วันนี้ (22 พฤษภาคม) เวลา 20.00 น. ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และแกนนำคณะก้าวหน้า ไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘6 ปีรัฐประหาร 90 วัน ปฏิรูปกองทัพ ได้เวลาทวงสัญญาประชาชน’ เนื่องในโอกาสครบรอบ 6 ปีการทำรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และครบรอบคำสัญญาของ พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ที่ได้ให้สัญญาถึงการปฏิรูปกองทัพให้เสร็จในเฟสแรกช่วง 90 วัน ซึ่งครบกำหนดเมื่อ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่า ถ้าย้อนกลับไป 22 พฤษภาคม 2557 คณะ คสช. ได้ทำการยึดอำนาจประชาชน และแม้หลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 คสช. จะหมดบทบาทไป แต่ไม่ได้หมายความว่าการสืบทอดอำนาจจากการทำรัฐประหารจะหมดไป วันนี้เรายังยังอยู่ใต้เงาทะมึนของการทำรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557
“6 ปีที่ผ่านมา ความเหลื่อมล้ำ ช่องว่างคนจนกับคนรวยห่างขึ้นทุกวัน ประเทศไทยไม่สามารถก้าวตามโลกาภิวัตน์ได้ ขีดการแข่งขันประเทศเทียบกับเพื่อนบ้านตกต่ำเรื่อยๆ พี่น้องเจอพิษเศรษฐกิจแสนสาหัส ซึ่ง 6 ปีพิสูจน์แล้วว่าแก้ปัญหาประเทศไม่ได้ ทั้งยังเป็นสิ่งตกค้างไม่สามารถพาประเทศไปไกลกว่านี้ได้ ซึ่งความอัดอั้นตันใจของพี่น้องประชาชน แสดงออกชัดที่สุดหลังเหตุการณ์กราดยิงที่โคราช เราได้ยินเสียงเรียกร้องอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ไม่ว่าจะจากประชาชน ทหารชั้นผู้น้อย สื่อมวลชน นักการเมือง รวมถึง ผบ.ทบ. และนายกรัฐมนตรีก็ออกมาพูดพร้อมกันหมด เป็นฉันทามติว่าต้องปฏิรูปกองทัพ นี่คือช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นที่สุดของประวัติศาสตร์ นี่คือช่วงเวลาที่เราจะทำภารกิจแห่งประวัติศาสตร์ให้เป็นจริงได้ เพราะได้รับเสียงสนับสนุนทุกหมู่เหล่ามากที่สุด อย่าปล่อยให้คนธรรมดา 30 ชีวิตที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ที่โคราชตายฟรี ชีวิตของพวกเขาควรจะมีความหมายว่าได้ปลุกวาระการปฏิรูปกองทัพให้เกิดขึ้นในสังคมไทย” ธนาธร กล่าว
ลุยสนามกอล์ฟ ทบ. พบยังไม่ได้ให้เอกชนบริหาร-จี้เปิดประมูลสาธารณะ
ธนาธรกล่าวด้วยว่า เรื่องที่ ผบ.ทบ. สัญญาว่าจะปฏิรูป เช่น นำธุรกิจกองทัพในที่ดินราชพัสดุออกมาให้เอกชนดำเนินการแล้วแบ่งรายได้ให้กระทรวงการคลัง ยกตัวอย่าง สนามมวยลุมพินี โรงแรมสวนสนประดิพัทธ์ สนามกอล์ฟสวนสนประดิพัทธ์ ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งสัปดาห์ก่อนหลังจากครบกำหนดคำสัญญาปฏิรูปกองทัพครบ 90 วันแล้ว ตนได้มีโอกาสไปตีกอล์ฟที่สนามนี้ โดยหลังใช้บริการ นำใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษีอย่างย่อมาดู พบว่ายังไม่มีการให้เอกชนที่เป็นมืออาชีพมาบริหาร ตรวจสอบหมายเลขผู้เสียภาษียังพบว่าเป็นของกองทัพบกอยู่ หมายความว่าจนถึงตอนนี้ การบริหารจัดการยังอยู่ภายใต้กองทัพบก ไม่มีหลักฐานใดว่าโอนให้กับเอกชนบริหารจัดการเรียบร้อยแล้ว ทั้งที่ตามข่าวเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2563 ระบุว่า จะให้โรงแรมดุสิตธานีเข้าบริหารภายใน 1 เมษายน 2563 ซึ่งการจะให้เอกชนเข้ามาจัดการนั้นมีระเบียบราชการ 2 ส่วน คือของสำนักนายกรัฐมนตรี กับระเบียบกระทรวงการคลัง โดยถ้าใช้ระเบียบกระทรวงการคลัง ต้องเปิดให้มีการประมูล ส่วนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีทำกันเองได้ไม่ต้องเปิดประมูล
“เชื่อว่ากรณีนี้เลือกใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่ไม่ต้องเปิดให้มีการประมูล แต่ปัญหาว่าโรงแรมและสนามกอล์ฟซึ่งการลงทุนตามที่ประเมินน่าจะไม่ต่ำกว่า 300-400 ล้านบาท แต่เรากำลังให้เอกชนบริหารโดยไม่ต้องเปิดประมูล โดยอ้างว่าเป็นการจัดสวัสดิการภายใน และถ้าแบ่ง 10 เปอร์เซ็นต์จากเอกชนให้คลัง นี่เป็นวิธีการดีที่สุดสำหรับการใช้ที่ดินผืนนี้หรือไม่ เพราะคลังได้เพียงแค่10 เปอร์เซ็นต์ อีก 90 เปอร์เซ็นต์กองทัพจัดการเอง ดังนั้นข้อเสนอของเราคือ ต้องเปิดประมูลให้เป็นสาธารณะ โดยใช้ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุ ให้มีการเปิดประมูล เมื่อประมูลแล้วได้เท่าไรส่งเข้าคลังให้หมด ส่วนสวัสดิการของกองทัพส่วนนี้จะใช้เท่าไร ขอในงบประมาณแผ่นดินปกติ ผ่านสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอย่างนี้จะทำให้โปร่งใส ตรวจสอบได้” ธนาธร กล่าว
เผยความคลุมเครือ ‘บ.อาร์มี่’ รัฐ-เอกชน ผลประโยชน์ทับซ้อนคลุมเครือ
ธนาธรกล่าวต่อว่า อีกเรื่องที่เราได้ตรวจสอบคือกรณีของสโมสรฟุตบอลอาร์มี่ ยูไนเต็ด ซึ่งตามข่าวบอกว่าได้ยุบไปแล้วนั้น เมื่อลองไปตรวจสอบย้อนหลังพบว่า สโมสรบริหารโดยบริษัท อาร์มี่ ฟุตบอล จำกัด ซึ่งก่อตั้งปี 2552 ทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท ปัญหาคือบริษัทนี้ไม่ได้บริหารหรือเป็นเจ้าของแต่เพียงสโมสรอาร์มี่ ยูไนเต็ด เท่านั้น แต่ยังบริหารสโมสรทหารบก เอฟซีด้วย ซึ่งตั้งแต่จดจัดตั้งจนถึงทุกวันนี้ รายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัททั้งหมดนั้นเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ และหลายคนยังรับราชการอยู่ นั่นหมายความว่าบริษัท อาร์มี่ ฟุตบอล จำกัด บริหารสโมสรฟุตบอล 2 สโมสร โดยใช้ลิขสิทธิ์ชื่อกองทัพบก ใช้เวลาราชการ ใช้สนามกองทัพบก ใช้บุคลากรกรกองทัพ ใช้พื้นที่สำนักงานกองทัพ ใช้ทรัพยากรต่างๆ ของกองทัพบก แต่เป็นบริษัทเอกชน ถามว่าผู้บริหารหลายคนที่เป็นนายทหารนั้นแบ่งเวลาอย่างไร เรื่องไหนเป็นเรื่องบริษัทจำกัดที่ตนเองถือหุ้นอยู่ และเรื่องไหนเป็นเรื่องของราชการ หรือท่านปฏิบัติ 2 หน้าที่ในเวลาเดียวกัน และนอกจากระดับนายทหารแล้ว เรายังพบว่ามีการใช้ข้าราชการระดับปฏิบัติการไปทำหน้าที่ให้กับบริษัทด้วย เช่น หลักฐานหนังสือที่บริษัท อาร์มี่ ฟุตบอล มอบอำนาจให้บุคคลไปดำเนินการบางอย่างแทนบริษัท ซึ่งพอตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นทหารที่ยังรับราชการอยู่ ดังนั้นเราจะเห็นว่า ความเป็นเอกชนกับราชการทับซ้อนกันไปหมด และเพราะการทำให้เส้นแบ่งระหว่างรัฐกับเอกชนเบลอแบบนี้ ทำให้นายทหารชั้นผู้ใหญ่แสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้
ทั้งนี้ พล.อ. เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ เสนาธิการทหาร รองประธานและผู้อำนวยการสโมสรอาร์มี่ ยูไนเต็ด ให้สัมภาษณ์เมื่อ 29 พฤศจิกายน 2562 ว่า จริงๆ แล้วกองทัพบกมี 2 ทีมฟุตบอลคือ อาร์มี่ ยูไนเต็ด ซึ่งอยู่ลีก 2 และอีกทีมคือ กองทัพบกเอฟซี ในการดูแลกรมสวัสดิการทหารบก ซึ่งอยู่ลีก 4 และบอกด้วยว่า มีความเป็นไปได้ว่าในการหาทางออกคือเอากองทัพบกเอฟซีเปลี่ยนใหม่เป็น อาร์มี่ ยูไนเต็ด จะทำให้ตำนานทีมตั้งแต่ปี 2459 ไม่สูญหาย ไม่เสียหาย และจะใช้ทหารเป็นนักเตะ โค้ชเป็นคนไทย ซึ่งคำให้สัมภาษณ์นี้หมายความว่า ปิด 1 ทีม เหลือ 1 ทีม แต่ปัญหาก็คือสถานะก็ยังกำกวม เพราะทีมอยู่ในการดูแลของกรมสวัสดิการทหารบก แต่บริษัทเป็นเอกชน มีผู้ถือหุ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ในกองทัพ ตกลงความสัมพันธ์ระหว่างบริษัท อาร์มี่ ฟุตบอล จำกัด กับกรมสวัสดิการทหารบกเป็นอะไรกันแน่
“คำถามคือ เมื่อเป็นบริษัทเอกชน ที่ผ่านมามีการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ จ่ายค่าเช่าสนามให้รัฐหรือไม่ เงินเดือนนายทหารรับสองทางหรือไม่ ใช้ทรัพยากรหลวงทั้งหมดจ่ายเงินเข้ารัฐหรือเปล่า และคำถามสำคัญคือ ถ้าผู้ถือหุ้นเป็นนอมินีกองทัพบก ใครเป็นคนควักเงินจดทะเบียน 20 ล้านบาท นี่คือคำถามสำคัญ เพราะถ้าเอกชนเป็นเจ้าของ การตัดสินใจจะปิดเป็นของเจ้าของ เป็นของผู้ถือหุ้น ไม่ใช่ พล.อ. อภิรัชต์ นี่ยังไม่นับว่า ตกลงการสร้างทีมฟุตบอลลงแข่งลีกอาชีพเป็นพันธกิจกองทัพหรือไม่ เพราะถ้าทำดำเนินการต่ออย่างนี้ หมายความว่าต้นทุนทั้งหมดเป็นของรัฐ แต่กำไรทั้งหมดเป็นของเอกชน ถ้าโครงสร้างอย่างนี้ ปันผลเมื่อไรก็ไม่ได้เข้ากองทัพบก แต่เข้าผู้ถือหุ้น กำไรผู้ถือหุ้นเอาไป แต่ต้นทุนรัฐเป็นคนรับ เรื่องอย่างนี้ พล.อ. อภิรัชต์ ต้องตอบ ปิดแล้วยังไม่จบ และที่สำคัญหลายอย่างก็เกิดขึ้นสมัยที่ พล.อ. ประยุทธ์ เป็น ผบ.ทบ. ด้วย” ธนาธร กล่าว
จี้เปิดโปร่งใสให้สิทธิ์สนามมวยลุมพินี
ธนาธรกล่าวว่า อีกกรณีคือสนามมวยลุมพินี วันนี้เมื่อเข้าไปดูในเว็บไซต์ รายนามกรรมการบริษัทก็จะพบว่า พล.อ. อภิรัชต์ ยังคงเป็นประธานอำนวยการสนาม ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ว่ามีเอกชนเข้ามาบริหาร รวมถึงกรรมการอื่นๆ ก็เป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ทั้งหมด และเมื่อค้นดูบริษัทเกี่ยวข้องเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอด การประชาสัมพันธ์ เป็นของ บริษัท เวิร์ล สปอร์ต กรุ๊ป จำกัด ซึ่งรายงานผู้สอบบัญชีปีบัญชี 2559 หน้าแรก ระบุไว้ว่า ธุรกิจหลักคือบริหารสิทธิประโยชน์ในสนามมวยลุมพินี ซึ่งเราไม่เคยรู้มาก่อนว่าเงื่อนไขในการให้สัญญาเป็นอย่างไร ไม่เคยมีการเปิดเผยสาธารณะ ประชาชนไม่เคยรู้ และยังพบว่า มิถุนายน 2558 บริษัทนี้เข้าทำสัญญากับผู้ให้สิทธิ์รายหนึ่ง เพื่อรับสิทธิ์การดำเนินงานเกี่ยวกับการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ การบริหารสิทธิประโยชน์ในลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดและเทปการจัดการแข่งขัน โดยใช้เครื่องหมายการค้าของผู้ให้สิทธิ์ สัญญามีอายุ 5 ปี นับจากเดือนกรกฎาคม 2558 โดยมีผลตอบแทน 5 ล้านบาทภายในปี 2561 ค่าตอบแทนรายเดือน เดือนละ 2 ล้านบาท และแบ่งกำไรให้ผู้ให้สิทธิ์ร้อยละ 10 ซึ่งคู่สัญญาอนุมานได้ว่าองค์กรของกองทัพบกองค์กรหนึ่ง ปัญหาคือ เวิร์ล สปอร์ต กรุ๊ป จำกัด ก่อตั้งเดือนพฤษภาคม 2558 พอ มิถุนายน 2558 เข้าทำสัญญาบริหารสิทธิ์สนามมวย นั่นคือ 1 เดือนหลังตั้ง และจะหมดสัญญา กรกฎาคม 2563 นั่นคืออีก 2 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็จะเกิดการประมูลสิทธิ์ใหม่ คำถามคือว่า วันนี้มีสภาผู้แทนราษฎร มีการเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปกองทัพแล้ว ถามว่าต่อไปยังจะทำลับๆ ล่อๆ อีกไหม ยังจะผ่านแบบกฎเกณฑ์สวัสดิการกองทัพไหม สนามมวยนี้รัฐลงทุน เป็นภาษีประชาชน ทำไมไม่ประมูลโปร่งใส เก็บรายได้เข้าคลัง และถ้าต้องการเงินเพิ่มสวัสดิการใดๆ ก็ผ่านสภาผู้แทนราษฎรตามปกติ อย่างนี้น่าจะสง่างาม โปร่งใส และจะไม่เป็นที่ครหา
นอกจากนี้ที่ติดสนามมวยยังมีปั๊มน้ำมัน สถานบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อสวัสดิการ 17 รามอินทรา เราเข้าไปเติมน้ำมันและได้ใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษีอย่างย่อมีเลขผู้เสียภาษี ตรวจสอบแล้วเป็นของคณะบุคคล สวัสดิการภายในศูนย์รักษาความปลอดภัย โดย พล.อ. อภิชิต กานตรัตน์ ถามว่าตกลงแล้วการให้สวัสดิการเช่นนี้ให้กับคณะบุคคลทำธุรกิจ ได้ผลกำไรอย่างไร ให้เขาจัดสวัสดิการเองใช่หรือไม่ นี่เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเอาที่ดินรัฐให้คณะบุคคลซึ่งเป็นเอกชนใช้ แต่ได้กำไรอย่างไรไปจัดสวัสดิการกันเอง ทั้งๆ ที่เรื่องสวัสดิการของรัฐต้องเป็นหน้าที่ของรัฐดูแล ดังนั้นถามว่า อะไรคือเส้นแบ่งคณะบุคคลซึ่งเป็นเอกชนกับผลประโยชน์ของรัฐ นอกจากนี้ให้เชิงอรรถไว้ด้วยว่า พล.อ. อภิชิต เคยเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ขาย GT200 ให้กับกองทัพบกด้วย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum