วันนี้ (4 มกราคม) รอมฎอน ปันจอร์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงการจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงหนึ่งว่า นับจากเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อปี 2547 พบว่าสถานการณ์ความไม่สงบจนถึงปัจจุบันเกิดขึ้นแล้วกว่า 22,296 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บกว่า 20,000 คน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 7,000 คน ทั้งนี้ พบว่ารัฐใช้งบประมาณเพื่อแก้ปัญหากว่า 5.4 แสนล้านบาท โดยในงบประมาณฯ ปี 2567 พบการเสนอของบรวม 2.5 หมื่นล้านบาท มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 6.5% โดยส่วนตัวมองว่างบดังกล่าวสามารถปรับลดได้ถึง 1.032 พันล้านบาท
“เป้าหมายแผนบูรณาการดับไฟใต้เพื่อความสงบเรียบร้อยและราบคาบ แต่ผมมองว่าไม่พอ เพราะเป็นสันติภาพเชิงลบ ดังนั้นต้องเพิ่มสันติภาพเชิงบวก ได้แก่ ความยุติธรรม เพราะเงื่อนไขคนต่อต้านก่อกบฏ เพราะคนไม่รับความเป็นธรรม ต้องคุ้มครองสันติภาพและแก้ไขกฎหมาย แต่การจัดงบของรัฐบาลทำให้เกิดสันติภาพเชิงลบและเชิงลดเท่านั้น” รอมฎอนกล่าว
สำหรับงบประมาณที่ใช้ดับไฟใต้กำหนดไว้นอกแผนบูรณาการ 3 ใน 4 อยู่ในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) รวมกว่า 5 พันล้านบาท เช่น งบกำลังพล และการดำเนินงานของ กอ.รมน. วงเงิน 3.535 พันล้านบาทที่อาจเกี่ยวข้องกับบุคลากรผี คือมีชื่อปฏิบัติงานในพื้นที่แต่ไม่ได้ทำงานจริง ดังนั้นขอให้ กอ.รมน. ชี้แจงว่ามีคนทำงานจริงเท่าไร หรือเป็นเพียงงบที่ใช้หากินเท่านั้น
รอมฎอนกล่าวต่อว่า ตนมีข้อเสนอไปยังรัฐบาลที่มีนโยบายด้านยุติธรรมให้ฟื้นคดีตากใบที่อีก 10 เดือนจะหมดอายุความ โดยให้ริเริ่มเป็นคดีพิเศษ โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รวมถึงให้นายกรัฐมนตรี กำชับไปยัง กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ให้ยุติการฟ้องปิดปาก เพื่อให้การเจรจาสันติภาพเกิดขึ้นได้จริง รวมถึงเปิดพื้นที่ทางการเมือง เจรจาหาทางออกร่วมกันระหว่างคนในพื้นที่ โดยไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก รวมถึงปรับลดงบประมาณที่ซ้ำซ้อนของ กอ.รมน.
“ขอให้นายกรัฐมนตรีกำชับท่านแม่ทัพภาคที่ 4 ที่ท่านทำมันบั่นทอนกระบวนการสันติภาพ เป็นไบโพลาร์ เดี๋ยวอยากจะคุย เดี๋ยวก็อยากจะปิดปาก อันนี้ก็ต้องเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีที่ต้องกำชับ ภายใต้เงื่อนไขงบประมาณนี้ ถ้านิติธรรมที่เข้มแข็งจริง เราอาจไม่ต้องใช้งบประมาณขนาดนี้“ รอมฎอนกล่าว
นายกฯ ปัด แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นไบโพลาร์
จากนั้น เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลุกขึ้นชี้แจงว่า ขอบคุณสมาชิกที่ให้ข้อคิดเกี่ยวกับงบประมาณ จะขอน้อมรับไปพิจารณาให้งบมีประโยชน์สูงสุด และวิธีบริหารจัดการปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งหลายประเด็นน่านำมาพูดคุย แล้วให้ทีมงานไปขยายผลต่อ เพื่อที่ปัญหาจะได้ลดลง
เศรษฐากล่าวว่า ขอบคุณ สส. ทุกภาคที่เข้าไปมีส่วนร่วม ทำให้เกิดความสงบ พูดคุยกับประชาชน ทำให้ปัญหาความรุนแรงลดน้อยลง และขอบคุณฝ่ายความมั่นคง รวมถึง กอ.รมน. แม้ฝ่ายค้านอาจไม่ค่อยเห็นด้วย แต่ตนเห็นความตั้งใจจริง และเชื่อว่าฝ่ายความมั่นคง รวมถึง กอ.รมน. ต้องการคืนความสงบและความมั่งคั่งให้กับคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
เศรษฐากล่าวต่อว่า 100 กว่าวันที่ดำรงตำแหน่งได้ไปลงพื้นที่ชายแดนใต้ ได้เจอนายกฯ มาเลเซีย พูดคุยกันเกี่ยวกับความสงบ ความมั่นคง ความเรียบร้อย และปัญหาด้านเศรษฐกิจ การเชื่อมโยงการค้าระหว่างสองประเทศ ซึ่งตรงนี้ก็มีการพัฒนามาหลายมิติ ซึ่งถ้าประชาชนมีเงินในกระเป๋า มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ปัญหาความรุนแรงก็น่าจะลดน้อยลง ควบคู่ไปกับการทำงานของฝ่ายความมั่นคงทั้งสองประเทศ ซึ่งมาเลเซียก็ชื่นชมว่าไทยมีพลเรือนเป็นหัวหน้าทีมเจรจา และยินดีทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
ส่วนที่บอกว่าถ้าบ้านเมืองมีความสงบแล้วไม่รู้ว่า กอ.รมน. จะไปทำอะไรนั้น เศรษฐากล่าวว่า ไม่ต้องเป็นห่วง ตนพูดคุยกับผู้บัญชาการทหารบกไปเรียบร้อยแล้ว มีหลายเรื่องที่ยังต้องทำ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขอุทกภัย ภัยแล้ง ขุดบ่อเก็บกักน้ำ รวมถึงช่วยเหลือภัยพิบัติทางธรรมชาติ ส่วนเรื่องไบโพลาร์ที่ สส. เปรียบเปรยให้ กอ.รมน. นั้น ตนไม่ได้เป็นหมอเลยไม่รู้ว่าเป็นหรือไม่
ย้ำไบโพลาร์เป็นคำเปรียบเปรย
จากนั้นรอมฎอนได้ใช้สิทธิ์ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เรื่องไบโพลาร์เป็นคำเปรียบเปรยในการทำงาน ไม่ใช่เรื่องสุขภาพหรือเรื่องส่วนบุคคล ซึ่งทิศทางของ กอ.รมน. ในการทำงานตนยังกังวล และขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับรองร่างกฎหมายยกเลิก กอ.รมน. ที่ถูกตีความว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน และส่งให้สภาด้วย