วันนี้ (6 ธันวาคม) ที่กระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย พงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม คณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรม และตัวแทนผู้บริหารกรมต่างๆ ร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริต เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการอํานวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนด้วยความยุติธรรม โปร่งใส ไร้ทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม
พ.ต.อ. ทวี กล่าวภายหลังเสร็จสิ้นกิจกรรมว่า การบริหารประเทศใน 4 ปี ถ้าเราสามารถยกระดับการป้องกันการทุจริตและประพฤติไม่ชอบให้ขึ้นมาอยู่ในลำดับที่ 1 ของภูมิภาคอาเซียน และฟื้นฟูหลักนิติธรรมได้ ตนคิดว่าจะเป็นการวางรากฐานให้ประเทศได้เป็นอย่างดี เพราะการแก้ไขปัญหาการทุจริตโดยหลักนิติธรรมเป็นการลงทุนที่น้อย แต่มั่นใจว่าจะได้ผลมากที่สุด ดังนั้น กระทรวงยุติธรรมจึงมีความมุ่งมั่นจะทำในส่วนนี้ให้ได้ประสิทธิภาพ
ต้องยึดถือตระหนักถึงหลักนิติธรรม
พ.ต.อ. ทวี กล่าวว่า ส่วนเรื่องที่ปัจจุบันนี้มีหลายคดีในความสนใจของประชาชน มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมนั้น ตนมองว่าคดีก็ต้องแก้ปัญหา ต้องพิจารณาว่ามีการกระทำผิดอย่างไร เช่น กรณีคนที่กระทำไม่ชอบ หรือทำผิดกฎหมาย ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย เพราะตามตัวชี้วัดพบว่ามีการเพิกเฉยต่อผู้กระทำผิด โดยเฉพาะถ้าผู้นั้นเป็นผู้ที่มีตำแหน่งสูง
จึงคาดหวังว่าทุกหน่วยงานควรต้องร่วมมือกัน ต้องยึดถือตระหนักถึงหลักนิติธรรม ไม่ใช่แค่ฝ่ายนิติบัญญัติ แต่รวมถึงฝ่ายตุลาการ และฝ่ายองค์กรอิสระ เพราะทุกหน่วยงานถูกชี้วัดหมด อีกทั้งประเทศที่มีหลักนิติธรรมสูงส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้น จึงเป็นเรื่องท้าทายที่เราจะทำ
ส่วนที่มีการกระทำผิด เราก็ต้องทุ่มเทและเน้นย้ำเรื่องความรับผิดชอบในสังคม ไม่เพิกเฉย เพื่อให้สังคมไม่ขาดความรับผิดชอบระหว่างกัน และประชาชนจะต้องได้รับความยุติธรรม ป้องกันกฎหมายอ่อนแอ
ทำทุกวิถีทางจับเป็น ‘เสี่ยแป้ง’ กลับมา
พ.ต.อ. ทวี กล่าวถึงเรื่องความคืบหน้ากรณีการหลบหนีจากการคุมขังของ เชาวลิต ทองด้วง หรือ เสี่ยแป้ง นาโหนด ว่า ตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่ท้าทาย เพราะปกติเรื่องของการสืบสวนไล่ล่าจับกุมมักจะไม่มีการบ่งชี้ เพราะป้องกันการไหวตัวทันของผู้ต้องหา
อย่างไรก็ตาม ตนก็ได้รับทราบว่าเชาวลิตอยู่ในพื้นที่ใด ก็ต้องเร่งติดตาม แต่ขอให้เป็นการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และในฐานะที่กระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานสนับสนุน ตนและคณะทำงานก็จะทำทุกวิถีทางเพื่อติดตามตัวกลับมาให้ได้ด้วยการจับเป็น
เป็นการท้าทายกระบวนการยุติธรรม
รวมถึงการหลบหนีนั้น เจ้าตัวก็มองว่าเป็นการท้าทายกระบวนการยุติธรรม เพราะไปลดความเชื่อมั่นของประชาชนในสังคม ส่วนเรื่องการประสานขอเข้ามอบตัวด้วยการพ่วงเงื่อนไข ตนขอไม่พูดถึง แต่เราจะทำทุกทาง และหวังว่าจะนำตัวกลับมาสู่กระบวนการยุติธรรมได้ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ ในส่วนของกรมราชทัณฑ์ก็ได้รับหนังสือร้องเรียนของเชาวลิตเรียบร้อยแล้ว ทราบว่าเคยมีการยื่นร้องเรียนตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว แต่เรื่องมาไม่ถึงกระทรวงยุติธรรม ซึ่งในหัวข้อหนังสือร้องเรียนความไม่เป็นธรรมก็เกี่ยวกับเรื่องค่าอาหารแพง คดีเก่าที่เขาอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เป็นต้น
ซึ่งการตั้งคณะกรรมการให้เข้าไปตรวจสอบไม่ใช่ตั้งแล้วจบ แต่ต้องประเมินข้อมูลต่อเนื่อง เพราะบางทีข้อมูลของตัวเขาก็เป็นประโยชน์ เรารับฟังแต่ไม่เชื่อทั้งหมด ต้องรอดูข้อเท็จจริงก่อน และต้องดูเรื่องขีดจำกัดต่างๆ ของหน่วยงาน
ทั้งนี้ เชาวลิตจะมอบตัวเองหรือไม่ก็เป็นสิทธิของเขา แต่หน้าที่ของเราคือต้องติดตามตัวกลับมาให้ได้
สั่ง DSI ตรวจสอบคดีการค้ามนุษย์เข้าข่ายฐานความผิดหรือไม่
ส่วนกรณีของผู้ต้องหาชาวเยอรมันที่หลบหนีระหว่างได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากศาล ในประเด็นกระทำชำเราเด็กอายุกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปีนั้น พ.ต.อ. ทวี กล่าวว่า ข้อหาที่เขาถูกดำเนินคดีทราบว่าเป็นข้อหากระทำชำเราต่อเด็ก ยังไม่ใช่คดีค้ามนุษย์ และเท่าที่ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ประเทศเยอรมนีและประเทศไทยไม่มีสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน จึงทำให้ในส่วนนี้จะต้องเป็นอำนาจของอัยการที่จะมีสำนักงานต่างประเทศในการประสานความร่วมมือขอนำตัวผู้ต้องหาดำเนินคดี
และที่พบว่าอาจมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปคอร์รัปชันนั้น ตามข้อมูลคือเขาได้รับการประกันตัวโดยศาล ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาล แม้ว่าในชั้นของพนักงานสอบสวนจะไม่ได้มีการคัดค้านการประกันตัวก็ตาม แต่เราก็ต้องไปตรวจสอบทั้งกระบวนการ และตนก็จะมอบหมายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษที่มีกองคดีเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ เข้าไปดูว่าเรื่องนี้เข้าข่ายลักษณะความผิดฐานค้ามนุษย์หรือไม่
ยัน ‘ทักษิณและครอบครัว’ ยังไม่ขออภัยโทษรอบ 2
นอกจากนี้ พ.ต.อ. ทวี ยังกล่าวถึงกรณีที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำครบ 120 วัน ในวันที่ 22 ธันวาคมนี้ว่า เบื้องต้นในกรณีของทักษิณยังไม่มีระเบียบการคุมขังนอกเรือนจำแต่อย่างใด มีเพียงในส่วนของกรมราชทัณฑ์ที่จะดำเนินการ เพราะหลักการของเรานั้น สิ่งสำคัญคือเรื่องนักโทษล้นเรือนจำ ซึ่งก็ต้องเข้าไปแก้ปัญหาในส่วนนี้ เช่น การแยกผู้ต้องขังเด็ดขาดออกจากผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล โดยอาศัยการออกกฎกระทรวงตามมาตรา 89/1 ว่าให้เป็นดุลพินิจของศาลโดยการไต่สวน และอาจจะไม่ต้องนำผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการพิจารณาให้เข้าเรือนจำ
และทักษิณไม่เข้าเกณฑ์นี้ เพราะทักษิณถือเป็นผู้ต้องขังเด็ดขาดแล้ว ซึ่งในกรณีแก้ปัญหานักโทษล้นเรือนจำ หากเราทำได้ก็จะสามารถลดจำนวนผู้ต้องขังได้ถึง 30,000 คน และเราก็ต้องไปดูกฎหมายระดับรอง กฎกระทรวงต่างๆ กว่า 10 ฉบับที่ยังไม่ได้พิจารณา จะต้องไปตรวจสอบทั้งหมด และเมื่อบังคับใช้จะต้องไม่ขัดต่อกฎหมายหลัก
พ.ต.อ. ทวี กล่าวด้วยว่า ในกรณีนี้จะอนุญาตให้ทักษิณนอนพักรักษาตัวต่อจนครบ 120 วันหรือไม่ ตามระเบียบของกฎกระทรวง ทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์จะต้องพิจารณาความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษา คือแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ และแพทย์ของกรมราชทัณฑ์ และรายงานมายังปลัดกระทรวงยุติธรรม ก่อนเสนอรายงานมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งจะยึดความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาเป็นหลักว่ามีเหตุผลเพียงพอต่อการนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำต่อหรือไม่
ทั้งนี้ ทักษิณและครอบครัวยังไม่ได้มีการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษครั้งที่ 2 แต่อย่างใด ยังคงยื่นขอพระราชทานอภัยโทษเพียงครั้งเดียว