แม้ ‘ไปรษณีย์ไทย’ จะเป็นองค์กรที่อยู่ในตลาดมานานกว่า 141 ปี แต่ไม่หยุดสร้างแบรนดิ้ง สลัดภาพจากธุรกิจดั้งเดิมสู่การเป็น Information Logistics พร้อมย่องเจรจา Temu แพลตฟอร์มน้องใหม่ในไทยไม่ให้ผูกขาดแค่ขนส่งเดียว
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ จำกัด แสดงวิสัยทัศน์ในโอกาสไปรษณีย์ครบรอบ 141 ปี นับเป็นองค์กรที่อยู่คู่กับตลาดไทยมานาน แต่เมื่อบริบทเปลี่ยน สภาพการแข่งขันรุนแรง จากการเปิดเสรีก็มีผู้ประกอบการรายใหม่กระโดดเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดอยู่เป็นระยะๆ
แน่นอนว่าองค์กรต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน จึงต้องปรับตัวทั้งการบริหารงานภายใน กระบวนการทำงาน และพนักงาน สร้างโอกาสการเติบโตจากธุรกิจดั้งเดิม ต่อยอดสู่การเป็น Information Logistics เพื่อขับเคลื่อนองค์กรและรองรับกับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงต่างๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ไปรษณีย์ไทยตั้งเป้ารายได้ 2.18 หมื่นล้านภายในสิ้นปี เดินหน้ารุกตลาดต่างประเทศด้วยกลยุทธ์ EMS World
- 140 ปี ‘ไปรษณีย์ไทย’ ย้ำไม่ขอเล่น ‘สงครามราคา’ แต่การกลับมาทำกำไรก็เป็นสิ่งมองข้ามไม่ได้!
- ‘ไปรษณีย์ไทย’ โดดรับกระแสธุรกิจขนส่งพัสดุชิ้นใหญ่มาแรง! งัดบริการ EMS JUMBO ส่งด่วนเริ่มต้น 200 บาท
ย่องเจรจา Temu หวังเข้าส่งสินค้าให้แพลตฟอร์มที่มีโอกาสโตเร็ว
อีกหนึ่งสิ่งในการปรับตัวขององค์กร คือการเข้าไปเป็นพันธมิตรกับแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้ง Shopee, Lazada และ TikTok โดยเราทำหน้าส่งสินค้าด่วนหรือ EMS ไปยังกลุ่มลูกค้าของแพลตฟอร์ม โดยปี 2566 ที่ผ่านมา พฤติกรรมลูกค้านิยมสั่งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ทำให้ยอดขนส่งเพิ่มขึ้น 12.92%
แต่ปัจจุบันแพลตฟอร์มต่างๆ เริ่มได้รับผลกระทบ หลังจาก Temu แอปพลิเคชันอีคอมเมิร์ซจากจีนเข้ามาเปิดให้บริการในเมืองไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2567 ทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนจากการซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มเดิมไปซื้อผ่าน Temu แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อยอดขนส่งตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมาลดลงต่อเนื่อง
ทั้งนี้ Temu ใช้บริษัทขนส่ง J&T แค่รายเดียว โดยไปรษณีย์ไทยได้เข้าไปเจรจากับทีมผู้บริหาร Temu เพื่อเข้าไปเป็นพันธมิตรทำหน้าที่ส่งสินค้า เพราะหากผูกขาดแค่รายเดียวจะสร้างความลำบากในตลาด ซึ่งต้องรอดูอีกครั้งว่าจะได้รับสัญญาณบวกหรือไม่
เรียกว่าตอนนี้นอกจากเราจะแข่งกับบริษัทขนส่งด้วยกันแล้ว ยังต้องแข่งกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ แพลตฟอร์มหรือผู้ขายสินค้าจะใช้บริการขนส่งเจ้าไหนก็ได้ ดังนั้นเราต้องหาช่องทางที่มีทราฟฟิกใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา
ไตรมาส 4 นี้เตรียมใช้รหัสตัวเลข 6 หลัก แทนจ่าหน้าซอง
ดร.ดนันท์ กล่าวต่อไปว่า 141 ปี ไปรษณีย์ไทย ได้ดำเนินงานภายใต้กรอบแนวคิดการเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยหลัก 3S Strong เพิ่มความเชื่อมั่น Start เริ่มปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจเพื่อให้มี New S-Curve และ Sustain ที่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ดำเนินการด้าน ESG + E มาอย่างต่อเนื่องจนพลิกเป็นรายได้ กำไร ระบบเศรษฐกิจ และความยั่งยืน
ทั้งนี้ยังให้ความสำคัญกับความแข็งแกร่งของโครงข่ายไปรษณีย์ที่เข้าถึงทุกที่ทุกเส้นทางขนส่ง ควบคู่กับการควบคุมต้นทุนและคุณภาพให้ได้ตามมาตรฐาน โดยเปลี่ยนจากการบริการแบบ Self Centric ที่ทุกคนต้องเข้าหา ปณท ไปสู่การที่ ปณท ออกไปสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าและประชาชน
สำหรับทิศทางและกลยุทธ์ต่อจากนี้ ไปรษณีย์ไทยเตรียมปรับใช้ N/ID ซึ่งจะให้ผู้โหลดแอป และทำ KYC แล้วสามารถขอรหัส 6 หลักซึ่งเป็นตัวเลขผสมตัวอักษร โดยรหัสจะใช้แทนข้อมูลส่วนตัว ทั้งชื่อ ที่อยู่ รหัสไปรษณีย์ จากเดิมแล้วเราจะต้องเขียนลงจ่าหน้าซองเพื่อนำส่ง แต่เมื่อใช้รหัสนี้ ต่อไปก็ไม่ต้องแจ้งชื่อที่อยู่ แค่ส่งรหัสนี้ให้ต้นทางก็จะจัดส่งให้ถึงที่อยู่ได้เลย ซึ่งสามารถตอบโจทย์คนที่ไม่ต้องการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว
POST Cafe’ กุญแจสำคัญช่วยสร้างแบรนดิ้ง
ยิ่งไปกว่านั้นไปรษณีย์ไทยต้องทุ่มเทกับการสร้างแบรนดิ้งอย่างมาก และทุกกระบวนการวางแผนงานทุกอย่างจะต้องมีแบรนดิ้งเป็นศูนย์กลาง โดยคำว่าแบรนด์ไม่ใช่แค่เสื้อผ้าหน้าผม เปรียบเสมือนนิสัย พฤติกรรม รวมกันทั้งหมดนั้นคือแบรนด์ และทั้งหมดจะสะท้อนไปถึงคุณภาพการให้บริการ
“เพราะฉะนั้นทุกอย่างในการสร้างแบรนด์ของไปรษณีย์ไทยต้องไม่ใช่แค่มีโลโก้สวย แต่ต้องสะท้อนมาถึงการบริการ ความมั่นใจของลูกค้า เช่นเดียวกับการเปิด POST Cafe’ คาเฟ่ใหม่สาขาแรกที่ไปรษณีย์สามเสนใน เราตั้งใจให้เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างแบรนด์ เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์และผู้ใช้บริการเอาไว้ด้วยกัน และต่อจากนี้มีแผนจะขยาย POST Cafe’ เพิ่มมากขึ้นอีก” กรรมการผู้จัดการใหญ่ไปรษณีย์ย้ำ