×

สังคมสูงอายุกับปัญหา 2 เตี้ย 2 สูงของเศรษฐกิจไทย

08.08.2019
  • LOADING...
สันติธาร เสถียรไทย

เผลอแป๊บเดียวก็ใกล้วันที่จะอายุเพิ่มขึ้นอีกปี แล้วบังเอิญผมได้มาอ่านบทความ Bloomberg ล่าสุด เกี่ยวกับเรื่องประเทศไทย ‘แก่ก่อนรวย’ เลยได้แรงบันดาลใจกลับไปรื้อรายงานที่เคยเขียนสมัยยังทำงานอยู่ภาคการเงิน 2 ปีที่แล้ว ซึ่งคิดว่าหลายอย่างยังใช้ได้อยู่ 

 

เล่าอย่างสรุปคือ การเข้าสู่สังคมสูงอายุสร้างความท้าทายให้เศรษฐกิจไทยอย่างน้อย 4 ประการ ที่ผมใช้คำว่า ‘2 เตี้ย 2 สูง’ คือ โตเตี้ย ดอกเบี้ยต่ำ บาทแข็ง ภาระคลังสูง

 

1. การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เตี้ยลง

ประเด็นในบทความ Bloomberg และงานหลายชิ้นได้พูดถึงแล้วคงขอไม่ลงลึก เรื่องเศรษฐกิจถูกฉุดจากการที่แรงงานลดลงเพราะคนสูงอายุออกจากตลาดแรงงาน และคนรุ่นใหม่เข้าตลาดแรงงานน้อย เพราะอัตราเกิดอยู่ที่ 1.5 คน ต่ำใกล้เคียงประเทศพัฒนาแล้วอย่างฟินแลนด์

 

แน่นอนเราได้ยินกันมานานล่ะว่าต้องเพิ่มผลิตภาพต่อหัว (Productivity) แต่ละหัวจะผลิตได้มากขึ้นชดเชยที่จำนวนหัวมีน้อยลง

 

แต่เอาจริงๆ การเพิ่มผลิตภาพในโลกปัจจุบันไม่ใช่ง่าย ข้อแรกคือ แรงงาน 2 ใน 3 ของไทยอยู่ในภาคเศรษฐกิจที่ใช้กำลังกายมาก ทำให้ยิ่งคนอายุมากผลิตภาพยิ่งเสื่อมถอย เช่น งานเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม 

 

ผู้ใหญ่หลายท่านถึงกับเลิกทำงานเต็มเวลาก่อนวัยเกษียณ อาจเพราะสภาพร่างกายไม่อำนวย ต่างจากบางภาคเศรษฐกิจ เช่น ภาคบริการมูลค่าสูงที่ใช้ความรู้ และประสบการณ์เป็นหลัก

 

พูดอีกอย่างคือ งานบางอย่างแก่ลงแบบ ‘นม’ คืออายุมากขึ้นแล้วบูด แต่งานบางประเภทแก่ลงแบบ ‘เหล้า’ ที่ยิ่งบ่มยิ่งหอม

 

การหยิบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอาจทำให้งานหลายงานพึ่งกำลังกายน้อยลง ทั้งยังเพิ่ม Productivity ได้ เช่น การช่วยให้ SMEs มาใช้อีคอมเมิร์ซเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และขยายช่องทางการตลาด ความยากไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของ Adoption หรือการนำมาใช้จริง โดยเฉพาะเมื่อผู้สูงอายุไม่ได้เกิดมากับดิจิทัล และไม่ได้คุ้นเคยกับเทคโนโลยี

 

2. เงินบาทสูง

นอกจากนี้ประเทศที่กำลัง ‘เข้าสู่’ สังคมสูงอายุอย่างรวดเร็วอย่างประเทศไทย (แต่ยังไม่เป็นสังคมสูงอายุ) ยังมีอีกอาการหนึ่งคือ อัตราการลงทุนของธุรกิจหลายภาคอุตสาหกรรมอาจต่ำลง เพราะแนวโน้มการบริโภคในอนาคตชะลอตัวลง เลยส่งผลทำให้การนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ จากต่างประเทศน้อยลง (เงินไทยไหลออกน้อยลง)

 

ในขณะเดียวกันรายได้เงินตราต่างประเทศยังไหลเข้าได้ดีจากภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยว (ต่างชาติแลกเงินต่างประเทศเป็นเงินบาท) จึงทำให้เงินต่างประเทศไหลเข้ามากกว่าออก (หรือที่เรียกว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลถึง 7-8% ของ GDP) ผลักดันให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้น

 

บวกกับที่คนไทยไม่เหมือนประเทศอย่างมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย ที่พอตกใจกลัวอะไรคนชอบเอาเงินออกนอกประเทศ 

 

คนไทยเราคุ้นกับการเก็บเงินในประเทศจึงมีเงินไหลออกน้อย แม้แบงก์ชาติจะค่อยๆพยายามเปิดช่องให้ลงทุนข้างนอกได้ง่ายขึ้น 

 

อดีตรัฐมนตรีของอินโดนีเซียที่เคยคุยด้วยเขาบอกว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่น่าอิจฉาของประเทศไทยที่คนมั่นใจในเงินตนเอง ในขณะที่เขาบ่นว่าเงินเขาอ่อนง่ายไป เราก็บ่นว่าเงินเราแข็งไป!

 

แน่นอนว่าในแต่ละรอบที่บาทแข็งขึ้นอย่างรวดเร็วมักมีปัจจัยอื่นมา ‘เร่งปฏิกิริยา’ ด้วย เช่นการเก็งกำไรของนักลงทุน แต่การเข้าสู่สังคมสูงอายุก็มีส่วนทำให้เรื่องค่าเงินแข็งเป็นประเด็นเรื้อรังง่ายขึ้นเช่นกัน

 

3. ดอกเบี้ยเตี้ยลง

แล้วเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาแล้วไม่ค่อยไหลออกมันไปอยู่ไหนกัน 

 

คำตอบคืออยู่ในระบบการเงิน เช่น เงินฝากธนาคาร พันธบัตรรัฐบาล ทำให้สภาพคล่องล้นตลาดกดอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลไทยเตี้ยลง จนบางครั้งบางคราวต่ำกว่าสหรัฐอเมริกาหรือสิงคโปร์ที่เครดิตเรตติ้งสูงกว่าเราเสียอีก กลายเป็นว่ารัฐบาลไทยกู้ได้ถูกกว่าอเมริกาหรือสิงคโปร์!

 

แต่อาจเกิดคำถามว่าถ้าเงินล้นตลาดขนาดนั้น ทำไมหลายคนถึงรู้สึกว่าเศรษฐกิจฝืดเคือง

 

เหตุผลสำคัญข้อหนึ่งคือความเหลื่อมล้ำ หรือปัญหา ‘รวยกระจุกจนกระจาย’ คนรวยมีเงินเก็บมาก คนจนมีเงินเก็บติดลบ คือเป็นหนี้ที่ใช้ไม่หมดแม้จะถึงวัยเกษียณแล้ว บริษัทใหญ่มีกำไรสูง ธุรกิจ SMEs จำนวนมากขาดสภาพคล่อง เงินฝากประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศอยู่ในมือคน/บัญชี 0.1% ของระบบ

 

ในระบบจึงมีความไม่สมดุลอยู่สูง ด้านหนึ่งคนที่มีเงินออม กองทุนและบริษัทที่มีสภาพคล่องเหลือก็ต่างค้นหาโครงการ และสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนสูงได้ในยามที่ดอกเบี้ยต่ำ จนบางครั้งทำให้เกิดการเก็งกำไร เช่น ในอสังหาริมทรัพย์ จนแบงก์ชาติต้องออกมาตรการมาคุม 

 

ส่วนอีกด้านคนรายได้น้อย ธุรกิจขนาดเล็กก็ขาดเงินทุนเพื่อเติบโต สิ่งหนึ่งที่เราอยากได้จากฟินเทคจึงเป็นการทำให้ระบบการเงินเชื่อมระหว่างคนออม และคนต้องการเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพกว่านี้

 

4. ภาระการคลังสูง

ในเมื่อภาครัฐกู้ได้ในดอกเบี้ยถูกลง และภาคเอกชนไม่ค่อยลงทุนในประเทศเท่าเดิมในยุคเข้าสู่สังคมสูงอายุ ถ้าเช่นนั้นรัฐบาลควรเป็นฝ่ายลงทุนในประเทศให้มากขึ้นไหม จะได้เสริมภาคเอกชน กระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ทำให้เงินบาทอ่อนลงด้วย

 

แนวคิดนี้ถูกต้องส่วนหนึ่ง แต่ต้องไม่ลืมว่าสังคมสูงอายุจะทำให้ภาระการคลังในอนาคตเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลเช่นกัน 

 

การศึกษาของ IMF ได้บ่งชี้ว่าภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ เช่น สาธารณสุขและบำนาญของไทย อาจเพิ่มขึ้นสองเท่าไปอยู่ที่ 15-20% ของ GDP ภายในปี ค.ศ. 2050 (อีกประมาณ 30 ปี) ใกล้เคียงกับญี่ปุ่นปัจจุบัน

 

ตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2014 ชี้ให้เห็นว่าผู้สูงอายุในไทยยังพึ่งพาเงินสนับสนุนเลี้ยงดูจากลูกหลานเป็นหลักหลังเกษียณ (30-40% ของรายได้) รองลงมาคือทำงานเลี้ยงตนเอง (ประมาณ 30%) โดยแนวโน้มชี้ให้เห็นว่าคนสูงอายุอาจต้องทำงานหารายได้เลี้ยงตัวเองมากขึ้นในอนาคต และสัดส่วนรายได้ที่มาจากสวัสดิการค่อนข้างต่ำ

 

อีกประเด็นที่น่าห่วงคือ ผู้สูงอายุของไทยจำนวนมากไม่ได้อยู่ในเมือง ทำให้การเข้าถึงโรงพยาบาล ความสะดวกสบายต่างๆ นั้นยากกว่าในประเทศพัฒนาแล้วที่ประชากรโดยมากอยู่ในเมือง และแม้แต่โครงสร้างพื้นฐานในเมืองเองก็ใช่ว่าจะเอื้อกับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะระบบการขนส่งสาธารณะ

 

ทั้งหมดนี้แปลว่าการใช้กระสุนทางการคลังเพื่อช่วยเศรษฐกิจ แม้วันนี้ยังทำได้ก็ต้องระมัดระวังเผื่อรับภาระการคลังในอนาคต และจะใช้ทั้งทีต้องทำให้คุ้มค่าที่สุด เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากจะต้องดูเรื่องมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้ว อาจต้องถามด้วยว่าช่วยกระจายความเจริญ ตอบโจทย์ความเหลื่อมล้ำ และการเข้าสู่สังคมสูงอายุแค่ไหน

 

ปัญหา 2 เตี้ย 2 สูงชี้ให้เห็นว่าสังคมสูงอายุไม่ได้สร้างความท้าทายแต่เรื่องการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจเท่านั้น และไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย แต่น่าจะกระทบเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคล ครอบครัว ธุรกิจ นักลงทุน ภาครัฐ จึงอยากขอแชร์ ฝากกันช่วยคิดต่อว่าเราควรต้องทำอะไร ปรับตัวอย่างไร ให้สังคมเราแก่ลงแบบ ‘เหล้า’ ไม่ใช่แบบ ‘นม’

 

THE LEADER คือคอลัมน์ที่เปิดพื้นที่ให้ผู้นำองค์กรหรือสถาบันระดับประเทศ มาแสดงวิสัยทัศน์เพื่อจุดประกายความคิดให้กับผู้อ่าน

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising