ปฏิบัติการค้นหากู้ภัยกลุ่มเยาวชนและโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สายจำนวน 13 คนที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เป็นเหตุการณ์ที่เป็นข่าวสำคัญไปทั่วโลก ซึ่งตลอดระยะเวลา 3 สัปดาห์ที่ผ่านมามีการระดมความช่วยเหลือจากทั้งในประเทศและต่างประเทศในแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และในความร่วมมือร่วมใจเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในครั้งนี้จะเห็นถึงการนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในหลายๆ จุด แสดงให้เห็นถึงความสำคัญขององค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเพื่อการกู้ภัย โดยต้องอาศัยการทำความเข้าใจในธรรมชาติทั้งทางธรณีวิทยา ภูมิศาสตร์ สรีรวิทยาของมนุษย์ และจิตวิทยา
สังคมสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้มากมาย โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เล็งเห็นความสำคัญของการถอดบทเรียนวิทยาศาสตร์จากการกู้ภัย โดยวันนี้ได้จัดเสวนาพิเศษ ‘Science Cafe ตอน ถอดบทเรียนวิทยาศาสตร์ ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน’ โดยมีสาระสำคัญที่น่าสนใจตามที่ THE STANDARD ได้สรุปใจความสำคัญดังนี้
รศ.ดร.พญ.ณัฏฐิณี จันทรรัตโนทัย ภาควิชาเภสัชวิทยา และในฐานะจิตแพทย์
จิตวิทยาของผู้ประสบภัยในระหว่างติดอยู่ในถ้ำ ต้องแข็งแกร่งแค่ไหน จิตใจจึงคุมร่างกายได้
สำหรับช่วงนี้เป็นช่วงที่สามารถช่วยทุกคนออกมาจากถ้ำได้แล้ว หลังเหตุการณ์จบอาจจะไม่ได้รู้สึกเครียดทันที แต่อาจจะไปเครียดหลังภยันตรายผ่านพ้นไปสักระยะหนึ่งแล้วก็ได้ ซึ่งตรงนี้สังคมมีส่วนช่วยเขาได้ สำหรับสาเหตุความเครียดอาจต้องช่วยกันสังเกตการณ์และเฝ้าระวัง จะมีอาการ เช่น กลัวถ้ำ ไม่อยากซ้อมกีฬา วิตก หวาดระแวง ซึมลง หรือฝันร้าย ซึ่งมีโอกาสตามมาได้หลังเหตุการณ์ผ่านพ้น
เด็กเข้าไปติดอยู่ในถ้ำเป็นเวลานาน หลังออกมาได้รับความสนใจจากสื่อและสังคม แน่นอนว่าสปอตไลต์มันจะจ้ามาก มันจะมีภาวะกดดัน ยิ่งมารับรู้ข่าวและคำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ จะทำให้แรงกดดันสูงมากขึ้น ต้องเฝ้าระวัง
สำหรับการสัมภาษณ์ของสื่ออาจจะต้องดูว่าน้องๆ เขาพร้อมหรือไม่ ซึ่งบางคนอาจจะพร้อมก็ได้ เพราะในทุกเหตุการณ์ ในวิกฤตมีโอกาส ซึ่งอาจจะดีหรือแย่ก็ได้ สำหรับน้องๆ เราทำวิกฤตเป็นโอกาสได้ แต่ก็ต้องระมัดระวัง
สำหรับการเป็นนักกีฬา การออกกำลังกายช่วยให้สุขภาพจิตของน้องๆ แข็งแกร่งขึ้น การติดเป็นกลุ่มก็มีส่วนช่วยเสริมสร้างกำลังใจแก่กันได้ โค้ชมีส่วนสำคัญแน่นอนในการทำให้เด็กทุกคนมีกำลังใจที่ดี ช่วยดูแล และยังเป็นบุคคลที่เด็กๆ ไว้ใจว่าจะมีใครสักคนนำพาพวกเขารอดพ้นจากวิกฤตเหล่านี้ได้
สุดท้ายอยากให้เราทุกคนลองถามใจตัวเองว่าเราได้อะไรจากเรื่องนี้ สิ่งที่เห็นชัดเจนคือเราเห็นว่าชีวิตนี้มีคุณค่า ชีวิตเรามีคุณค่า เราจึงสามารถแบ่งปันให้ผู้อื่นและสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้น เราได้เห็นคุณค่าของความพยายาม เราเห็นการวางแผน เห็นสิ่งที่พยายามจัดการเพื่อช่วยให้เด็กๆ ทำดีที่สุด ณ ตรงจุดที่เรามีข้อมูล มันก็เหมือนชีวิตเราทุกคนที่หากได้ลองพยายามทำอะไรให้สำเร็จ มันก็สามารถทำได้สำเร็จแน่นอน
รศ.ดร.เทพมนัส บุปผาอินทร์ ภาควิชาสรีรวิทยา
สรีรวิทยาของมนุษย์ในภาวะอดอาหารและการไม่รู้วันรู้คืน อยู่รอดได้อย่างไรในถ้ำ
หากเราไม่มีอาหารรับประทานในภาวะแบบนั้น เราจะอยู่ได้กี่วัน สิ่งที่เขาสู้ก็คือสิ่งแวดล้อมภายนอกเพื่อที่จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ เขาต้องควบคุมร่างกายให้คงที่ การรักษาสมดุลของร่างกายให้คงที่ ปัจจัยที่ร่างกายต้องการมากที่สุดคือน้ำ เด็กที่ติดถ้ำโชคดีมากที่มีน้ำในถ้ำ ลำดับต่อมาคือแหล่งพลังงานของร่างกาย ซึ่งก็คืออาหาร วิตามิน และแร่ธาตุ ต่อมาก็คือเรื่องของอุณหภูมิ ซึ่งอุณหภูมิห้องคือสภาพที่ร่างกายอยู่ได้ ขณะที่สิ่งสำคัญต่อมาก็คืออากาศ
ถามว่าร่างกายต้องการอาหารมากแค่ไหน ก็ต้องตอบว่าร่างกายมีการใช้พลังงานอยู่ 4 อย่างคือ หนึ่ง การใช้พลังงานในจำนวนที่น้อยที่สุดเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด เรียกว่า Basal Metabolic Rate (BMR) โดยเฉลี่ยแล้วเด็กที่ติดถ้ำอยู่ที่อายุ 15-16 ปี โดยประมาณว่าน้ำหนักอยู่ที่ 50 กิโลกรัม เมื่อลองคำนวณพบว่าเด็ก 1 คนต้องได้อาหาร 1,300 กิโลแคลอรี จึงจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้ ต่อมาก็คือใช้พลังงานในการรักษาอุณหภูมิร่างกาย การใช้พลังงานในการย่อยอาหาร และการใช้พลังงานในการเคลื่อนไหว ยิ่งติดอยู่ในถ้ำยิ่งต้องรักษาพลังงานตรงนี้ให้มากด้วยการเคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด
ผลของภาวะขาดอาหารที่เราควรรู้จะเริ่มต้นจากช่วงวันที่ 1-2 จะมีอาการแสบท้อง ช่วงวันที่ 4-5 จะพบการสลายไขมันใต้ผิวหนัง เมื่อเกินกว่า 6 วันจะมีอาการอ่อนเพลีย ล้า ซึมเศร้า จากนั้นจะเกิดภาวะอาการที่เรียกว่าเลือดเป็นกรด มีอาการคลื่นไส้ กล้ามเนื้ออาจจะฝ่อ อุณหภูมิร่างกายลดลง และอาจมีอาการเนื้อเยื่อบวมช้ำเพราะโปรตีนในเลือดต่ำ สุดท้ายอาจจะเสียชีวิตเนื่องจากภาวะหัวใจล้มเหลวได้
ขณะที่หากคำนวณดูจะเหมือนเด็กอยู่ในภาวะจำศีลแบบไม่เคลื่อนไหวร่างกายเลยจะมีปริมาณพลังงานในร่างกาย กรณีน้ำหนัก 50 กิโลกรัม 82,200 กิโลแคลอรี เมื่อเทียบกับค่าต่ำสุดที่ต้องการในแต่ละวัน เทียบเเล้วพลังงานที่มีจะทำให้เด็กสามารถอยู่ได้ 60 วัน
สำหรับนักกีฬาที่ติดถ้ำจะได้เปรียบคือมีความสามารถในการควบคุมสติและร่างกาย มีความอดทนต่อความเครียด รวมทั้งโดยพฤติกรรมของนักกีฬาจะถูกฝึกเรื่องวินัย ความสามัคคี และรู้จักแบ่งปัน ส่วนข้อเสียคือนักกีฬาจะมีค่า BMR สูงกว่าคนทั่วไปที่ไม่ออกกำลังกาย เพราะร่างกายจะคุ้นชินกับการใช้พลังงานเยอะ และนักกีฬาจะมีเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกายน้อยกว่า
คนที่ขาดอาหารนานๆ จะต้องมีการปรับตัวเพื่อกินอาหารปกติ เมื่อพลังงานในร่างกายต่ำ ระบบทางเดินอาหารไม่ได้ใช้ การทำงานก็จะลดลง น้ำย่อยก็จะลดลง การรับประทานอาหารที่จะต้องใช้กระบวนการย่อยจึงไม่เหมาะสมในทันทีทันใด ควรให้สารอาหารที่เพิ่มพลังงานก่อน
เมื่อติดถ้ำที่ไม่มีอาหาร สิ่งหนึ่งที่โค้ชทำคือให้เด็กๆ ฝึกสมาธิ มีงานวิจัยตรงนี้อธิบายได้ว่า เมื่อเปรียบเทียบการใช้พลังงานโดยออกซิเจนระหว่างนอนหลับกับการนั่งสมาธิพบว่าการนอนใช้พลังงานลดลงมานิดเดียว แต่ถ้าทำสมาธิ ปริมาณการใช้พลังงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล อาจารย์ประจำสาขาธรณีศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
ธรณีวิทยาของถ้ำในประเทศไทย ทำไมผู้ประสบภัยที่ติดในถ้ำถึงออกมายาก
ปัจจัยของการเกิดถ้ำ ถ้ำในบ้านเราเกิดในพวกหินปูน พวกหินคาร์บอเนต แนวชั้นหิน และน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน ปัญหาของน้ำ ที่มีปัญหาเพราะในหน้าแล้งและหน้าฝนจะมีปริมาณที่ไม่เท่ากัน
ถ้ำในประเทศไทยมีมากกว่า 4 พันถ้ำ และอาจจะมากถึง 1 หมื่นถ้ำ ภาคเหนือมีถ้ำมากถึง 2 พันแห่ง รอบๆ ถ้ำหลวงมีถ้ำอยู่มากเกือบ 10 ถ้ำ รอยเลื่อนแม่จันอยู่ใต้ถ้ำหลวงลงไปอีก 60 กิโลเมตร ซึ่งเป็นรอยแตกที่กำหนดทิศทางแนวรอยถ้ำอีก
ปริมาณน้ำในถ้ำหลวง พื้นที่ลุ่มน้ำ มีการคำนวณว่าหน้าตาเป็นอย่างไร จะมีการเข้าไปแทรกซึมตามช่องว่างของหินแล้วแทรกซึมไหลลงมาช่วงที่เด็กเข้าไปติดในถ้ำ หากย้อนไปดูปริมาณน้ำ น้ำใช้เวลาเกือบ 2 วันในการไหลลงมาจากแนวดิ่งตามช่องว่างด้านตะวันตกที่เป็นหินแกรนิตแล้วไหลซึมออกมา ซึ่งจะช้ากว่า อาจจะมีโอกาสเข้าไปได้มากและเร็วกว่านี้ น้ำที่ไหลเข้าถ้ำไม่ได้ไหลเข้าไปทั้งหมด แต่อาจจะกระจายออกไปยังจุดต่างๆ
การสูบน้ำออกจากถ้ำมากกว่าปกติไม่ได้มีผลให้ถ้ำถล่มหรือมีปัญหาแต่อย่างใด
มันเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่าพรมแดนแห่งการช่วยเหลือมันไม่มี คนที่เยี่ยมที่สุดในแต่ละวิธีการได้มารวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่นี่ สถิติต่างๆ เป็นสิ่งที่เราหาได้ และหน่วยงานที่ดูแลต้องวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ให้ได้
ดร.สิริยุภา เนตรมัย อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาชีวนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพอัจฉริยะ
Survival Kit เตรียมเสบียงอย่างไร ถ้าออกผจญภัยแล้วเกิดติดถ้ำ
เราควรจะเตรียมร่างกายให้พร้อม เตรียมจิตใจให้พร้อม สติต้องมา หากหลงทาง ไม่ควรตกใจมาก
การเตรียมตัวให้พร้อมจะสร้างความมั่นใจให้เรา เริ่มต้นจากการแต่งตัว เราจะไปถ้ำหรือไปเกาะก็ต้องแต่งตัวแตกต่างกันออกไป
หลักการของการแต่งตัวคือต้องรัดกุม ใช้รองเท้าให้เหมาะสม หากมีการเดินทางค้างแรมอยู่ในช่วงเปลี่ยนฤดู ต้องแต่งตัวแบบ Layering คือการแต่งตัวเป็นชั้นๆ ให้สามารถระบายเหงื่อได้ ชั้นในสุดควรระบายเหงื่อ ชั้นต่อมาให้ความอบอุ่น ชั้นนอกสุดควรกันลมและกันน้ำ
อุปกรณ์ Survival Gear ควรมี เช่น ไฟฉาย เข็มทิศ เทียน ซึ่งจำเป็นหากอยู่ในจุดที่อับสัญญาณมือถือ เข็มทิศสำคัญมาก First Aid Kit ควรมี และปัจจุบันที่สำคัญคือ Emergency Blanket เพื่อให้ร่างกายเราอุ่น พื้นผิวโลหะที่เงาสะท้อนรังสีอินฟราเรด เมื่อเอาไปคลุมมันจะสะท้อนและช่วยให้เราอุ่น ทั้งยังช่วยสะท้อนแสงยามที่เราหลงป่า ทำให้คนค้นหาเราได้ง่ายมากขึ้น
ส่วนที่ต้องเตรียมต่อมาคืออาหารและยาประจำตัว โดยเฉพาะยาเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ อาหารชุดแรกจะต้องเป็นอาหารที่เรานำไปรับประทาน สะอาด ไม่ปนเปื้อนจุลินทรีย์ สิ่งสำคัญต่อมาคือเสบียงฉุกเฉิน เป็นเสบียงที่เราไม่อยากใช้ เพราะมันจะถูกนำมารับประทานก็ต่อเมื่อเราอยู่ในภาวะวิกฤต หลงทาง หลงป่า ไม่ควรเลือกสิ่งที่เป็นอาหารแบบพลังงานต่ำ ต้องเลือกให้ได้พลังงานมากๆ และควรเก็บไว้ได้นานที่อุณหภูมิห้อง 35 องศาเซลเซียส เก็บได้ 4-6 เดือน และหากเป็นไปได้จะต้องมีน้ำหนักเบา เตรียมเพื่อให้เกิดความมั่นใจ เพื่อไม่ให้หนักเรา
ในส่วนของน้ำดื่มนั้นสำคัญ ปัญหาของการทำเสบียงฉุกเฉินก็คือน้ำจะหนักที่สุด เราสามารถพกพาอุปกรณ์ที่ทำให้น้ำสะอาดแทน อาจเป็นพวกไส้กรอง แต่ค่อนข้างจะมีราคาแพง หรือสามารถใช้แบบที่มีสารเคมีได้ เป็นตัวที่ทำให้น้ำสะอาดแบบน้ำประปา แต่ต้องทิ้งช่วงให้สารเคมีทำปฏิกิริยา
อาหารทั้งหมดควรเก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด และหมั่นตรวจสอบวันหมดอายุ
สุดท้ายอยากฝากว่าเราต้องมีความพร้อมในการทำอะไรสักอย่าง มันจะทำให้เราทำทุกสิ่งได้อย่างเต็มที่และผ่านไปด้วยดี