ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า วิกฤตโควิดทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างมาก และส่วนใหญ่นิยมสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซขยายตัวมากขึ้น แต่เมื่อหลังโควิดคลี่คลายลง การสั่งสินค้าออนไลน์เริ่มลดลง และหันไปซื้อสินค้าผ่านช่องทางออฟไลน์
จากเดิมในช่วงไตรมาส 4 นับเป็นช่วงไฮซีซันของการจับจ่าย แต่บรรยากาศค่อนข้างเงียบ เพราะคนเริ่มออกเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ ประกอบกับเศรษฐกิจและกำลังซื้อไม่ได้หวือหวาเหมือนช่วงก่อนโควิด ซึ่งอาจทำให้การเติบโตของออนไลน์อาจไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ไปรษณีย์ไทย ขึ้นราคาครั้งแรกในรอบ 18 ปี จดหมายปซองเพิ่ม 5-10 บาท หีบห่อเป็นประเภทใหม่ เคาะเริ่มต้น 30 บาท
- ไม่แข่งแล้วเรื่องสงครามราคา ไปรษณีย์ไทย ประกาศชัดขอโฟกัสเรื่องคุณภาพและบริการใหม่ๆ หลังปีที่ผ่านมาขาดทุนหลัก ‘พันล้านบาท’
- รกิจขนส่งแข่งราคาแรงเกินไป ‘ไปรษณีย์ไทย’ กางกลยุทธ์ใหม่ ต้องการเป็น ‘มากกว่าผู้ให้บริการขนส่ง’ เร่งเจาะตลาด Blue Ocean
อาจกระทบต่อธุรกิจโลจิสติกส์บ้างเล็กน้อย โดยปัจจุบันภาพรวมตลาดมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็นขนส่งพัสดุแบบด่วนมูลค่า 5 หมื่นล้านบาท ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการรายใหม่กระโดดเข้ามาจำนวนมาก และล้มหายไปจากตลาด เพราะสภาพตลาดมีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะในแง่ของราคา แม้อยู่ในภาวะที่ต้นทุนสูงยังจำเป็นต้องทำ โดยปัจจุบันไปรษณีย์ไทยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 55%
เป้าหมายหลักตอนนี้คือการรักษาส่วนแบ่งตลาดทั้งในแง่มูลค่าและการบริการให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด พร้อมกับการขยับเข้าไปสร้างการเติบโตในเซ็กเตอร์ใหม่ๆ
สำหรับกลยุทธ์และแผนการดำเนินงานต่อจากนี้ มุ่งให้ความสำคัญกับตลาดนิช (Niche Market) มากขึ้น จากที่ผ่านมามุ่งจับตลาดแมส เจาะกลุ่ม B2C เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน จะเริ่มขยายตลาดขนส่งสินค้าที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น สินค้าชิ้นใหญ่ที่ต้องระมัดระวังในการส่ง โดยได้เตรียมพื้นที่สำหรับกระจายสินค้ากลุ่มนี้มากขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทได้ทุ่มงบ 1 พันล้านบาทเพื่อยกเครื่องระบบไอซีทีและเทคโนโลยีดาต้าทั้งหมด เข้ามาเสริมความสะดวกให้กับร้านค้าและลูกค้า ที่สำคัญต้องมีจุดแข็ง ต้องรู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร คนซื้ออยู่ที่ไหน เพราะในอนาคตไปรษณีย์ไทยจะไม่เป็นแค่แพลตฟอร์มโลจิสติกส์เพียงอย่างเดียว แต่ตั้งเป้าจะเป็น Data Company ภายในปี 2566
อีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญคือการเดินหน้าจับมือพาร์ตเนอร์เพื่อสนับสนุนลูกค้ามากขึ้น เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ใช้บริการขนส่งและมีการทำธุรกรรมการเงินผ่านแอปพลิเคชัน Wallet@POST ซึ่งส่วนใหญ่ใช้บริการเก็บเงินปลายทาง เป็นหลัก และร้านค้ากลุ่มนี้มีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจ แต่เจออุปสรรคการยื่นกู้ขอสินเชื่อ
ล่าสุดไปรษณีย์ไทยร่วมกับสถาบันการเงิน SME D Bank เปิดตัวสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการค้าขายผ่าน Cash on Delivery วงเงินกู้สูงสุด 3 แสนบาทต่อราย เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีร้านค้าออนไลน์นำไปเสริมสภาพคล่อง โดยเปิดกว้างกู้ได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 1.05% ต่อเดือน โดยเปิดให้สมัครผ่าน Wallet@POST และต้องมียอดขายผ่าน COD ไปรษณีย์ไทยเฉลี่ยเดือนละ 20,000 บาทขึ้นไป
ทั้งนี้ คาดว่าจะช่วยดึงร้านค้าใหม่เข้ามาเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทได้เพิ่มทีมงาน 3 เท่าเพื่อซัพพอร์ตร้านค้าให้ส่งสินค้าได้สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ดร.ดนันท์ทิ้งท้ายไว้ว่า อุปสรรคของธุรกิจขนส่งในช่วงโค้งสุดท้ายปีนี้คือน้ำท่วมในบางจังหวัด ทำให้การขนส่งสะดุดไปบ้าง จึงต้องเตรียมแผนสำรองเพื่อนำจ่ายสินค้าให้ได้มากที่สุด รวมถึงปัจจัยเรื่องต้นทุนจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น โดยต้นทุนน้ำมันคิดเป็นสัดส่วน 30% ของบริษัท ซึ่งจะต้องเน้นบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น