาชิกรัฐสภาคนใดถูกสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่
APHR กล่าวว่าถึงแม้ว่าจะมีการกล่าวอ้างว่าการปกครองของรัฐบาลทหารได้สิ้นสุดไปแล้ว คดีความจํานวนมากที่ดําเนินต่อสมาชิกฝ่ายค้านแสดงให้เห็นว่ายังคงมีการจํากัดเสรีภาพในการแสดงออกและความไม่อดทนอดกลั้นต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐบาลและอิทธิพลของทหาร
“ภายใต้การแสดงตนว่าเป็นประชาธิปไตย ระบอบการปกครองซึ่งกดขี่ของไทยยังคงโจมตีสมาชิกฝ่ายค้านด้วยคดี เป็นที่ชัดเจนว่าพรรคอนาคตใหม่ตกเป็นเป้าเพราะผลเลือกตั้งที่น่าตกใจของพรรคและการต่อต้านทหาร ซึ่งมีอํานาจการริบที่นั่งในสภาของหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่คือการริบเสียงของผู้ที่ไปเลือกตั้ง การโจมตีพรรคฝ่ายค้านพรรคใดก็ตามคือการโจมตีโดยตรงต่อเสรีภาพในการพูดและประชาธิปไตย” เอวา ซุนดารี อดีตสมาชิกรัฐสภาอินโดนีเซียและสมาชิก APHR กล่าว
ในเดือนสิงหาคม APHR ออกข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย เรียกร้องให้ผู้มีอํานาจฟื้นคืนประชาธิปไตยและเคารพเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
APHR กังวลว่าการตัดสินในวันนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของแนวโน้มและความเป็นไปที่น่ากังวลในระดับภูมิภาคที่ผู้มีอํานาจพยายามปิดปากสมาชิกพรรคฝ่ายค้านโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือและใช้ตอบโต้ในรูปแบบต่างๆ และวันนี้ยังเป็นวันครบรอบ 1,000 วันที่สมาชิกวุฒิสภา ไลลา เดอ ลิมา ถูกกักตัว
“ข้อหาต่อสมาชิกวุฒิสภา ไลลา เดอ ลิมา เป็นข้อหาที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองและเป็นผลมาจากการทํางานของเธอในการหยุดสงครามต้านยาเสพติดอันกระหายเลือดของ โรดริโก ดูเตร์เต ข้อหาทุกอย่างควรถูกยกฟ้อง เธอต้องได้รับการปล่อยตัวทันทีและต้องได้รับอนุญาตให้ทําหน้าที่ในฐานะวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งในสภาของชาติ” มู โสชัว อดีตสมาชิกรัฐสภากัมพูชาและสมาชิก APHR กล่าว
“สมาชิกรัฐสภากําลังถูกไล่ล่าและจําคุกเพียงเพราะทํางานเพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลอํานาจบริหาร และนี่เป็นภยันตรายต่อทุกคนในฐานะสมาชิกรัฐสภาด้วยกัน เราจะดําเนินการสนับสนุนในทุกระดับต่อไปเพื่อให้แน่ใจว่าเพื่อนร่วมงานของเราในระดับภูมิภาคสามารถทํางานโดยปราศจากความกลัวและการถูกโต้กลับ”
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์