“ถ้าเรามองไปที่แผนที่ประเทศไทย ทางซ้ายมือเราจะเห็นมหาสมุทรอินเดีย ลึกขึ้นไปจะเห็นอ่าวเบงกอล ถัดเข้ามาคือทะเลอันดามัน ประเทศรอบๆ ที่อยู่ติดทะเลเหล่านี้มีประเทศอะไรบ้าง”
“มีไทย เมียนมา บังกลาเทศ อินเดีย และศรีลังกา ส่วนอีก 2 ประเทศในเอเชียใต้ที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดแต่ไม่มีพื้นที่ติดทะเล (Landlocked) คือ เนปาล และภูฏาน”
รุจิกร แสงจันทร์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ พาเราลัดเลาะตามแผนที่ภูมิศาสตร์ เพื่อให้เห็นประเทศต่างๆ ที่เราจะโฟกัสกันในบทความนี้ ก่อนจะชี้ให้เห็นความสำคัญทั้งในเชิงที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และโอกาสทางเศรษฐกิจต่างๆ ภายใต้กรอบความร่วมมือระดับอนุภูมิภาค ซึ่งไทยเป็นดั่งสะพานเชื่อมระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้
ตลาดที่ว่านี้มีประชากรรวมกว่า 1,800 ล้านคน คิดเป็น 22% ของประชากรโลก และมีขนาด GDP รวม 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มีการค้าระหว่างประเทศรวม 1.75 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
เรากำลังพูดถึง BIMSTEC กรอบความร่วมมือที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนในระดับโลก
ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้าที่ดุเดือด หลายประเทศเริ่มลดการพึ่งพามหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีน และหันมามองตลาดใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) หรืออาจเรียกว่าขั้วเศรษฐกิจใหม่ (Global South) ที่กำลังเนื้อหอมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากพลังการบริโภค แรงงาน ทรัพยากรธรรมชาติ เทคโนโลยี และโนว์ฮาว ซึ่งตลาด BIMSTEC ก็เป็นหนึ่งในนั้น
อธิบดีกล่าวว่า การมีอินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งใน Rising Power อยู่ใน BIMSTEC ถือเป็นแม่เหล็กที่ทำให้โลกสนใจกลุ่มนี้มากขึ้น โดยอินเดีย นอกจากจะมีตลาดขนาดใหญ่แล้ว ยังมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้วย
“การที่เรามีอินเดียอยู่ในกรอบความร่วมมือนี้ ทำให้ไทยมีโอกาสได้แสดงบทบาทในเรื่องต่างๆ มากว่าเวทีระดับทวิภาคีไทย-อินเดีย ทำให้เรามีมุมมองที่กว้างขึ้นในระดับภูมิภาค และอนุภูมิภาค ซึ่งโอกาสก็จะกว้างขึ้น ตลาดก็จะขยายใหญ่ขึ้น” อธิบดีกล่าว
โดยอินเดียมีจุดแข็งในเรื่องของเทคสตาร์ทอัพด้วย ซึ่งก็เป็นโอกาสของไทยในการร่วมมือด้านเทคและ AI กับอินเดีย
แต่นอกจากตลาดอินเดียแล้ว ไทยก็ให้ความสำคัญกับบังกลาเทศ ศรีลังกา หรือสองประเทศแถบหิมาลัยที่เด่นเรื่องท่องเที่ยว และเมียนมาด้วย
เมื่อเอเชียใต้มีนโยบาย Look East ส่วนไทยก็มีนโยบาย Look West เพื่อมองหาโอกาสใหม่ๆ ทั้งสองจึงมาบรรจบกันและต่างขยายโอกาสซึ่งกันและกันทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว อีกทั้งยังขยายการเชื่อมโยงทางคมนาคมระหว่างกัน ทั้งทางบกและทางเรือ นอกจากนี้ยังช่วยกระจายความเสี่ยง ลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจกับมหาอำนาจ ซึ่งตอบโจทย์ทางภูมิรัฐศาสตร์
แน่นอนว่าการขับเคลื่อนจากภาครัฐและเอกชนถือเป็นกุญแจสำคัญ แต่ก็ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากประชาชนด้วย
โจทย์การสร้างการรับรู้ ทำอย่างไรให้คนรู้จัก BIMSTEC
ถ้าถามว่า BIMSTEC คืออะไร มีน้อยคนที่จะรู้จัก
นั่นก็แปลว่า การขับเคลื่อน BIMSTEC ในอดีตที่ผ่านมาถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
ความท้าทายของไทยในฐานะเจ้าภาพปีนี้คือจะทำอย่างไรให้ประชาชนทั่วไปรู้จัก BIMSTEC มากขึ้น เพราะคนทั่วไปมักรู้จักอาเซียน แต่โดยส่วนใหญ่จะไม่รู้จัก BIMSTEC ว่าคืออะไร ทั้งที่เป็นกรอบความร่วมมือที่มีความเป็นมาตั้งแต่ปฏิญญากรุงเทพปี 1997 ซึ่งไทยได้รับไม้ต่อการเป็นประธานถัดจากศรีลังกาในปี 2022 และปีนี้ BIMSTEC ก็ได้กลับบ้านอีกครั้ง โดยไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดผู้นำกับอีก 6 ประเทศ ซึ่งเลื่อนมาจากปีที่แล้ว
โจทย์สำคัญคือการสร้างการรับรู้และขับเคลื่อน BIMSTEC ให้เติบโตขึ้นจากภาคส่วนต่างๆ โดยในด้านการรับรู้ของประชาชนนั้น มีความจำเป็นต้องสร้างความตระหนักเพิ่มขึ้นว่า BIMSTEC มีความสำคัญอย่างไร และจะส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วไปในมิติต่างๆ ได้อย่างไร โดยเฉพาะในด้านการค้า การลงทุน เทคโนโลยี การท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม และการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนใน BIMSTEC
อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศกล่าวว่า การขับเคลื่อน BIMSTEC ในแต่ละยุคสมัยจะอยู่ในบริบทของภาพใหญ่ โดยช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิดได้ส่งผลให้การขับเคลื่อนความร่วมมือสะดุดลง ปัจจุบัน BIMSTEC อยู่ในบริบทของการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ ภูมิรัฐศาสตร์ที่ผันผวน และสงครามการค้าที่มีชนวนจากนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อโลกในทุกมิติอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
แม้หลายปีที่ผ่านมา BIMSTEC มีความร่วมมือในด้านต่างๆ ทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี ครอบคลุมไปถึงด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม ทว่าคนส่วนใหญ่ไม่รับรู้ อาจเป็นเพราะเราไม่ได้ชูว่านี่คือ BIMSTEC หรือนำคำนี้มาจับ เราจะเห็นคำนี้เฉพาะในเอกสารราชการเป็นส่วนใหญ่ เช่น เอกสารยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยง
ตัวอย่างโครงการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ BIMSTEC คือ ‘แลนด์บริดจ์’ ซึ่งหลายคนอาจไม่รู้เลยว่าโครงการนี้เชื่อมโยงชายฝั่งทะเลอันดามันของไทยกับมหาสมุทรอินเดีย อ่าวเบงกอล และประเทศใน BIMSTEC
อธิบดีกล่าวว่า ที่ผ่านมาเราอาจไม่ได้สร้างการรับรู้ หรือสร้างแนวคิด (Conceptualize) ในเรื่องต่างๆ ว่านี่คือ BIMSTEC ดังนั้นประชาชนจำนวนมากจึงยังไม่รู้จักหรือเห็นความสำคัญ ทั้งที่บางเรื่องอาจอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน
BIMSTEC กำลังมุ่งไปทางไหน
ในฐานะประธาน BIMSTEC ซึ่งจะสิ้นสุดวาระลงในปีนี้ ไทยได้เสนอวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030 (BIMSTEC Bangkok Vision 2030) เพื่อกำหนดทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจนของความร่วมมือภายใต้กรอบ BIMSTEC โดยส่งเสริมให้ BIMSTEC เป็นพื้นที่แห่งสันติภาพ เสถียรภาพ และความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ รวมถึงยกระดับความร่วมมือในการปรับตัว เพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อบรรลุเป้าหมายสำคัญภายใต้แนวคิด BIMSTEC ที่ ‘มั่งคั่ง ยั่งยืน ฟื้นคืน และเปิดกว้าง (Prosperous, Resilient and Open BIMSTEC หรือ ‘PRO BIMSTEC’)
เรื่องของ Prosperous หรือความมั่งคั่งนั้น อธิบดีอธิบายเพิ่มเติมว่า ไทยให้ความสำคัญกับเรื่องการค้า (Trade) โดยมีปลายทางคือ FTA แต่ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาการเจรจาเขตการค้าเสรี BIMSTEC ไม่มีความคืบหน้า และขาดความต่อเนื่อง ซึ่งหากเจรจาสำเร็จจะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาล
เรื่องต่อมาที่เป็นอีกหัวใจในด้านการสร้างความมั่งคั่ง คือการสร้างความเชื่อมโยง (Connectivity) ทั้งทางบกและทางน้ำ ซึ่งปีนี้ไทยผลักดันให้เกิดการลงนามในความตกลงด้านความร่วมมือในการขนส่งทางทะเล ซึ่งจะเกิดประโยชน์ในด้านการค้าทางทะเลและการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคมากขึ้น อีกส่วนคือการเชื่อมโยงทางบกผ่านทางหลวงไตรภาคีอินเดีย-เมียนมา-ไทย (Trilateral Highway) ซึ่งปัจจุบันเส้นทางในส่วนของเมียนมายังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากปัญหาความไม่สงบจากสงครามกลางเมือง ส่งผลให้โครงการนี้มีความล่าช้า
อีกเรื่องที่ไทยให้ความสำคัญคือ AI ในบริบทของเศรษฐกิจ การใช้ประโยชน์จาก AI ในเศรษฐกิจดิจิทัล และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
มิติถัดมาคือเรื่องของ Resilient หรือการฟื้นคืน จะเน้นในเรื่องการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ให้ความสำคัญกับสุขภาพ และความมั่นคงทางสังคม ซึ่งไทยดูเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change), มลพิษในอากาศ (Air Pollution) และอาชญากรรมข้ามชาติ (Transnational Crime)
มิติสุดท้ายเป็นเรื่องของ Open หรือการเปิดกว้าง โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ เช่น ประชาชน ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และเยาวชนเพื่อส่งเสริมให้เกิดความใกล้ชิดกันมากขึ้น
อธิบดีระบุว่า เอกสารผลลัพธ์ของการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 6 จะสะท้อนวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ ในสิ่งที่ไทยอยากเห็น ซึ่งจะเป็นแนวทางขับเคลื่อน BIMSTEC รวมถึงกฎระเบียบ กลไก และทิศทางการดำเนินงานสำหรับ BIMSTEC ในระยะต่อไป ก่อนที่ไทยจะส่งไม้ต่อการเป็นประธาน BIMSTEC ให้แก่บังกลาเทศ ซึ่งอธิบดีได้เน้นย้ำความสำคัญของ Action Plan หรือแผนปฏิบัติการที่แต่ละประเทศนำไปขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดขึ้นจริงตามวิสัยทัศน์
อุปสรรคและความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า
หากจะมีมาตรวัดความสำเร็จที่จับต้องได้ และคนให้ความสนใจด้วยคือความตกลง FTA ซึ่งข้อมูลจากเอกสารของกองส่งเสริมเศรษฐสัมพันธ์และความร่วมมือ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า BIMSTEC ได้มีการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า (BIMSTEC Trade Negotiation Committee: TNC) มาแล้ว 21 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดย้อนกลับไปในปีที่บังกลาเทศเป็นเจ้าภาพจัดประชุมที่กรุงธากา ในปี 2018 ซึ่งครั้งนั้นสามารถสรุปข้อบทในการเจรจาความตกลงด้านกระบวนการและกลไกระงับข้อพิพาท และสามารถสรุปประเด็นสำคัญในความตกลงด้านการค้าสินค้าและความตกลงด้านความร่วมมือด้านศุลกากร
ส่วนการเจรจาความตกลงด้านการค้าบริการ ความตกลงด้านการลงทุน และความตกลงด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้ามีความคืบหน้าตามลำดับ โดยภูฏานมีกำหนดเป็นเจ้าภาพการประชุม BIMSTEC TNC ครั้งที่ 22 ตามระเบียบการเวียนประเทศเจ้าภาพตามลำดับตัวอักษร โดยคาดว่าจะจัดภายในปี 2025
เอกสารระบุว่า ปัจจุบัน BIMSTEC ให้ความสำคัญกับการเจรจาข้อบทภายใต้ความตกลงการค้าสินค้า (Agreementon Trade in Goods) โดยเฉพาะการเร่งสรุปผลข้อบทว่าด้วยกฎถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเปิดเสรีการค้า
ส่วนความท้าทายของการเจรจาความตกลง FTA ของกลุ่ม BIMSTEC นั้น แม้ว่าจะมีการเจรจาอย่างต่อเนื่องมากว่า 20 รอบ แต่ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ เนื่องจากบางประเทศสมาชิกยังมีความกังวลในเรื่องการขาดดุลการค้า นอกจากนี้ในช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิดได้ส่งผลกระทบให้กระบวนการเจรจาต้องหยุดชะงักด้วย อย่างไรก็ตาม ทางกรมฯ เชื่อว่า หากมองภาพรวมในระยะยาว การจัดตั้งเขตการค้าเสรีภายใต้ BIMSTEC FTA จะเป็นประโยชน์ร่วมกันอย่างมหาศาลแก่ทุกรัฐสมาชิก
ซึ่งจะคืบหน้าเป็นรูปธรรมอย่างไร เราคงต้องติดตามกันต่อไป
อีกโจทย์ความท้าทายคือการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่นับวันจะยิ่งดุเดือด ซับซ้อน และผันผวนยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นบททดสอบสำคัญสำหรับความร่วมมือของประเทศต่างๆ ในกรอบ BIMSTEC
ท่ามกลางสงครามการค้าที่เกิดขึ้นทั่วโลก การค้าระหว่างประเทศได้รับผลกระทบจากภาษีศุลกากร (tariff) จากมหาอำนาจ แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวมด้วย ดังนั้นประเทศต่างๆ จึงควรหันมาเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ค้าขายกันเองมากขึ้น เป็นการกระจายความเสี่ยง และก้าวข้ามอุปสรรคทางภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ควบคู่กัน สิ่งสำคัญคือกรอบอนุภูมิภาคนี้มีแต้มต่อในการใช้ประโยชน์จากศักยภาพของตลาดเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เชื่อมกันโดย BIMSTEC
ซึ่งไทยในฐานะผู้นำสาขาความเชื่อมโยงใน BIMSTEC ถือเป็นสะพานเชื่อมที่สำคัญในการช่วยขับเคลื่อนให้กลุ่มนี้เติบโตเพื่อรองรับกับโอกาสที่ขยายเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ไทยยังสามารถใช้เวทีนี้แสดงบทบาทการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกให้โดดเด่นขึ้นด้วย
ภาพ: Harvepino via Shutterstock
อ้างอิง:
- กองส่งเสริมเศรษฐสัมพันธ์และความร่วมมือ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ