เป็นที่รู้กันว่าการใช้งบโฆษณาตอนนี้กำลังเปลี่ยนจากการใช้สื่อแบบดั้งเดิมมาใช้สื่อ ‘ดิจิทัล’ มากขึ้น ซึ่งสะท้อนได้จากตัวเลขการใช้งบที่เติบโตมากขึ้นทุกปี
ล่าสุดสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ Digital Advertising Association (Thailand) จับมือบริษัท คันทาร์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยผลสำรวจมูลค่างบโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลของประเทศไทยประจำปี 2566 เจาะลึกใน 59 ประเภทอุตสาหกรรม และ 17 ประเภทสื่อดิจิทัล พบว่า ในปี 2566 แพลตฟอร์มและสื่อดิจิทัลในประเทศไทยมีมูลค่าการใช้จ่ายด้านโฆษณามากถึง 28,999 ล้านบาท โดยตัวเลขที่เติบโตขึ้นจากปี 2565 อยู่ที่ 13% โดยเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลในครึ่งปีแรกอยู่ที่ 13,210 ล้านบาท
ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง และเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ มูลค่าการใช้จ่ายด้านโฆษณากลับเติบโตเป็นเลขสองหลัก เนื่องมาจากเหตุผลหลายประการ เช่น การเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว ตลอดจนสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้แบรนด์ต่างๆ เริ่มมีการทำกิจกรรมทางการตลาดในครึ่งปีหลังมากขึ้น
ลึกเข้าไปกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนในสื่อโฆษณาดิจิทัล 5 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มสกินแคร์ (3,268 ล้านบาท) ตามด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ (2,520 ล้านบาท) กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (2,228 ล้านบาท) กลุ่มธุรกิจการสื่อสาร (2,190 ล้านบาท) และกลุ่มร้านค้าปลีก (1,682 ล้านบาท)
ที่น่าสนใจก็คือกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตในการใช้เม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลสูงที่สุด คือ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการดูแลตนเองและรูปร่าง เช่น กลุ่มเครื่องสำอางที่เติบโตก้าวกระโดดที่ 139% กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อควบคุมน้ำหนัก และผลิตภัณฑ์สุขอนามัยช่องปาก เติบโตที่ 69% ในขณะที่กลุ่มสกินแคร์เองก็เติบโตที่ 32%
เมื่อจำแนกตามการลงทุนตามช่องทางการลงโฆษณาบนสื่อดิจิทัล พบว่า การลงเม็ดเงินโฆษณาในช่องทางต่างๆ เริ่มกระจายมากขึ้น สื่อถึงพฤติกรรมการเสพสื่อออนไลน์ที่เริ่มเปลี่ยนไป โดยช่องทางที่นักการตลาดลงทุนในโฆษณาดิจิทัลสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
- Meta (Facebook และ Instagram) 8,183 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 6%
- YouTube 4,751 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 34%
- วิดีโอออนไลน์ 2,254 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 4%
- การลงทุนทางด้านการสร้างสรรค์ผลงาน หรือ Creative 2,151 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 32%
- TikTok 2,048 ล้านบาท เติบโตขึ้น 95%
ขณะเดียวกันเม็ดเงินโฆษณาในช่องทางอีคอมเมิร์ซและการทำการตลาดแบบพันธมิตร (Affiliate Marketing) มีการเติบโตและเป็นช่องทางที่แบรนด์และนักการตลาดเลือกใช้สำหรับกิจกรรมทางการตลาดในปี 2566
ดร.อาภาภัทร บุญรอด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คันทาร์ (ประเทศไทย) ให้ความเห็นว่า โฆษณาดิจิทัลมีศักยภาพในการสร้างความตระหนักรู้ของแบรนด์และผลิตภัณฑ์ต่างๆ และความสามารถในการเข้าถึงกลุ่มต่างๆ ได้ดี และยังช่วยเรื่องของ Brand Consideration และ Lead Generation ด้วย ส่งผลให้นักการตลาดให้ความสำคัญกับโฆษณาดิจิทัลมากขึ้น
ในปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีทางการตลาดเพื่อเสริมประสิทธิภาพและความรวดเร็วของการตลาดดิจิทัล ทั้งด้านของ E-Commerce Marketing Tool และการใช้ Data Analytics Platform และเครื่องมือในการติดตามและวัดผล Return on Investment ต่างๆ
“ปีนี้เราเห็นความเติบโตของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ดูแลผิว โดยคาดว่าจะเติบโตขึ้นมาเป็นอันดับ 1 แทนที่เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ซึ่งเป็นอันดับ 1 ในปีที่แล้ว และแซงแชมป์เก่าหลายปีซ้อนคือยานยนต์ ที่น่าจับตามองคือการเติบโตของการค้าปลีก (Retail) ที่น่าจะมีการเติบโตอย่างชัดเจนในปีนี้”