×

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ตรึงราคาสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน 500 รายการ ช่วยลดภาระให้ประชาชน พร้อมเสนอ 3 มาตรการร่วมกับภาครัฐ เร่งแก้ปัญหาปากท้อง

07.03.2022
  • LOADING...
สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ตรึงราคาสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน 500 รายการ ช่วยลดภาระให้ประชาชน พร้อมเสนอ 3 มาตรการร่วมกับภาครัฐ เร่งแก้ปัญหาปากท้อง

สถานการณ์การเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและราคาสินค้าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2564 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อค่าครองชีพของประชาชน ในขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากวิกฤตโควิด เป็นเหตุผลที่ทำให้สมาคมผู้ค้าปลีกไทยและภาคีเครือข่ายเริ่มตรึงราคาในหมวดสินค้าจำเป็น

 

โดยเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 จากนั้นในเดือนมกราคม 2565 จึงขยายสู่หมวดอาหารสด, เนื้อหมู, เนื้อไก่ และไข่ไก่ ตลอดเวลาที่ผ่านมา สมาคมฯ มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับซัพพลายเออร์รายใหญ่กว่า 30 ราย เพื่อตรึงราคาให้ครอบคลุมสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันกว่า 500 รายการ จนถึงจบไตรมาส 1/65

 

“ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาที่เกิดจากราคาพลังงานและอาหารสดที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนทุกคนและทุกระดับ โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อยที่เจอผลกระทบสองเด้ง ทั้งในเรื่องของค่าครองชีพสูงขึ้น และรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัวจากโควิด การตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคจะเป็นการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างตรงจุด” ญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทยกล่าว 

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ต้องประเมินเป็นรายไตรมาส โดยเฉพาะราคาพลังงานและอาหารสดซึ่งเป็นปัจจัยหลักของปัญหาค่าครองชีพของประชาชนในขณะนี้ สมาคมผู้ค้าปลีกไทยจึงขอนำเสนอมาตรการเพื่อที่จะให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในการช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจในภาวะที่ค่าครองชีพสูง และเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ดังนี้

 

มาตรการในส่วนของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และซัพพลายเออร์ในภาคีเครือข่าย

  • ตรึงราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น ซึ่งสมาคมฯ และซัพพลายเออร์ในภาคีเครือข่ายยืนยันที่จะตรึงราคาสินค้าจนถึงจบไตรมาส 1/65 ทั้งนี้ นโยบายการตรึงราคาจะมีการประเมินเป็นรายไตรมาส
  • เตรียมสินค้าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นให้กับประชาชน สมาคมฯ ได้หารือร่วมกับภาคเอกชนเพื่อเตรียมสต๊อกสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน
  • ช่วยฟื้นฟู SMEs ไทย สมาคมฯ และภาคีเครือข่ายจะเร่งขยายในเรื่องการจัดหาแหล่งเงินทุนให้ SMEs ไทยผ่านโครงการ Digital Supplychain Finance ของธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย รวมทั้งการขยายและเพิ่มช่องทางการขายให้กับ SMEs เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังคงยืนยันที่จะพยุงการจ้างงานในระบบค้าปลีกให้ อยู่ที่ 1.1 ล้านอัตรา

 

มาตรการในส่วนของภาครัฐ

  • เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายของภาครัฐที่มีวงเงินงบประมาณถึง 3.1 ล้านล้านบาท ให้มีการอนุมัติและดำเนินการเพื่อให้เม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว 
  • การพยุงราคาพลังงานให้คงที่ โดยการใช้ทุกมาตรการเพื่อพยุงราคาพลังงานให้นานที่สุด ถึงแม้รัฐบาลได้มีมาตรการพยุงราคาน้ำมัน ปรับลดภาษีอัตราน้ำมันดีเซลสรรพสามิตและน้ำมันอื่นๆ 3 บาทต่อลิตรเป็นระยะเวลา 3 เดือนแล้ว อาจจะยังไม่เพียงพอ จึงควรพิจารณามาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และการออกมาตรการควบคุมราคาค่าขนส่ง ซึ่งค่าขนส่งถือว่ามีสัดส่วนถึง 8-10% ของต้นทุนสินค้า  
  • กระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน โดยคงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการคนละครึ่งและโครงการช้อปดีมีคืน ที่ภาครัฐดำเนินการได้ดีอยู่แล้วในการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน และเพื่อเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบจากผู้ที่ยังมีกำลังซื้ออยู่ ขอให้ภาครัฐพิจารณาโครงการช้อปดีมีคืนเฟส 2 เพิ่มเติม และให้ยืดทั้งระยะเวลาโครงการ รวมถึงวงเงินที่สามารถใช้จ่าย โดยเพิ่มจาก 30,000 บาท เป็น 1 แสนบาท ทั้ง 2 โครงการจะเป็นการเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ (Local Consumption) ถือเป็นการช่วยเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการ และ SMEs ไทยให้สามารถประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดได้ต่อไป  

 

ล่าสุดได้มีการเผยสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการค้าปลีก (Retail Sentiment Index) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ในภาพรวมพบว่า แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโอมิครอนจะพบผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 20,000 รายต่อวัน และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการผู้ค้าปลีกไทยโดยภาพรวมปรับเพิ่มขึ้น 9.3 จุด และอีก 3 เดือนข้างหน้ายังคงปรับดีขึ้นเล็กน้อยอีก 5.6 จุด

 

ทั้งนี้ ยังมีบทสรุปประเด็นสำคัญของ ‘การประเมินกำลังซื้อและแนวโน้มการแพร่ระบาดของโอมิครอนจากมุมมองผู้ประกอบการ’ ในเดือนกุมภาพันธ์ ที่สำรวจระหว่างวันที่ 17-24 กุมภาพันธ์ 2565 ดังนี้

 

  1. แนวโน้มการพิจารณาปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ
  • 44% อาจจะพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างไม่เกิน 5%
  • 33% รอการประกาศค่าจ้างขั้นต่ำอย่างเป็นทางการ

 

  1. ผลกระทบต่อธุรกิจจากการแพร่ระบาดของโอมิครอนเมื่อเทียบกับเดลตา
  • 63% ผลกระทบโอมิครอนน้อยกว่าเดลตา
  • 33% ผลกระทบโอมิครอนใกล้เคียงกับเดลตา
  • 4% ผลกระทบโอมิครอนมากกว่าเดลตา

 

  1. ผลการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการต่อโครงการช้อปดีมีคืน 2565

3.1 จำนวนลูกค้าเมื่อเทียบเดือนมกราคม 2565 กับเดือนธันวาคม 2564

    • 59.5% จำนวนลูกค้ามาจับจ่ายมากขึ้น
    • 20.1% จำนวนลูกค้ามาจับจ่ายเท่าเดิม
    • 20.4% จำนวนลูกค้ามาจับจ่ายน้อยลง

3.2 จำนวนใบกำกับภาษี

    • 82.7% จำนวนใบกำกับภาษีเพิ่มขึ้น 1-5%
    • 11.4% จำนวนใบกำกับภาษีเพิ่มขึ้น 6-10%

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X