วันนี้ (26 มีนาคม) ที่ทำเนียบรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงโอกาสที่จะได้พบ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่จะเข้าที่ทำการพรรคเพื่อไทยในช่วงเวลา 13.00 น. ว่าช่วงบ่ายวันนี้ตนไม่สามารถเดินทางเข้าไปพรรคเพื่อไทยได้เพราะเป็นเวลาราชการ และในช่วงเย็นก็มีภารกิจสำคัญ หลังจากนั้นตนจะเดินทางไปชมฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกระหว่างทีมชาติไทยและทีมชาติเกาหลีใต้ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน
ขณะที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ทักษิณเข้าพรรคเพื่อไทยจะเจอได้ยังไง ตนเองยังไม่พบในวันนี้ ส่วนในอนาคตต้องได้เจอกันอยู่แล้ว ไม่เจอได้ยังไง จะไม่เจอกันทั้งชาติเลยเหรอ ท่านเป็นผู้หลักผู้ใหญ่
สุริยะคอนเฟิร์มร่วมต้อนรับ-เตรียมขอคำแนะนำพัฒนากระทรวงคมนาคม
ด้าน สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในวันนี้ตนเองเข้าที่ทำการพรรคแน่นอน และก็ทราบข่าวว่าจะมี สส. จำนวนมากเข้าไปที่พรรค ซึ่งมากกว่าทุกๆ ครั้ง เพราะทุกคนมีความรู้สึกอยากจะต้อนรับทักษิณด้วยความอบอุ่น เพราะท่านเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์ความสำเร็จของพรรค
สุริยะกล่าวต่อว่า ตนเองในฐานะคนที่ได้เคยทำงานร่วมกับทักษิณมาตั้งแต่ 25 ปีที่แล้ว ซึ่งตอนนั้นตนเป็นเลขาธิการพรรค และทักษิณเป็นหัวหน้าพรรค ก็ช่วยกันทำให้กระทรวงคมนาคมในยุคนั้นมีผลงานสำเร็จ โดยเฉพาะการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ที่สร้างสำเร็จตรงเวลา และได้รับการจัดอันดับเป็นสนามบินที่ดีอันดับต้นๆ ฉะนั้นตนคิดว่าถ้ามีโอกาสกระทรวงคมนาคมก็คงจะไปขอคำปรึกษาว่าจะทำอย่างไรให้สนามบินสุวรรณภูมิกลับมาติดอันดับโลกให้ได้ รวมถึงการอำนวยความสะดวกในเรื่องระบบรางและการทำถนนที่ต้องพัฒนา
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าการที่ทักษิณกลับมาจะทำให้พรรคเพื่อไทยยิ่งใหญ่เหมือนปี 2548 หรือไม่ สุริยะกล่าวว่า ตนเชื่อว่าสิ่งที่อดีตนายกฯ ทำสำเร็จแต่คนรุ่นใหม่อาจจะยังไม่รับรู้ ก็คือการแก้ไขปัญหาวิกฤตต้มยำกุ้ง ผลงานของท่านก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถจับต้องได้ ฉะนั้นประสบการณ์ของท่านก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่เราต้องเรียนรู้และนำมาใช้ พร้อมทั้งยอมรับว่าการเข้าที่ทำการพรรคเพื่อไทยในวันนี้จะทำให้ สส. ของพรรคเพื่อไทยมีกำลังใจที่ดีขึ้นแน่นอน
ทวีย้ำ เงื่อนไขพักโทษไม่ห้ามเคลื่อนไหวการเมือง
ส่วน พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีทักษิณเดินทางเข้าที่ทำการพรรคเพื่อไทยจะทำให้เป็นประเด็นทางสังคม และเป็นเป้าทางการเมืองในการอภิปรายทั่วไป ตามมาตรา 152 ว่าคงเป็นการอภิปรายคล้ายกับสมาชิกวุฒิสภา (สว.) แต่อาจจะมีเนื้อหาที่เข้มข้นกว่า
ส่วนจะทำให้สังคมเคลือบแคลงใจหรือไม่ พ.ต.อ. ทวี กล่าวว่า ปกติเราจะดูแค่หลักเกณฑ์การคุมประพฤติ การพักโทษก็อยู่ในเรื่องของโทษของกรมราชทัณฑ์ ยังอยู่ในเงื่อนไขของการเป็นนักโทษ เพราะกรมราชทัณฑ์จะไปลดโทษให้ใครไม่ได้ แต่มีกระบวนการเรียกว่าการบริหารโทษ การพักโทษหรือการใช้ที่คุมขังอื่นในกฎหมายกรมราชทัณฑ์และกฎกระทรวง
พ.ต.อ. ทวี กล่าวต่อว่า โรงพยาบาลเป็นที่คุมขัง ซึ่งนักโทษเมื่อไปนอนที่โรงพยาบาลเราก็หักจากการต้องโทษ แต่ถ้าหากถามนักโทษอยู่โรงพยาบาลกับเรือนจำนักโทษอยากอยู่เรือนจำมากกว่า อยู่โรงพยาบาลสภาพลำบาก เหมือนเราไปอยู่โรงพยาบาล ส่วนการเคลื่อนไหวอื่นๆ กรมคุมประพฤติมีข้อห้าม คือห้ามไปมั่วสุมยาเสพติด และห้ามไปเยี่ยมนักโทษด้วยกัน ส่วนเรื่องอื่นๆ มีสิทธิและเสรีภาพ โดยกรมคุมประพฤติมีหน้าที่ควบคุมดูแล โดยในกฎกระทรวงไม่ได้เขียนเงื่อนไขการพักโทษว่าห้ามเกี่ยวข้องกับการเมือง
เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่ากรณีทักษิณมีการตั้งข้อสังเกตถึงมาตรฐานของขบวนการยุติธรรม จะชี้แจงต่อสังคมอย่างไร พ.ต.อ. ทวี กล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะรัฐธรรมนูญบอกให้รัฐต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หากทำนอกกฎหมายถือเป็นการทำตามอำเภอใจ อย่างที่ตนพูด การถูกกฎหมายต้องพยายามพัฒนากฎหมายในบางช่วงที่ออกมาก่อน จากสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นใหม่จะต้องมีการแก้ไข อย่างเช่นกฎหมายราชทัณฑ์ ซึ่งหากดูจริงๆ กฎหมายของกรมราชทัณฑ์เกิดจากสมาชิกนิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นผู้ร่างในปี 2559 และมีการประชุมถึง 21 ครั้ง จนวันที่ 1 ธันวาคม 2559 ออกมาเป็นกฎหมายราชทัณฑ์ ปี 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับแรกที่นำกฎหมายลูกมาใส่
ทั้งนี้ ภายหลัง สมศักดิ์ เทพสุทิน ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้นมาออกเป็นกฎกระทรวง ซึ่งเดิมถ้าออกเป็นแพ็กเกจใหญ่จะเป็นการคิดในห้องแอร์เกินไป ผู้ปฏิบัติอาจจะลำบาก ถึงได้แยกออกมา เช่น การรักษาพยาบาล การไปที่คุมขังอื่น หรือการพักโทษ เป็นขั้นตอนไป
พ.ต.อ. ทวี ยืนยันว่า กฎหมายถูกร่างมาโดย สนช. และเป็นกฎหมายที่เกิดในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งตนก็มาปฏิบัติตาม หากดูดีๆ คนราชทัณฑ์แทบไม่มีอำนาจ เช่น การพักโทษ ก็มีคณะกรรมการพักการลงโทษ มีปลัดกระทรวงยุติธรรม และมีข้าราชการอื่น รวมถึงจากศาลยุติธรรม เป็นคณะกรรมการ ถ้าเรายอมรับกติการัฐต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ถ้าปฏิบัตินอกกฎหมายเราถือว่าไม่ใช่หลักนิติธรรม
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ากรมราชทัณฑ์จะต้องเตือนทักษิณให้เคลื่อนไหวทางการเมืองน้อยลงหรือไม่ พ.ต.อ. ทวี กล่าวว่า เราเคารพในความคิดเห็นที่หลากหลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี กระทรวงยุติธรรมคงไม่มีหน้าที่ไปก้าวก่ายเรื่องส่วนตัว นอกจากภารกิจหน้าที่ที่เรารับผิดชอบ ส่วนที่ผ่านมามีนักการเมืองที่ถูกพักโทษเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกับทักษิณหรือไม่ พ.ต.อ. ทวี กล่าวว่า คนพักโทษแต่ละปีมีเป็นหมื่น แต่อาจจะไม่มีสื่อไปตาม ซึ่งมองว่าจากรายงานที่กรมคุมประพฤติส่งมาเมื่อคืนนี้ ทักษิณก็ปฏิบัติตามเงื่อนไขทุกอย่าง
เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าหนักใจหรือไม่ที่ทักษิณมีการเคลื่อนไหวเดินทางในหลายพื้นที่ ซึ่งถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก พ.ต.อ. ทวี กล่าวว่า อยากให้สังคมแยกส่วน กระทรวงยุติธรรมไม่ได้หนักใจ เมื่อวานนี้ครบ 133 ปีกระทรวงยุติธรรม ที่เราจะมุ่งมั่นลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้คนทุกคนได้รับความยุติธรรมถ้วนหน้า ซึ่งคำว่ายุติธรรมอาจเป็นนามธรรมเกินไป ต้องทำตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่บัญญัติไว้ก่อน ส่วนกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรมก็ต้องแก้ไข แต่ในที่สุดก็ต้องให้สภาผู้แทนราษฎร รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นงานสภาที่มาจากผู้ที่ถูกแต่งตั้ง โดยเฉพาะคนในสภาเมื่อวานส่วนใหญ่ก็เป็นคนร่าง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ฉบับนี้ทั้งหมด
วราวุธมองไม่ผิด แวะทักทายมิตรสหาย เยี่ยมที่ทำงานลูกสาว
ขณะที่ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ทักษิณเป็นพ่อของ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมกับมองถ้าพ่อไปที่ทำการพรรคของลูกไม่ได้คงผิดปกติ อีกทั้งพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคเก่าแก่ ซึ่งทักษิณมีส่วนร่วมในการก่อตั้งพรรค จึงเป็นเรื่องปกติที่จะเข้าไปทักทายเพื่อนสนิทมิตรสหายที่เคยร่วมทำงานกันมา
ส่วนทางการเมืองนั้นไม่จำเป็นต้องเข้าพรรค ถ้าจะส่งผลให้เกิดแรงกระเพื่อม ซึ่งตนมองว่าระดับทักษิณนั้นอยู่ที่ไหนก็สามารถสร้างแรงกระเพื่อมได้ ไม่จำเป็นต้องไปที่ทำการพรรค และคิดว่าการที่ทักษิณเดินทางไปพรรคเพื่อไทยคงเป็นเพียงการเข้าไปทักทายเพื่อนสนิทมิตรสหายและในฐานะพ่อของแพทองธาร
ส่วนการเข้าไปของทักษิณจะเป็นการครอบงำพรรคเพื่อไทยหรือไม่นั้น วราวุธได้ยกตัวอย่างตนกับ กัญจนา ศิลปอาชา ซึ่งเป็นพี่สาว ซึ่งไม่ต่างกันกับกรณีของทักษิณที่เดินทางเข้าที่ทำการพรรค คงไม่ใช่เป็นการครอบงำพรรค โดยเชื่อว่าแพทองธารคงมีวิจารณญาณในการทำงานพอสมควร แต่การที่มีปัญหาหรือข้อหาเรื่องต่างๆ สามารถทำได้ในฐานะพ่อ เช่นเดียวกันตนที่ปรึกษาพี่สาวในการทำงานในฐานะคนในครอบครัว