×

ศาลฎีกาไต่สวน 9 พยานคดีทักษิณชั้น 14 ซักปมส่งตัว–พักรักษานอกเรือนจำ ย้ำห้ามเผยแพร่เนื้อหากระทบกระบวนพิจารณา

โดย THE STANDARD TEAM
08.07.2025
  • LOADING...
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

วันนี้ (8 กรกฎาคม) ที่ ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลนัดไต่สวนคดีหมายเลขดำที่ บค.1/2568 กรณีตรวจสอบข้อเท็จจริงการบังคับโทษคดีถึงที่สุด ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 

 

โดยในวันนี้เป็นการไต่สวนพยาน 5 ปาก เป็นกลุ่มเจ้าหน้าที่พัศดีและเจ้าหน้าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพที่ปฏิบัติหน้าที่ต่อเนื่องระหว่างวันที่ 22 สิงหาคม 2566 -23 สิงหาคม 2566 มาเบิกความในการรับตัวทักษิณที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ การส่งตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ 

 

พยานรายที่ 1 เป็นพัศดีเวร ในวันที่ 22 สิงหาคม ปฏิบัติหน้าที่กำกับดูแลความเรียบร้อยของผู้คุมและผู้ต้องขังนอกเวลาราชการมีอำนาจหน้าที่เทียบเท่าอธิบดีเรือนจำฯ พยานรายนี้ได้เล่าถึงไทม์ไลน์การส่งตัวจำเลยในช่วงเวลาตั้งแต่ประมาณ 22.00 น. ที่มีการรับแจ้งจากพยาบาลเวร และได้สั่งให้มีการจัดเตรียมรถพร้อมชุดปฏิบัติการพิเศษในการควบคุมตัวจำเลยไปรักษาตัวนอกเรือนจำ ซึ่งหนึ่งในเหตุผลที่มีการส่งตัวคือโรคประจำตัวของจำเลย ที่อยู่เหนือเกินกว่าศักยภาพของโรงพยาบาลราชทัณฑ์จะสามารถรักษาตัวได้

 

พยานรายที่ 2 ในวันที่ 22 สิงหาคม เป็นหัวหน้าเวรคนที่ 1 ประจำห้องพัศดีในช่วงเวลานอกราชการ เป็นผู้รับแจ้งจากพยาบาลเวรถึงอาการป่วยของจำเลย และดำเนินการตามที่พยาบาลเวรได้แจ้งว่าจะต้องส่งตัวไปรักษานอกเรือนจำ

 

พยานคนที่ 3 ในวันที่ 22 สิงหาคม มีตำแหน่งเป็นนักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ โดยหลังเวลาราชการ มีการรับแจ้งจากพัศดีเวร ว่าให้เตรียมความพร้อมรับผู้ต้องขัง จนกระทั่งช่วงกลางดึกคืนดังกล่าว เป็นหนึ่งในผู้ที่รับตัวจำเลย จากสถานพยาบาลเดินทางไปโรงพยาบาลตำรวจพร้อมกับเจ้าหน้าที่อีก 6 ราย

 

ซึ่งพยานรายที่ 3 นี้ เป็นบุคคลเดียวกับที่เข้าเวรควบคุมจำเลยที่โรงพยาบาลตำรวจในช่วงเวลาที่มีการพักรักษาตัวนอกเรือนจำ โดยมีการเบิกความต่อศาลถึงรายละเอียดการพักรักษาตัวในห้องพักชั้น 14 การทำประวัติผู้เข้าเยี่ยมจำเลย ทั้งในส่วนครอบครัวและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ เป็นผู้บันทึกภาพการรักษาตัวของจำเลย

 

อย่างไรก็ตามพยานรายนี้มีการเบิกความใช้เวลามากกว่า 1 ชั่วโมง โดยเป็นการให้ข้อมูลในลักษณะการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมจำเลยขณะรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ

 

พยานรายที่ 4 เป็นหัวหน้างานตรวจค้นของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในวันที่ 22 สิงหาคมได้ตรวจค้นตัวของจำเลยในฐานะผู้ต้องขังใหม่ จากนั้นได้รับคำสั่งให้เตรียมความพร้อม จนกระทั่งเป็นผู้รับตัวจำเลยไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งพยานรายนี้เป็นอีก 1 รายที่สามารถเบิกความต่อศาลเกี่ยวกับรายละเอียดการพักรักษาตัวของจำเลย

 

อย่างไรก็ตามหลังเสร็จสิ้นการเบิกความของพยานรายที่ 4 ช่วงเวลา 11.45 น. ทนายความส่วนตัวของทักษิณได้ขออนุญาตศาลแสดงความกังวลใจในเรื่องการเผยแพร่การเบิกความของพยาน โดยยกตัวอย่างการโพสต์ข้อความของนายแพทย์วรงค์ เดชวิกรม หลังการนัดไต่สวนครั้งที่ผ่านมา โดยศาลกำชับเรื่องการจดบันทึกข้อความและการเผยแพร่คำเบิกความของทั้งผู้เข้าฟังและสื่อมวลชน

 

พยานรายที่ 5 นักอบรมฝึกวิชาชีพเรือนจำ ในวันที่ 22 สิงหาคม ได้รับคำสั่งให้เป็นผู้รับตัวจำเลยจากศาลฎีกาไปส่งเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จากนั้นช่วงกลางดึกได้รับแจ้งให้ปฏิบัติหน้าที่เร่งด่วนฉุกเฉินย้ายตัวจำเลยไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ โดยเป็นเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษขึ้นรถพยาบาลไปกับจำเลยและเจ้าหน้าที่รายอื่นๆ

 

พยานรายที่ 6 นักทัณฑวิทยาชำนาญการ ได้รับคำสั่งให้มีการคุมตัวจำเลยจากศาลฎีกาไปเรือนจำฯ และให้เตรียมพร้อมในภารกิจช่วงเย็นวันเดียวกันของวันที่ 22 สิงหาคม แต่คนเองหยุดพักงานจึงเริ่มมาปฏิบัติงานอีกครั้งในวันที่ 23 สิงหาคม โดยมีหน้าที่ในการควบคุมตัวจำเลยระหว่างพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ

 

พยานรายนี้เบิกความต่อศาลเกี่ยวกับการพักรักษาตัวของจำเลยในแต่ละวันที่โรงพยาบาลตำรวจ รวมถึงการเข้ารักษาและเข้าเยี่ยมของแพทย์ พยาบาล และนักกายภาพบำบัดของโรงพยาบาลตำรวจ

 

พยานรายที่ 7 เจ้าพนักงานราชทัณฑ์ชำนาญงาน รับหน้าที่ควบคุมตัวจำเลยที่โรงพยาบาลตำรวจ เบิกความเกี่ยวกับรายละเอียดการพักรักษาตัว และอธิบายถึงหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ในการควบคุมตัวจำเลยนอกเรือนจำ ทั้งนี้ เริ่มเฝ้าจำเลยตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นที่พักรักษาตัวเดือนสิงหาคม 2566 จนถึงเดือนธันวาคม 2566 ก่อนมีคำสั่งย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ที่จังหวัดอื่น

 

พยานรายที่ 8 เจ้าพนักงานราชทัณฑ์ชำนาญงาน รับหน้าที่ควบคุมตัวจำเลยที่โรงพยาบาลตำรวจในช่วงวันที่ 4-17 กุมภาพันธ์ เบิกความลักษณะการพักรักษาตัวในห้องพัก การเข้าออกของแพทย์และพยาบาลแต่ละวัน และหน้าที่ของผู้ควบคุมของกรมราชทัณฑ์

 

พยานรายที่ 9 เจ้าพนักงานราชทัณฑ์ปฏิบัติงาน ได้รับคำสั่งให้ควบคุมดูแลจำเลยตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการพักรักษาตัวนอกเรือนจำจนถึงก่อนวันที่จำเลยได้รับการพักโทษ พยานรายนี้เบิกความลักษณะการดูแลจำเลยนอกเรือนจำ และลักษณะความเป็นอยู่ของจำเลย

 

ทั้งนี้ ศาลมีการซักถามพยานเกือบทุกรายถึงลักษณะห้องพักที่จำเลยพักรักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ การเข้าตรวจเยี่ยมและรักษาของแพทย์และพยาบาลในแต่ละวัน และเน้นย้ำถึงจำนวนผู้เข้าเยี่ยมซึ่งมี 10 รายชื่อเท่านั้นที่ระบุว่าเป็นครอบครัวของจำเลย

 

ในช่วงท้ายของการไต่สวน ศาลได้อ่านกระบวนพิจารณาโดยเน้นย้ำการเผยแพร่คำเบิกความในการนัดไต่สวนของศาลกับทุกฝ่าย ซึ่งได้แก่ผู้เข้าฟังและสื่อมวลชน ให้ควบคุมการเผยแพร่เนื้อหาที่อาจส่งผลต่อกระบวนการพิจารณาของคดี โดยก่อนหน้านี้ทนายความของจำเลยได้ขอให้ศาลพิจารณาคำร้องขอจำกัดจำนวนผู้เข้าฟังการไต่สวนและขอให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับ แต่ด้วยศาลพิเคราะห์แล้วไม่อนุญาต

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising