×

ปิดดีลธนชาตควบรวม TMB สินทรัพย์ 2 ล้านล้านบาท ลูกค้า 10 ล้านคน ยันไม่ปลดพนักงาน

09.08.2019
  • LOADING...
ธนชาตควบรวม TMB

ธนาคารทีเอ็มบี (TMB: ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)) และธนาคารธนชาตได้เปิดเผยความคืบหน้าล่าสุดของกรณีการควบรวมกิจการระหว่างทั้งสองธนาคาร ทั้งการปรับโครงสร้างทางธุรกิจ, โครงสร้างผู้ถือหุ้น,​ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อทั้งลูกค้าผู้ใช้งานและพนักงานบุคลากร ตลอดจนกำหนดการคร่าวๆ อย่างไม่เป็นทางการที่ทั้งทีเอ็มบีและธนชาตคาดการณ์ว่าดีลประวัติศาสตร์ดังกล่าวจะแล้วเสร็จในปี 2564 เนื่องจากขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ ค่อนข้างมีความซับซ้อนและต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการพอสมควร

 

ตัวแทนผู้บริหารธนาคารทั้งสองแห่งระบุว่า การควบรวมกิจการของทีเอ็มบีและธนชาต ซึ่งเดิมทีเป็น ‘ธนาคารขนาดกลาง’ จะทำให้เกิดธนาคารแห่งใหม่ที่มีขนาดใหญ่และแข็งแกร่งกว่าเดิมเกือบเท่าตัว ส่งผลให้มีทรัพย์สินรวมกันกว่า 2 ล้านล้านบาท พร้อมฐานลูกค้ารวมกันราว 10 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มลูกค้าที่ทับซ้อนกันระหว่างธนาคารทั้งสองแห่งไม่ถึงสัดส่วน 10%

 

ประโยชน์การควบรวมกันครั้งนี้จะช่วยให้ธนาคารแห่งใหม่สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจและขยายตลาดได้มากขึ้น ช่วยให้เกิดผลตอบแทนที่สูงกว่าเดิม นำจุดแข็งของผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อยและรถยนต์ของธนชาตมารวมเข้ากับนวัตกรรมดิจิทัลและผลิตภัณฑ์เงินฝากที่ถือเป็นจุดแข็งของทีเอ็มบี เพื่อให้สามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่หลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกัน ซึ่งจะถือเป็นการสร้างประโยชน์กับ Stakeholders ทุกฝ่าย และเติบโตอย่างยั่งยืน

 

เมื่อถามถึงผลกระทบกับลูกค้าเดิมของทั้งสองธนาคาร ประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารธนชาต ให้ข้อมูลว่า ลูกค้าของธนชาตและทีเอ็มบีจะยังได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งบริการ-ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ได้รับในอนาคตอาจจะดีขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ

 

ด้านโครงสร้างการบริหารงาน ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ธนชาตและทีเอ็มบีจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการวางแผนการบริหารงานร่วมกัน โดยยังคงแยกการบริหารออกเป็น 2 ธนาคาร 2 ผู้บริหาร แต่ร่วมกันวางแผนและทิศทางการดำเนินงานจนถึงวันที่มีการซื้อขายหุ้นในเดือนธันวาคม (Closing Date) ก่อนจะเปลี่ยนโครงสร้างเป็น 2 ธนาคาร 1 ผู้บริหาร เพื่อช่วยกันวางแผนธุรกิจและการผนวกควบรวมธนาคารไปจนถึงช่วงกลางปี 2564

 

ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับบุคลากรเดิมของทั้งธนชาตและทีเอ็มบี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารธนชาต เผยว่า ในระหว่างนี้คงไม่สามารถปลดพนักงานได้ แต่จะมีการปรับสกิลและเพิ่มทักษะให้กับพนักงานเพิ่มเติม ขณะที่หลังควบรวมกิจการกันแล้ว ธนาคารทั้งสองแห่งก็ยังจำเป็นจะต้องใช้บุคลากรจำนวนมากเช่นเดิม เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น ดังนั้นคงไม่มีการปลดพนักงาน (หลังรวมกิจการกันแล้วช่วงกลางปี 2564 จะโอนย้ายบุคลากรของธนชาตไปอยู่กับธนาคารแห่งใหม่) ส่วนสาขาธนาคารเดิมที่อยู่ในตำแหน่งใกล้กันอาจจะต้องพิจารณาคงไว้ให้เหลือเพียงสาขาเดียว

 

ปัจจุบันธนาคารธนชาตและทีเอ็มบีมีจำนวนสาขาล่าสุดรวมกันที่ประมาณ 900 แห่ง และมีจำนวนบุคลากรรวมกันกว่า 19,000 คน ขณะที่ประเด็นการ ‘เปลี่ยนชื่อใหม่’ สมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทั้งสองธนาคารต่างก็มีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ดังนั้นระหว่างนี้คณะกรรมการบริหารของทั้งสองฝ่ายจะพิจารณาร่วมกันว่าธนาคารใหม่จะใช้ชื่ออะไร ภายใต้เงื่อนไขการสะท้อนและรักษาคุณค่าของทั้งสองธนาคารออกมาให้ได้มากที่สุด

 

กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) ยังกล่าวถึงประเด็นการปรับโครงสร้างธุรกิจอีกว่า ทุนธนชาตจะซื้อหุ้นของบริษัทลูกกลับคืนมาได้แก่ บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) บริษัทบริหารสินทรัพย์ ที เอส จำกัด บริษัท ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน)

 

ขณะเดียวกัน สำหรับการลงทุนอื่นๆ ทุนธนชาตยังได้จัดตั้ง นิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle) ประกอบด้วย SPV1 และ SPV2 เพื่อซื้อหุ้นในสัดส่วนของ TBANK กลับมายังทุนธนชาต ได้แก่ บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) และบริษัทลงทุนอื่นๆ โดยภายหลังการปรับโครงสร้างธุรกิจ TBANK จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนธนชาต จำกัด (บลจ.ธนชาต หรือ TFUND) และบริษัท ธนชาต โบรกเกอร์ จำกัด (ธนชาตโบรกเกอร์ หรือ TBROKER) ในสัดส่วน 75% และ 100% ตามลำดับ

 

ในส่วนของ บลจ. ธนชาต TBANK จะดำเนินการขายหุ้น 75% ที่ถืออยู่ใน บลจ. ธนชาต ให้แก่บุคคลภายนอก โดยคาดว่าจะสามารถขายหุ้นดังกล่าวได้สำเร็จก่อน หรือพร้อมกับการซื้อขายหุ้นระหว่างทั้ง 2 ธนาคารในครั้งนี้

 

ภายหลังการปรับโครงสร้างฯ แล้ว ทีเอ็มบีจะเสนอซื้อหุ้นสามัญของ TBANK จากผู้ถือหุ้นของ TBANK ทุกราย โดยจะชำระค่าหุ้นเป็นเงินสดและ TCAP กับ BNS จะเข้าซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ TMB รวมถึงเข้าซื้อส่วนที่ทีเอ็มบีจะเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นรายย่อยของ TBANK เพื่อให้ TCAP เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนดังกล่าวให้แก่ผู้ถือหุ้นรายย่อยของ TBANK ต่อไปในภายหลัง

 

ด้าน นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารทีเอ็มบี กล่าวเสริมถึงรายละเอียดในส่วนของทีเอ็มบีที่จะต้องดำเนินการว่า “ภายหลังจากที่เงื่อนไขบังคับก่อนตามสัญญาซื้อขายหุ้นระหว่างทีเอ็มบี TCAP และ BNS สำเร็จลง TCAP และTBANK ดำเนินการปรับโครงสร้างฯ แล้วเสร็จ และโครงการรวมกิจการได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย จึงจะเข้าสู่กระบวนการรวมกิจการ โดยมีขั้นตอนที่สำคัญ ดังนี้

 

ในช่วงเดือนกันยายน ทีเอ็มบีจะจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เพื่อขออนุมัติรายการที่เกี่ยวข้องกับการรวมกิจการ รวมถึงการเพิ่มทุนในการจัดหาเงินทุนเข้าเสนอซื้อหุ้นสามัญของ TBANK จากผู้ถือหุ้นของ TBANK ทุกราย

 

โดยทีเอ็มบีจะจัดหาเงินทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 130,000 ล้านบาทจากการออกหุ้นเพิ่มทุน (Equity Fund Raising) ซึ่งส่วนแรกนั้น จะเป็นการออกและเสนอขายหุ้นสามัญให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของธนาคาร ตามใบแสดงสิทธิ (TSR) ในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถระดมทุนจากการออกหุ้นเพิ่มในส่วนนี้เป็นจำนวน 42,500 ล้านบาท ในส่วนที่สอง จะเป็นการออกและเสนอขายหุ้นสามัญให้แก่ บุคคลภายนอก และผู้ถือหุ้นเดิมของ TBANK ทุกราย ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มทุนจากสองกลุ่มหลัง เป็นจำนวน 6,400 ล้านบาทและ 57,600 ล้านบาท ตามลำดับ

 

นอกจากการจัดหาเงินทุนโดยการออกหุ้นเพิ่มทุนแล้ว ทางทีเอ็มบีจะมีการออกตราสารหนี้ (Debt Financing) โดยการออกและเสนอขายตราสารทางการเงินที่นับเป็นกองทุนชั้นที่ 1 ให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันต่างประเทศ เป็นจำนวน 9,600 – 16,000 ล้านบาท และเสนอขายตราสารด้อยสิทธิที่สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน (Institutional Investor) และผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth) จำนวน 15,000 ล้านบาท โดยทีเอ็มบีมีแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมจากตราสารหนี้อีกเป็นจำนวนไม่เกิน 20,000 ล้านบาท ในกรณีที่ต้องการเงินทุนเพิ่ม

 

ทั้งนี้เมื่อธนาคารทีเอ็มบีและธนชาตควบรวมกิจการกันแล้ว โครงสร้างผู้ถือหุ้นธนาคารแห่งใหม่จะจำแนกออกได้ดังนี้

 

  1. ING Groep N.V. (ING) – 21.3%
  2. บมจ. ทุนธนชาต (TCAP) – 20.4%
  3. กระทรวงการคลัง (MOF) – 18.4%
  4. สโกเทียแบงก์ (BNS) – 5.6%
  5. อื่นๆ – 34.3%

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X