×

ธุรกิจขนส่งแข่งราคาแรงเกินไป ‘ไปรษณีย์ไทย’ กางกลยุทธ์ใหม่ ต้องการเป็น ‘มากกว่าผู้ให้บริการขนส่ง’ เร่งเจาะตลาด Blue Ocean

09.02.2022
  • LOADING...
ไปรษณีย์ไทย

‘ธุรกิจขนส่ง’ ห้ำหั่นด้วยราคากันอย่างร้อนแรง ทำเบอร์ 1 ผู้มาก่อนใครในสังเวียนด้วยอายุ 138 ปี อย่าง ‘ไปรษณีย์ไทย’ ต้องเร่งปรับกลยุทธ์ใหม่ โดยวางแผนใหม่ ต้องการเป็น ‘มากกว่าผู้ให้บริการขนส่ง’ ผ่านการเร่งเจาะตลาด Blue Ocean ที่ยังมีคู่แข่งไม่มากนัก 

 

ตลาด Blue Ocean ในความหมายของไปรษณีย์ไทยคือการเจาะกลุ่มองค์กรหรือพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ โดยจะมีการเพิ่มบริการใหม่ๆ นอกเหนือจากการหยิบจุดแข็งด้านการขนส่ง ได้แก่ บริหารจัดการลูกค้า ระบบ CRM ช่องทางการทำโฆษณา สิ่งเหล่านี้จะถูกนำมาดีไซน์เป็นแพ็กเกจเพื่อนำเสนอต่อลูกค้า ซึ่งจะเป็นบริการที่เพิ่มเติมขึ้นมานอกเหนือจากการรับฝากส่งสิ่งของถึงบ้าน ส่งของใหญ่หรือของรูปร่างพิเศษ และการส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิ ที่ไปรษณีย์ไทยมีอยู่แล้ว

 

“เราต้องการหลบจากตลาดแมสที่เป็น Red Ocean ลงไปยังนิชมาร์เก็ตที่เป็น Blue Ocean เพื่อสร้างความแตกต่างให้มากขึ้น” ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าว “เราต้องการเป็นมากกว่าผู้ให้บริการขนส่ง”

 

ไม่แปลกที่ไปรษณีย์ไทยต้องการเจาะลูกค้ากลุ่มองค์กรหรือพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์มากขึ้น เพราะแม้จะมีสัดส่วนลูกค้าเพียง 5% ในขณะที่ลูกค้าทั่วไปมีกว่า 95% แต่ในแง่ของรายได้นั้นทำได้มากกว่า 50% ด้วยกัน

 

ไปรษณีย์ไทยประเมินรายได้ในปี 2564 จะอยู่ที่ราว 2.2 หมื่นล้านบาท ในขณะที่กำไรนั้น “ขอให้ลืมไปก่อน” ดร.ดนันท์กล่าว ซึ่งปีที่ผ่านมานั้นถือเป็นปีที่ท้าทายสำหรับไปรษณีย์ไทย ทั้งจากการแข่งขันด้านราคาและต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

 

ย้อนกลับไปในปี 2563 ไปรษณีย์ไทยมีรายได้รวม 2.4 หมื่นล้านบาท กำไร 385.35 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขดังกล่าวลดลงเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2562 ที่ทำกำไร 619.39 ล้านบาท และ 3,826.38 ล้านบาทในปี 2561 ดังนั้นจึงเป็นที่น่าจับตาว่าที่สุดแล้วปี 2564 ไปรษณีย์ไทยจะสามารถทำ ‘กำไร’ หรือ ‘ขาดทุน’

 

ก่อนหน้านี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกมาประเมินว่า หากพิจารณาในส่วนของต้นทุนในการบริหารจัดการคาดว่าน่าจะปรับเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะต้นทุนที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการโควิดเพื่อสร้างความปลอดภัย ต้นทุนจากการจ้างพนักงานเพิ่มขึ้น รวมถึงต้นทุนในการบริหารจัดการเส้นทางการส่งสินค้าใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางเดิมที่มีปัญหา ในขณะที่ต้องลดราคาค่าขนส่งให้ถูกลงเพื่อให้ธุรกิจแข่งขันได้ จึงมีความเป็นไปได้ว่าผลประกอบการของผู้ประกอบการบางรายยังคงประสบภาวะขาดทุน

 

สำหรับการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงนั้น ดร.ดนันท์ ฉายภาพว่า เป็นผลมาจากการที่ ‘ราคา’ เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดในการสร้างความแตกต่าง ด้วยธุรกิจขนส่งมีไม่กี่เรื่องที่จะหยิบมาสร้างความต่างได้ 

 

อย่างไปรษณีย์ไทยก็กระโดดลงไปเล่น ‘สงครามราคา’ ด้วยการลดราคาการส่ง EMS ให้เริ่มต้น 25 บาท จากเดิมที่ราคา 32 บาท ขณะที่คู่แข่งนั้นดัมป์ราคาลงไปต่ำกว่านั้น อย่าง Flash Express ที่ใช้โปรเริ่มต้น 15 บาท และแว่วๆ ว่าหากเป็นลูกค้าที่ส่งจำนวนมากอาจลดลงมาเหลือ 9 บาท ด้าน Kerry Express ปลายปีที่ผ่านมาก็ออกโปรลดราคาค่าส่งสูงสุด 30 บาท แถมทั้งคู่ก็กระโดดลงมาเล่นการขนส่งสินค้าชิ้นใหญ่ด้วยเช่นกัน

 

“เรามองว่าเราสู้ได้ แม้ว่าจะต้องไปเล่นเกมราคาก็ตาม แต่สิ่งสำคัญที่เราต้องทำต่อจากนี้คือ สร้างความแตกต่างด้านบริการ เข้าถึงลูกค้าได้ดีขึ้น ปรับประสบการณ์ใช้งานให้ดีขึ้น ทำราคาที่เข้าถึงได้และคุ้มค่าสำหรับคนใช้บริการทั่วไป และเหมาะสมกับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่เหล่านี้เป็นต้นทุนของพวกเขา”

 

ข้อมูลจากอิปซอสส์ระบุว่า ปี 2564 ตลาดขนส่งพัสดุขนาดเล็กและใหญ่มีมูลค่า 5 หมื่นล้านบาท ไปรษณีย์ไทยเป็นเจ้าตลาดด้วยส่วนแบ่ง 40.54% รองลงมาเป็น Kerry Express 25.62% ตามด้วย Flash Express 6.01% และ J&T Express 4.58%

 

ในแง่ของจำนวนชิ้นภาพรวมของตลาดอยู่ที่ 914 ล้านชิ้น ไปรษณีย์ไทยเป็นเจ้าตลาดอีกเช่นกันด้วยส่วนแบ่ง 57.11% รองลงมาเป็น Kerry Express 21.86% ตามด้วย Flash Express 7.30% และ J&T Express 2.91%

 

อย่างไรก็ตาม การ ‘ต้องเผชิญกับต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่สูง’ ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับผู้เล่นทุกคนในตลาดนี้ ดร.ดนันท์ ยอมรับว่า ภาระค่าน้ำมันมีการเพิ่มขึ้นกว่า 30% ในระยะสั้นนั้นไปรษณีย์ไทยปรับเปลี่ยนโอเปอเรชันบางส่วน ทำให้เส้นทางการขนส่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

 

ส่วนในระยะกลางถึงยาวจะเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ซึ่งที่ผ่านมาได้ทดลองใช้ไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยปีนี้จะนำมาใช้เพิ่มอีก 250 คัน สำหรับใช้ในการจัดส่งพัสดุให้ลูกค้า คาดว่าการเปลี่ยนมาใช้ EV จะช่วยลดต้นทุนได้ไม่น้อยกว่า 30% ในอนาคต

 

อีกหนึ่งธุรกิจที่คาดว่าจะเกิดขึ้นใหม่ในปีนี้คือการผัน ‘บุรุษไปรษณีย์’ ที่มีกว่า 50% ของพนักงานรวมทั้งหมด 40,000คน มาทำหน้าที่จัดส่งของแบบเดลิเวอรี ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างศึกษา นอกจากนี้จะใช้ระบบการชำระเงินแบบใหม่ที่รองรับการใช้แบบไร้เงินสด แต่ “ยังคุยไม่ถึงขั้นการนำคริปโตเคอร์เรนซีมาจ่ายได้ไหม” ดร.ดนันท์ กล่าว โดยในปีนี้ไปรษณีย์ไทยวางงบลงทุนไว้ที่ประมาณ 3 พันล้านบาท

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X