วันนี้ (5 พฤศจิกายน) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ กำหนดจัดงาน D-Day วันพัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ เพื่อรำลึกถึงวันตระหนักรู้ภัยสึนามิโลก (World Tsunami Awareness Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 5 พฤศจิกายนของทุกปี ขณะเดียวกันยังมีเป้าหมายเพื่อสร้างความร่วมมือในการรักษาสิ่งแวดล้อม สร้างความตระหนักรู้และตื่นรู้เกี่ยวกับโควิด-19 รวมถึงมุ่งเน้นให้เกิดการสื่อสารด้านภัยพิบัติอย่างถูกต้องและทันท่วงที โดยมี รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. เป็นประธาน
รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เปิดเผยถึงความเป็นมาของการจัดงานนี้ว่า จากความสำเร็จของการลงพื้นที่รายงานข่าวอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยเมื่อปี 2554 ของโต๊ะข่าวด้านภัยพิบัติประจำสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส นำมาสู่การพัฒนาบุคลากรสื่อสารมวลชนด้านการรายงานข่าวภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี 2560 พัฒนาสู่การเป็นศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ เพื่อมุ่งเน้นรวบรวมองค์ความรู้ที่สำคัญ เนื่องจากบทบาทของสื่อมวลชนในการรับมือภัยพิบัติ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประชาชนในการเตรียมตัวและเฝ้าระวัง ลดความสูญเสียทั้งทรัพย์สินและชีวิต เพื่อประโยชน์สูงสุดของสังคมไทย
รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ มีแนวทางการทำงานเชิงรุก ทั้งการรายงานข่าวสารด้านภัยพิบัติ ข่าวสถานการณ์ในทุกช่องทาง ทั้งออนแอร์, ออนไลน์ และออนกราวด์ นอกจากภารกิจการรายงานข่าวสาร ยังรวมถึงการทำงานกับเยาวชน เพื่อให้รู้เท่าทันภัยพิบัติ, การทำงานด้านเครือข่ายสร้างนักสื่อสารด้านภัยพิบัติในพื้นที่จังหวัดต่างๆ, สร้างเครือข่ายระดับลุ่มน้ำ จากการทำงานจุดเล็กๆ สู่ความร่วมมือระดับประเทศ เช่น การร่างปฏิญญาอันดามัน ในการทำงานร่วมกันของสื่อมวลชน เพื่อรายงานข่าวภัยพิบัติสู่ประชาชน
รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวต่อไปว่า ด้วยเหตุผลของการพัฒนาที่ก้าวไกลในทุกด้าน นำมาสู่การครบรอบการก่อตั้งศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ ปีที่ 3 ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ และไทยพีบีเอส ยังพร้อมที่จะดำเนินตามพันธกิจ มุ่งเน้นการมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการสื่อสารมวลชนในประเทศไปสู่ระดับอาเซียน ภายใต้แนวความคิดพัฒนาคน พัฒนางาน พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ
ทั้งนี้ ปีนี้ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ ได้จัดมอบรางวัลให้แก่สื่อมวลชน โดย กิตติ สิงหาปัด ผู้ประกาศข่าวผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อ ได้รับรางวัลในฐานะสื่อมวลชนผู้อุทิศทุ่มเทชีวิตการทำงานสื่อสารด้านภัยพิบัติ (Lifetime Achievement on Disaster News Coverage)
นอกจากนี้ ยังมีผู้ได้รับรางวัล สื่อมวลชนดีเด่นด้านภัยพิบัติและสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2563 ประเภทอื่นๆ ดังต่อไปนี้
- รางวัลหน่วยงานสร้างสรรค์การพัฒนาเยาวชนนักสื่อสารด้านภัยพิบัติ
- พล.ร.ต. ศุภชัย ธนสารสาคร ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ
- ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 4
- รางวัลศิลปินผู้อุทิศผลงานเพื่อการสื่อสารด้านภัยพิบัติ
- พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
- รางวัลผู้ร่วมพัฒนาสังคมตระหนักรู้ และรับมือภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อม
- Fomm (ASIA).CO.,LTD
- รางวัลผู้นำดีเด่นด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
- นท พนายางกูร
รวมถึงจัดมอบรางวัล สื่อมวลชนดีเด่นด้านภัยพิบัติและสิ่งแวดล้อม 2 ประเภท ได้แก่ ผู้สื่อข่าวดีเด่นและสื่อออนไลน์ดีเด่น ดังต่อไปนี้
รางวัล สื่อมวลชนด้านภัยพิบัติสึนามิ Outstanding Award on Disaster News Coverage 2020 (Members of Media)
- มนตรี อุดมพงษ์ ข่าวสามมิติ สถานีโทรทัศน์ช่อง 3HD
- ธัญญารัตน์ ถาม่อย สถานีโทรทัศน์ช่อง 7HD
- จิราพร คำภาพันธ์ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
- รัชตะ ไทยตระกูลพาณิช สถานีโทรทัศน์ช่อง one31
- พรรษนันท์ ช่างคิด สถานีโทรทัศน์ทีเอ็นเอ็น 16
- ธนภัทร ติรางกูล สถานีโทรทัศน์ Workpoint TV ช่อง 23
รางวัล สื่อมวลชนด้านภัยพิบัติสึนามิ Outstanding Award on Disaster News Coverage 2020 (Members of New Media)
- เวิร์คพอยท์ ทูเดย์ (Workpoint Today)
- THE STANDARD
- เอ็มไทย (MThai)
- อีจัน (EJAN)
- ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป (Three-Wheel Uncle)
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล